เทคนิคเอาตัวรอดเมื่อโดนตำรวจค้นรถ...!

เทคนิคเอาตัวรอดเมื่อโดนตำรวจค้นรถ...!

เทคนิคเอาตัวรอดเมื่อโดนตำรวจค้นรถ...!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในยุคที่มีด่านตรวจตั้งกันเกือบทุกหัวมุมถนนแบบนี้ ใครล่ะจะไม่เคยโดนคุณตำรวจเรียกให้จอดบ้าง ซึ่งจุดประสงค์หลักของด่านตรวจก็เพื่อจับรถที่ผิดกฎหมาย รวมถึงผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายนั่นเอง


     แต่บางครั้ง แม้เราจะรู้ตัวเองดีว่าทำถูกกฎหมายอยู่แล้วทุกอย่าง ก็ยังไม่วายที่จะถูกเรียกให้จอดเพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่บ้าง เอกสารประจำรถบ้าง หรือดึกๆก็อาจต้องเป่าแอลกอฮอล์บ้าง ซึ่งถ้าไม่กระทำผิดก็คงไม่มีปัญหา... แต่!!! ถ้าถึงขั้นถูกเชิญลงมาจากรถเพื่อขอตรวจค้นนั้น อันนี้ล่ะจะทำอย่างไร?

 

     ทำไมถึงต้องค้นรถ?

     อันนี้ถ้าจะให้ตอบตามหลักการ ก็คงบอกได้ว่าเป็นการสุ่มตรวจรถที่อาจมีวัตถุผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง เช่น ยาเสพติด, อาวุธปืน เป็นต้น ซึ่งเท่าที่เห็นก็มักเป็นรถแต่งซิ่งที่จะโดนเรียกอยู่บ่อยๆ (รถหรูราคา 10 ล้านก็ไม่วายโดนขอค้นเหมือนกัน) หรืออีกเคสหนึ่ง คือ อาจมีสายตำรวจรายงานว่าจะมีรถกระทำผิดกฎหมายวิ่งผ่านมา ทำให้คนที่ใช้รถยี่ห้อ-รุ่น-สีเดียวกัน พลอยถูกตรวจค้นไปด้วย เพราะอาจมีการปลอมแปลงป้ายทะเบียนก็เป็นได้

 

     ตรวจค้นรถ... ต้อง 'สัญญาบัตร' เท่านั้น

     ด่านตรวจที่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องมีตำรวจชั้นสัญญาบัตรควบคุมอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 นาย ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงด่านตรวจต้องมีป้ายแสดง 'จุดตรวจ' ชัดเจน ดังนั้น หากเป็นการขอตรวจค้นรถในจุดลับตาคนโดยตำรวจชั้นประทวนไม่กี่นาย อันนี้เรามีสิทธิ์ไม่ให้กระทำการได้

 

     หากโดนตรวจ... ตั้งสติ และรอบคอบ

     หากเป็นการขอตรวจค้นรถที่ถูกต้องกฎหมายแล้ว เราก็ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ทางที่ดีไม่ควรใช้อารมณ์ หรือใช้วาจาไม่สุภาพ โอ้อวด โดยไม่จำเป็น เพราะอาจเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้

     ทั้งนี้ การตรวจค้นควรกระทำต่อหน้าผู้ถูกค้น เราจึงควรสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ควบคู่กันเป็นจุดๆไป

     ส่วนการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพ หรือถ่ายวีดีโอนั้น 'ทนายเกิดผล แก้วเกิด' ได้โพสข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวใจความระบุว่า ถ้าหากเป็นเจ้าของรถที่ถูกตรวจค้น หรือบุคคลภายในครอบครัว สามารถกระทำได้เนื่องจากเป็น 'สิทธิ์' และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใดๆ รวมถึงเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของเจ้าพนักงานในทางหนึ่งด้วย

     ทั้งนี้ ภาพหรือคลิปวีดีโอดังกล่าว หากนำไปโพสลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมระบุถ้อยคำอันเป็นเท็จในลักษณะโจมตี หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2551 ด้วยเช่นกัน

     ถ้าบริสุทธิ์ใจซะอย่าง ก็คงไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ...?

 

    ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ค ทนายเกิดผล แก้วเกิด

     ภาพจาก Granprix Magazine ผ่าน GPInews

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook