รีวิว Mitsubishi Triton Mega Cab ลงตัวทั้งบรรทุกและขับหล่อๆ

รีวิว Mitsubishi Triton Mega Cab ลงตัวทั้งบรรทุกและขับหล่อๆ

รีวิว Mitsubishi Triton Mega Cab ลงตัวทั้งบรรทุกและขับหล่อๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ก่อนหน้านี้ Sanook!Auto เคยนำเสนอรีวิว Mitsubishi Triton รุ่น 4 ประตู Double Cab กันไปแล้ว ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นกระบะที่น่าใช้รุ่นหนึ่งในตลาดตอนนี้เลยทีเดียว คราวนี้เราลองมาดูเวอร์ชั่น 2 ประตู Mega Cab เอาใจคนเน้นบรรทุกของกันดูบ้าง ว่าการใช้งานจริงจะน่าใช้เหมือนกับรุ่น 4 ประตูแค่ไหน


     เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้จัดเส้นทางทดสอบกรุงเทพฯ –กาญจนบุรี ให้เราได้สัมผัส ไทรทัน เมกะแค็บ กันแบบเต็มๆ โดยคันที่เราได้รับมอบหมายทดสอบนั้น เป็นรุ่น Mega Cab Plus GLS Navi เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นตัวท็อปสุดในตระกูลเมกะแค็บที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน

     Triton รุ่น Mega Cab ใหม่ มีตัวถังแบบตอนครึ่งพร้อมแค็บเปิดได้สไตล์ตู้กับข้าว ซึ่งแทบจะกลายเป็นฟังก์ชั่นมาตรฐานของกระบะแค็บในบ้านเราไปแล้ว ขณะที่ชื่อ ‘Plus’ บ่งบอกว่าใช้ระบบขับเคลื่อนแบบสองล้อ แต่มาในเวอร์ชั่นยกสูงตามสไตล์รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อนั่นเอง

 

     รูปลักษณ์ภายนอกของ ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส จีแอลเอส เนวี่ คันที่เราได้ทดสอบนี้ แทบจะไม่มีอะไรต่างกับเวอร์ชั่น 4 ประตูที่เราได้ทดสอบไปก่อนหน้า จะต่างกันก็เพียงประตูหลังที่ถูกแทนที่ด้วยประตูแค็บแบบเปิดได้ กับช่วงกระบะด้านท้ายที่ยาวขึ้น ช่วยให้รองรับการบรรทุกได้มากกว่า

     ด้านหน้าในรุ่น GLS Navi คันนี้ ยังคงมาพร้อมไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ LED และไฟ Daytime Running Light สำหรับใช้งานในเวลากลางวันแบบ LED ส่วนดีไซน์กระจังหน้าก็ยังคงแวววาวด้วยซี่แนวตั้งขนาดใหญ่พร้อมชุบโครเมี่ยมทั้งอันเช่นกัน ขยับลงมาด้านล่างเป็นช่องดักลมสีดำพร้อมไฟตัดหมอกทรงกลมล้อมด้วยกรอบสีเงินดูเด่นสะดุดตา

 

     ดีไซน์ด้านข้างถูกออกแบบให้มีลักษณะโค้งมน ช่วยเพิ่มลุคสปอร์ตยิ่งขึ้น แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความนิ่มนวล อ่อนไหว ติดตั้งกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมโป่งข้างล้อที่ช่วยให้รถดูบึกบึนยิ่งขึ้น รวมไปถึงติดตั้งบันไดด้านข้างเพื่อความสะดวกในการขึ้น-ลงมาให้ด้วย ไล่มายังด้านท้ายจะพบกับไฟท้ายทรงตั้งสีแดง-ขาว พร้อมกันชนหลังสีเงินที่ถูกตกแต่งด้วยสีดำ มือเปิดฝาท้ายแบบโครเมี่ยมพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

 

     ภายในห้องโดยสารของไทรทัน พลัส GLS Navi ถูกตกแต่งด้วยสีดำ เบาะนั่งหุ้มด้วยวัสดุแบบผ้า สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ขณะที่พวงมาลัยและหัวเกียร์ถูกหุ้มด้วยหนัง แผงคอนโซลตกแต่งด้วยสีดำ Piano Black ช่วยเพิ่มความหรูหรา โดดเด่นด้วยหน้าจอมัลติฟังก์ชั่นแบบทัชสกรีน รองรับแผ่น DVD/MP3 รวมถึงระบบนำทาง (เฉพาะรุ่น Navi)

     สามารถเชื่อมต่อ USB ได้ รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์สำหรับสนทนาแบบไร้สายอีกด้วย ขับกำลังเสียงด้วยลำโพงทั้งหมด 4 จุดรอบคัน

 

     ติดตั้งระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบดิจิตอล ไม่สามารถแยกโซนซ้าย-ขวาได้ พวงมาลัยมาพร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงทางฝั่งซ้าย และปุ่มควบคุมระบบครูซคอนโทรลทางฝั่งขวา ขณะที่ปุ่มสตาร์ทถูกติดตั้งไว้บนแผงคอนโซลทางด้านขวามือ ใกล้ๆกับสวิตช์ปรับกระจกมองข้าง ทำงานคู่กับกุญแจอัจฉริยะ KOS

 

     เงยหน้าขึ้นมาจะพบกับไฟอ่านแผนที่พร้อมช่องเก็บแว่นตา แผงกันแดดขนาดใหญ่พร้อมกระจกแบบมีฝาปิดสำหรับฝั่งคนนั่ง รวมถึงมือจับบริเวณเสาเอทั้งสองข้าง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการขึ้น-ลง

 

     ขุมพลังในรุ่นยกสูง ‘Plus’ รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล จะถูกติดตั้งด้วยเครื่องยนต์คลีนดีเซลบล็อกใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รหัส 4N15 ความจุ 2.5 ลิตร 4 สูบแถวเรียง DOHC พร้อมระบบ MIVEC เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ หัวฉีดแบบคอมมอนเรล ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า (PS) ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดถึง 430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด และธรรมดา 6 สปีดให้เลือก

     ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบแหนบซ้อนพร้อมโช็คอัพแบบไขว้ ระบบบังคับเลี้ยวชนิดแร็คแอนด์พีเนียน ให้วงเลี้ยวแคบสุด 5.9 เมตร ระบบเบรกเป็นแบบหน้าดิสก์หลังดรัม พร้อมช่องระบายความร้อนด้านหน้า ตัวรถวางอยู่บนล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 245/65

 

     ส่วนระบบความปลอดภัยนั้น ในรุ่นเมกะแค็บ ใช้โครงสร้างนิรภัยเหล็กกล้า Super Frame พร้อมกันโคลงขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงติดตั้งจุดยึดประตูแบบ 3 จุด แยกกันระหว่างประตูหน้าและประตูแค็บ ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงในกรณีเกิดการชนด้านข้าง ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า (ทุกรุ่นย่อย) เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับอัตโนมัติ คานนิรภัยบริเวณประตู ระบบเบรก ABS/EBD พร้อมกล้องมองหลังขณะถอย

     หลังจากบรรยายรายละเอียดไปซะเยิ่นยาว เรามาเริ่มทดสอบขับกันเลยดีกว่าครับ



     ห้องโดยสารภายในของ ไทรทัน เมกะแค็บ โอ่โถ่ง กว้างสบาย อุปกรณ์ต่างๆถูกจัดวางให้สามารถใช้งานได้ง่าย ภายในถูกตกแต่งด้วยลูกเล่นสีต่างๆ เช่นสีเงิน, สีดำ, สีเทา รวมไปถึงเปียโนแบล็ค ที่ช่วยให้ไม่ดูเรียบจนเกินไป แม้วัสดุส่วนใหญ่จะยังคงเป็นพลาสติกแข็งๆ ก็ตามที

     แต่จุดที่น่าสังเกตคือ การย้ายปลั๊กไฟแบบ 12 โวลต์ ที่ปกติมักพบอยู่บริเวณคอนโซลด้านหน้า ไปไว้ยังกล่องเก็บของที่วางแขนตรงกลาง ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีปัญหาสำหรับการชาร์จแบตมือถือทั่วไป เพราะตัวกล่องเองมีช่องเล็กๆ ให้ลอดสายชาร์จออกมาได้ แต่การใช้ชาร์จอุปกรณ์ที่ต้องยึดกับกระจกหน้าอย่างจีพีเอส หรือกล้องติดรถยนต์ จำเป็นต้องมีสายไฟยาวกว่าปกติ ไม่อย่างนั้นอาจจำเป็นต้องพาดผ่านมายังบริเวณเบรกมือและที่วางแก้วน้ำ ซึ่งทำให้ดูรกตาไปนิด และไม่สะดวกกับการใช้อุปกรณ์อื่น

 

     อัตราเร่งของ ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส GLS Navi กับขุมพลังคลีนดีเซล 2.5 ลิตรบล็อกใหม่ เรียกว่าเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่จี๊ดจ๊าดเท่ากับรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่เราเคยทดสอบมาแล้วก่อนหน้านี้ในรุ่นดับเบิ้ลแค็บ แต่การส่งกำลังของเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด ก็ไหลลื่น ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น สามารถเร่งความเร็วแตะ 100 กม./ชม.ได้อย่างสบายๆ

     ช่วงจังหวะขึ้นเขาชันนั้น แรงบิดสูงสุดกว่า 430 นิวตัน-เมตร สามารถพาตัวรถพุ่งทะยานขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนับว่าเป็นธรรมชาติของเครื่องยนต์ดีเซล ที่ให้แรงบิดสูงกว่าเครื่องยนต์เบนซินทั่วไป

 

     ช่วงล่างของ ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส ยังคงเซ็ทไว้แบบหนึบๆ กึ่งแข็ง ให้การเกาะถนนที่ดี แม้ว่าการเข้าโค้งหรือการขับผ่านจุดที่เป็นแอ่งของถนน ยังพอมีอาการโคลงให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในการควบคุม ซึ่งนับว่าดีเกินตัวแล้วสำหรับรถกระบะยกสูง ที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่าปกติเช่นนี้

     อย่างไรก็ดี ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส ยังคงมีอาการสะเทือนให้เห็นขณะขับด้วยความเร็ว แรงสะเทือนจะถูกส่งผ่านจากช่วงล่างมายังเบาะนั่งค่อนข้างชัดเจน จนทำให้รู้สึกไม่สบายตัวในบางครั้ง แต่ก็แลกมาด้วยการเกาะถนนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

     ส่วนการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารที่เราประทับใจในรุ่นดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตูนั้น มาในรุ่นเมกะแค็บ 2 ประตู แม้ว่าจะถูกบุด้วยวัสดุซับเสียงน้อยกว่า แต่ห้องโดยสารภายในยังถือว่าค่อนข้างเงียบ สามารถสนทนากับผู้โดยสารภายในรถแบบสบายๆ เช่นกัน

 

     สรุป มิตซูบิชิ ไทรทัน เมกะแค็บ พลัส 2.4 GLS Navi ที่เราทดสอบกันในครั้งนี้ แม้ว่าจะทำตลาดไว้ต่ำกว่ารุ่น 4 ประตูดับเบิ้ลแค็บที่เราเคยทดสอบไปก่อนหน้า แต่ความดีงามทั้งหลายแหล่ก็ยังถูกยกมาใส่ไว้ในรุ่นนี้แบบครบๆ จึงเหมาะสำหรับใครที่กำลังมองหารถกระบะ ที่เน้นใช้ประโยชน์ในการบรรทุกมากขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งสมรรถนะการขับขี่แบบเดียวกับรุ่น 4 ประตู

 

     ราคา Mitsubishi Triton Mega Cab Plus

  • 2.4 GLX MIVEC Clean Diesel ราคา 699,000 บาท
  • 2.4 GLS Benzene ราคา 686,000 บาท
  • 2.4 GLS Diesel ราคา 733,000 บาท
  • 2.4 GLS Navi MT ราคา 774,000 บาท
  • 2.4 GLS Navi AT ราคา 818,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ)

 

     >>> อ่านรีวิว Mitsubishi Triton Double Cab 2.4 GLS-LTD (A/T) คลิกที่นี่ <<<

 

     ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 

 

อัลบั้มภาพ 43 ภาพ

อัลบั้มภาพ 43 ภาพ ของ รีวิว Mitsubishi Triton Mega Cab ลงตัวทั้งบรรทุกและขับหล่อๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook