รู้หรือไม่? นั่งกระบะท้าย 'ผิดกฎหมาย' แม้ไม่ใช่ทางด่วน
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การบรรทุกผู้โดยสารบนกระบะท้ายขึ้นทางด่วนยกระดับ หรือมอเตอร์เวย์ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับถนนทั่วไปที่ไม่ใช่ทางด่วนล่ะ ผิดกฎหมายหรือไม่?
โดยปกติแล้ว กระบะท้ายจะถูกออกแบบให้มีลักษณะแบนราบเพื่อรองรับการบรรทุกสิ่งของ ไม่ใช่เพื่อการรองรับผู้โดยสารแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ในการยึดรั้งผู้โดยสารกรณีที่เกิดการชนเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตสูงกว่าการนั่งภายในห้องโดยสารมาก อันเนื่องมาจากจากการกระเด็นออกจากตัวรถ หรือไหลกระแทกอยู่ภายในตัวกระบะ เป็นต้น
โดยเฉพาะการขับขี่บนทางด่วนยกระดับ หรือมอเตอร์เวย์ที่ต้องใช้ความเร็วสูงด้วยแล้ว หากตัวรถเกิดอาการเสียหลัก จะทำให้ผู้โดยสารกระบะหลังมีโอกาสที่จะกระเด็นตกลงมาจากตัวรถจนได้รับบาดเจ็บ หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น อาจถูกรถที่ตามมาที่หลังทับซ้ำ ทำเอาผู้ร่วมทางต้องมานั่งรับเคราะห์อย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หมวด 3 ว่าด้วยการบรรทุก จึงบัญญัติไว้ว่า ต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้คน สัตว์ หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อนหรือปลิวไปจากรถ อันอาจก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ทำให้ทางสกปรก เปรอะเปื้อน ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
ปัจจุบันมีการอนุโลมให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารบนทางปกติจนคุ้นชิน จึงทำให้ดูเหมือนว่าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
แต่หากคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้โดยสารแล้วล่ะก็ การลงทุนติดตั้งหลังคากระบะก็อาจพอช่วยเซฟชีวิตได้บ้าง
หรืออย่างน้อยๆ ผู้ขับก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เมื่อมีผู้โดยสารกระบะหลัง ไม่เช่นนั้นอาจต้องมาเสียใจภายหลัง...
ขอบคุณภาพจาก INNNews / Sanook! News