ปลดล็อกรถคันแรกจาก5 เหลือ 3 ดี หรือ ไม่ ใครได้ประโยชน์

ปลดล็อกรถคันแรกจาก5 เหลือ 3 ดี หรือ ไม่ ใครได้ประโยชน์

ปลดล็อกรถคันแรกจาก5 เหลือ 3 ดี หรือ ไม่ ใครได้ประโยชน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     กระแสข่าวร้อนในช่วงที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้นเรื่องการเสนอให้มีการปลดล็อกสิทธิ์การถือครองรถยนต์คันแรก จาก 5 ปี เหลือ 3 ปี ซึ่งค่อนข้างจะมีเสียงแตกออกเป็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยล้วนแต่มีเหตุผลสนับสนุนได้อย่างน่าสนใจ

Motor-Expo-20144-2_resize

     ตัวเลขปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิ.ย.58 พบว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการ มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 1,234,986 ราย คิดเป็นเงิน 91,140 ล้านบาท จากจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 1,259,113 ราย คิดเป็นเงิน 92,812 ล้านบาท โดยมีการส่งมอบรถยนต์แล้ว 1,123,451 ราย และเหลือผู้ยังไม่รับมอบรถยนต์อีก 111,535 ราย หรือ 9.03% ของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์

     ขณะที่มีผู้ได้รับเงินคืนตามสิทธิ์แล้วจำนวน 1,101,557 ราย คิดเป็นเงิน 81,179 ล้านบาท ซึ่งครั้งล่าสุดจ่ายไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 58 ทำให้ในปี 58 ยังเหลือต้องจ่ายเงินอีก 229.99 ล้านบาท จากที่ตั้งงบประมาณไว้ 1,644 ล้านบาท

     ส่วนผู้ที่ถือครองรถครบ 3 ปี คือรับมอบรถยนต์ตั้งแต่ 16 ก.ย. 54 – 20 ก.ค.58 มีจำนวน 395,871 ราย ยกเลิกสิทธิ์คืนเงินประมาณ 5,000 ราย

     ย้อนไปดูเงื่อนไขสำคัญของผู้ได้รับสิทธิ์ หากต้องการขายรถเปลี่ยนมือ แต่ยังครอบครองไม่ถึง 5 ปี ต้องนำเงินมาคืนเพื่อยกเลิกการใช้สิทธิ์ดังกล่าว เพราะหากครอบครองรถไม่ครบ 5 ปี จะไม่สามารถโดนเปลี่ยนมือหรือขายต่อได้

     และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้ขอใช้สิทธิ์นำเงินมาคืนเพื่อยกเลิกการขอใช้สิทธิ์ จำนวน 4,942 ราย ขณะที่กรมสรรพสามิตได้มีการติดตามเรียกเงินคืนจากผู้ที่ขาดคุณสมบัติ จำนวน 4,337 ราย โดยได้มีหนังสือถึงผู้ขอใช้สิทธิ์ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว พร้อมกับมีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางกรณีผู้ขอใช้สิทธิ์ขาดคุณสมบัติ แต่รับเงินไปแล้วซึ่งจะขอผ่อนชำระคืนจำนวน 88 ราย ทั้งส่งเอกสารให้พิจารณาฟ้องผู้ขอใช้สิทธิ์ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขทั้งสิ้น 836 ราย

     ประเด็นหนึ่งที่ทางภาครัฐอย่างกรมสรรพสามิตได้แจ้งไว้ว่า ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่รับมอบรถแสนกว่าราย แต่กลับมีผู้มารับมอบรถยนต์เพียงเดือนละไม่กี่ราย อย่างในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่รับมอบรถยนต์เพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม พ.ค.ที่รับมอบ 2 รายจึงเป็นที่มาของการเสนอ ครม.ให้ปิดโครงการนี้ลง และหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้จบภายใน 30 ก.ย. 58 หรือภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ ข้อมูลบางส่วนด้านบนจึงน่าเป็นมูลเหตุสำคัญสู่การเปิดประเด็นเรื่องการปลคล็อกสิทธิ์การถือครองรถคันแรก !? จนเกิดคำถามและการแสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งเราจะนำมารวบรวมให้ได้ศึกษาถึงมุมมองของแต่ละภาคส่วนถึงประเด็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

33BIMS-026

     นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าสนับสนุนให้ยกเลิกสิทธิ์การถือครองรถคันแรกจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี เพราะสภาพตลาดที่ผ่านมาดูซบเซา ลูกค้าแทบจะไม่ตอบรับใดๆ ซึ่งเศรษฐกิจในตอนนี้กระทบกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นนํ้าไปจนถึงปลายนํ้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบดังนั้นภาครัฐจึงจะต้องมีแนวทางหรือแผนกระตุ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจที่จะใช้จ่ายเงิน

     การเสนอให้มีการปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เพราะผู้ถือครองบางรายต้องการซื้อรถคันใหม่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยระบายรถคันแรกให้เข้าสู่ธุรกิจรถมือสองในระลอกแรกก่อน เรื่องการถือครอง 5 ปี ไม่ได้ทำให้กำลังซื้อหายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกฎครบ 5 ปี นั่นอาจจะเกิดการไหลของรถมือสองเข้าสู่ตลาดในจำนวนมหาศาล เพราะโดยเฉลี่ยทั่วไปผู้บริโภคจะใช้รถอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 5 ปี อยู่แล้ว การขายรถเพื่อเป็นเงินดาวน์รถใหม่จึงเป็นทางเลือก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะป่วยยิ่งกว่านี้

     สิ่งที่พยายามนำเสนอ ไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้คนฟุ้งเฟ้อ แต่เป็นเพียงการคืนสิทธิ์ให้กับกลุ่มผู้บริโภคในกลุ่มนี้ที่มีความสมัครใจเปลี่ยนรถคันใหม่ เพราะเชื่อว่าคนไม่มีความพร้อมในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ไม่มีทางซื้อรถได้ ไฟแนนซ์จะเป็นตัวกรองว่าใครมีความสามารถที่จะซื้อรถคันใหม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้ลึกว่าถ้าเชื่อมั่นว่าทำแล้วไม่มีอะไรเสียหาย ทำไมจึงไม่ทำ แม้กำลังซื้อจะคืนมาไม่ 100 % และเราก็ไม่ได้ต้องการขนาดนั้น แต่เราต้องการให้กลไกมันกลับสู่ธรรมชาติที่ควรจะเป็น

     อีกทั้งมันยังช่วยให้เกิดการกระตุ้นอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ แต่อะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ อย่างยางรถยนต์ให้ขับเคลื่อนไปได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้ภาครัฐศึกษาอย่างจริงจังทำเวิร์คช็อปร่วมกันกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไปจนถึงภาคประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่จะต้องเป็นการให้ข้อมูลที่รอบด้าน เราต้องบอกว่าโครงการรถคันแรกมันมีทั้งดีและไม่ดี แต่วันนี้เรากำลังจะกลับมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว ช่วยกันสร้างทางเลือกเพื่อหาทางรอดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคงจะดีกว่า

PB 15

     ส่วนด้าน นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าการปลดล็อกจะไปสร้างความต้องการให้มากขึ้นยิ่งสภาพเศรษฐกิจไม่ดี คนยิ่งจะใช้รถนาน 4-5 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว แม้กระทั่งตอนเศรษฐกิจดีก็เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ปี เช่นกัน เพราะฉะนั้นการที่กำหนดไว้ 5 ปีเหมาะสมอยู่แล้ว ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดียิ่งควรจะนานขึ้น

     แต่คนที่อยากจะขายนั่นหมายถึง คนที่เริ่มขาดสภาพคล่อง เริ่มมีปัญหาในการจ่ายชำระ แต่ถึงปลดล็อกให้ 3 ปี ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะกลับมาซื้อรถใหม่ เพราะเค้ารู้สึกว่าเค้าไม่ได้มีกำลังซื้อ แต่ถ้าคนมีกำลังซื้อ จะซื้อรถใหม่ก็ซื้อได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขายคันเก่า มันจะกลายเป็นว่า การปลดล็อกไปช่วยคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีกำลังในการผ่อนเท่านั้น  ซึ่งคงต้องบอกว่าในเรื่องดังกล่าวไม่สนับสนุน เพราะเมื่อกติกาออกมาแล้ว แน่นอนว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบ ต้องมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่เราควรทำตามกฎเกณฑ์และกติกา ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดลง ในอนาคตหากมีกฎเกณฑ์ใดออกมาก็ต้องมานั่งขอแก้กันอีก

vios-j-2012

     มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลดล็อกจะมีประโยชน์ไม่มากนัก เพราะผู้บริโภคในโครงการดังกล่าวเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิต ซึ่งอาจจะยังไม่ต้องการเปลี่ยนรถก็เป็นได้ โดยมองว่าไปเตรียมการกับโครงการอีโคคาร์ 2 เพราะการเร่งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่างๆ ในช่วงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังยากที่จะประมาณการได้

33BIMS-028

     มร.โมริคาซุ ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้จะยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของการยกเลิกสิทธิ์ถือครองรถคันแรกจาก 5 ปี เป็น 3 ปีมากนัก แต่ถ้าเป็นจริงคงจะมีส่วนช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนรถคันใหม่เพิ่มขึ้นมา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนของมิตซูบิชิเองก็หวังว่า ตลาดประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลัง-ปลายปี จะฟื้นตัวขึ้นมา

     นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์คือเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ที่ลูกค้าไม่ผ่านเป็นส่วนใหญ่เพราะค่อนข้างจะมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง การปลดล็อกรถคันแรก จึงน่าจะเข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นบ้าง แม้จะไม่ได้มาก แต่ก็ควรจะทำเพราะด้านหนึ่งของการปลดล็อกเกณฑ์ดังกล่าวข้อดีคือการทำให้คนหันกลับมาซื้อรถใหม่ คนที่ผ่อนต่อไม่ไหวก็ขายรถเพื่อนำเงินไปใช้หนี้หรือทำอย่างอื่นได้

     ส่วนข้อเสีย คือ รถมือสองจะกลับเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคารถมือสองตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรถยนต์มือสองต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามถือว่ายังเป็นการป้องกันได้ในระดับหนึ่งว่าในปีที่ 5 รถมือสองจะไม่ทะลักเข้ามาสู่ตลาดในคราวเดียวจนเกิดปัญหาขึ้นอีก การปลดล็อกเพื่อให้รถกลุ่มนี้ทยอยไหลเข้าสู่ตลาดน่าจะเป็นการปลอดภัยกว่า

     นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวในกรณีนี้ว่า หากมองอีกมุมหนึ่งก็ยังไม่มีอะไรที่มารับประกันได้ว่า เมื่อมีการขายรถคันแรกออกไปแล้วจะมีการซื้อรถใหม่แทน ลูกค้าจะมีกำลังซื้อกลับมาจริงหรือไม่ เพราะภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้อยู่ในช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติ คนอาจจะกลัวไม่อยากมีหนี้สินเพิ่มก็ได้

     เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็รู้ตัวดี ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เดินเข้าไปสถาบันการเงิน สถาบันไม่ได้เปลี่ยนเงื่อนไข แต่อาจจะมีมุมมองหรือดูมากขึ้น มีรายได้เท่าเดิม กู้เท่าเดิม แต่ภาระหนี้เยอะ สถาบันการเงินจะมองว่ามีความสามารถในการดำรงชีพได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าอัตราการไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อของผู้ต้องการซื้อรถไม่ถึง 40-50% อย่างที่เป็นข่าว แต่ยอมรับว่าเพิ่มขึ้น จากประมาณ 5% เป็น 10%

     นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องดีหากมีการปลดล็อกสิทธิ์ถือครองดังกล่าว เพราะบางคนที่ซื้อรถไปถือครองไว้แล้ว 3 ปี อาจมีความต้องการจะเปลี่ยนรถใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความต้องการในการใช้งานก็เป็นได้ เพียงแต่ยังไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีปริมาณมากเท่าใด โดยจำนวนของผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน หากมีการเปลี่ยนรถใหม่เพียงแค่ 5-10% จากตัวเลขดังกล่าวก็จะช่วยให้รถยนต์มียอดขายที่ดีขึ้น

     อีกส่วนคือเมื่อมีรถมือสองเข้าสู่ตลาด ก็จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในกลุ่มนิยมรถมือสองได้มีรถรุ่นใหม่เข้ามาสู่ตลาดให้ซื้อขายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากอุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทั้งเครื่องหนัง กระจก ยางรถยนต์ ซึ่งจะส่งผลไปยันกลุ่มเกษตรกรรมผู้ผลิตยางพาราอีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวล คือหลากหลายความคิดเห็นที่มีต่อแนวความคิดการเสนอให้ปลดล็อกการถือครองรถยนต์คันแรก

     แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ถูกเสนอไปยังภาครัฐเป็นที่เรียบร้อย รอเพียงการสอบถามความคิดเห็นจากทางภาคเอกชนหรือค่ายรถยนต์ทุกค่ายอีกครั้ง แล้วจึงค่อยนำเสนอเข้าสู่ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป  

 

เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์

เรียบเรียงข้อมูลโดย www.gpinews.com

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ปลดล็อกรถคันแรกจาก5 เหลือ 3 ดี หรือ ไม่ ใครได้ประโยชน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook