จับตาอนาคต คดีคุ้มครองผู้บริโภคภาคยานยนต์ หลังยักษ์ใหญ่ประเดิม จ่าย 5ล้านบาท

จับตาอนาคต คดีคุ้มครองผู้บริโภคภาคยานยนต์ หลังยักษ์ใหญ่ประเดิม จ่าย 5ล้านบาท

จับตาอนาคต คดีคุ้มครองผู้บริโภคภาคยานยนต์ หลังยักษ์ใหญ่ประเดิม จ่าย 5ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนมากใช้รถ และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นอาจจะขาดทุนทรัพย์ แต่หลายๆครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการขาดความรู้ทางด้านกฏหมายที่จะต่อกรกับยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ จนเป็นบาดแผลอย่างเช่นการทุบรถที่เคยมีมาแล้วในสังคมไทย

น้อยคนนักที่จะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางใหม่สำหรับไขปัญหาอย่างกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะกับใครหลายคนที่ใช้รถยนต์แล้วพบว่าน่าจะมีปัญหาจากกระบวนการผลิตของบริษัท กลับยังไม่ค่อยเห็นทางสว่างนอกจากทนใช้ไปหรือไม่ก็ขายทิ้ง ที่วันนี้ฟ้ากำลังเปลี่ยน เพราะกระบวนการยุติธรรมยังศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง!!

ใครที่ชอบเข้าไปพูดคุยตามภาษาคนรักรถตามเว็บบอร์ดต่างๆ คงเคยได้ยินเรื่องราวปัญหารถยนต์มากมาย แต่ไม่มีใครใจเด็ดเท่าเจ้าของรถ Toyota Innova ที่มีคุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เป็นเจ้าของได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อยักษ์ใหญ่วงการยานยนต์ไทย บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด (จำเลยที่ 1) ,บริษัท โตโยต้า บีเอ็นที จำกัด(จำเลยที่2) และท้ายสุดที่ขาดไม่ได้คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศ จำกัด (จำเลยที่3) ให้ร่วมรับผิดชอบรถที่ซื้อมาอย่างถูกต้อง เลขทะเบียน ศณ 6774 หลังพบไอเสียของรถไหลเข้าสู่ห้องโดยสารได้ไม่ทราบสาเหตุ และมีการตรวจวัดโดยผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเก้าธนบุรี แล้วพบว่ามีปริมาณสูงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ในระดับ 16 PPM

คดีที่ผ่านมากว่า 2 ปี และการทนทุกข์ของเจ้าของรถที่ต้องสูดดมควันไอเสียยาวนานมากว่า 5 ปี จนท้ายสุดต้องเลิกใช้งานไปโดยปริยายนั้น จบลงด้วยตัดสินของศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ชี้ขาดให้ จำเลยที่ 1 และ 3 ชดใช้ค่าเสียหาย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่รุ่นเดียวกันหรือซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และให้บริษัทโตโยต้า จ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 ที่นอกจาก 2 รายการเบื้องต้นยังการเรียกร้องค่าเสียหายทางด้านสุขภาพจากเจ้าของรถและผู้ใช้ร่วม รวม 4 คน ที่คิดรวมทั้งหมดแล้วเป้นมูลค่า กว่า 5 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในอดีตหลายครั้งที่ต้องยอมรับผู้ใช้รถยนต์มักประสบปัญหาต่างๆนานากับรถที่นำมาสู่ปัญหาทางด้านความขัดแย้ง ระหว่างผู้ซื้อที่มั่นใจและคาดหวังว่ารถใหม่ป้ายแดงไม่น่าจะพบปัญหาใดๆ แต่เมื่อนำมาใช้งานเกิดปัญหา ก็ยากที่จะหาผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถเป็นสินค้าที่มีราคาค่าตัวสูงและมีกระบวนการต่างๆมากมายที่ซับซ้อน จนกว่าจะได้มาขับ ทำให้เมื่อมีปัญหาก็ย่อมจะกระทบจิตใจของผู้ใช้เป็นธรรมดา

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2548 คดีผู้ใช้รถกับรถป้ายแดงเจ้าปัญหานั้น ดูจะไม่มีอะไรที่ทำให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ช้ำไปได้มากกว่า การทุบรถของสาวใหญ่วัย 28 ที่จัดหนักกับรถอเนกประสงค์ Honda CR-V ที่พบปัญหาหลายรายการตั้งแต่ซื้อรถมาใหม่ และท้ายที่สุดก็ทนไม่ไหว จนต้องออกมาทุบรถโชว์หน้าตึกชินวัตร 3 ตามที่เคยเป็น ข่าว แต่ในครั้งนั้น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ก็ออกมาเจรจาและท้ายสุดสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ โดยตกลงรับซื้อรถที่มีปัญหารุ่นดังกล่าวคืนเช่นกัน ส่วนสาวใหญ่ก็ปิดจ๊อบไปออกโตโยต้า วิซมาขับอย่างสบายใจ

ถ้าหากจะพูดถึงกระบวนการทางกฏหมาย กับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุดนั้น ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มีมาตราที่รับรองอยู่ โดยในมาตราที่ 472 ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็น ปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิดความที่กล่าวมาในมาตรนี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่"

ตามข้อความดังกล่าวนี้ นั่นเท่ากับว่าถ้าสินค้ามีปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการใดของผู้ขาย ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทหรือผุ้ขายนั้นๆในการรับผิดชอบโดยตรง อันเป้นสิทธิที่เราฐานะผู้ซื้อสามารถทำได้ และจะมีน้ำหนักยิ่งขึ้นหากมีการรวมกลุ่มก้อนกันในการดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานของรัฐบาล ที่เรามักคุ้นเคยอละอยากให้เข้ามามีบทบาท

ทั้งนี้ นางสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เจ้าของรถ โตโยต้า อินโนว่า ที่มีปัญหาเรื่องไอเสียเข้าห้องโดยสาร ซึ่งเพิ่งจะชนะคดีมา ได้เปิดเผยว่า "รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทาง กฎหมายเหมือนดิฉัน"

แน่นอนว่ายังมีคดีความและข้อเรียกร้องอีกมากมายที่เกิดขึ้นในภาคของคดียานยนต์ของการเรียกจากผู้ใช้รถหรือผู้บริโภค ที่แม้การชนะยักษ์โตโยต้ามาได้นี้ อาจจะเป็นเพียงก้าวเล็กท่ามกลางกระแสข่าวยานยนต์ที่มีอย่างมากมาย แต่วันนี้ถ้าเราพร้อมใจในการเรียกร้องสิทธิที่เราพึงมีในตัวสินค้า อาจเป็นจุดเปลี่ยนของมาตรฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ๆไทย ที่ผุ้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือเราๆท่านๆ ที่กำลังต้องการซื้อหรือใช้รถยนต์ในอนาคต

 

ข้อมูลอ้างอิง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook