รีวิว Toyota Revo Smart Cab 2015 ใหม่ ทั้งแรง ทั้งลุย อ็อพชั่นเต็ม ครบเครื่องในคันเดียว
ก่อนหน้านี้เราเคยทำรีวิว Toyota Revo Double Cab 4 ประตูกันไปแล้ว (อ่านที่นี่) ซึ่งนั่นก็ถือเป็นรถกระบะที่น่าใช้ที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดขณะนี้ แต่สำหรับกระบะประเภทตอนครึ่ง หรือแบบ 2 ประตูมีแค็บนั้น ก็นับว่าเป็นรถขายดีในบ้านเราเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จึงพาเหล่าสื่อมวลชนร่วมทดสอบ โตโยต้า รีโว่ สมาร์ทแค็บ ใหม่ กันถึงสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งแน่นอนว่าทีมงาน Sanook! Auto ก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมทดสอบ เพื่อกลับมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้คุณผู้อ่านได้พิจารณากัน
การทดสอบครั้งนี้มีความพิเศษนอกเหนือจากการทดสอบบนถนนปกติทั่วไป ด้วยการนำเอา รีโว่ สมาร์ทแค็บ ลงวิ่งบนสนามช้างฯกันแบบเต็มรอบสนาม เพื่อทดสอบการยึดเกาะถนน, การเข้าโค้ง, อัตราเร่ง ฯลฯ รวมถึงยังได้สร้างเส้นทางแบบออฟโรด เพื่อทดสอบการขับขี่วิบากด้วยรถสภาพเดิมๆจากโรงงาน เพื่อดูว่าระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรีโว่ใหม่ จะทำงานได้ดีสมอย่างที่คุยเอาไว้หรือไม่
สำหรับตัวถังสมาร์ทแค็บนั้น มีรุ่นย่อยให้เลือกถึง 14 รุ่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบขับเคลื่อนสองล้อ, ขับเคลื่อนสองล้อยกสูง (Prerunner) และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ รวมถึงเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร, 2.8 ลิตร และเครื่องยนต์เบนซินให้เลือกตามการใช้งานของแต่ละบุคคล
Revo Smart Cab ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาใกล้เคียงกับรุ่นดับเบิ้ลแค็บเช่นกัน โดยในรุ่นท็อปสุด (2.8G 4WD) ติดตั้งไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ฮาโลเจน พร้อมไฟ Daytime Running Light แบบฮาโลเจน ควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ จากสวิตช์ภายในรถ มาพร้อมระบบ Follow-me-home สำหรับหน่วงเวลาปิดไฟหน้า เหมาะสำหรับส่องสว่างขณะเดินเข้าบ้าน เป็นต้น
กระจังหน้าแบบโครเมี่ยมออกแบบให้รับกับชุดไฟหน้า พร้อมกันชนหน้าสีเดียวกับตัวรถ ติดตั้งไฟตัดหมอกไว้ด้านล่างกันชน กระจกมองข้างเป็นแบบโครเมี่ยม พร้อมติดตั้งไฟเลี้ยว สามารถปรับและพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า ขณะที่ไฟท้ายยังถูกติดตั้งไฟตัดหมอกมาให้ด้วย
ห้องโดยสารภายในถูกตกแต่งด้วยสีดำ ติดตั้งเบาะนั่งแบบผ้าคุณภาพสูงสีน้ำตาล สามารถปรับสูง-ต่ำฝั่งคนขับได้ คอนโซลหน้าติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส รองรับแผ่น DVD 1 แผ่น มีพอร์ต USB/AUX มาให้ รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่านบลูทูธ และยังสามารถเชื่อมต่อแบบ A2DP เพื่อเล่นเพลงในโทรศัพท์ได้ ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 6 จุดรอบคัน รวมถึงติดตั้งระบบนำทางและกล้องมองหลังมาให้ด้วย
เลื่อนลงมาเป็นระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ที่ให้ความเย็นถึงใจตามฉบับโตโยต้า ใกล้กันเป็นปุ่มควบคุมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบลูกบิด ใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม พร้อมช่องจ่ายไฟแบบ 12 โวลต์ถึง 2 ตำแหน่งด้วยกัน ขณะที่กล่องเก็บของด้านหน้าเป็นแบบ 2 ชั้น โดยชั้นบนยังสามารถใช้เป็น Cool Box สำหรับเก็บเครื่องดื่มเย็นๆได้ เนื่องจากข้างในจะมีช่องลมแอร์เล็กๆ คอยเป่าความเย็นเข้ามายังกล่องที่ว่านั่นเอง
เลื่อนมาทางฝั่งผู้ขับ จะพบกับหน้าปัดเรืองแสง Optitron ดูทันสมัย ติดตั้งหน้าจอ MID แบบกราฟฟิกสีเช่นเดียวกับที่พบใน ‘คัมรี่’ สามารถบอกรายละเอียดการขับขี่, ระบบนำทาง, ระบบเครื่องเสียง เป็นต้น พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นหุ้มด้วยหนัง ติดตั้งปุ่มสำหรับควบคุมเครื่องเสียง, โทรศัพท์ และปุ่มควบคุมหน้าจอ MID โดยตัวพวงมาลัยเองยังสามารถปรับได้แบบ 4 ทิศทาง ทั้งขึ้นลง-เข้าออกด้วย
น่าเสียดายที่รุ่นสมาร์ทแค็บ ยังไม่มีกุญแจแบบ Keyless Entry มาให้ แต่ให้กุญแจรีโมทแบบพับได้มาแทน โดยปุ่มสตาร์ทที่ติดตั้งมาให้ในรุ่นดับเบิ้ลแค็บ ถูกแทนที่ด้วยแผ่นปิดพลาสติกธรรมดาๆ
เครื่องยนต์ในรุ่นสมาร์ทแค็บ มีให้เลือกทั้งเบนซินและดีเซล ซึ่งไฮไลท์คงต้องยกให้เครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ล่าสุด ที่มีความจุ 2.4 ลิตร และ 2.8 ลิตรให้เลือก โดยเน้นออกแบบให้มีพละกำลังเพิ่มขึ้น แต่ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
เครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร รหัส 2GD-FTV (High) หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่นแบบคอมมอนเรล มาพร้อม VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด พร้อมระบบ iMT
อีกรุ่นเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร รหัส 1GD-FTV (High) หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่นแบบคอมมอนเรล มาพร้อม VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ขยับกำลังสูงสุดเป็น 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 - 2,400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งแบบธรรมดา 6 สปีด และอัตโนมัติ 6 สปีด พร้อม Sequential Shift
ส่วนระบบความปลอดภัยมีให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 3 จุด ทั้งฝั่งผู้ขับ ผู้โดยสาร และถุงลมหัวเข่าฝั่งผู้ขับ ติดตั้งระบบเบรก ABS/EBD เข็มขัดนิรภัยพร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงดึงอัตโนมัติ โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA พร้อมเสริมคานนิรภัยด้านข้างให้ด้วย
อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า การทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ทั้งการขับขี่บนสนามแข่ง และการขับขี่แบบออฟโรด ซึ่งเราจะเล่าไปตามการขับขี่ทั้งสองรูปแบบเลยนะครับ
เริ่มจากการขับขี่บนสนามแข่ง ซึ่งรถคันที่เราได้ขับเป็นรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดาพร้อมโหมด iMT สิ่งแรงที่สัมผัสได้คือแรงดึงอันมหาศาลพุ่งไปข้างหน้ายามกดคันเร่งแบบจมมิด ด้วยแรงบิดสูงสุดถึง 420 นิวตัน-เมตร ซึ่งแม้ว่าการทดสอบจะไม่เอื้ออำนวยต่อการจับเวลาเพื่อหาอัตราเร่งที่แท้จริงนั้น แต่ตัวรถก็สามารถพุ่งทะยานแตะความเร็ว 140 กม./ชม.ได้อย่างรวดเร็วทันใจ
ในช่วงเข้าโค้งนั้น จะสังเกตได้ทันทีว่าช่วงล่างของ รีโว่ ใหม่ ถูกเซ็ตมาให้นุ่มนวลขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ด้วยอาการโยนที่มีให้เห็นบ้างขณะมุดโค้งที่ความเร็วสูง แต่สำหรับการยึดเกาะถนนถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว แม้จะมีเสียงยางลั่นให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่ช่วงล่างก็ยังสามารถเก็บอาการขณะเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าถ้าไม่นับอาการโยนที่เป็นธรรมชาติของรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่าปกติแล้ว ช่วงล่างของ รีโว่ ก็เทียบเคียงได้กับรถเก๋งช่วงล่างเยี่ยมๆ คันหนึ่งเลยทีเดียว
ในจังหวะเปลี่ยนเลนกะทันหันก็เช่นกัน แม้จะใช้ความเร็วถึง 80 กม./ชม. ตัวรถก็ยังอยู่ในการควบคุมเป็นอย่างดี ไม่มีอาการหน้าดื้อ หรือท้ายปัดให้เห็นแต่อย่างใด
ขณะที่การขับขี่ในรอบที่ 2 นั้น ทาง Instructor ได้ทำการเปิดโหมด PWR เพื่อช่วยเรียกกำลังจากเครื่องยนต์ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการทดสอบโดยการเหยียบคันเร่งจมมิด จะไม่รู้สึกแตกต่างการโหมดปกติเท่าไหร่นัก แต่หากเป็นการเหยียบคันเร่งแบบปกติทั่วไป จะเห็นว่าคันเร่งสามารถตอบสนองได้รวดเร็วฉับไวกว่าเดิมอย่างชัดเจน ช่วยให้การขับขี่สนุกสนานยิ่งขึ้น
ส่วนระบบ iMT จะช่วยปรับรอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสมขณะทำการเปลี่ยนเกียร์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนขึ้นหรือลง โดยทันทีที่ผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง สมองกลจะคำนวณรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับเกียร์นั้นๆ แล้วจึงเร่งเครื่องยนต์ (หรือลดเครื่องยนต์) ไปยังรอบดังกล่าวโดยอัตโนมัติ แม้ผู้ขับขี่เองจะไม่ได้เหยียบคันเร่ง เพื่อให้สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล ในจังหวะปล่อยคลัทช์นั่นเอง
จากนั้นเรายังได้ทดสอบการขับขี่แบบออฟโรด ซึ่งดูจะถูกอกถูกใจบรรดาผู้ร่วมทดสอบอย่างมาก โดยรถที่ใช้ในการทดสอบเป็นรุ่นดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู ขับเคลื่อนสี่ล้อ มีทั้งการลุยโคลน, ฝ่าแอ่งน้ำ, ขึ้น-ลงเนินชัน ฯลฯ ให้เราได้ฝ่าฟันกัน ซึ่งรถทุกคันเป็นรถเดิมๆจากโรงงาน ไม่มีการปรับแต่งชิ้นส่วนใดๆ แม้แต่ยาง All Terrain ที่ติดตั้งมานั้น ก็เป็นรุ่นเดียวกับที่ใส่ในรถที่วางจำหน่ายอยู่ในโชว์รูมเช่นกัน
เริ่มต้นจากการทดสอบลุยโคลนเป็นอันดับแรก เราใช้โหมดการขับขี่แบบ 4L หรือที่มักเรียกกันว่า ‘โฟว์โลว์’ ซึ่งเน้นการเรียกแรงบิดมากเป็นพิเศษ ซึ่งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรีโว่สามารถพาเราฝ่าดินโคลนเหลวๆ ไปพร้อมกับการปีนป่ายเนินได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เลี้ยงคันเร่งอย่างแผ่วเบา ควบคู่ไปกับการควบคุมทิศทางพวงมาลัยเท่านั้น
ขับต่อมาเรื่อยๆ จะเป็นเนินสลับซ้าย-ขวา ซึ่งตัวรถจะต้องเอียงไม่ต่ำกว่า 35 องศา ทั้งด้านขวาและซ้ายสลับกันไป เล่นเอาเสียวสันหลังวาบกันไปตามๆกัน แต่ก็สามารถผ่านลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี
เมื่อมาถึงเนินชัน จุดนี้เองเราได้ทดสอบระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HAC) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (DAC) โดยในโหมดขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4L จะช่วยรักษาแรงดันเบรกเพื่อออกตัวบนทางลาดชันเป็นเวลา 3 วินาที เพื่อให้ผู้ขับขี่เหยียบคันเร่งออกไปโดยไม่ทำให้รถไหล ขณะที่โหมดขับเคลื่อนแบบ 4H และ 2WD จะรักษาแรงดันเบรกไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ขับขี่จะเหยียบคันเร่งออกไป
ส่วนการลงเนินชันนั้น รีโว่ก็มีระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน DAC มาให้ ซึ่งระบบจะสั่งลดความเร็วลงทันทีเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบว่ามีการลงทางลาดชัน ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเบรกหรือใช้เอนจิ้นเบรกเข้าช่วย เพียงแต่คอยควบคุมพวงมาลัยเท่านั้นเอง ซึ่งความเร็วของตัวรถจะขึ้นอยู่กับองศาความชันที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ยิ่งชันมากความเร็วจะยิ่งลดน้อยลง
หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบทั้งสองรูปแบบแล้วนั้น เรายังมีโอกาสได้ขับ รีโว่ สมาร์ทแค็บ บนเส้นทางหลวงมุ่งหน้ากลับมายังกรุงเทพฯ ซึ่งคันที่เราขับกลับนั้น เป็นรุ่น 2.4G เกียร์ธรรมดา ขับเคลื่อนสองล้อ ซึ่งแม้ว่าเครื่องยนต์จะมีขนาดเล็กลงกว่าที่เราเคยทดสอบกันมา แต่ก็ยังคงให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจ ซึ่งเราเองมองว่าก็เพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว
ช่วงล่างของรุ่นสมาร์ทแค็บ แม้จะถูกปรับให้มีความนุ่มเพิ่มขึ้นแบบเดียวกับรุ่นดับเบิ้ลแค็บ แต่กลับให้ความรู้สึกมั่นใจในความเร็วสูงมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงล่างที่แข็งกว่ารุ่นดับเบิ้ลแค็บเล็กน้อย ช่วยให้การดูดซับแรงสะเทือนอยู่ในระดับ ‘พอดี’ ไม่แข็งเกินไป ไม่นิ่มเกินไป ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้งานบรรทุกสิ่งของด้านท้ายด้วย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ 4 ประตูส่วนใหญ่ที่เน้นใช้งานเพื่อการโดยสารมากกว่า
สรุป โตโยต้า รีโว่ สมาร์ทแค็บ 2015 ใหม่ ถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหากระบะแค็บ ด้วยพละกำลังเครื่องยนต์ที่มีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ, อ็อพชั่นภายในครบเครื่อง, ปรับปรุงช่วงล่างนุ่มนวลขึ้น ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ประกอบกับความสดใหม่ในตลาด และชื่อเสียงของศูนย์บริการที่มีครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ เราจึงไม่แปลกใจเลยหาก โตโยต้า รีโว่ จะยังคงสามารถครองความเป็นเจ้าตลาดในบ้านเราได้อยู่ต่อไป
ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญทีมงานเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 54 ภาพ