รถหายที่คอนโดฯ ใครต้องรับผิดชอบ ?
ปัจจุบันมีคนพักอาศัยในคอนโดมิเนียมกันมาก ซึ่งประเด็นทางข้อกฎหมายประการหนึ่งที่น่ารู้สำหรับผู้ที่อาศัยในคอนโดมิเนียม นั่นคือกรณีการจอดรถในคอนโดมิเนียม เมื่อรถหาย ทางนิติบุคคลของคอนโดมิเนียมจะต้องรับผิด(ชดใช้)หรือไม่
ซึ่งคำตอบว่าจะต้องรับผิดหรือไม่ขึ้นกับลักษณะการปฏิบัติของคอนโดมิเนียมกับเจ้าของรถผู้พักอาศัย ดังนี้
กรณีที่1 หากทางนิติบุคคล ไม่ได้จัดการให้ต้องมีการแลกบัตรหรือแจกสติ๊กเกอร์หน้ารถ หรือแม้กระทั่งการมอบกุญแจไว้กับ พนักงานรักษาความปลอดภัย กรณีดังกล่าว ทางนิติบุคคล ไม่ต้องรับผิดชดใช้
ทั้งนี้ ศาลเคยมีคำพิพากษาฎีกา ที่ 3088/2557 โดยเหตุผลในคำพิพากษา มีดังนี้
“นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินของบุคคลผู้พักอาศัยในอาคารชุดแต่อย่างใด
การจอดรถ ไม่ต้องมอบกุญแจ ไม่ต้องแลกบัตร รวมทั้งไม่มีสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ
ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุด จ้างบริษัท รปภ. มาดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลผู้พักอาศัยในอาคารชุด ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จ
เมื่อนิติบุคคล บริษัท รปภ. และ รปภ. เองไม่มีหน้าที่ในการดูแลรักษารถยนต์ ที่ประกันไว้กับบริษัท การที่รถยนต์ดังกล่าวสูญหายไป เพราะถูกโจรกรรม จึงมิใช่เป็นความรับผิดของนิติบุคคล บริษัท รปภ.และ รปภ.”
กรณีที่ 2 หากนิติบุคคล กำหนดไว้เป็นระเบียบของคอนโดมิเนียมว่าต้องมีบัตรผ่านเข้าออก หากไม่มีก็ต้องแลกบัตร หรือแจ้งชื่อ ที่อยู่ ไว้ กรณีนี้ หากรถหายไป ทางนิติบุคคล จะต้องรับผิดชอบ (รับผิดชอบร่วมกับบริษัทรักษาความปลอดภัย)
ทั้งนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5259/2551 ดังนี้
“รถยนต์ของโจทก์ ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตร หรือให้แจ้งชื่อที่อยู่ ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุด คืนเกิดเหตุ พนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุด เห็นแล้วว่า รถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุด มิให้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตร หรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบ กลับปล่อยให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านออกไป อันเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยบกพร่องของพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นการประมาทเลินเล่อ กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น นายจ้างของพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย”
ที่มา รายการฎีกาชาวบ้าน - MatichonTV