รีวิว All-new Ford Everest พีพีวีที่ยอดเยี่ยมที่สุดทั้งสมรรถนะและดีไซน์
รถอเนกประสงค์ประเภทพีพีวีถือว่าเป็นรถที่ได้รับความนิยมมากพอสมควรในตลาดบ้านเรา แต่ที่ผ่านมานั้น รถพีพีวีส่วนใหญ่ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นรถกระบะให้เห็นอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ หรือการขับขี่ ที่โครงสร้างประเภท Body-on-frame ของพีพีวียังไงก็มักจะสู้รถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีแท้ๆ ที่ใช้โครงสร้างแบบ Unibody ไม่ได้
แต่วันนี้ All-new Ford Everest ใหม่ ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะเป็นรถอเนกประสงค์ที่ใช้พื้นฐานมาจากกระบะ ก็สามารถมีสมรรถนะเทียบเคียงกับรถเอสยูวีแท้ๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
เป็นโอกาสอันดีที่ Sanook! Auto ได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบ Ford Everest 2016 ใหม่ ไกลถึงจังหวัดเชียงราย ซึ่งรูปแบบการทดสอบนั้น เรียกได้ว่าช่วยเค้นสมรรถนะของเอเวอเรสต์ใหม่ให้เห็นได้อย่างเต็มที่
ต้องเรียนคุณผู้อ่านให้ทราบก่อนว่า การทดสอบครั้งนี้ อยู่ภายใต้การจัดงานของฟอร์ดภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีทั้งสื่อสายรถยนต์ชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ด้วย ทำให้ทางผู้จัดงานเองต้องทุ่มเทกับการเลือกเส้นทางทดสอบครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพื่อให้สื่อมวลชนทุกสำนัก ได้ทดสอบสมรรถนะของ Ford Everest ใหม่ กันแบบถึงกึ๋น และรับรู้ความดีงามของตัวรถให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางผู้บริหารของฟอร์ดได้กล่าวกับทีมงานว่า กองทัพเอเวอร์เรสต์จำนวน 10 กว่าคัน ที่นำมาให้พวกเราทดสอบกันในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีอุปกรณ์มาตรฐานหลายอย่างที่บ้านเราไม่ได้ติดตั้งมาให้ ซึ่งเราจะว่ากันในรายละเอียดอีกครั่งครับ
ก่อนอื่นเรามาดูรายละเอียดของ All-new Ford Everest ใหม่ กันก่อนดีกว่า
เริ่มต้นจากรูปลักษณ์ภายนอกของเอเวอร์เรสต์ใหม่ ที่ถูกออกแบบให้ดูแข็งแรง บึกบึน ตามแนวคิดของฟอร์ดเองที่ต้องการยกระดับให้เป็นรถอเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยม ฉีกแนวออกจากเอเวอร์เรสต์รุ่นที่ผ่านมา
ในบ้านเรานั้นถูกวางจำหน่ายแบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อย ได้แก่ 3.2L Titanium+ 4x4 AT, 3.2L Titanium 4x4 AT และ 2.2L Titanium 4x2 AT ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว รุ่น Titanium จะให้อุปกรณ์มาตรฐานเหมือนกันแทบทุกอย่างทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ จะต่างกันก็เพียงเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อนเท่านั้น ขณะที่รุ่น Titanium+ ถูกวางให้เป็นรุ่นท็อปสุดที่มีอุปกรณ์มาตรฐานติดตั้งมาให้มากที่สุด
อุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น 3.2L Titanium+ 4x4 AT มาพร้อมไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ HID ปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ มี Daytime Running Light แบบ LED ออกแบบรวมไว้ในชุดโคมเดียวกัน ไฟหน้าถูกออกแบบรับกับกระจังหน้าโครเมี่ยมทรงหกเหลี่ยมขนาดใหญ่ แปะโลโก้ฟอร์ดไว้ตรงกลาง กันชนถูกออกแบบให้มีสีเดียวกับตัวรถ ตกแต่งด้วยพลาสติกสีเงินที่ออกแบบให้ลากยาวล้อมชุดไฟตัดหมอกหน้า ดูสวยงามลงตัว
บานประตูคู่หน้ายังคงดูคุ้นตาจาก ‘เรนเจอร์’ แต่ได้รับการออกแบบช่วงลำตัวด้านหลังให้ดูลงตัวมากขึ้น ติดตั้งกระจกมองข้างแบบโครเมี่ยมพร้อมไฟเลี้ยว มือจับประตูแบบโครเมี่ยม พร้อมบันไดข้างสีเงิน ตัวถังวางอยู่บนล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้วใหญ่สะใจ มาพร้อมยางขนาด 265/50 R20
ด้านท้ายโดดเด่นด้วยไฟท้ายแบบ LED ประตูท้ายตกแต่งด้วยโครเมี่ยม ที่มาพร้อมตัวหนังสือ ‘EVEREST’ ขนาดใหญ่ตามสไตล์อเมริกัน ขณะที่กันชนถูกตกแต่งด้วยสีเงินที่ออกแบบให้เป็นแผ่นปิดชายกันชนในตัว มาพร้อมไฟตัดหมอกหลังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด
ห้องโดยสารภายในถูกตกแต่งด้วยสีเบจ สลับสีดำและสีน้ำตาล โดดเด่นด้วยหน้าจอความบันเทิงแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว รองรับ CD/MP3 ได้ 1 แผ่น พร้อมช่องต่อ USB จำนวน 2 จุด รวมทั้งช่องเสียบ SD Card และ AUX มาให้ เครื่องเสียงชุดนี้ยังรองรับการสั่งงานด้วยเสียง SYNC ที่พัฒนาให้สามารถรองรับชุดคำสั่งเสียงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สามารถสั่งงานผ่านการกดปุ่มบริเวณพวงมาลัย ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 9 จุดรอบคัน พร้อมซับวูฟเฟอร์อีก 1 ตัว
ไล่ลงมาเป็นปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และแผงควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ 3-zone ติดตั้งช่องจ่ายไฟแรงดัน 12 โวลต์มาให้ 2 จุดด้านหน้า และอีก 1 จุดสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง รวมถึงช่องจ่ายไฟแบบ 230 โวลต์มาให้อีก 1 จุดด้วย สามารถชาร์จอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค หรือกล้องถ่ายรูปได้อย่างสบายๆ
ใต้แผงคอนโซลติดตั้งปุ่มควบคุมระบบ Terrain Management System (TMS) สั่งงานด้วยการหมุน ซึ่งเราจะกลับมาเล่าถึงรายละเอียดของระบบนี้อีกครั้งหนึ่ง มาพร้อมปุ่มสั่งงานระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) ปุ่มควบคุมระบบล็อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า รวมถึงปุ่ม 4x4 LOW สำหรับขับเคลื่อนแบบโฟว์โลว์ที่ขาออฟโรดคุ้นเคยกันดี
เมื่อเลื่อนมาทางฝั่งผู้ขับ จะพบกับมาตรวัดความเร็วแบบ Dual TFT ที่สามารถแสดงผลได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตัวรถ ข้อมูลการขับขี่แบบออฟโรด มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ เป็นต้น มาตรวัดตรงกลางเป็นแบบเรืองแสงสำหรับบอกความเร็ว ขณะที่ก้านควบคุมไฟเลี้ยวถูกติดตั้งไว้ทางขวามือ และก้านที่ปัดน้ำฝนไว้ทางซ้ายมือเช่นเดียวกับรถญี่ปุ่นทั่วไป
พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่นประกอบไปด้วยปุ่มกดมากมาย ซึ่งหลักๆแล้วแบ่งออกเป็นปุ่มควบคุมหน้าจอมาตรวัด Dual TFT แยกกันในแต่ละฝั่ง, ปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียงพร้อมฟังก์ชั่นสั่งงานด้วยเสียง SYNC และปุ่มควบคุมระบบ Adaptive Cruise Control ซึ่งเวอร์ชั่นในบ้านเราถูกตัดระบบปรับความเร็วอัตโนมัติตามคันหน้าออกไปอย่างน่าเสียดาย เหลือเพียงแต่ระบบ Cruise Control ปกติเท่านั้น
Ford Everest ใหม่ วางรูปแบบเบาะนั่งแบบ 3 แถว โดยเบาะคู่หน้าสามารถปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง ตัวเบาะมีขนาดใหญ่ ให้ความโอบกระชับกำลังดี ฟองน้ำในตัวเบาะมีความแน่น นั่งสบายแม้ต้องเดินทางไกลๆ ซึ่งถือเป็นจุดขายของฟอร์ดมาแต่ไหนแต่ไร กล่องเก็บของขนาดใหญ่บริเวณคอนโซลกลางมาพร้อมฝาปิดแบบหุ้มหนัง สามารถใช้เป็นที่วางแขนสำหรับผู้โดยสารตอนหน้าได้
เบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับเอนและเลื่อนตำแหน่งหน้า-หลังได้ด้วยมือ พร้อมที่วางแขนแบบพับเก็บได้ ติดตั้งพนักพิงศีรษะให้ 3 ตำแหน่ง สามารถปรับพับแบบ 60:40 ได้ นอกจากนั้นยังมาพร้อมแผงควบคุมระบบปรับอากาศแยกออกจากด้านหน้า สามารถควบคุมความแรงลมและอุณหภูมิได้อย่างอิสระ ติดตั้งช่องแอร์ทั้งบริเวณหลังคาและเท้า ให้ความเย็นสบายได้อย่างทั่วถึง มาพร้อมช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์และ 230 โวลต์อย่างละ 1 จุดให้เลือกใช้งาน
ขณะที่เบาะนั่งแถวที่ 3 สามารถปรับพับได้แบบ 50:50 ด้วยไฟฟ้าทั้งขึ้นและลง ซึ่งเป็นรถอเนกประสงค์เพียงเจ้าเดียวในตลาดบ้านที่สามารถปรับแบบไฟฟ้าด้วยการกดปุ่มบริเวณด้านข้างของห้องเก็บสัมภาระท้าย ขณะที่ประตูท้ายยังสามารถเปิด-ปิดได้ด้วยไฟฟ้าอีกต่างหาก
นอกจากนั้น Ford Everest ใหม่ ยังมาพร้อมหลังคา Panoramic Moonroof ปรับได้ด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถเปิดได้กว้างกว่าหลังคามูนรูฟทั่วๆไป รวมถึงระบบช่วยจอดอัจฉริยะแบบเดียวกับที่พบใน ‘Ford Focus’ ที่สามารถควบคุมพวงมาลัยเพิ่อช่วยเข้าจอดแบบเทียบฟุดบาทได้อย่างอัตโนมัติ เหมาะสำหรับผู้หญิง (และผู้ชาย) ที่ยังขับรถไม่คล่อง โดยเฉพาะกับรถที่มีขนาดใหญ่อย่างเอเวอร์เรสต์คันนี้
ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ ใหม่ ติดตั้งขุมพลังดีเซลบล็อกเดียวกับกระบะเรนเจอร์ มีให้เลือก 2 ขนาดด้วยกัน ได้แก่ ความจุ 3.2 ลิตร 5 สูบ พร้อมเทอร์โบแปรผันและอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า ที่ 3,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750 – 2,500 รอบต่อนาที ซึ่งเครื่องยนต์บล็อก 3.2 นี้ จะพ่วงระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติพร้อมระบบ Terrain Management มาให้ทุกรุ่น
อีกบล็อกเป็นเครื่องยนต์ดีเซลความจุ 2.2 ลิตร 4 สูบ พร้อมเทอร์โบแปรผันและอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 3,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดที่ 385 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 - 2,500 รอบต่อนาที มีให้เลือกเฉพาะระบบขับเคลื่อน 2 ล้อเท่านั้น
ทั้งหมดติดตั้งระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 6 สปีด สามารถเลือกปรับแบบเกียร์ธรรมดาได้
Everest ใหม่ ใช้ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระ พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์ ติดตั้งระบบพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS มาให้ รวมถึงระบบเบรกแบบดิสก์เบรกหน้าและหลังทั้ง 4 ล้อ ซึ่งสองอย่างหลังที่กล่าวมานั้น ถือว่าล้ำหน้าคู่แข่งที่สุดในตลาดขณะนี้ ขณะที่ระบบล็อกเฟืองท้ายไฟฟ้าจะมีเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อมาให้เท่านั้น
มิติตัวถังของเอสเวอร์เรสใหม่ มีความยาวตลอดทั้งคันอยู่ที่ 4,893 มิลลิเมตร กว้าง 1,862 มิลลิเมตร สูง 1,837 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร และระยะต่ำสุดจากพื้นอยู่ที่ 225 มิลลิเมตร
ระบบความปลอดภัยถือว่าเป็นจุดเด่นในเอเวอร์เรสต์ใหม่เช่นกัน ด้วยถุงลมนิรภัยทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ได้แก่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านถุงลม และถุงลมหัวเข่าด้านคนขับ มาพร้อมระบบเบรก ABS และ EBD ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดขัน HLA ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล ระบบป้องกันรถพลิกคว่ำ ระบบเตือนมุมอับสายตา ระบบตรวจจับรถเคลื่อนผ่านขณะถอย กล้องมองหลังขณะถอย พร้อมทั้งเซ็นเซอร์กะระยะรอบคันหน้า-หลัง
รูปแบบการทดสอบในครั้งนี้มีทั้งออฟโรดและออนโรด รวมถึงมีทางโค้งและทางขึ้นเนินให้เล่นมากมาย อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่าผู้บริหารของฟอร์ดต้องการให้เราสัมผัสสมรรถนะของเอเวอร์เรสต์ใหม่กันอย่างเต็มที่ ไม่มีกั๊ก
เริ่มแรกเราได้ทดสอบขับรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ขับเคลื่อนสองล้อ ไปบนถนนสองเลนสวนกัน ซึ่งแม้ว่าตัวเครื่องจะมีขนาด 2.2 ลิตร แต่อัตราเร่งเรียกว่าใช้ได้ทีเดียว ซึ่งนับเป็นข้อดีของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีแรงฉุดค่อนข้างสูง สามารถนำพาตัวรถพร้อมผู้โดยสารอีก 3 คน เดินทางได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องเค้นรอบเครื่องยนต์ให้เหนื่อย ซึ่งหากเน้นการขับขี่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ กำลังของเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
จุดเด่นที่น่าประทับใจในเอเวอร์เรสต์ใหม่ ก็คือช่วงล่างที่ถูกเซ็ทมาอย่างเหมาะเจาะพอดี จนเราแทบอยากให้เป็น Benchmark ในการพัฒนารถ เอสยูวี/พีพีวี ของทุกยี่ห้อในตลาดด้วยซ้ำไป เพราะอะไรน่ะหรือครับ? ก็ช่วงล่างของเอเวอร์เรสต์ใหม่ ให้ทั้งความนุ่มนวล แต่ยังคงยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้งเป็นอย่างดี ในจังหวะที่ขับผ่านหลุมนั้น แรงสะเทือนเข้ามายังห้องโดยสารค่อนข้างน้อย คือถ้านับเรื่องความสบายในการโดยสารเพียงอย่างเดียวนั้น เอเวอร์เรสสอบผ่านอย่างสบายๆ
แต่ในช่วงทางโค้ง มันกลับทำให้เราประทับใจยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยความที่เป็นรถพีพีวีทรงสูง ที่มีจุดศูนย์ถ่วงตัวรถสูงตามไปด้วย แต่เอเวอร์เรสกลับสามารถรักษาอาการขณะเข้าโค้งได้ราวกับรถครอสโอเวอร์คันเล็กๆ ช่วงล่างเยี่ยมๆ เลยทีเดียว อาการโยนขณะเข้าโค้งมีให้เห็นน้อยมาก ไม่รู้สึกโคลงเคลงอย่างที่คิดเอาไว้ ประกอบกับพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS ที่ให้ความแม่นยำ น้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี ทำให้รู้สึกว่าสามารถเข้าโค้งได้อย่างคล่องแคล่วและสนุกสนาน จนเราขอฟันธงว่ามันคือรถกลุ่มพีพีวีที่มีช่วงล่างดีที่สุดขณะนี้
ต่อมาเป็นการทดสอบในรูปแบบออฟโรด โดยเราได้สลับไปขับรุ่น 3.2L Titanium+ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ด้วยสภาพถนนที่เป็นดินแฉะจากสายฝนที่โปรยปรายลงมาในช่วงเช้า ทำให้เราได้มีโอกาสเรียกใช้ระบบ Terrain Management System กันอย่างสนุกสนาน
ระบบ Terrain Management System ของเอเวอร์เรสต์ใหม่ เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่เหนือกว่าระบบทั่วไป เนื่องจากมีการปรับการตอบสนองคันเร่ง, การเปลี่ยนเกียร์ รวมถึงพ่วงการทำงานของระบบ Traction Control เข้าไป ช่วยให้การหมุนของล้อแต่ละข้างสัมพันธ์กับสภาพถนนในขณะนั้นแบบเรียลไทม์ โดยระบบดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 4 โหมด ได้แก่ Normal / Snow, Mud, Grass / Sand / Rock สามารถเลือกปรับได้ผ่านปุ่มหมุนบริเวณใกล้กับคันเกียร์
เราได้ทดสอบด้วยการเลือกโหมด Mud เนื่องจากสภาพทางเป็นดินเหลว รวมถึงทางลาดชันทั้งขึ้นและลง ซึ่งขุมพลังดูราทอร์คที่ให้แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร ประกอบกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ช่วยให้สามารถไต่เขาที่มีความชันได้อย่างง่ายดาย
แต่หากจะเห็นความสามารถของระบบ Terrain Management System กันจริงๆ ก็คงเป็นช่วงขับผ่านลำธารขนาดเล็ก ที่ต้องมีการปีนป่ายดินชันเพื่อขึ้นจากลำธาร ซึ่งเนื้อดินบริเวณนั้นมีความเหลวเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรถขับผ่านไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวนหนึ่ง โดยเราอาศัยเพียงเติมคันเร่งลงไปเล็กน้อย เพื่อให้แรงบิดกระจายไปยังล้อทั้งสี่ข้าง แล้วปล่อยให้ระบบ Traction Control ทำงานได้อย่างเต็มที่ ตัวรถก็ค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นดินชันได้อย่างสบาย ไม่ต้องเค้นคันเร่งกันมากมาย เพียงแต่ควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ต้องการเท่านั้นเอง
นอกจากนั้นเรายังได้ทดสอบระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน หรือ Hill Descent Control ขณะทำงานควบคู่กับระบบขับเคลื่อนแบบ 4L ซึ่งช่วยให้สามารถขับลงเนินชันโดยไม่ต้องเหยียบเบรก ยิ่งถนนมีความชันมากขึ้นเท่าไหร่ ระบบก็จะสั่งการให้เคลื่อนที่ช้าลงมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงยังสามารถปรับความเร็วขณะลงผ่านปุ่มควบคุมระบบ Cruise Control บริเวณพวงมาลัยได้อีกด้วย
ขณะที่การเปลี่ยนเกียร์ขณะอยู่ในโหมดขับเคลื่อนแบบ 4x4 LOW จะปรากฏอาการกระตุกให้เห็นบ้าง ตามการถ่ายทอดแรงบิดของแต่ละเกียร์ที่มีความแตกต่างกันมาก อันเป็นธรรมชาติของโหมด 4L แต่ก็ถือว่าเปลี่ยนได้อย่างนิ่มนวลกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้ออีกหลายรุ่นในตลาด
ต่อมาเราก็ถึงเวลามุ่งหน้ากลับสู่โรงแรม ซึ่งยังคงเป็นเส้นทางเลียบภูเขา ที่มีสภาพถนนเป็นดินแฉะ เนื่องจากสายฝนยังคงตกปรอยๆให้เห็น ทำให้ถนนมีความลื่นอยู่พอสมควร แถมรถทุกคันในขบวนก็ใช้ความเร็วกันไม่น้อย แต่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ AWD ของเอเวอร์เรสต์ ยังคงให้เสถียรภาพที่ดี จนเรารู้สึกว่านี่คือรถที่สามารถควบคุมได้ง่ายดายมาก ตัวรถสามารถเข้าโค้งไปตามการหมุนของพวงมาลัยได้อย่างแม่นยำ อาการท้ายสะบัดมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ทุกอย่างยังถือว่าอยู่ในการควบคุมของคนขับเป็นอย่างดี
เมื่อมาถึงช่วงทางหลวงที่ต้องใช้ความเร็วนั้น อัตราเร่งของรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ดูมีเรี่ยวแรงมากกว่ารุ่น 2.2 ลิตรอยู่นิดหน่อย ซึ่งเป็นจุดที่เราผิดหวังเล็กๆ เพราะคาดหวังไว้ว่าจะเร่งได้อย่างปรู๊ดปร๊าดกว่านี้ เราเข้าใจว่าแม้เครื่องยนต์จะมีกำลังมากกว่า แต่ก็ต้องสูญเสียกำลังบางส่วนไปกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ AWD ที่มีการถ่ายเทกำลังไปยังล้อทั้งสี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้บุคลิกของรุ่น 3.2 ลิตร ดูสุขุม มาดนิ่ง กว่ารุ่น 2.2 ลิตร ที่คล่องแคล่วปราดเปรียวกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงนั้น ช่วงล่างยังคงให้ความนิ่ง มั่นคง ไว้ใจได้ แม้เราจะขับฝ่าสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยความเร็วในการเดินทางที่ 110 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ประมาณ 1,900 รอบต่อนาที ถือว่าเป็นรถที่ขับทางไกลได้อย่างสบาย
สรุป Ford Everest ใหม่ ถือเป็นก้าวกระโดดจากรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะเป็นรถอเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจากรถกระบะ แต่ด้วยช่วงล่างอันยอดเยี่ยมของเอเวอร์เรสต์ใหม่ ชวนให้หลงคิดไปว่านี่คือรถเอสยูวีแท้ๆ จนเรากล้าพูดเลยว่านี่เป็นรถพีพีวีที่มีช่วงล่างดีที่สุดในตลาดเท่าที่เราเคยทดสอบกันมา
บุคลิกของรุ่น 2.2 ลิตร ขับเคลื่อนสองล้อ และ 3.2 ลิตร ขับเคลื่อนสี่ล้อแตกต่างกันชัดเจน โดยรุ่น 2.2 ลิตร ดูจะคล่องแคล่วปราดเปรียว ให้ความสนุกสนานในการขับขี่ ขณะที่รุ่น 3.2 ลิตร ดูออกแนวสุขุม มาดนิ่ง ซึ่งหากใครมองหาความสนุกสนานในการขับขี่ น่าจะถูกใจกับรุ่น 2.2 ลิตรมากกว่า
ราคา Ford Everest 2015 ใหม่
- 2.2L Titanium 4x2 AT ราคา 1,269,000 บาท *รุ่นที่ใชัในการทดสอบ
- 2.2L Titanium 4x4 AT ราคา 1,459,000 บาท
- 3.2L Titanium+ 4x4 AT ราคา 1,599,000 บาท *รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ
ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ รวมถึงทีมงานประชาสัมพันธ์บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทย ที่ให้การดูแลต้อนรับเป็นอย่างดี
อัลบั้มภาพ 54 ภาพ