เทคนิคเลือกฟิล์มรถยนต์ ..เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

เทคนิคเลือกฟิล์มรถยนต์ ..เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

เทคนิคเลือกฟิล์มรถยนต์ ..เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทคนิคเลือกฟิล์มรถยนต์
คอลัมน์ คาร์ทิปส์


     ยานยนต์ "มติชน" มีข้อแนะนำการเลือกฟิล์มกรองแสงคุณภาพดี ควรมีคุณสมบัติต่างๆ ของฟิล์ม เช่น % การลดความร้อน, % การลดรังสียูวี, % การสะท้อนแสง, % แสงส่องผ่าน ต้องเป็นค่ามาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และควรเป็นไปตามมาตรฐานโรงงานผู้ผลิตที่มีแหล่งที่มาชัดเจน นำเข้ามาจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐานที่สากลยอมรับ มีที่ตั้งชัดเจน

     โดยทั่วไปการรับประกันคุณภาพจะไม่ต่ำกว่า 7 ปี และสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องเลือกบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่มั่นใจว่าตลอดระยะเวลาการรับประกัน บริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจฟิล์มกรองแสงอยู่อย่างมั่นคง และพร้อมจะรับผิดชอบหากฟิล์มที่ติดตั้งไปเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น

     ราคาต้องสมเหตุสมผล เหมาะสมกับคุณภาพในระดับยอมรับได้ ไม่ใช่ต้องแพงเพียงเพราะมีชื่อเสียงมานานหรือเพราะโฆษณาเกินจริง ทำให้ตั้งราคาแพงหรือสูงขึ้นอีก ไม่สมคุณภาพที่โฆษณาไว้

     ควรพิจารณาถึงวิธีการทดสอบคุณภาพของฟิล์มกรองแสงด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น ไม่ควรทดสอบฟิล์มด้วยแสงสปอตไลต์ เพราะเวลาเราขับรถจริงๆ เราขับรถภายใต้แสงแดด และแหล่งกำเนิดแสงทั้งสองชนิดนี้ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางครั้งยังมีกรณีฟิล์มที่ใช้เวลาทดสอบกับฟิล์มที่นำมาติดตั้งให้นั้นเป็นคนละชนิดกัน หรือใช้ฟิล์มติดตั้งซ้อนทับกันสองชั้นในการทดสอบ จุดนี้ผู้บริโภคต้องพึงระวัง

 

     เทคนิคเลือกฟิล์มกรองแสงกันความร้อนสู่ห้องโดยสารช่วยประหยัดพลังงานที่ใช้ทำความเย็นแล้วช่วยยืดอายุชิ้นส่วนภายใน ต่อมาคือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต้องยอมรับว่าฟิล์มทึบสามารถพรางภายในรถไม่ให้คนภายนอกมองเข้าไปเห็นได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ที่เหลือเป็นเรื่องของความสวยงาม เพราะมีฟิล์มแบบแฟชั่นให้ความสวยงามกับรถยนต์ได้ด้วย

     ความเข้าใจที่ว่าฟิล์มที่มีสีเข้มหรือทึบช่วยลดความร้อนได้ดี ในความจริงแล้วสีของฟิล์มไม่ได้เป็นตัวช่วยลดความร้อน แต่กลับเป็นสารเคลือบตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่หลักนี้

     ทุกวันนี้ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์จะขายผ่านร้านประดับยนต์ร้านติดตั้งเครื่องเสียงจะมีทั้งได้รับแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายโดยตรง กับไม่ได้รับการแต่งตั้ง ร้านที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจะนำฟิล์มเข้ามาจำหน่ายเอง เสี่ยงต่อฟิล์มคุณภาพต่ำ บางแห่งก็เสนอฟิล์มแบบมียี่ห้อให้ดู พอตอนติดตั้งแอบไปเอาฟิล์มอะไรไม่รู้มาติดรถ

     ควรเลือกร้านที่มีห้องสำหรับการติดฟิล์มโดยเฉพาะ เนื่องจากฝุ่นคือศัตรูตัวร้ายกาจของการติดฟิล์ม

     ฝีมือช่างต้องชำนาญ หากต้องการให้ฟิล์มอยู่คงทนนาน ช่างติดฟิล์มจะต้องมีฝีมือในการกรีดฟิล์ม เพราะหากฝีมือไม่ดีพอ เวลากรีดฟิล์มลงสู่กระจกจะทำให้ฟิล์มไม่เสมอกัน โดยเฉพาะตรงขอบกระจก และถ้าเลวร้ายไปกว่านั้น บางครั้งอาจกรีดโดนกระจกรถยนต์และทำให้เป็นรอยได้

 

     ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของกาวด้วยกาวที่ดีต้องมีความบางใสและเหนียว เมื่อติดแล้วต้องทนทานต่อสภาวะความร้อนเย็นของกระจกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับกระจกได้ดี ไม่ทำให้ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ พอง ลอก ล่อน เป็นฟองอากาศ อีกทั้งกาวที่ดีควรมีคุณสมบัติที่ติดแน่นกับเนื้อฟิล์ม เมื่อต้องการลอกฟิล์มออกมา กาวควรอยู่บนด้านฟิล์มมิใช่ด้านกระจก รวมทั้งกาวจะต้องไม่เปลี่ยนสี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของฟิล์มที่ติด ที่เรียกว่าฟิล์มเป็นสนิม

     ฟิล์มที่ดีจะต้องป้องกันรอยขีดข่วนหรือเคลือบสารกันรอยขีดข่วนฟิล์มกรองแสงทำมาจากโพลีเอสเตอร์มีจุดอ่อนในเรื่องความอ่อนของผิว มักสามารถเป็นรอยเส้นคล้ายรอยขนแมวได้ง่าย แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารเคมีที่ทำหน้าที่เคลือบแข็งบนผิวของฟิล์ม ทำหน้าที่ในการป้องกันการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ

     จำไว้ว่าฟิล์มกรองแสงที่ดีไม่ใช่ฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายในการขับขี่ รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงานในการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย

 

ที่มา: มติชนรายวัน 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook