รีวิว Mazda CX-3 ใหม่ ครอสโอเวอร์ขับสนุก คุ้มค่าน่าโดน

รีวิว Mazda CX-3 ใหม่ ครอสโอเวอร์ขับสนุก คุ้มค่าน่าโดน

รีวิว Mazda CX-3 ใหม่ ครอสโอเวอร์ขับสนุก คุ้มค่าน่าโดน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลังจากที่ Mazda CX-3 ถูกเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน ก็สามารถกวาดยอดจองไปได้แล้วถึง 2,000 คัน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน แสดงให้เห็นถึงกระแสตอบรับของรถครอสโอเวอร์รุ่นเล็กน้องใหม่ล่าสุดนี้ได้เป็นอย่างดี


     หลังจากที่ Mazda CX-3 ถูกเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน ก็สามารถกวาดยอดจองไปได้แล้วถึง 2,000 คัน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน แสดงให้เห็นถึงกระแสตอบรับของรถครอสโอเวอร์รุ่นเล็กน้องใหม่ล่าสุดนี้ได้ เป็นอย่างดี Sanook! Auto จึงไม่รอช้าตบเท้าเข้าร่วมทดสอบ CX-3 ใหม่ ไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาบอกเล่าประสบการณ์การขับขี่สำหรับผู้ที่สนใจรถยนต์รุ่นนี้อยู่ครับ

     มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 เป็นรถในกลุ่มบี-เซ็กเมนต์ครอสโอเวอร์ พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของ 'มาสด้า 2' ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเครื่องการันตีสมรรถนะการขับขี่ได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งคุณงามความดีทั้งหลายใน Mazda 2 ก็ถูกยกมาใส่ไว้ใน CX-3 อย่างครบถ้วน แถมยังพัฒนาให้ดีต่อยอดขึ้นไปอีกด้วยความอเนกประสงค์แบบครอสโอเวอร์ บวกกับการไม่ต้องยึดติดกับข้อจำกัดรถอีโคคาร์แบบ Mazda 2 ทำให้มาสด้าสามารถพัฒนาครอสโอเวอร์รุ่นนี้ได้อย่างเต็มที่

 

     Mazda CX-3 ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย แบ่งเป็นเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G จำนวน 4 รุ่น และดีเซล SKYACTIV-D อีก 1 รุ่น แต่การทดสอบในครั้งนี้มีเพียงรุ่นเครื่องยนต์เบนซินให้เราได้สัมผัสกันเท่านั้น
แต่ถึงแม้จะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน ก็เป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร บล็อกเดียวกับ Mazda3 ตั้งแต่รุ่นล่างสุดขึ้นมา เมื่อมารวมร่างกับครอสโอเวอร์ไซส์เล็ก จึงทำให้กลายเป็นจุดขายสำคัญของ CX-3 ใหม่ ด้วยตัวเลขสมรรถนะที่เหนือกว่ารถระดับเดียวกับทุกรุ่นในตลาดขณะนี้

 

     Mazda CX-3 เบนซินใหม่ ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว ไดเร็คอินเจคชั่น ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 204 นิวตัน-เมตร ที่ 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด รองรับพลังงานทางเลือกสูงสุดคือ E85

     มาสด้าเลือกใช้ช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม พวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า (EPAS) ระบบเบรกเป็นแบบดิสก์ทั้งสี่ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน

     ตัวถังของ CX-3 มีความยาวตลอดแนวอยู่ที่ 4,275 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,765 มิลลิเมตร ความสูง 1,495 มิลลิเมตร และความยาวฐานล้ออยู่ที่ 2,570 มิลลิเมตรเท่ากับ Mazda2 ระยะห่างใต้ท้องรถอยู่ที่ 160 มิลลิเมตร

 

     เรามาเริ่มกันที่อุปกรณ์มาตรฐานภายนอกของ CX-3 ใหม่กันก่อน ในรุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์เบนซิน ซึ่งก็คือ 2.0 SP นั้น ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED พร้อมไฟ Daytime Running Light แบบ LED รวมถึงไฟตัดหมอกหน้าและไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน ซึ่งไฟหน้าชุดนี้ยังมีระบบปรับสูง-ต่ำอัตโนมัติ Auto Levelling System รวมถึงระบบไฟสูงอัตโนมัติ High Beam Control ที่คอยปรับระดับไฟสูง-ต่ำให้เองเมื่อมีรถสวนมา

     ตัวถังยังคงยึดหลักออกแบบ 'KODO Design' เช่นเดียวกับมาสด้ารุ่นอื่นๆอย่างเหนียวแน่น โดยตัวรถมีเส้นสายที่ดูบึกบึนแฝงด้วยความปราดเปรียว กระจกสีดำบริเวณเสาหลังถูกออกแบบให้ดูต่อเนื่องไปยังประตูหลัง ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้จะช่วยให้ตัวรถดูมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ในรุ่น 2.0 S ขึ้นไป เลือกใส่ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/50 R18 ส่วนรุ่นรองลงมาเป็นล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/60 R16

 

     ส่วนด้านหลังติดตั้งไฟท้ายหน้าตาโฉบเฉี่ยว ซึ่งตั้งแต่รุ่น 2.0 S ขึ้นไปจะเป็นแบบ LED ที่ดูมีเส้นสายคาแร็คเตอร์ชัดเจน สวยงามเวลาวิ่งกลางคืน ส่วนประตูบานหลังเป็นแบบยกเปิดชิ้นเดียว พร้อมปุ่มสวิตช์เปิดแบบไฟฟ้า

     แต่จะมีจุดสังเกตอย่างหนึ่งก็คือพื้นห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเสียพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับซุ้มเก็บยางอะไหล่ ทำให้เวลาขนสัมภาระหนักๆอาจจะลำบากเวลายกขึ้นลง

 

     การดีไซน์ภายในห้องโดยสาร ถือเป็นจุดขายของมาสด้ารุ่นหลังๆมานี้ เนื่องจากมาสด้าเป็นรถที่พัฒนาเพื่อเน้นการขับขี่เป็นสำคัญ ดังนั้น ทีมออกแบบจึงใส่ใจตำแหน่งและท่านั่งของผู้ขับขี่เป็นพิเศษ ทำให้เบาะนั่งของ CX-3 สามารถโดยสารได้อย่างสะดวกสบายตลอดทริป

     ห้องโดยสารถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำ-แดง ส่วนตัวเบาะในรุ่น 2.0 S ขึ้นมานั้น เป็นเบาะหนังสลับด้วยผ้า Lux Suede สีดำเดินตะเข็บด้วยด้ายสีแดง น่าจะถูกใจคนรักความสปอร์ต ถ้าถามว่าผ้า Lux Suede มีลักษณะเป็นอย่างไร? ก็ตอบได้ว่าลักษณะคล้ายกับหนังประเภท Alcantara หรือไม่ก็หนังกลับนั่นแหละครับ ซึ่งจุดเด่นของวัสดุประเภทนี้ คือ จะช่วยยึดให้ร่างกายให้ขยับน้อยลงเวลาที่เข้าโค้งแรงๆ เนื่องจากมีความมีความสากมากกว่าหนังทั่วไปนั่นเอง

 

     ตัวเบาะเองมีขนาดใหญ่กว่าในรุ่น Mazda2 นิดหน่อย มาพร้อมปีกเบาะที่ช่วยยึดร่างกายให้ขยับได้น้อยลง แต่ก็ยังสามารถโดยสารได้อย่างไม่อึดอัดเลย จะมีก็พนักพิงศีรษะที่รู้สึกว่าดันออกมามากไปหน่อย ถ้าให้ดีมาสด้าน่าจะออกแบบให้ปรับโยกได้ด้วย นอกเหนือจากการปรับสูง-ต่ำเพียงอย่างเดียว

     ขณะที่เบาะโดยสารด้านหลังสามารถขึ้น-ลงได้สะดวก มาพร้อมหมอนพิงศีรษะทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่น่าสังเกตว่ารถมาสด้าแทบทุกรุ่นมักมีจุดอ่อนในเรื่องพื้นที่โดยสารด้านหลัง หากนั่งกัน 2 คนก็น่าจะพอดีๆ แต่ถ้า 3 คนจะเริ่มเบียดอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงพนักพิงหลังที่ไม่สามารถปรับระดับความเอนได้เลย แต่ระดับที่ให้มาก็ไม่ถือว่าตั้งชันจนน่าเกลียดแฅ่อย่างใด

 

     พื้นที่ศีรษะสำหรับผู้โดยสารตอนหลังนั้น สำหรับผู้เขียนที่มีส่วนสูง 173 ซม.ถือว่าโปร่งสบาย แต่พื้นที่ช่วงขายังค่อนข้างจำกัด หากคนนั่งหน้าด้านหน้ามีรูปร่างสูงใหญ่มากๆ อาจรู้สึกอึดอัดอยู่เหมือนกัน ซึ่งจุดนี้เองทางวิศวกรระบุว่า เป็นผลมาจากการออกแบบที่เน้นผู้ขับขี่เป็นหลักเสียมากกว่า ทำให้พื้นที่ห้องโดยสารกลายเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้น CX-3 จึงดูเหมาะสำหรับการโดยสาร 1-2 คนด้านหน้า ส่วนด้านหลังน่าจะเหมาะสำหรับเด็ก-วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างไม่สูงใหญ่มากนัก

     แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันจะเล็กมากจนนั่งไม่ได้นะครับ เพียงแต่มันอาจไม่ใหญ่โต โอ่อ่า สะดวกสบายอย่างที่หลายคนคิดเอาไว้แค่นั้นเอง ทางที่ดีควรชวนพ่อแม่พี่น้องที่ต้องโดยสารบ่อยๆไปลองที่โชว์รูมดูก่อนครับ เพราะอย่างไรมาตรฐานคนของแต่ละคนก็เทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว

 

     แผงคอนโซลถูกยกมาจาก Mazda 2 เกือบทั้งหมด ซึ่งเน้นความ Minimal และใช้งานง่าย ติดตั้งหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้วไว้บนแผงคอนโซล สามารถควบคุมได้ทั้งระบบสัมผัสและผ่านปุ่ม Center Commander บริเวณเบรกมือ สามารถเล่นวิทยุ CD/MP3 ได้ 1 แผ่น รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth, มีระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Recognition, ระบบนำทางในตัว, พอร์ตเชื่อมต่อ USB จำนวน 2 ช่อง และช่อง AUX อีก 1 ช่อง ขับกำลังเสียงผ่านลำโพงทั้งหมด 6 ตัว

     หน้าจอตัวนี้ยังมีระบบเชื่อมต่อโซเชียลอย่าง Facebook, Twitter รวมถึงสถานีวิทยุแบบดิจิตอลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วย

     ขณะที่ปุ่ม Center Commander นั้น จะรวบรวมเอาระบบที่ใช้งานบ่อยมาไว้ด้วยกัน ตัวปุ่มหลักที่มีขนาดใหญ่สุดใช้สำหรับการเข้าถึงเมนูต่างๆ ผ่านการหมุน, โยก และกด แบบเดียวกับระบบ iDrive ของ BMW เลยทีเดียว

 

     ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติพร้อมฮีทเตอร์ในตัว ควบคุมด้วยปุ่มขนาดใหญ่ ใช้งานง่าย ให้ความเย็นได้รวดเร็วทันใจ มาพร้อมที่ปัดน้ำฝนด้านหน้าแบบอัตโนมัติ (รุ่น 2.0S ขึ้นไป) ด้านหลังแบบปรับตั้งหน่วงเวลาได้

     ส่วนระบบส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ติดตั้งไฟอ่านแผนที่แยกซ้าย-ขวาด้านหน้า พร้อมไฟอีก 1 ดวงบริเวณกลางหลังคา กระจกหน้าต่างเป็นแบบไฟฟ้า 4 บาน สามารถปรับขึ้น-ลงอัตโนมัติได้ 1 บานฝั่งผู้ขับ พร้อมระบบป้องกันการหนีบ Jam Protection แผงบังแดดทั้งสองข้างติดตั้งกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิด พร้อมที่วางแก้วน้ำบริเวณแผงประตูและบริเวณด้านข้างของเบรกมือ กุญแจแบบอัจฉริยะทำงานควบคู่กับปุ่มสตาร์ทบริเวณใกล้กับพวงมาลัย

 

     ทางฝั่งผู้ขับติดตั้งพวงมาลัยแบบ 3 ก้านหุ้มด้วยหนัง ซึ่งออกแบบให้มีร่องนิ้วเพื่อให้จับได้กระชับขึ้น ปุ่มควบคุมต่างๆถูกจัดวางไว้ฝั่งซ้ายมือ ชุดมาตรวัดความเร็วเป็นแบบดิจิตอลเรืองแสง โดยแยกเข็มวัดรอบไว้ตรงกลาง ขณะที่จอทั้งสองด้านไว้สำหรับแสดงข้อมูลการขับขี่ ฝั่งซ้ายสำหรับแสดงตำแหน่งเกียร์และระยะทาง ฝั่งขวาสำหรับแสดงปริมาณน้ำมันในถัง, อุณหภูมิภายนอก รวมถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่างๆ ที่เลือกแสดงผลได้จากพวงมาลัย ด้านบนเป็นหน้าจอ Active Driving Display สำหรับแสดงความเร็วและระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน (LDWS)

     เมื่อพูดถึงระบบความปลอดภัยใน Mazda CX-3 ใหม่ ถือว่าเป็นไฮไลท์เด็ดของมาสด้าทั้งหมดที่มีจำหน่ายในขณะนี้เลยก็ว่าได้ เพราะฟังก์ชั่นบางอย่างไม่มีในรุ่นพี่อย่าง Mazda 3 และ CX-5 ด้วยซ้ำไป



     เริ่มจากอุปกรณ์มาตรฐานที่มีให้ทุกรุ่นย่อย ได้แก่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS รวมถึงจิปาถะอย่างระบบล็อคประตูอัตโนมัติ, คานเหล็กกันกระแทก, ระบบสัญญาณกันขโมยและกุญแจแบบ Immobilizer

     ทุกรุ่นยังมาพร้อมเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดทั้ง 5 ที่นั่ง ด้านหน้าสามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ พร้อมจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

     ในรุ่น 2.0 S มีทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เพิ่มเติมด้วยเซ็นเซอร์กะระยะด้านหลังแบบ 4 จุด และกล้องมองหลังมาให้

     ส่วนรุ่น 2.0 SP รวมถึง 1.5 XDL ติดตั้งระบบ i-ACTIVSENSE ที่ประกอบไปด้วย 5 ระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบเตือนรถบริเวณจุดอับสายตา ABSM - Advanced Blind Spot Monitoring, ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS - Lane Departure Warning System, ระบบเตือนรถเคลื่อนผ่านขณะถอยหลัง RCTA - Rear Cross Traffic Alert, ระบบช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ SCBS - Smart City Brake Support รวมถึงระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ HBC - High Beam Control

     ซึ่งถือเป็นมาสด้ารุ่นแรกในเมืองไทยที่มีระบบความปลอดภัยระดับสูงมาให้มากมายถึง 5 ระบบ

 

     การทดสอบในครั้งนี้มีรูปแบบเส้นทางที่หลากหลาย นับตั้งแต่การขับขี่ในเมือง นอกเมือง รวมถึงการขับขึ้นไปถึงยอดดอยอินทนนท์ที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมาสด้ามั่นใจว่าสมรรถนะเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ใน CX-3 ใหม่ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องถึงกับเครื่องยนต์แรงบิดสูงอย่างดีเซล SKYACTIV-D 1.5 ลิตรแต่อย่างใด

 

     เราเริ่มต้นออกสตาร์ทจากโรงแรมแชงกรี-ล่า บริเวณถนนช้างคลานของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ที่มีการจราจรคับคั่งพอประมาณ มาสด้าเลือกใช้ถนนเส้นรองผ่านตามซอกซอยต่างๆ ทำให้สัมผัสได้ถึงความคล่องตัวของ CX-3 พวงมาลัยมีน้ำหนักเบา อัตราทดพวงมาลัยกระชับดีมาก หมุนพวงมาลัยนิดหน่อยก็เลี้ยวได้อย่างใจต้องการ

     ประกอบกับตัวถังที่มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถซอกแซกได้อย่างมั่นใจ รวมถึงได้ทัศนวิสัยแบบเอสยูวีที่เหนือกว่ารถเก๋งทั่วไป ความคล่องตัวในเมืองจึงถือว่าสอบผ่านอย่างที่เราหวังไว้แต่แรก

 

     เมื่อหลุดออกมายังทางหลวงหมายเลข 108 เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปขึ้นยังดอยอินทนนท์นั้น เราสัมผัสได้ถึงแรงบิดของ CX-3 ที่มีให้เค้นถึง 204 นิวตัน-เมตร ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียง 2,800 รอบต่อนาที ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของเครื่องยนต์เบนซินสกายแอคทีฟของมาสด้า ที่จะมีบุคลิกคล้ายกับเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล

     ถ้าพูดง่ายๆก็คือ เรี่ยวแรงในย่านความเร็วปกติประมาณ 40-120 กม./ชม.นั้น มีให้ใช้อย่างเหลือเฟือโดยไม่ต้องคิกดาวน์เค้นรอบกันบ่อยๆ การเติมคันเร่งเพียง 1/4 ก็พอให้แซงรถคันอื่นได้อย่างสบายๆ

     ขณะที่การเก็บเสียงนั้นถือว่าทำได้ดีมาก แม้ว่าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. แต่ก็ปรากฏเสียงลมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากบริเวณเสาบีกลางรถ ขณะที่เสียงจากช่วงล่างและพื้นถนนถูกเก็บเรียบ

     ส่วนเสียงเครื่องยนต์นั้น หากเดินรอบเบาถือว่าอยู่ในระดับปกติ แต่หากเค้นรอบสูงๆ จะได้ยินเสียงคำรามเข้ามาพอสมควร ซึ่งวิศวกรระบุว่าเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้ผู้ขับขี่รู้สึกถึงการขับขี่แบบสปอร์ต จึงปล่อยให้เสียงเครื่องยนต์สามารถเล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารได้ ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่าเสียงของเครื่องยนต์ SKYACTIV นั้น ให้ความไพเราะเร้าใจอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ

 

     ช่วงล่างของ CX-3 ถูกเซ็ทมาค่อนข้างหนึบหนับ ติดกระด้างให้เห็นเล็กๆ แต่ก็ถือว่านิ่มกว่ามาสด้ารุ่นก่อนที่จะกลายมาเป็น SKYACITV อยู่โข ซึ่งผู้โดยสารอาจรู้สึกกระเด้งกระดอนให้เห็นกว่าคู่แข่งอย่าง Honda HR-V อยู่บ้าง  แต่สำหรับผู้ขับที่ชื่นชอบการขับขี่เป็นชีวิตจิตใจนั้น จะรู้สึกได้เลยว่าเป็นช่วงล่างที่เซ็ทมาอย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี ไม่นิ่มไปไม่แข็งไป เกาะถนนได้อย่างหนึบหนับ รวมถึงควบคุมได้อย่างง่ายดาย จนเราขอยกย่องให้มันเป็นช่วงล่างที่ดีที่สุดในบรรดาคู่แข่งทั้งหมดขณะนี้

     เมื่อเราเดินทางมายังดอยอินทนนท์ แม้ว่ารถที่ใช้ทดสอบครั้งนี้เป็นเครื่องยนต์เบนซิน ที่ยังไงก็คงสู้แรงบิดของเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลไม่ได้ แต่เรากลับไม่รู้สึกว่ามันขาดเรี่ยวแรงเลย กำลังเครื่องยนต์ยังคงมีให้เรียกอย่างเหลือเฟือ จะมีก็เพียงแต่จุดที่ชันมากๆ ที่เราต้องลดเกียร์เพื่อช่วยเรียกรอบเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นมา

     CX-3 ยังมีโหมด Sport ที่สั่งงานด้วยปุ่มบริเวณใกล้กับคันเกียร์ ซึ่งโหมดนี้จะปรับการทำงานของเกียร์ให้ลากรอบเครื่องยนต์มากขึ้น ทำให้ได้แรงบิดอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งหากเปิดโหมดนี้ไว้ขณะขึ้นเขา เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์เองเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะช่วยเลือกเกียร์ที่เหมาะสมเพื่อให้ได้แรงบิดมากที่สุดในขณะนั้น

 

     ส่วนการลัดเลาะไปตามโค้งขึ้นเขาบนดอยอินทนนท์นั้น แม้บางจังหวะเราจะใช้ความเร็วสูง แต่ช่วงล่างยังคงเก็บอาการได้เป็นอย่างดี อาการตัวรถขณะเข้าโค้งค่อนข้างเป็นกลางคล้ายกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ AWD ยังไงยังงั้น กล่าวคือ มันแทบไม่มีอาการโอเวอร์สเตียร์หรืออันเดอร์สเตียร์ให้เห็นเลย จนเราเดาไม่ถูกเลยว่า หากเราเข้าโค้งด้วยความเร็วที่เกินขีดจำกัดจริงๆนั้น ตัวรถจะหน้าดื้อหรือท้ายปัดก่อนกัน

     ซึ่งอาการที่ว่านี้ ชวนให้ผมนึกถึงระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Symmetrical AWD ใน Subaru Forester และโรดสเตอร์ช่วงล่างเทพอย่าง Porsche Boxster ที่เคยขับมาแล้วก่อนหน้านี้ จริงอยู่ที่ช่วงล่างของ CX-3 จะไปเทียบ 2 รุ่นนั้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงจะไม่แฟร์นัก แต่ก็พูดได้เต็มปากเลยว่าแค่นี้ก็ดีกว่ารถทั่วไปในท้องตลาดมากมายแล้ว

 

     สรุป Mazda CX-3 เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร เป็นครอสโอเวอร์ขนาดเล็กที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยว เอาใจคนรุ่นใหม่ เครื่องยนต์ให้สมรรถนะดี แรงบิดเยอะและมาตั้งแต่รอบต่ำ ช่วงล่างเน้นความหนึบหนับ หนักแน่น ขับสนุก ห้องโดยสารออกแบบพิถีพิถัน ใส่ใจรายละเอียด ฟังก์ชั่นเยอะกว่าที่ตาเห็น ระบบความปลอดภัยแบบจัดเต็มเหนือคู่แข่ง เป็นรถที่เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบการขับขี่ ได้ความนอเนกประสงค์แบบเอสยูวีแต่ยังคงไว้ซึ่งสมรรนะการขับขี่แบบรถเก่ง

     ส่วนจุดที่น่าสังเกต คือ พื้นที่ภายในห้องโดยสารด้านหลังค่อนข้างแคบ หากใช้เป็นรถครอบครัวที่มีผู้ใหญ่นั่งโดยสารไปด้วยหลายคนบ่อยๆ คงต้องพิจารณาจุดนี้เป็นพิเศษ หากรับได้ คุณก็จะได้ข้อดีอย่างที่กล่าวมาข้างต้นไปทั้งหมดครับ


     ราคาจำหน่าย Mazda CX-3 ใหม่ มีดังนี้:

  • 2.0 E ราคา 835,000 บาท
  • 2.0 C ราคา 910,000 บาท
  • 2.0 S ราคา 975,000 บาท
  • 2.0 SP ราคา 1,045,000 บาท (รุ่นที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้)
  • 2.0 XDL ราคา 1,155,000 บาท

 

     ขอขอบคุณผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดทุกท่าน ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

     เขียนและเรียงเรียง: เอกไชย สุขสมกิจ

 

 

อัลบั้มภาพ 52 ภาพ

อัลบั้มภาพ 52 ภาพ ของ รีวิว Mazda CX-3 ใหม่ ครอสโอเวอร์ขับสนุก คุ้มค่าน่าโดน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook