เทคนิค ขับประหยัด อีกแล้ว คุณพลาดอะไร อ่านแล้วจะกระจ่าง
+ บางคนเมิน บางคนเบื่อ หรือหลายคนไม่ใส่ใจ ที่จะอ่านบทความเรื่องอย่างนี้ เพราะมีในหลายสื่อมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้...ครบทุกด้าน ใช้งานได้จริง ! + หลายคนก็คิดง่ายๆ ว่า ขับช้า...ก็ประหยัด จึงไม่สนใจจะรู้เทคนิคการขับประหยัดที่แท้จริง + หลายคนเมินการอ่านบางบทความ เพราะมีแต่เรื่องพื้นๆ + แต่ครั้งนี้พยายามรวบรวมให้ครบทุกแง่มุม และเป็นชีวิตจริง
มนุษย์มักทำอะไรด้วยความคุ้นเคย และเปลี่ยนแปลงยาก ถ้าทำต่อเนื่องมานาน
ลักษณะการกดคันเร่ง เร็ว-ช้า ที่แตกต่างกันในแต่ละคน ล้วนทำจนชิน เพราะคนส่วนใหญ่ ขับรถมาหลายปี
พิสูจน์ได้จากรถรุ่นใหม่ คันเร่งไฟฟ้า-ไม่มีสายสลิง ปัจจุบันมีกล่องฯ พ่วงแต่งสัญญาณขาย แตะคันเร่งนิดเดียวหรือเท่าเดิม แล้วลิ้นปีกผีเสื้อ เปิดมากขึ้น ก็หลอกความรู้สึกว่ารถแรงขึ้นได้ ทั้งที่ถ้าอยากแรงก็กดคันเร่งลึก-เร็วขึ้น ก็เหมือนใช้กล่องหลอกสัญญาณคันเร่ง
ล้างรถ
อย่าคิดว่าไม่เกี่ยว เพราะผิวสีลื่นมีแรงเสียดทานของลมน้อยกว่า คิดง่ายๆ ว่าลู่ลมกว่า แม้ไม่เห็นผลเป็นหลายเปอร์เซ็นต์ แต่รถสะอาดผิวลื่น ย่อมมีผลบวกทางหลักอากาศพลศาสตร์ แนะนำล้างรถ 3-4 วันครั้ง เย็นวันอาทิตย์ และเย็นพุธ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ใช้รถสะอาดได้ 3-4 วัน
การดูแลรถสำคัญ
ใครๆ ก็บอกว่าต้องดูแลรถ แต่น้อยคนที่จะลงรายละเอียดลึกๆ ละเลยแค่ไส้กรองอากาศตัน หายใจไม่เข้า ก็ต้องกดคันเร่งลึกขึ้น เมื่อต้องการเร่ง
คนไทยหลายคน ใช้รถแบบไม่พัง...ไม่เช็ค ใช้รถเหมือนใช้ชีวิต ไม่ป่วย ก็ไม่ตรวจสุขภาพ ควรเปลี่ยนอะไหล่ตามระยะทางที่กำหนดในคู่มือประจำรถ (ซึ่งหลายคนก็ไม่เคยอ่านจบเช่นกัน) ไม่ฝืนดันทุรังใช้จนรถพัง ซึ่งจะส่งผลเสียลามไปถึงชิ้นส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น สายพานไทมิ่งราคาหลักพัน ก็ไม่ยอมเปลี่ยนเมื่อครบกำหนด หากสายพานฯ ขาดระหว่างทาง จะส่งผลถึงลูกสูบ ก้านสูบ วาล์ว ฯลฯ เสียเงินรวมเป็นหลักหมื่น
น้ำมันเครื่อง
โดยตรวจดูจากก้านวัดให้ระดับน้ำมันเครื่องไม่ต่ำกว่าขีดล่าง และสี ไม่ดำมาก เปลี่ยนถ่ายโดยใช้เกรดตรงรุ่น เลือกกึ่งสังเคราะห์ขึ้นไป ช่วงนี้ลิตรละ 100 กว่าบาท ไม่แพง เลือกเบอร์ SAE ใสที่สุดเท่าที่จะไม่เกิดปัญหาและ อยู่ในขอบเขตที่กำหนดในคู่มือ ปัญหาเมื่อน้ำมันเครื่องใสเกินไป คือ กินน้ำมันเครื่องเร็ว ควันขาว เสียงดัง เลือกโดยดูเลข 2 ตัวหลัง (ซึ่งวัดที่ 100 องศาเซลเซียส เหมือนหมุนเวียนในเครื่องยนต์) เช่น 30 40 50 เลขน้อยใส-เลขมากหนืด ไม่ใช่ดูตัวเลขหน้า W เพราะนั่นวัดที่ -18 องศาเซลเซียส
การใช้น้ำมันเครื่องที่ข้นหรือหนืดมากหน่อย แต่อยู่ในขอบเขต ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ นอกจากจะกินเชื้อเพลิงเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่รู้สึกด้วยซ้ำไป หลังถ่ายน้ำมันเครื่อง ควรเติมใหม่ในปริมาณพอดีขีดบนสุด เพราะหากเติมมากเกิน จะทำให้ระดับน้ำมันเครื่องไปเพิ่มแรงเสียดทานการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยง ดังนั้นควรเติมให้พอดีที่กำหนด และเปลี่ยนไส้กรองฯ ตามระยะ ถ้าใช้งานไปแล้ว น้ำมันเครื่องพร่อง แต่ไม่ใกล้ขีดล่าง ก็ไม่จำเป็นต้องเติม
เชื้อเพลิง
เลือกที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ไม่เติมน้ำมันออกเทนต่ำกว่ากำหนด เพราะเสี่ยงพัง ส่วนการเติมออกเทนสูงกว่ากำหนด ทดลองได้ และควรวัดอัตรา สิ้นเปลืองรถของตนเทียบในแต่ละออกเทนหรือแต่ละชนิด สมมุติออกเทน 95 แพงกว่า แต่อาจได้ระยะทางมากกว่าในรถบางคัน
ส่วนการเลือกพลังงานทางเลือก เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล อาจต้องสนใจสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เช่น เกษตรกรด้วย ไม่ใช่สนใจเฉพาะราคาและ ค่าใช้จ่ายต่อระยะทาง เช่น สมมมุติ อี20 กินกว่า ได้ระยะทางต่อลิตรสั้นกว่า 5-8 % แต่ราคาต่อลิตรถูกกว่า แม้คำนวณเป็น กม./ลิตร อาจแพงกว่าแก๊สโซฮอล์ อี10 ถ้าไม่ต่างมากนัก ก็แนะนำอี20 เพราะดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากตอนนี้เอธานอลผลิตจากพืชผลในประเทศ
ลมยาง...สำคัญ
เพราะยางกลมกลิ้งง่ายกว่ายางแบน เปรียบเทียบกับลูกโป่งที่มีน้ำหนักกดแล้วต้องกลิ้ง ดังนั้นผู้ใช้รถควรเติมลมยางให้กลมพอดี ตัวเลข 30 ปอนด์/ตารางนิ้ว ไม่ใช่มาตรฐานเสมอไป มักเป็นค่าประมาณ
การเติมลม ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตัวเลขที่แนะนำจากคู่มือ ใช้เป็นแค่จุดเริ่มต้นได้ เพราะบริษัทรถต้องกำหนดตัวเลขแรงดันลมเผื่อไว้สำหรับคนที่ไม่อยากค้นหาค่า ที่เหมาะสมที่สุดกับตนเอง
ค่าแรงดันลมยางที่บริษัทรถแนะนำมักไม่ใช่ค่าที่ดีสุดเสมอไป แต่เป็นค่าที่ไม่มีปัญหาแน่ๆ และมักจะเป็นแรงดันลมที่อ่อนกว่าการจะทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงที่สุด เนื่องจากบริษัทรถต้องการให้ประทับใจในความนุ่มนวล กินน้ำมันขึ้นนิดเดียว คนขับไม่รู้สึกมากนัก แต่ถ้ากำหนดค่าแรงดันลมยางมากขึ้น รถอาจจะกระด้างขึ้น จนคนขับรู้สึกได้ เกิดกระแสติติงทางลบปากต่อปาก ส่งผลถึงยอดขายอีกด้วย
นอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับโครงสร้างยางด้วย ยี่ห้อยางหรือรุ่นต่างกัน แม้มีขนาดเดียวกัน อาจต้องเติมลมต่างแรงดันกัน ควรเริ่มต้นจากค่าที่บริษัทรถแนะนำ แล้วเติมเพิ่มหรือลดทีละ 2-3 ปอนด์ฯ ทดลองขับดูนานๆ ถ้าเน้นความประหยัด แรงดันลมสูง-ยางกลมขึ้น ย่อมประหยัดกว่า ทดลองเติมลมให้ยางแข็งจนกว่าจะรู้สึกกระด้าง โดยทั่วไปพบว่าเติมได้มากกว่าสเปคประมาณ 2-5 ปอนด์ โดยไม่รู้สึกกระด้าง
ยางแข็งกว่าปกตินิดๆ ดีกว่าอ่อนกว่าปกติ เพราะวงยางกลมกลิ้งง่าย แก้มไม่ย้วย ยางไม่ร้อน ส่วนยางลมอ่อนวงไม่กลม ยืด-ยุบตัวบ่อยๆ แก้มย้วยเกิดความร้อนในตัวเอง เสี่ยงต่อการระเบิดมากกว่ายางลมแข็ง อย่าเข้าใจผิดว่ายางเป็นลูกโป่งบางๆ เพราะยางมีหลายชั้นและการกลิ้งต้องยืด-ยุบตลอดเวลา
ค่าแรงดันลมที่เหมาะสมจริงๆ ต้องทดลองหาเอง มักบวก-ลบจากสเปคไม่เกิน 5 ปอนด์ฯ และเมื่อเปลี่ยนรุ่นยางหรือขนาด ต้องทดลองหาค่าแรงดันที่เหมาะสมกันใหม่
ล้อแม็กวงโต
มักต้องใส่ยางหน้ากว้างขึ้น ผิวสัมผัสกว้างขึ้นก็ทั้งเกาะถนนและเพิ่มแรงเสียดทาน มีผลต่ออัตราสิ้นเปลือง อีกทั้งถ้าน้ำหนักรวมเพิ่ม ก็มีผลเช่นกัน
เลี่ยงการบรรทุกของไม่จำเป็น
ไม่ว่ากี่กิโลกรัม ก็กินเพิ่มทั้งนั้น แต่ยางอะไหล่...จำเป็น
การอุ่นเครื่อง
ลืมคำแนะนำยุคเก่าที่บอกว่าให้อุ่นจนเครื่องยนต์ร้อนแล้วค่อยออกตัว เพราะจะกินน้ำมันจากการติดเครื่องทิ้งไว้ เครื่องรุ่นใหม่มีวาล์วน้ำ และมี การควบคุมพัดลม เร่งให้เครื่องอุ่นได้ไว ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องนานๆ
หากเริ่มใช้รถขณะเครื่องเย็นเฉียบ ให้จอดเดินเบา 15-30 วินาที แล้วขับย่องๆ ไม่เกะกะใครสัก 1-2 กม. เครื่องก็ร้อนพร้อมขับปกติแล้ว นึกถึงคนออกวิ่ง ถ้าวิ่งอยู่กับที่ ก็นานกว่าจะพร้อม แต่วิ่งอยู่กับที่นิดเดียว แล้วออกไปวิ่งเหยาะๆ ไม่นานก็วิ่งเร็วได้
ถ้าจอดแล้วจะมาขับใหม่ ถ้าเครื่องอุ่นๆ อยู่ ไม่ต้องรอ เพราะกว่าจะคาดเข็มขัดนิรภัย และตรวจสอบอื่นๆ ไม่เกิน 15 วินาทีก็ออกตัวและขับตามปกติได้
กดคันเร่ง... นิ่มๆ นิ่งๆ
นิ่มนิ่ม นิ่งนิ่ง 4 คำนี้ชัดเจน แต่ต้องตีความให้ชัด
นิ่มๆ คือ เมื่อต้องการเพิ่มความเร็ว ให้ค่อยๆ ไล่กดคันเร่งช้าๆ อย่าง...นิ่มๆ เมื่อทำความเร็วได้ถึงที่ตั้งใจ ให้แตะคันเร่งไว้..นิ่งๆ
อย่าเข้าใจผิดแกว่งคันเร่งเบาๆ ถี่ๆ ว่าเร่งแล้วผ่อนจะช่วยประหยัด แบบคนขับแท็กซี่บางคน ที่เร่งแล้วผ่อนสลับกันต่อเนื่องจนหัวผงก เพราะการขับความเร็วคงที่ด้วยคันเร่งนิ่งๆ จะประหยัดน้ำมันที่สุด
ความเร็ว ตีความให้ชัด...ไม่ใช่ขับช้า
เกี่ยวข้องกับลักษณะการกดคันเร่ง แม้จะบอกว่าตนเองขับด้วยความเร็วเดินทางแค่ 90 กม./ชม. ทำไมกินน้ำมันมากจัง อาจเป็นเพราะเมื่อจะเพิ่มความเร็วกลับขึ้นไปครั้งใด จะกดคันเร่งพรวดพราดเพื่อกลับไปความเร็วนั้น แต่อีกคนชอบขับที่ 100 กม./ชม. เร็วกว่า แต่อาจกินน้อยกว่า เพราะเลี่ยงเบรกบ่อย และเมื่อไรที่ต้องไต่ความเร็วกลับไป จะกดคันเร่งนิ่มๆ ช้าๆ
ยิ่งเร็ว ยิ่งกิน แต่ช้าแล้วต้องปลอดภัย ไม่ขวางใคร รถต้องเคลื่อนที่ฝ่าลมและหนีแรงดึงดูดของโลก เครื่องยนต์ต้องออกแรงมาก ย่อมกินน้ำมัน ขับเร็ว... ลมยิ่งแข็ง ลองแบมือออกไปนอกกระจกขณะรถวิ่งช้ากับเร็ว รถวิ่งช้าลมยังไม่ต้านมือมาก แต่ยิ่งวิ่งเร็วก็ยิ่งมีแรงต้านลมมากขึ้น เรื่องแรงดึงดูดของโลกกับการออกแรงของรถ ให้นึกถึงคนวิ่งที่ยิ่งจะวิ่งเร็ว ก็ยิ่งต้องออกแรงมากหนีการดึงดูดให้นิ่งติดพื้น
การใช้ความเร็วคงที่
ในการเดินทาง ต้องตั้งใจเอง เช่น จะนิ่งที่ 100 กม./ชม. ก็ทำตามนั้น โดยสามารถจับผิดตนเองและสภาพการจราจรได้ว่า ได้ใช้ความเร็ว...นิ่งจริงหรือเปล่า โดยดูหรือเซตตัวเลขระยะทางบนหน้าปัด กับเวลาบนนาฬิกา เช่น ตั้งใจขับนิ่ง ที่ 100 กม./ชม. ดุแล้วทุกครึ่งชั่วโมงต้องทำระยะทางได้ 50 กม. ถ้าได้น้อยกว่านั้น แสดงว่าไม่ได้นิ่งจริง และมีการเบรกลดความเร็วแล้วเร่งขึ้นมาบ่อยๆ ระยะทางต่อครึ่งถึง 1 ชั่วโมง จะฟ้องความนิ่งของความเร็วว่าจริงไหม
แนะนำกลางๆ ว่า เดินทางไกลหากเน้นประหยัด ใช้ความเร็วนิ่งๆ ประมาณ 100 กม./ชม. และดูสภาพการจราจรด้วย ขับช้าเน้นประหยัด แต่อันตราย เกะกะคนอื่นหรือรถสิบล้อวิ่งไล่...ไม่แนะนำ
รอบเครื่อง สำคัญ...ไม่แพ้ความเร็ว
รถเกียร์ธรรมดา ลากรอบสูงๆ แล้วค่อยเปลี่ยนเกียร์ แม้จะขับเร็วสุดไม่ถึง 100 กม./ชม. จะกินน้ำมันกว่าคนที่ขับเร็วกว่า แต่เปลี่ยนเกียร์ที่รอบต่ำๆ แบบมีแรง แล้วค่อยไล่ความเร็วขึ้นไปอย่างช้าๆ และอย่าเปลี่ยนเกียร์ที่รอบต่ำเกินไป (ต้องทดลอง แล้วแต่รุ่นรถ) เพราะเครื่องจะไม่มีแรง ต้องกดคันเร่งลึกๆ
รถเกียร์อัตโนมัติ การเปลี่ยนเกียร์ขึ้น จะเกิดจากการขยับเท้าขวาขึ้นเพื่อลดการเร่ง เร่งนิ่มๆ แล้วผ่อน เกียร์ก็เปลี่ยนขึ้น ไล่ไปถึงเกียร์สูงสุด แล้วใช้ความเร็วคงที่ ถ้ามีปุ่มโอเวอร์ไดร์ฟ เปิด ON ใช้ไว้เสมอ
รถที่ใช้เกียร์อัตราทดแปรผันต่อเนื่องหรือซีวีที บางคนอาจจะตกใจกับรอบเครื่องที่ขึ้นตามความเร็ว ยิ่งเร็วรอบยิ่งสูงแบบนี้เป็นปกติ
เลี่ยงการเร่งแซงเร็วๆ ด้วยการคิ๊กดาวน์
การลดเกียร์ธรรมดาลงเกียร์ต่ำ หรือกดคันเร่งลึกเพื่อให้ระบบลดเกียร์ต่ำลงในเกียร์อัตโนมัติ (คิ๊กดาวน์) ยิ่งทำบ่อย ก็ยิ่งกินน้ำมัน เพราะรอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรแซงโดยการกดคันเร่งนิ่มๆ ช้าๆ ดีกว่า
เลี่ยงเบรกบ่อย
แต่ต้องปลอดภัย สรุปได้ง่ายๆ ยิ่งเบรกบ่อย ความเร็วลดลง ก็ต้องกดคันเร่งเพิ่มความเร็วกลับขึ้นไปบ่อยๆ แต่ไม่ยอมเบรกจนต้องลุ้นว่าจะชนคันหน้าหรือเปล่า...ไม่แนะนำ เน้นปลอดภัยด้วยการเว้นเผื่อระยะเบรกไว้
หากแยกหน้าเป็นสัญญาณไฟแดงอยู่ ควรถอนคันเร่ง (แต่ไม่ต้องปลดเกียร์) ปล่อยรถไหลตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าเร่งแล้วถอนเพื่อเหยียบเบรก รอบจะสวิง ขึ้น-ลงตลอด ทำให้กินน้ำมัน
แอร์ ควรเปิดแค่เย็นสบาย
ไม่เร่งเย็นสุดหรือใกล้สุด คอมพ์แอร์จะได้ตัดการทำงานบ้าง แม้เครื่องที่มีคอมพ์หมุนตลอดก็ควรทำ แต่ไม่ควรทนร้อนปิดแอร์ตลอด-หวังประหยัด เพราะจะต้องเปิดแง้มกระจก ลมเข้า-รถต้านลมมากขึ้น และคนต้องทนทุกข์กับความร้อน
การจอดบนการจราจร
การดับเครื่องยนต์ขณะจอดบนการจราจร ในเมืองร้อนอย่างไทย คงไม่จำเป็น การปลดเกียร์มาตำแหน่ง N ก็ช่วยประหยัดได้ เพราะกล่องอีซียูจะลดการฉีดน้ำมัน แต่ถ้าจอดไม่นานควรเข้า D และเบรกเตรียมพร้อมขับเคลื่อน ภายในเกียร์จะทนกว่า และร่องเกียร์สึกน้อยกว่าการเลื่อนไปมาระหว่าง N-D อยู่บ้าง
สรุปถ้าเน้นเกียร์ทน คาไว้ D แต่เมื่อจอดนานหน่อย ขี้เกียจเหยียบเบรกหรือดึงเบรกมือ และเน้นประหยัดให้ปลดมาที่ N
เมินอุปกรณ์ช่วยประหยัด
เพราะส่วนใหญ่...หลอกลวงทั้งสิ้น เช่น แม่เหล็กสารพัด หัวเชื้อ เม็ดพิเศษ ฯลฯ หันมาสนพลังงานทางเลือกเช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล แอลพีจี เอ็นจีวี ที่คุ้มค่ากว่า
ขับประหยัด แต่ต้องปลอดภัย !
Sanook! Auto Comment
ขอบคุณครับ สำหรับเคล็ดดลับขับประหยัดดีๆ อีกครั้งจากเซียนนักขับของบ้านเรา งานนี้ก็ต้องลองไปใช้กันดู การขับประหยัดนั้นได้ไม่ยาก และสามารถเริ่มได้จากเราก่อนเลย