จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรใช้ "ไฟตัดหมอก"?

จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรใช้ "ไฟตัดหมอก"?

จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรใช้ "ไฟตัดหมอก"?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รถยนต์รุ่นใหม่ๆที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน มักจะมาพร้อมอุปกรณ์ส่องสว่างที่เรียกว่า "ไฟตัดหมอก" ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากหากใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของมัน แต่จะกลายเป็นดาบสองคมทันทีหากใช้ผิดที่ผิดทาง

     แล้วแบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรเปิดไฟตัดหมอก? คราวนี้ Sanook! Auto จึงขอแนะนำการใช้งานไฟตัดหมอกอย่างถูกวิธีกันครับ

 

     ไฟตัดหมอกถือว่าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งในรถยุโรปแบรนด์หรูส่วนใหญ่มาร่วม 30 ปีแล้ว ซึ่งมีทั้งที่ติดตั้งไว้ในชุดโคมไฟใหญ่ และแยกออกมาติดตั้งไว้บริเวณกันชน รวมถึงไฟตัดหมอกหลังที่มักอยู่ในชุดโคมเดียวกับไฟท้าย พร้อมสวิตช์ปิด-เปิดอยู่ภายในรถ

     ขณะที่รถจากฝั่งญี่ปุ่นนั้น 'ไฟตัดหมอก' ก็ถูกติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานเกือบทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในปัจจุบันแล้วเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นไฟตัดหมอกด้านหน้า ขณะที่ไฟตัดหมอกหลังยังคงมีให้เป็นบางรุ่น บางยี่ห้อเท่านั้น

 

     'ไฟตัดหมอกหน้า' ส่วนใหญ่มักมีความเข้มของแสงใกล้เคียงกับไฟหน้าฮาโลเจนทั่วไป แต่มีความพิเศษอยู่ที่ลำแสงที่พุ่งออกมานั้น จะถูกปรับให้ส่องลงพื้นและออกไปทางด้านข้างมากกว่าไฟหน้าปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเพื่อให้ผู้ขับสามารถมองเห็นขอบถนนได้ง่ายขึ้น ในเวลาที่ทัศนวิสัยด้านหน้าแย่มาก (เช่น ฝนตกหนัก, หมอกลงจัด ฯลฯ) ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถประคองรถให้อยู่ในเลนไปได้เรื่อยๆ

     ขณะที่ไฟตัดหมอกสมัยใหม่จะถูกออกแบบลำแสงให้เลี่ยขนานไปกับพื้นถนนด้วย เพื่อช่วยเสริมการทำงานของไฟหน้าให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นทางได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งไฟตัดหมอกประเภทนี้มักพบในรถยุโรป และรถญี่ปุ่นบางยี่ห้อ โดยไฟลักษณะนี้หากเผลอเปิดทิ้งไว้ในสภาพอากาศปกติ จะไม่กระทบกับสายตารถที่วิ่งสวนมาเท่าใดนัก (ยกเว้นพื้นถนนเปียกอาจสะท้อนเข้าตาได้เหมือนกัน)

     ส่วนไฟตัดหมอกที่ติดตั้งในรถญี่ปุ่นบางรุ่น มีลักษณะการกระจายแสงไปด้านหน้าแบบทั่วทิศทาง (หากนึกไม่ออกลองนึกถึงไฟฉายที่สามารถกระจายแสงได้กว้างๆนั่นแหละ) ซึ่งไฟตัดหมอกประเภทนี้มีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้ขับขี่ที่สวนทางมามองเห็นได้จากระยะไกลขึ้นกว่าเดิม ในสภาพที่ทัศนวิสัยอยู่ในระดับแย่มาก แต่หากสภาพอากาศเป็นปกติแล้วนั้น ไฟตัดหมอกประเภทนี้จะแยงสายตาผู้ร่วมทางเป็นอย่างมากเช่นกัน

 

     ส่วนไฟตัดหมอกหลังนั้น จะมีลักษณะเป็นแสงสีแดงพุ่งตรงไปทางด้านหลัง มีความเข้มของแสงเท่ากับหรือมากกว่าไฟเบรกเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ตามมาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในสภาวะฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด ช่วยป้องกันอุบัติชนท้ายได้ดีกว่าไฟท้ายปกติ แต่แสงที่ว่าจะแยงตาผู้ร่วมทางเป็นอย่างมาก หากเปิดใช้ในสภาพอากาศปกติ

 

     แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรเปิดไฟตัดหมอก?

     โดยปกติแล้ว ไฟตัดหมอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะมีการเปิดใช้ก็ต่อเมื่อสภาพอากาศภายนอกแย่จัด จนส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยเท่านั้น (หากฝนตกปอยๆ แบบใช้ที่ปัดน้ำฝนช้าๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดหรอกครับ) ให้สังเกตว่าหากเราไม่สามารถมองเห็นไฟท้ายรถคันหน้าท่ามกลางสายฝนในระยะ 50-100 เมตร ก็สามารถเปิดไฟตัดหมอกช่วยได้แล้วครับ เมื่อทัศนวิสัยกลับมาเป็นปกติก็ให้รีบปิดไฟตัดหมอกโดยทันที

 

     ขับรถทางไกลมืดๆ เปิดไฟตัดหมอกหน้าทิ้งไว้ดีหรือไม่?

     จริงอยู่ที่ว่า เมื่อเปิดไฟตัดหมอกคู่กับไฟหน้า จะทำให้ไฟหน้าดูสว่างขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะส่องได้ไกลขึ้นแต่อย่างใด แถมยังอาจรบกวนสายตาผู้ร่วมทางที่วิ่งสวนมาอีกต่างหาก ทางที่ดีผู้ที่ต้องขับขี่ทางไกลยามวิกาลบ่อยๆ การลงมือปรับตั้งไฟหน้าให้ส่องสว่างได้ไกลขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า (แต่ต้องไม่ปรับให้สูงจนแยงตารถคันที่สวนมาด้วยนะครับ)

    

      'ไฟตัดหมอก' ถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้มากหากใช้งานอย่างถูกต้อง หากรถของคุณติดตั้งมาให้ด้วยแล้วล่ะก็ อย่าลืมใช้งานอย่างถูกวิธีด้วยนะครับ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook