วัน-สัปดาห์ผลิตยางรถยนต์ ความจริง & ความเชื่อผิดๆ หลายคนกลัว แม้ยางเก่าเก็บแค่ไม่กี่เดือน
หลายคนอ่านสัปดาห์และปีผลิตยางรถยนต์เป็น แต่หลายคนในกลุ่มนั้น มักจะเข้าใจผิดว่าไม่ควรซื้อยางเก่าเก็บเกิน 3-6 เดือน เพราะกลัวว่ายางจะเสื่อมสภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วยางเก็บได้นานและทนกว่านั้น เก็บได้เกิน 2 ปีไปอีกนาน โดยไม่เสื่อมสภาพ เพราะยางรถยนต์เป็นสารเคมี ไม่ใช่วัตถุดิบอย่างยางพารา อ่านบทความ...ความจริง ที่สวนทางกับความเชื่อ ! จากผลการทดสอบและวิจัยจากคนกลางที่ไม่ใช่บริษัทยาง จึงน่าจะมีความน่าเชื่อถือและเป็น...ความจริง ให้คุณเปลี่ยนความเชื่อ !
หลายคนมีความรู้สามารถอ่านสัปดาห์หรือปีผลิตยาง ที่หล่อไว้บนแก้มยางหรือหาดูตามห่อยางได้ นับเป็นเรื่องดี ซึ่งทำให้เลี่ยงซื้อยางเก่าเก็บได้ แต่หลาย 10 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนั้น มีความเชื่อผิดๆ ว่ายางรถยนต์จะเสื่อมสภาพเร็ว แม้ยังไม่ได้ใช้งาน แต่อยู่ในการเก็บสต็อกหลังวันผลิตแล้วรอวันขาย หลายคนเสาะหายางอายุไม่เกิน 3-6 เดือน จนเกิดความยุ่งยากในการซื้อ ต้องตระเวนหาร้านใหม่ หรือถ้าเก่าเกินปีก็รีบเมินหนีทันที
นับเป็นความเชื่อผิดๆ ที่สืบเนื่องกันมา โดยอาจจะอิงจากความจริงขั้นพื้นฐาน อะไรก็ตามที่เก่าเก็บนานๆ ก็พบว่ามักเสื่อมสภาพลงได้ ทั้งที่ไม่ได้ผ่านการใช้งาน หรือคิดกันเล่นๆ ว่า ขนมเค้กนั้นไม่ได้รับประทาน เก็บไว้ไม่นานก็บูดเสีย โดยไม่ศึกษาหาความรู้ที่แท้จริงว่า วัตถุอะไรจะเสื่อมเพราะเวลาได้เร็วสักแค่ไหน
ยางรถยนต์ แม้ใช้วัตถุดิบมาจากยางพาราส่วนหนึ่ง แต่เนื้อยางจริงๆ มีส่วนผสมของยางพาราไม่มากนัก แต่เป็นไปด้วยสารเคมีมากมาย จึงทำให้ยางคงรูปและเกาะถนน มีความห่างชั้นจากยางหนังสติ๊กที่คุ้นเคยกัน แม้จะเรียกขึ้นต้นด้วยคำว่ายาง และมีส่วนผสมของยางพาราเหมือนๆ กัน
เนื้อยางรถยนต์ เปรียบเสมือนสารเคมีมากกว่ายางพารา จึงมีความทนทั้งต่อการเก็บและการใช้งานที่ต้องบดบี้กับพื้นอยู่ตลอดการใช้งาน
บทความนี้ไม่ได้แนะนำให้ซื้อยางเก่าเก็บหรือเข้าข้างบริษัทยางให้ขายยางค้างสต็อกได้ง่าย แต่ต้องการให้ความรู้ที่ถูกต้อง และอยากให้พุ่งความสนใจไปที่คุณสมบัติอื่น ที่สำคัญกว่าในการเลือกซื้อยางรถยนต์ เช่น ลวดลาย ความแข็ง ความทนทาน ประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการซื้อ ไม่ต้องตระเวนหรือเฟ้นหายางที่เพิ่งผลิตมาสดๆ บางคนถึงขั้นเก่าเก็บเกิน 3 เดือนไม่ซื้อ ทำเหมือนซื้อขนมเค้ก ต้องรอหน้าเตาอบกันเลย
วิ ธี อ่ า น วั น - สั ป ด า ห์ ที่ ผ ลิ ต
จริงๆ แล้วไม่ได้ระบุวันผลิต แต่บอกถึงสัปดาห์และปีที่ผลิต ส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลข 4 หลักใกล้ๆ ตัวย่อ DOT (United States - Department of Transportation) อยู่ในวงรี ตัวอย่างเช่น 4710 ความหมายคือ เลข 2 ตัวแรกบอกสัปดาห์ของปีที่ผลิต และเลข 2 ตัวหลังเป็นเลข 2 หลักสุดท้ายของปี ค.ศ ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2000 ขึ้นมา ตามตัวอย่าง คือ ยางเส้นนี้ผลิตในสัปดาห์ที่ 47 ค.ศ. 2010
ถ้าเป็นยางที่ผลิตก่อนปี 2000 จะเป็นเลข 3 หลัก เช่น 458 ความหมายคือ เลข 2 ตัวแรกเป็นสัปดาห์ที่ของปีที่ผลิต และตัวเลขหลังเป็นหลักสุดท้ายของค.ศ ที่ผลิตในช่วงปี 1990-1999 ตามตัวอย่างคือ ยางผลิตในสัปดาห์ที่ 45 ปี ค.ศ. 1998
ตัวเลข 4 หลักของวันผลิตยางทุก 100 ปีจะต้องเปลี่ยน เพราะ 2 ตัวเลขหลังซึ่งบอกปีผลิตจะซ้ำกัน ก็เหมือนช่วง ค.ศ. 19xx ใช้เลข 3 หลัก และค.ศ 2xxx ต้องเปลี่ยนมาใช้เลข 4 หลัก ส่วนช่วงค.ศ 21xx จะใช้เลขกี่หลักนั้นยังบอกไม่ได้ต้องรออีก 89 ปี หรือตอนนั้นรถยนต์อาจจะไม่การใช้ยางแล้วก็ได้
วัน สัปดาห์ หรือเดือนที่ผลิตยางเส้นนั้น ถ้าไม่มีที่แก้มยาง ก็อาจจะระบุบนหีบห่อของยาง หรือเป็นหมึกปั๊มบนแก้มยาง อาจระบุต่างออกไปเช่นเป็นปี พ.ศ. แต่ส่วนใหญ่ยางรถยนต์ในปัจจุบันในทุกยี่ห้อ มักจะระบุสัปดาห์และปีที่ผลิต เป็นตัวหล่อบนแก้มยางแบบลบไม่ได้ใกล้ตัวย่อ DOT
อ่านบทความ...ความจริง ถึงอายุยางรถยนต์หลังวันผลิตก่อนวันขาย ว่าการเก่าเก็บนานแค่ไหน จะมีผลต่อประสิทธิภาพของยางมากเพียงไร คุณอาจงง ว่ายางเก่าเก็บ 3 หรือ 6 ปียังใช้งานได้ดี และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน !
เนื้อหาหลักมาจากการรวบรวมของผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตยาง และสังเกตได้ว่าไม่มีการระบุยี่ห้อยาง โดยเป็นผลจากการทดสอบและวิจัยจากหลายฝ่าย
นอกจากบทความนี้ ก่อนหน้านี้หลายปี มีหน่วยงานไทยได้ทดสอบถึงข้อสงสัยในเรื่องนี้ด้วย ( มี ภ า พ โ ป ส เ ต อ ร์ ป ร ะ ก อ บ )
โดยกรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ค้ายางรถยนต์ พร้อมได้การสนับสนุนจากบริษัทกู๊ดเยียร์และมิชลิน จัดทดสอบคุณภาพยางระหว่างที่ผลิตไม่เกิน 6 เดือนเปรียบเทียบกับยางเก่าเก็บที่ผลิตมาแล้ว 24 เดือน (2 ปี) เพื่อคลายความสงสัยและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค ในการเลือกซื้อยางรถยนต์ให้เหมาะสม
ทำการทดสอบภายใต้เงื่อนไขของสถาบันยานยนต์ ใช้ มอก. เป็นมาตรฐานในการทดสอบ พร้อมใช้ค่าทดสอบสูงเกินกว่าพฤติกรรมการใช้งานจริงของคนทั่วไป และสูงกว่ามาตรฐาน มอก. ที่กำหนดไว้ด้วยซ้ำ ในการทดสอบใช้ตัวแปรทุกอย่างเหมือนกัน ต่างแค่วันผลิตของยางเท่านั้น โดยทดสอบประสิทธิภาพการใช้น้ำหนักบรรทุก และทดสอบวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.ต่อเนื่องมากกว่า 10 ชั่วโมง
ผลทดสอบที่ได้คือ ยางที่ผลิตต่างช่วงเวลากัน มีแค่วันผลิตที่ต่างกัน...แต่ประสิทธิภาพยังคงเดิม