ค่ายรถปรับแผนผลิตลดต้นทุน ใช้แพลตฟอร์มเดียวครบทุกรุ่น
ค่ายรถเดินเกมปรับลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สู้เทรนด์อุตฯรถยนต์โลกชะลอตัว "โตโยต้า" รื้อระบบอาร์&ดี ปรับใช้แพลตฟอร์มเดียวและชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกัน ลดซ้ำซ้อนซัพพลายเออร์ มั่นใจเซฟได้กว่าครึ่ง ค่ายอื่นขยับตามเน้นบริหารสต๊อก
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกผันผวนส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้วันนี้ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกแบรนด์ต้องหันกลับมาพิจารณาการทำธุรกิจ อย่างรอบด้าน สรรหากลยุทธ์เพื่อรองรับทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และพัฒนาหลังบ้านรวมถึงควบคุมต้นทุนการผลิตต่อหน่วย เพื่อทำให้ได้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวโน้มนี้เริ่มชัดเจนและจริงจังเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างเชิง รุกทั้งบริษัท ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายในสายการผลิตลง ด้วยการพยายามใช้แพลตฟอร์มแบบเดียวกันในรถยนต์หลายรุ่น รวมถึงเพิ่มชิ้นส่วนที่สามารถใช้งานได้ครบทุกรุ่นเพื่อต้นทุนที่ต่ำลง อันเนื่องมาจากจำนวนซัพพลายเออร์น้อยลง และได้อีโคโนมีออฟสเกล รวมถึงการพัฒนารถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงให้มากยิ่งขึ้น
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายอากิโอ โตโยดะ ประธาน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ระบุชัดเจนว่า โตโยต้าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโมดูลรถยนต์ที่สามารถใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตโตโยต้าจะต้องมียอดขายมากกว่า 10 ล้านคันต่อปี
การปรับปรุงพัฒนาสายการผลิต โตโยต้าเรียกแผนนี้ว่า "Toyota New Global Architecture" หรือ "TNGA" ให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์พร้อมกันหลาย ๆ รุ่น ที่จะสามารถพึ่งพาการใช้ชิ้นส่วนแต่ละโมดูลร่วมกันได้ การใช้แพลตฟอร์มเดียวกันช่วยลดขั้นตอนการจัดซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ ทำให้การออกแบบรถยนต์ลดความซับซ้อนในการใช้ชิ้นส่วนลง ซึ่งจะทำให้เซฟต้นทุนที่ฟุ่มเฟือยลงกว่าครึ่ง
แหล่งข่าวฝ่ายบริหาร จากโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าในประเทศไทยกล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไม่ใช่แค่ลดต้นทุนเท่านั้น แต่หมายถึงการผลิตรถที่ดีขึ้น
รถยนต์ในกลุ่มซี-เซ็กเมนต์ ซึ่งประกอบด้วย พรีอุส, โคโรลล่า และเลกซัส จะเริ่มได้ก่อน และจำนวนรถยนต์ในไลน์อัพของโตโยต้ากว่าครึ่งหนึ่งจะถูกนำมาพัฒนาภายใต้ โครงการดังกล่าวนี้ภายในปี 2563 และแผนนี้จะนำมาใช้กับ 3 โรงงานในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นฐานผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตัน และรถยนต์นั่งที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโตโยต้า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นโยบายลดต้นทุนการผลิตนี้ ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรถยนต์ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำโรบอตมาใช้แทนแรงงานคน ที่นับวันค่าแรงจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ การรวบรวมซัพพลายเออร์ให้มาอยู่ใกล้โรงงานผลิตเพื่อความสะดวกด้านโลจิสติกส์ แต่ระยะหลังเกือบทุกค่ายเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในบ้านเราก็จะรับนโยบายจากบริษัทแม่มาดำเนินการ ซึ่งมีทั้งฟอร์ด, เชฟโรเลต, ฮอนด้า, นิสสัน และอีกหลายยี่ห้อ อาทิ ค่ายฟอร์ดที่นำนโยบาย "วัน-ฟอร์ด" มาปรับใช้ เพื่อทำลายกำแพงการทำงานของแต่ละภูมิภาค ที่ก่อนหน้านี้เคยก่อให้เกิดมาตรฐานด้านวิศวกรรมที่แตกต่างกัน
ทำให้ปัจจุบันรถยนต์นั่งฟอร์ด โฟกัส และเฟียสต้า รวมถึงรถปิกอัพเรนเจอร์ ที่ใช้แนวคิดดังกล่าวในการบุกตลาดโลก มีแพลตฟอร์มเดียวขายทั่วโลก ช่วยให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วยลดต้นทุนในการพัฒนา ลดความหลากหลายของชิ้นส่วน
นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การลดแพลตฟอร์มของรถที่จะขายทั่วโลกแล้ว ยังมีอีกกลยุทธ์ที่นิสสัน, เดมเลอร์-เบนซ์, วอลโว่ และค่ายอื่น ๆ เริ่มนำมาใช้ นั่นคือการทำ "ซับแบรนด์" เพื่อขายในตลาดเปิดใหม่ที่ต้องการรถในราคาถูก ซึ่งมีทั้งการนำแพลตฟอร์มเดิมมาพัฒนาเป็นรถรุ่นใหม่ หรือการตัดออปชั่นเพื่อลดต้นทุน เช่น ค่ายนิสสันแนะนำ "ดัทสัน" แบรนด์เก่าแก่ของนิสสันนำมาปัดฝุ่น ประเดิมทำตลาดในประเทศอินเดีย ใช้ชื่อ "โก (Go)" วางขาย 3.12 แสนรูปี หรือราว 1.67 แสนบาท
นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ขณะนี้นิสสันได้หันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์นิสสัน โดยเน้นไปที่การบริหารจัดการสต๊อก ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อทำให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจัดการต้นทุนได้เป็นอย่างดี
อย่างปัจจุบันบริษัทได้พยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นที่ตรงกับความต้องการของตลาด เมืองไทย ซึ่งตอนนี้ต้องยกให้ปิกอัพเพราะเป็นตลาดที่สม่ำเสมอ มีความคงที่และเงื่อนไขทางภาษีเอื้ออำนวยให้มีราคาไม่สูงมาก ขณะที่สมรรถนะนั้นไม่ต้องพูดถึง ทดแทนรถยนต์นั่งได้เลย
เช่นเดียวกับ นางสาวจีรณัฐ แสงดี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท จีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เชฟโรเลตมองเรื่องการบริหารต้นทุนจึงทำให้แผนธุรกิจโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์หลัก คือปิกอัพและรถเอสยูวี
"แน่นอนในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของเรานั้นก็จะมีการพัฒนาให้ใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนในการผลิตร่วมกันด้วย"