มองต่างมุม! "รถคันแรก" ภาษีปลายท่อไอเสียอาจคือทางออกที่แท้จริง

มองต่างมุม! "รถคันแรก" ภาษีปลายท่อไอเสียอาจคือทางออกที่แท้จริง

มองต่างมุม! "รถคันแรก" ภาษีปลายท่อไอเสียอาจคือทางออกที่แท้จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้หากพูดถึงวงการยานยนต์ในประเทศไทยแล้ว คงไม่มีอะไรจะคึกคักไปมากกว่าการเปิดนโยบาย "รถคันแรก" ของภาครัฐบาลที่ให้ส่วนลดทางภาษีสรรพสามิตกับผู้ที่ซื้อรถ ด้วยเพียงเงื่อขไซื้อรถคันแรก โดยผู้ซื้อมีอายุขั้นต่ำ 21 ปี และต้องครอบครอง 5 ปี เมื่อครบขวบแรกก็รับเงินภาษีคืนได้สูงสุด 1 แสนบาท

แนวนโยบายที่ทำให้หลายคนต่างฮึกเหิมที่อยากจะมีรถยนต์เป็นของตัวเองยิ่งอาจหาญมากกว่าเดิม ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับความสะดวกสบายในการเดินทางตอบสนองประชาชน แต่ความจริง "รถคันแรก" อาจเป็นนโยบายชั่วครู่ชั่วยามที่อาจจะไม่ช่วยอย่างแท้จริง หากพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

เป็นที่น่าแปลกแต่ค่ายรถยนต์รายใหญ่ชั้นนำจากอเมริกา 2 ค่ายต่างมีความเห็นที่ค่อนข้างคล้ายกันในเรื่องแนวนโยบาย "รถคันแรก" ที่อาจจะไม่ถึงกับไม่เห็นด้วย แต่มองว่าภาครัฐน่าจะมีความจริงใจในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ค่ายรถยนต์ทุกเจ้ามีการเจริญเติบโตทางด้านยอดขายอย่างแท้จริงและไม่สร้างอุปสงค์เทียมที่จะหายไปเมื่อนโยบายหรือรัฐบาลหมดวาระ

เครือ Genneral motor ถือเป็นกลุ่มบริษัทแรกที่ออกมาตอบเรื่องการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยร่อนจดหมายแถลงการณ์ ที่เห็นว่า กรอบเวลาการดำเนินนโยบายของภาครัฐบาลอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งเอาไว้ ด้วยกลวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อนในทางปฏิบัติ

GM เห็นว่ารัฐควรเดินทางตามนโยบาย "เก่าแลกใหม่" ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ประเทศโดยผู้บริโภคจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐ เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของรถใหม่ได้ง่ายขึ้น นโยบายแนวดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งยังเป็นการควบคุมมลภาวะที่เกิดจากรถเก่า

ก่อนหน้านี้นาย มาร์ติน แอฟเฟิล บอสใหญ่ GM Thailand และ Chevrolet ประเทศไทย ก็เคยได้แสดงความคิดเห็นบนเวทีท่ามกลางงานแถลงข่าวว่า นโยบายเก่าแลกใหม่ หรือ Fleet Modernizeนั้นเป็นนโยบายที่ใช้ได้ผลมาแล้วทั่วโลก โดยกำหนดอายุรถยนต์ที่ใช้ในการขับขี่ให้มีความใหม่อยู่เสมอ และยังช่วยในการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในสังคม ซึ่งต่างประเทศให้ความชัดเจนมากในการกำหนดอายุยานยนต์ ที่น่าจะถึงเวลาแล้วสำหรับเมืองไทย

" การควบคุมอายุประชากรรถนทำให้ท้องถนนมีแต่รถใหม่ในช่วงอายุการใช้งานที่กำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สามารถขับรถเก่าคันโปรดได้ เพียงแต่อาจจะต้องเจอภาษีที่มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งใช้ถนนเหมือนกัน เพระาเมื่อคุณไม่ปฏิบัติตามวิธีก็ย่อมที่จะมีอย่างอื่นเข้ามาเพื่อชดเชยคนอื่นที่ปฏิบัติตาม"

แนวทางนี้คุณ มาร์ติน กล่าวว่า มันไม่เพียงช่วยให้ลดมลภาวะบนท้องถนนเท่านั้น แต่รถใหม่ยังหมายถึงเทคโนโลยีการออกแบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในส่วนของผู้ใช้นั้นจะทำให้มีการประหยัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม ส่วนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เองในฐานะผู้ผลิตก็ได้รับกำลังอานิสงค์เรื่องยอดขายที่น่าจะช่วยให้ได้รับผลอย่างยั่งยืน

อีกค่ายรถยนต์ที่ดูจะไม่ชอบใจเท่าไรนักกับนโยบาย "รถคันแรก" แม้จะมีรถที่เข้ากลุ่มอยู่หลายรุ่นแต่ Ford Motor Company ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกากลับมองว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ควรก่อให้เกิดการบิดเบือนการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด แต่มาตรการดังกล่าวควรได้รับการบังคับใช้อย่างเสมอภาค เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศไทยสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าโดยได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน

ค่ายรถยนต์ Ford มองว่า ford Fiesta ที่มีเครื่องยนต์ 1600 ซีซี ซึ่งไม่เข้าตามแนวนโยบาย"รถคันแรก" เนื่องจากกรอบการจำกัดซีซีเครื่องยนต์ อาจทำให้รถยนต์ที่มีความประหยัดน้ำมันมากกว่าและมีการรักษาสิ่งแวดล้อมดีกว่านั้นถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาล

"การกำหนดข้อจำกัดด้านขนาดของเครื่องยนต์ที่ 1,500 ซีซี ทำให้มาตรการจูงใจด้านภาษีนี้ส่งผลสืบเนื่องโดยไม่ตั้งใจในการส่งเสริมให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกในประเทศไทยเลือกขับรถที่ประหยัดน้ำมันน้อยกว่า และยังอาจเป็นรถที่มีราคาแพงกว่าอีกด้วย เพื่อมอบความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย และความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานของรัฐบาล เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกเกณฑ์ในการกำหนดขนาดของเครื่องยนต์ที่ 1,500 ซีซี " ข้อความจากแถลงการณ์ ของฟอร์ดประเทศไทย

แนวคิดด้านความประหยัดและสิ่งแวดล้อมนั้นความจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2553 กรมสรรพสามิตได้ตั้งคณะฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราใหม่ ที่ปัจจุบันมีถึง 43 อัตรา

จากผลสรุป คณะทำงานชุดดังกล่าวได้มีการเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรใหม่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่เก็บตามปริมาตรของเครื่องยนต์ไปเป็นการจัดเก็บตามความสามารถในการลดมลพิษ หรือปล่อยระดับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาคำนวนเป็นภาษีจัดเก็บจากค่ายรถยนต์ ซึ่งหมายถึงยิ่งประหยัดและปล่อยไอเสียน้อยรถคันดังกล่าวก็ย่อมเสียภาษีน้อยลง

แนวทางของรัฐในเรื่องนโยบาย "รถคันแรก" นั้นเป็นการสร้างโอกาสที่ดีสำหรับใครก็ตามที่อยากมีรถยนต์ไว้ใช้งาน ทว่ารัฐในฐานะผู้ดำเนินนโยบายในการควบคุมบริหารประเทศนั้นยังต้องมองการณ์ไกลในการทำให้ทั้งผู้ใช้และค่ายรถยนต์อยู่ได้ ที่เดินจูงมือไปพร้อมกับการลดการใช้พลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook