Subaru Impreza WRX STi : ปีศาจแมวรหัสร้อน
ยอมรับอย่างไม่ต้องสงสัยตามวลีเผ็ดร้อนที่ว่า "นอนยัน ขับสี่ มีหอย" นั้นเด็ดดวงเพียงใด เมื่อกำลังนั่งคุมบังเหียนฝูงม้า 300 ตัว ที่บรรจุอยู่ภายในขุมพลังบ็อกเซอร์เทอร์โบ รหัส EJ25 พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบฟูลไทม์ Symmetrical AWD และระบบ Driver Control Center Differential เทคโนโลยีที่ถ่ายทอดโดยตรงจากสนามแข่งแรลลี่โลก-WRC รูปแบบการขับสามารถเลือกได้ทั้งแบบดุดัน นิ่มนวล ด้วยระบบ SI-Drive ลองคิดดูว่าหัวใจจะพองโตแค่ไหน เมื่อที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยู่ในกำมือคุณ เมื่อนั่งอยู่ในซูบารุ อิมเพรซา WRX STi รุ่นล่าสุด
ย้อนกลับไปที่ตำนานของอิมเพรซารหัสตัวถัง GC ตัวสร้างประวัติศาสตร์แรลลี่โลก ซึ่งรุ่นนี้เองก็มีชื่อเสียงในเมืองไทยอยู่ไม่น้อย แม้ว่าหน้าตาทั้งภายนอก-ภายใน จะดูบ้านๆไปเสียหน่อย แต่อย่าได้ดูถูกเชียวนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
ในโฉมแรกๆ หน้าตาอาจดูกลมมนนุ่มนิ่ม แต่ถือได้ว่าเป็นเสือซ่อนเล็บ เพราะมีดีกรีของระบบขับ 4 ล้อ และเครื่องยนต์รหัส EJ20 ที่พกเทอร์โบชาร์จมาด้วย โดยมีให้เล่นทั้งเครื่องเทอร์โบเดิมๆ จากโรงงาน หรือถ้ายังไม่พอก็เดินเลียบๆ เซียงกงมองหาเครื่องคอแดงที่มีม้าป้วนเปี้ยนแถว 280 ตัวมาใส่แทนก็ได้ แม้สิบกว่าปีผ่านไปก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักซิ่ง ซึ่งปัจจุบัน โดยเฉพาะรหัส GC8 ราคาก็ยังป้วนเปี้ยนแถว 5 แสนบาท บวก-ลบ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพและของแต่ง
จากการสร้างชื่อตั้งแต่รุ่นบุกเบิกในรหัส GC ซูบารุก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโฉมเป็นรหัส GD โฉมตากลม ไมเนอร์เชนจ์เป็นตาเหยี่ยว และหน้าหมู ฉายาที่ได้รับล้วมมาจากการปรับเปลี่ยนโคมไฟ และกระจังหน้า ตามจินตนาการของกลุ่มผู้เล่นรถ ซึ่งในโฉมปัจจุบันรหัสตัวถัง GR ก็ได้รับฉายา "หน้าแมว" ซึ่งรวมถึง Subaru Impreza WRX STi คันที่ทีม Worldwheelsweb.com ทำการทดสอบด้วยเช่นกัน
สำหรับอิมเพรซาโฉมหน้าแมว ทีม Worldwheelsweb.com ได้เคยทดสอบไปแล้วครั้งหนึ่งในรุ่น Impreza 1.5R : โตขึ้นหนูจาเปง 'STI' (ลองติดตามอ่านย้อนหลังได้ครับ) หากเปรียบเทียบอิมเพรซารุ่นที่กำลังจะกล่าวถึงนี้เรียกได้ว่า หน้ามือกับหลังมือเลยทีเดียว เหมือนเอารถบ้านมาเปรียบมวยกับรถสนาม เพราะนอกจากเครื่องยนต์จะคนละขนาดแล้ว เครื่องยนต์ยังถูกปรับปรุงเพิ่มจากรุ่นมาตรฐาน รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ก็ได้มีการอัพเกรดตามไปด้วย ภายใต้รหัส STi แต่งสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมก็มันส์เกินบรรยายแล้วครับ
ขยายร่าง ตามแบบฉบับ STi
รูปลักษณ์ภายนอกของอิมเพรซา STi แฮชท์แบ็กคันนี้ ถูกขยายร่างให้ใหญ่ขึ้น หรือเรียกว่าการ Wide Boby ด้วยโอเวอร์เฟนเดอร์ หรือการเพิ่มขนาดซุ้มล้อทั้งหน้า-หลัง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับกับล้อ และความกว้างช่วงล้อหน้า-หลังที่มีขนาดกว้างขึ้นกว่าปกติ ด้วยมิติตัวถัง ยาว 4,415 มม. กว้าง 1,795 มม. สูง 1,475 มม.ฐานล้อ 2,625 มม. เมื่อเทียบกับรุ่นธรรมดา ความยาวจะน้อยกว่า 165 มม. กว้างขึ้น 55 มม. และความกว้างช่วงล้อเพิ่มขึ้นอีก 5 มม.
นอกจากนี้การแต่งตัวยังบ่งบอกถึงความดุดันด้วยชุดแต่งจากทาง STi ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน ทั้งช่องดักลมขนาดใหญ่ที่ฝากระโปรง กันชนหน้า สเกิร์ตด้านข้าง โป่งล้อคู่หน้าพร้อมช่องระบายอากาศ พร้อมด้วยแผงดิฟฟิวเซอร์รีดอากาศบริเวณใต้กันชนหลัง ปิดท้ายด้วยโลโก้ STi ทั้งด้านหน้าและหลัง
เท่านี้ก็เด่นเป็นสง่ากว่าใครแล้วครับ แต่ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ต้องสำหรับคนที่รู้จักซุบารุเท่านั้นที่จะมองตาเป็นมัน เพราะมิเช่นนั้นแล้วรูปทรงภายนอกก็ดูคล้ายกับรถยนต์นั่งทั่วๆ ไป เพราะระหว่างการทดสอบมีบางท่านเข้ามาทักผิดเป็นโตโยต้า พรีอุส บ้าง มาสด้า 3 บ้าง อันนี้ก็ว่ากันไป.....(แต่ STi คันนี้ซื้อเจ้านั่นได้ 3 คัน เชียวนะ)
เกิดมาเพื่อเป็นสปอร์ต
ถ้าจะถามหาความหรูหรา คุณคงไม่ใช่แฟนอิมเพรสซาตัวจริงแน่ๆ เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไร ภายในของรถรุ่นนี้จะออกแบบให้ดูเรียบๆ แม้ราคาค่าตัวจะดูเหมือนซื้อความหวือหวาสะดวกสบายได้ก็จริง แต่สำหรับอิมเพรซาจะเน้นการใช้งานที่คล่องตัวเป็นหลัก บริเวณคอนโซลหน้ามีจอแสดงข้อมูลอากาศภายนอก อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และนาฬิกา ใกล้กันเป็นเครื่องเสียง รองรับการใช้งาน CD 6 แผ่น ถัดลงมาปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศ เบาะนั่งแบบบัคเก็ตซีท หุ้มด้วยผ้า ขอบยกและปีกเบาะหุ้มด้วยหนัง แบบปรับหลังได้ โอบกระชับทุกสัดส่วน พร้อมโลโก้ STi
พวงมาลัยแบบสปอร์ต 3 ก้านประทับตรา STi พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่นช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการควบคุมเครื่องเสียงโดยไม่ต้องละสายตา พร้อมกันนี้ยังติดตั้งระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติมาให้ด้วย ขับทางไกลระบบนี้ช่วยให้ประหยัดขึ้นได้ เพราะความเร็วจะคงที่ตลอดเวลา ช่วยรักษารอบเครื่องยนต์ได้ดีกว่าฝ่าเท้าแน่นอน แต่สำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อได้ขนาดนี้ เรื่องความประหยัดน่าจะเป็นเรื่องรองมาจากเอาไว้ช่วยยามเมื่อยล้า
ด้านหลังพวงมาลัยเป็นมาตรวัดเรืองแสงสีส้ม แบ่งการแสดงผลหลักเป็น 3 ส่วน ด้านซ้ายเป็นมาตรวัดความร้อนเครื่องยนต์และปริมาณน้ำมัน ตรงกลางเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ พร้อมชิฟไลท์ ด้านขวาเป็นความเร็วสามารถแสดงผลได้ถึง 260 กม./ชม.
จุดเด่นที่น่าสนใจ SI-Drive และ C-Diff
ระบบ SI-DRIVE จะมีสวิชต์ควบคุมวงกลม ติดตั้งบริเวณคอนโซลกลาง ถัดจากคันเกียร์ สามารถเลือกใช้ โปรแกรมการขับได้ 3 รูปแบบ ให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง หากกดลงไปตรงๆ จะเข้าสู่โปรแกรม Intelligent เน้นการขับแบบประหยัดน้ำมัน แต่เมื่อบิดไปทางซ้าย จะเข้าสู่โปรแกรม Sport เน้นการรีดกำลังของเครื่องยนต์ และเมื่อบิดไปทางขวาจะเข้าสู่ โปรแกรม Sport Sharp หรือ Sport# สำหรับการขับบนทางโค้ง ระบบนี้จะทำงานโดยใช้ข้อมูลจากกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุมเรื่องยนต์ ECU ร่วมกับสมองกลของเกียร์ และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า เพื่อให้เครื่องยนต์ และเกียร์ทำงานไปตามโปรแกรมการขับที่ปรับตั้งไว้
สำหรับ C-Diff มีชื่อเต็มว่า Driver Control Center Differencial (DCCD) เป็นระบบกระจายแรงบิดระหว่างล้อหน้า - หลัง ซึ่งโดยปกติแล้วการเฉลี่ยแรงบิดลงสู่ล้อจะอยู่ที่ หน้า 35% - หลัง 65% ซึ่งในระบบ Manual จะสามารถปรับการกระจายแรงได้ถึง 6 ระดับ จาก 35/60 จนถึง 50/50
ระบบนี้เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากสนามแข่งแรลลี่โลก และผู้ขับสามารถเลือกปรับได้เองตามความชอบโดยปุ่มควบคุมบริเวณเดียวกับ SI-DRIVE ซึ่งจะช่วยเพิ่มอรรถรสความมันส์ขณะเข้าโค้ง ใครที่ชอบแก้อาการ Over หรือ UnderSteer ก็สามารถทำได้ตามสั่ง แต่หลักๆ แล้วมีจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัยครับ
หากใครคิดว่ายุ่งยาก ก็สามารถปรับให้อยู่ในโหมด Auto ได้เช่นกัน ซึ่งระบบจะคำนวนทุกเหตุการณ์ให้แบบอัตโนมัติ
บ็อกเซอร์ 2,500 รหัสพิษ บีบหัวใจกับ 300 ม้า
เอกลักษณ์ของซูบารุด้วยเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ หรือที่เรียกติดปากว่า เครื่องยนต์สูบนอน มีรูปแบบคล้ายเครื่องยนต์แบบสูบ V แต่บ็อกเซอร์จะมีองศามากกว่าซึ่งทำมุมอยู่ในแนวระนาบ หรือวางทำมุมแบบ 180 องศา ทำให้เครื่องยนต์มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำมากๆ ซึ่งมักจะเห็นเครื่องยนต์ลักษณะนี้ในรถสมรรถนะสูงดังเช่นปอร์เช่
การวางตำแหน่งเครื่องยนต์ลักษณะนี้ ทำให้สามารถออกแบบตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วง หรอื CG ต่ำ และมีความลู่ลม ได้เปรียบสำหรับรถสมรรถนะสูง แต่ข้อเสียคือ เรื่องของความนุ่มนวล เพราะในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานจะรับรู้ถึงอาการเขย่าได้อย่างชัดเจนอาการเหล่านี้จะส่งผ่านมาถึงคันเกียร์ และบริเวณต้นขา โดยอาการออกมาชัดที่สุดคือเสียงของการทำงานที่แปร่งๆ เหมือนเครื่องเดินไม่เรียบ คล้ายเครื่องยนต์เดินไม่เต็บสูบ แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ หรือเครื่องยนต์สูบนอน จนผู้ใช้รถสูบเรียงบางกลุ่มหาหนทางที่จะทำท่อไอเสียให้คล้ายกับเครื่องยนต์ประเภทนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
สำหรับแนวแฮทช์แบ็กคันนี้ใช้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ รหัส EJ25 4 สูบ 16 วาล์ว 2,500 ซีซี พ่วงระบบอัดอากาศ ให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 41.1 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ส่งกำลังลงสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Symmetrical AWD แบกภาระน้ำหนักตัว 1,505 กิโลกรัม ซึ่งแรงม้า/กิโลกรัมจะอยู่ที่ 5.02 ซึ่งถือว่าเบากว่าค่ามาตรฐานที่เหมาะกับการใช้งานแบบกว่าเท่าตัวทีเดียว
ทางด้านสมรรถนะเอาเข้าจริงๆ ผู้เขียนมีเวลาทดสอบเพียงครึ่งค่อนวัน หักลบเวลาหาสถานที่ถ่ายภาพอีกราว 2-3 ชั่วโมง แต่ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะเส้นทางดังกล่าวนี้สามารถให้อรรถรสได้ครบสมบูรณ์แบบตั้งแต่โค้งสูงชัน และทางตรงยาวให้ทดสอบความจัดจ้านกันพอประมาณ
ช่วงเวลาหนึ่งบนถนนธนะรัชต์ก่อนขึ้นด่านเขาใหญ่ เส้นทางในวันธรรมดาชั่งร้างลาไปด้วยผู้คน ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้บรรจงคันเร่งสั่งการให้ฝูงม้าจากคอกบ็อกเซอร์เตรียมตัวทำงาน การออกตัวแบบหยุดนิ่งโดยแช่รอบเครื่องยนต์ไว้แถวๆ 2,500 รอบ เป็นการกระตุ้นต่อมอะดรีนาลีนได้ดีวีธีหนึ่ง ทั้งยังได้ฟิลลิ่งของการออกตัวแบบกบกระโดด
ทุกรอบเกียร์เมื่อเครื่องยนต์ไปถึง 6,500 รอบ/นาที ชิฟไลท์จะเริ่มเตือนก่อนเข้าสู่เรดไลน์ จดไปสุดที่ 7,000 รอบ/นาที กล่องก็จะตัดการทำงานไปพร้อมกับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ จนความเร็วทะลุไปถึง 200 กม./ชม.ในช่วงเกียร์ 5 จากความรู้สึกโดยไม่มีเครื่องมือใดๆ วัดก็พอจะบอกอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม.นั้นน่าประทับใจ ซึ่งน่าจะอยู่แถว 7-8 วินาที หรืออาจต่ำกว่านั้นด้วยซ้ำ
การยึดเกาะถนน ทดสอบในเส้นทางลงเขาลาดชันด้วยความเร็ว 70-100 กม./ชม. ต่อเนื่องราว 10 กม. ด้วยช่วงล่างด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบปีกนกคู่ ปรับเซ็ทความหนึบตามแบบฉบับ STi ส่วนระบบเบรกด้านหน้าเป็นแบบ 4 พอท ด้านหลังเป็นแบบ 2 พอท จากสำนัก Brembo ตีตรา STi ใช้ล้อแม็กขนาด 17 นิ้ว ลาย 10 ก้าน หุ้มรัดด้วยยางขนาด 235 / 45 R17
ความคล่องตัว และการเกาะถนนเหนียวหนึบราวกับตุ๊กแก ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical AWD ตอบสนองได้อย่างมั่นใจในทุกโค้ง นอกจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่วางใจได้ เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีสมรรถนะที่ดี เพราะเครื่องยนต์วางอยู่ระนาบต่ำ ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่หลายคนรู้กันดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเสริมด้วยระบบ SI-Drive และ C-Diff ซึ่งนับว่าเป็นลูกเล่นที่เพิ่มเสน่ห์แพรวพราวยิ่งขึ้นให้กับ ซูบารุ อิมเพรซ่า คันนี้
อ่อ...ลืมบอกไปว่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามมาตรวัดที่มองเห็นครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 14.4 ลิตร/ 100 กม. หรือ 6.94 กม./ลิตร นั่นคือหญ้ากองโตที่ต้องนำมาเลี้ยงฝูงม้า 300 ตัว ที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อันทรงพลัง หากคุณเป็นเจ้าของ Subaru Impreza WRX STI คันนี้ได้ด้วยราคา 3,958,000 บาท ...ก็ลืมเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไปได้เลยครับ
ขอขอบคุณ : บริษัท มอเตอร์ อิมเมจ ซูบารุ ประเทศไทย จํากัด
เรื่อง / ภาพ : ธัชนนท์ ตาปนานนท์
รายละเอียดทางเทคนิค : Subaru Impreza WRX STI MT(5D)
เครื่องยนต์ : 4 สูบนอน บ็อกเซอร์ ทวินแคม 16 วาล์ว
ความจุกระบอกสูบ : 2,457 ซีซี
กระบอกสูบXช่วงชัก : 99.5 X79.0 มม.
อัตราส่วนการอัด : 8.2 : 1
กำลังสูงสุด : 300 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด : 41.5 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
ระบบส่งกำลัง : ธรรมดา 6 จังหวะ
ระบบขับเคลื่อน : 4 ล้อ
ระบบกันสะเทือนหน้า : อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท
ระบบกันสะเทือนหลัง : อิสระดับเบิลวิชโบน คอยล์สปริง
ระบบเบรกหน้า/หลัง : ดิสก์ 4 ล้อ พร้อมเอบีเอส และอีบีดี
ผู้จำหน่าย : บริษัท มอเตอร์ อิมเมจ ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด โทร 02-725-1888
เว็บไซต์ : www.motorimage.net