รีวิว Thairung Transformer Max 3.0 4WD ใหม่ เอสยูวีสัญชาติไทยดีไซน์แนว
ที่ผ่านมา เราได้ทำรีวิวทั้งรถญี่ปุ่น รถยุโรป กันไปหลายต่อหลายคัน คราวนี้ลองหันมาดูรถสัญชาติไทยแบรนด์เก่าแก่อย่าง ‘ไทยรุ่ง’ กันดูบ้างว่าจะน่าคบหาขนาดไหน
คราวนี้ Sanook! Auto มีโอกาสเข้าร่วมทดสอบ Thairung Transformer Max (ไทยรุ่ง ทรานส์ฟอร์เมอร์ แม็กซ์) บนเส้นทางกรุงเทพฯ-กุยบุรี ซึ่งก็เพียงพอที่จะจับฟีลลิ่งในการขับขี่เพื่อมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านได้พิจารณากัน
จุดเด่นของ ไทยรุ่ง ทรานส์ฟอร์เมอร์ เห็นจะหนีไม่พ้นดีไซน์ภายนอกที่ชวนสะดุดตาผู้พบเห็น ด้วยรูปลักษณ์สไตล์ออฟโรดแบบฉบับคลาสสิก ขณะที่พื้นฐานถูกยกมาจากกระบะขายดีอย่าง โตโยต้า วีโก้ ซึ่งเป็นจุดการันตีด้านการบำรุงรักษาชิ้นส่วนประเภทเครื่องยนต์และช่วงล่างว่ามีอะไหล่ให้ใช้กันไปยาวๆ แน่นอน
โดยคันที่เรามีโอกาสทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่น ‘Transformer Max 3.0 4WD MT’ รุ่น 11 ที่นั่ง เกียร์ธรรมดา ซึ่งถือเป็นโมเดลล่าสุดของค่ายไทยรุ่ง ที่มาพร้อมหลังคาทรงสูง ช่วยเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสารขึ้นแยะ
รูปลักษณ์ภายนอกของ Transformer Max ถูกออกแบบให้ดูมีเหลี่ยมสันตลอดทั้งคัน ดูเผินๆคล้ายกับเอสยูวีสัญชาติมะกันอย่าง ‘Hummer H3’ ผสมกับเอสยูวีคลาสสิกแห่งอังกฤษอย่าง ‘Land Rover Defender’ ยังไงยังงั้น
ด้านหน้าติดตั้งไฟหน้าทรงกลมแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ฮาโลเจน พร้อมไฟเลี้ยวทรงกลมแบบ LED กระจังหน้าถูกออกแบบให้เป็นซี่ทรงตั้งสีเงิน กันชนถูกออกแบบให้ดูเหลี่ยมสันเช่นกัน พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้า และตกแต่งด้วยแผ่นปิดชายกันชนสีเงิน ขณะที่กระโปรงหน้าติดตั้งช่องดักลมขนาดใหญ่
ถัดมาด้านข้าง โดดเด่นด้วยโป่งล้อทรงเหลี่ยมสีดำขนาดใหญ่ พร้อมร่องสำหรับยึดตัวน็อตที่ช่วยให้ดูสมบุกสมบันมากขึ้น ติดตั้งที่เปิดประตูและกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวแบบโครเมี่ยม ขณะที่ชายประตูด้านล่างตกแต่งด้วยสีดำเพิ่มความดุดัน มาพร้อมล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/70 R16
ด้านท้ายมาพร้อมไฟท้ายทรงกลม 2 ดวง ตกแต่งด้วยแผ่นปิดชายกันชนสีเงินออกแบบให้ดูดุดัน ขณะที่ประตูท้ายติดตั้งกล้องมองหลังไว้ตรงกลาง ตัวบานประตูสามารถเปิดได้ 2 จังหวะ ทั้งเปิดเฉพาะตัวกระจก และเปิดแบบทั้งบานไปทางด้านข้าง นอกจากนั้น ยังติดตั้งบันไดเหยียบแบบพับเก็บเองได้อัตโนมัติอีกด้วย วิธีใช้ก็เพียงใช้เท้ากดน้ำหนักลงไป เมื่อใช้เสร็จตัวบันไดก็จะค่อยๆเลื่อนขึ้นไปช้าๆ ช่วยให้การเข้าออกด้านหลังสะดวกมากขึ้น
ห้องโดยสารภายในคุ้นตา ด้วยแผงคอนโซลที่ยกมาจาก ‘วีโก้’ ทั้งดุ้น ภายในตกแต่งด้วยสีดำดูเรียบหรู เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังแท้ทุกที่นั่ง พร้อมตกแต่งด้วยตัวหนังสือ ‘Transformer’ บริเวณพนักพิง
ด้านบนคอนโซลถูกติดตั้งหน้าจอ MID สำหรับบอกข้อมูลการขับขี่ต่างๆ ขยับลงมาเป็นเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 6.1 นิ้ว รองรับ CD/MP3 ได้ 1 แผ่น พร้อมพอร์ต USB และ AUX ติดตั้งใกล้กับที่จุดบุหรี่ ติดตั้งระบบนำทางมาให้ในตัวเสร็จสรรพ เงยหน้าขึ้นมาด้านบนจะพบกับไฟอ่านแผนที่ และช่องเก็บแว่นตา
ไฮไลท์ของรุ่น Transformer Max 11 ที่นั่ง อยู่ที่เบาะหลังด้านท้าย ที่ออกแบบให้เป็นแถวยาวนั่งหันหน้าเข้าหากัน โดยสามารถนั่งได้ฝั่งละ 3 คนแบบพอดีๆ เท่ากับว่าด้านหลังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้รวม 6 คน บวกกับที่นั่งปกติสองแถวหน้า จึงกลายเป็น 11 ที่นั่งนั่นเอง
นอกจากนั้น เบาะนั่งด้านท้ายยังสามารถพับขึ้นเพื่อแขวนเก็บไว้ด้านข้างเพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระได้ด้วย ซึ่งพื้นที่ที่ให้มาเรียกว่ากว้างขวางเลยทีเดียว ยิ่งถ้านับความสูงของพื้นที่ด้านท้ายเข้าไปด้วยแล้วล่ะก็ สามารถขนของได้อย่างจุใจ ถึงไหนถึงกันจริงๆ แถมยังมีช่องแอร์ตอนหลังแบบติดเพดานที่สามารถปรับความแรงลม/อุณหภูมิได้อย่างอิสระ สบายใจเรื่องการใช้งานในสภาพอากาศร้อนระอุของบ้านเรา
ขุมพลังของ Transformer MAX 3.0 4WD คันนี้ ถูกยกมาจากวีโก้เช่นกัน ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลรหัส 1KD-FTV พร้อม VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดที่ 343 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400 – 3,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีด
ส่วนระบบช่วงล่างนั้น ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบแหนบซ้อนและโช๊คอัพติดตั้งทแยงมุม พร้อมลิมิเต็ดสลิป
ด้านระบบความปลอดภัย ติดตั้งระบบเบรก ABS และ EBD เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมถุงลมนิรภัยคู่หน้าเมื่อเกิดการชน
เริ่มต้นเข้ามานั่งภายในห้องโดยสารของ Transformer Max ก็สัมผัสได้ถึงความกว้างขวางภายใน ด้วยรูปทรงตัวถังที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเหลี่ยม ประกอบกับหลังคาทรงสูง ทำให้มีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่มาก จนแทบจะยืนในรถได้เลยทีเดียว
เบาะนั่งออกแบบให้มีลักษณะนุ่ม นั่งสบาย รองรับสรีระได้ดีพอสมควร แต่ขาดเรื่องความโอบกระชับไปหน่อย ขณะที่เบาะนั่งแถวที่ 2 ยังสามารถปรับเอนได้ ช่วยเพิ่มความสบายให้กับผู้โดยสารเมื่อต้องเดินทางไกลๆ
เริ่มต้นออกเดินทาง เราก็สัมผัสได้ถึงอัตราเร่งของ Transformer Max ที่เค้นกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร มีแรงบิดสูงสุด 343 นิวตัน-เมตร เมื่อต้องแบกรับน้ำหนักตัวถังกว่า 2,350 กิโลกรัม และผู้โดยสารร่วมทริปอีก 4 ท่าน (รวมผู้ขับ) ทำให้อัตราเร่งไม่ถึงกับปรู๊ดปร๊าดดั่งใจคิด แต่ก็ไม่ได้อืดซะทีเดียว ช่วงไต่ความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. มีกำลังให้เล่นอยู่พอประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเกิน 120 กม./ชม. ขึ้นไป ความเร็วจะค่อยๆไต่ขึ้นอย่างช้าๆซึ่งหากผู้อ่านใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดแล้วล่ะก็ คงไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด
แต่เมื่อความเร็วไต่ระดับมาได้ประมาณ 100-120 กม./ชม. ก็ถือว่าสามารถเดินทางได้อย่างสบายๆ ขณะที่เสียงลมจะเริ่มเข้ามาบ้างที่ความเร็ว 100 กม./ชม.เป็นต้นไป ซึ่งก็ถือเป็นธรรมชาติของรถที่ออกแบบให้มีลักษณะเหลี่ยมสันทั้งคัน และกระจกบังลมหน้าที่ตั้งชันแบบนี้
แม้ว่าช่วงล่างด้านหลังยังคงเป็นระบบแหนบเช่นเดียวกับรถกระบะ แต่ด้วยตัวถังน้ำหนักเกือบ 2 ตันครึ่งก็ช่วยกดช่วงล่างให้กลายเป็นรถที่มีลักษณะนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างอย่างที่คิด จึงถือว่าเป็นรถที่สามารถโดยสารได้สบายๆ แม้ต้องขับเป็นระยะทางไกลๆ ก็ตาม แถมยังให้ความทนทาน ดูแลรักษาง่าย ตามสไตล์ช่วงล่างแบบลีฟสปริงอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่แลกมากับน้ำหนักตัวรถ ก็คือความแข็งแกร่งของตัวถัง ซึ่งดูเผินๆแล้วมีความหนากว่ารถรุ่นอื่นๆในท้องตลาดอยู่พอสมควร จึงทำให้ Transformer Max ดูน่าจะเป็นรถคันหนึ่งที่ปกป้องผู้โดยสาร ยามลุยถนนหนทางสมบุกสมบันแบบออฟโรดได้เป็นอย่างดี
สรุป สำหรับใครที่กำลังมองหารถอเนกประสงค์คันใหญ่ ที่สามารถจุผู้โดยสารได้เยอะ ดีไซน์สมบุกสมบัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขับไปไหนใครๆก็เหลี่ยวมอง แถมยังมีจุดเด่นด้วยพื้นฐานที่ยกมาจากรถกระบะเจ้าตลาดอย่าง ‘วีโก้’ ซึ่งสามารถใช้อะไหล่ส่วนใหญ่ร่วมกันได้ (นอกจากชิ้นส่วนตัวถัง) จึงทำให้ ‘ทรานส์ฟอร์เมอร์ แม็กซ์’ เป็นรถที่คบหาได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรถสไตล์นี้อย่างแท้จริง
ราคา Thairung Transformer Max มีดังนี้
- 2.5 2WD AT (11 ที่นั่ง) ราคา 1,475,000 บาท
- 3.0 4WD MT (11 ที่นั่ง) ราคา 1,565,000 บาท *รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ
- 2.5 2WD AT (7 ที่นั่ง) ราคา 1,485,000 บาท
- 3.0 4WD MT (7 ที่นั่ง) ราคา 1,575,000 บาท
ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้เกียรติเชิญทีมงานเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 66 ภาพ