รู้จริงเคลมประกันศูนย์ฯ...แบบไหนที่ได้ชัวร์แน่! นอน
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมามีเรื่องให้เราชวนปวดเศียรเวียนเกล้าเมื่อเข้าเยือนแฟนเพจของ Nissan Thailand ที่หน้าสังคมออนไลน์ ซึ่งมีท่านผู้หญิงคนหนึ่งมาตีฆ้องร้องป่าว ว่าทางศูนย์ไม่ยอมจัดการเรื่องรถของเธอให้และจะร้องเรียนศูนย์ร้องทุกข์ผู้บริโภคเพียงเพราะ เธอขับรถโดนเหล็กทิ่มยาง จนยางรั่วเท่านั้น
เรื่องที่ชวนอดอมยิ้มกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราประหลาดใจไปได้ทันควัน เมื่อมีคนหวังดีมาตอบแต่ก็โดนเหวี่ยงอย่างไม่เป็นท่าและออกปาก ให้ค่ายรถยนต์รับผิดชอบต่อยาง Nissan March ของเธอ ซึ่งทำให้เราต้องมาจับเข่าคุยเรื่องการรับประกันชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ปัจจุบันเป็นมาตรฐานใหม่ของรถทุกรุ่น ที่โดยมากมีกำหนดที่ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตรแล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงก่อน
มาตรฐานใหม่ในการรับประกันชิ้นส่วนยานยนต์นี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์และได้สิทธิในการคุ้มครอง ทว่าเราก็ต้องรู้จักหลักการในการพิจารณาของบริษัท ที่จะมีเป็นรายกรณีไป แม้สิ่งที่จะกล่าวต่อไปจะไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็น่าจะให้คุณเข้าใจได้มากขึ้น
1.พื้นฐานรับประกัน
สิทธิใหม่ที่เราผู้บริโภคได้รับจากค่ายรถยนต์คือการรับประกันชิ้นส่วนต่างๆที่มีระยะเวลาตามที่แต่ละค่ายกำหนด แต่แน่นอนว่า การรับประกันนั้นก็ย่อมต้องมีขอบเขตในการรับผิดชอบ ซึ่งโดยมากทุกชิ้นส่วนจะมีการตรวจเช็คคุณภาพก่อนที่ติดตั้งในรถทุกคัน แต่การรับประกันเข้ามาในการรับผิดชอบชิ้นส่วน ซึ่งอาจจะพบเจอปัญหาได้ภายหลังเมื่อเกิดการใช้งาน ที่เมื่อได้รับการตรวจสอบว่ามีปัญหาจริง ก็จะมีการเคลมโดยเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ในทันที แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำคัญคือต้องไม่เกิดความเสียหายจากการใช้งานของลูกค้า
2. ดัดแปลงรถยนต์ เรื่องสำคัญต้องระวังให้ดี
โดยสรุปของพื้นฐานการรับประกันค่ายรถยนต์ง่ายๆคือว่า ชิ้นส่วนนั้นต้องอยู่เหมือนเดิม และเสียด้วยตัวเองไม่ได้เกิดจากการใช้งานของลูกค้า ซึ่งข้อหนึ่งที่ทำให้รถยนต์คันนั้นหมดประกันไปโดยปริยาย คือการดัดแปลงรถยนต์ โดยเฉพาะ การแต่งชิ้นส่วนต่างๆไม่ว่าเครื่องยนต์ หรือระบบไฟ ตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ ถ้าไม่ได้มีการทำงานโดยช่างของทางบริษัทรถยนต์รายนั้นๆก็หมายถึงการหมดรับประกัน
อย่างไรก็ดีในบางกรณีอาจจะเป็นเฉพาะรายการ เช่นติดตั้งระบบ Cruise control แล้วต้องมีการตัดต่อดัดแปลงระบบไฟ ก็อาจจะทำให้ขาดประกันไปได้เฉพาะระบบ แล้วแต่การวิเคราะห์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
3.อุบัติเหตุ ข้อนี้ต้องเคลียร์ให้ดี
บางครั้งการรับประกันก็หมดได้ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณคิดว่ารถคุณมีประกันที่ได้รับสิทธิตามชอบ แต่คุณเคยเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ชิ้นส่วนต่างๆได้รับความเสียหาย ซึ่งหากรถของคุณเคยได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะกรณีชนหนัก แล้วผลที่ชิ้นส่วนเสียหายนั้นเกิดจากอุบัติเหตุนั้น ก็จะไม่เข้าข่ายการรับประกันในทันที
4.อะไหล่ปลอม -ของเทียบเรื่องนี้สำคัญ
มีพวกเราจำนวนไม่น้อยกลัวการใช้ศูนย์บริการทั้งๆที่จริงๆ ปัจจุบันศูนย์บริการก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแพงเท่าไรนัก แต่ถ้าคุณซ่อมอู่นอกบ่อยๆ แล้วยังอยากได้รับการประกันอยู่ก็ควรใช้แต่ของแท้โดยเน้นย้ำกับช่าง และหาโอกาสแวะไปใช้บริการที่ศูนย์บ้างเพื่อที่จะได้มีข้อมูลการเข้าศูนย์บริการ ใช้ในการอ้างอิง ซึ่งการเข้าศูนย์นั้นจะมีการตรวจเช็คชิ้นส่วนต่างๆด้วย
5.มีปัญหาต้องเข้าศูนย์
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหลายคนที่เป็นหรือมีความรู้เรื่องช่างมักคิดว่าไม่สำคัญในการเข้าศูนย์บริการ แต่ความจริงแล้ว การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือต้องกลับไปบอกเล่าแล้วให้ช่างประจำศูนย์บริการตรวจสอบปัญหา แม้จะตรวจไม่พบแต่หากพบอีกครั้งก็มีโอกาสที่จะอยู่ภายใต้การรับประกันสูง แม้จะเกิดเหตุที่อาจจะเสียหายได้จากเราก็ตาม เพราะสามารถยืนยันได้จากข้อมูลที่เรามาให้ไว้ก่อนหน้านี้
แน่นอนทั้งหมดนี้กับการรับประกันจากค่ายรถยนต์ทั้งหลายอาจจะฟังแล้วดูยุ่งยาก แต่เพียงแค่คุณเข้าใจง่ายๆว่า ถ้าพังเองบริษัทรับผิดชอบ เท่านี้ก็คงช่วยให้หลายคนสบายใจมากยิ่งขึ้น
Sanook! Auto Comment
หลายครั้งที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับหลายคนนั้น เรื่องของประกันภัยจากค่ายรถยนต์นั้นถือเป็นหนึ่งในหลายๆประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง แล้วลูกค้าก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จนเป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ แม้ลูกค้ามีสิทธิที่จะเรียกร้องการรับผิดชอบจากค่ายรถยนต์ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในขอบข่ายความรับผิดชอบด้วย