"เปลี่ยนยาง" เรื่องง่ายๆที่อันตรายมากกว่าที่คุณคิด
แพร๊ด...แพร๊ด...แพร๊ด เสียงยางที่บดถนนลงไปราวกับไม่มีลมยางถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับการเดินทางไม่ว่าจะใกล้ เพราะ ยางที่รั่วหรืออ่อนจากเหตุใดๆ ย่อมทำให้คุณต้องออกแรงเหนื่อยกับการเปลี่ยนยาง หาแต่ความเนื่อยอาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวที่น่ากลัว เพราะเชื่อหรือไม่ครับ ว่าการเปลี่ยนยางตามถนนมีอันตรายที่แฝง อยู่มากกว่าที่คิดเสียอีก
การเปลี่ยนยางอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าใครที่พอจะเป็นเรื่องช่างอยู่บ้าง อาจจะสามารถแก้ไขสถานการณ์เอาตัวรอดดีกว่ากินข้าวลิงไปได้ หากแต่แม้มันจะดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่การทำงานบนไหล่ทางหรือถนนอาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายเช่นกัน และมันแฝงด้วยอันตราย ที่วันนี้เราจะพาไปดูความอันตรายของมัน และวิธีการที่ถูกต้องในการเปลี่ยนยางริมถนน
1. อาจจะถูกชน ถ้าคุณไม่มีทักษะในการเปลี่ยนยาง มันจะเป็นเรื่องยากไปในทันที เมื่อต้องเปลี่ยนยาง เรื่องที่ฟังง่ายอาจจะไม่หมูอย่างที่คิด เมื่อต้องปฏิบัติงานจริง และความงกๆ เงิ่นๆ ของคุณ ก็อาจจะทำให้ถูกรถชนได้ แม้ทางแก้ไขของปัญหานี้คือการตั้งสัญลักษณ์ ก่อนถึงรถราวๆ 100 เมตร เป็นอย่างน้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะวางใจได้เสมอไป ยิ่งกับถนนที่มีการจราจรหนาแน่น เช่นทางหลวงต่างเมืองก็ตาม ที่สำคัญจอดให้ชิดกับไหล่ทางมากที่สุด
2. รถอาจจะหล่นทับคุณ การจะเปลี่ยนยางได้นั้น จำเป็นที่จะต้องยกรถขึ้นด้วยแม่แรง และถ้าใครที่ไม่มีความรู้เรื่องช่างหรือมีบ้างเล็กน้อย อาจจะไม่รู้จักจุดขึ้นแม่แรงของรถและ ทำมีโอกาสสูงที่รถยนต์จะตกลงมาทับได้ ความเสี่ยงต่อการที่รถจะตกลงมาทับมีสูงน้อยกว่าการที่โดนรถชนก็จริง แต่สามารถที่จะทำให้บาดเจ็บร้ายแรงได้เช่นกัน ซึ่งบางทีการตรวจอุปกรณ์พวกแม่แรงก่อนใช้งานก็สามารถช่วยได้ไม่มากก็น้อยในจุดนี้
3. รถอาจแล่นทับคุณ แม่ทุกอย่างอาจจะดุเรียบร้อยในสายตาแต่บางทีมันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรถอาจจะไหล และเมื่อรถไหลมันก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดอุบติเหตุตามมา ดังนั้น การที่เราจะเปลี่ยนยาง ควรมั่นใจว่า ไม่จอดบนเนิน และดึงเบรกมือเรียบร้อย และถ้าพอจะเป็นไปได้หาหินมาดักหน้าเพื่อไม่ให้รถไหลด้วยก็จะยิ่งดี
จากทั้ง 3 ข้ออาจจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนยางนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลย ยิ่งเมื่อเรากำลังพูดถึงชีวิตที่อาจจะเสี่ยงภัยอย่างไม่รู้ตัว แต่ในช่วงหนาวนี้ที่หลายคนต้องเดินทางกันไปเที่ยว เหตุหารณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ และ เรามีคำแนะนำมาฝากกัน
1. ตรวจอุปกรณ์ จำไว้ว่าถ้าเดินทางไกล ควรตรวจสอบอุปกรณ์ให้ถี่ถ้วนเพื่อความมั่นใจ และอุปกรณ์ยามฉุกเฉินเช่นกัน แม่แรง ยางสำรอง หรือกระทั่งแรงดันของลมยางสำรองถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างมากต่อการเดินทางเช็คให้ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ซื้อพวกป้ายทับทิมสามเหลี่ยม และเสื้อเรืองแสงมาด้วยก็จะสามารถเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น
2. หาที่เหมาะๆ เมื่อพบว่ายางแบน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเสียงยางบดถนน จำไว้ว่า อย่าเร่งที่จะรีบเปลี่ยนยาง ความจริงล้อถูกออกแบบมาให้ทนทานพอสมควรหากใช้ความเร็วไม่สูงนัก ดังนั้นเลือกที่จอดที่ดีหน่อยเช่น ไหล่ทางที่มีความห่าง หรือช่องเว้นสำหรับจอดรถยามฉุกเฉินจะช่วยขจัดอันตรายไปได้พอสมควร
3. เข้าใจวิธีการเปลี่ยนยาง เราเชื่อว่าหลายคนไม่เคยเปลี่ยนยางกันมาก่อน และมีน้อยคนมากที่อาจจะเคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ แต่เมื่อมันมาถึงเราก็หวังว่าจะพร้อมและปฏิบัติเป็นขั้นตอนดังนี้
a. ตรวจสอบล้อที่ยางแบน
b. วางสัญญาณเตือนภัยรถที่กำลังจราจร และหาหินรองล้อเพื่อป้องกันรถไหล
c. นำชุดกากบาท หรือบล็อกขันน๊อตล้อ มาถอดน๊อตล้อก่อน หากน๊อตแน่นเกินกำลังมือ อาจจะใช้เท้าค่อยๆ ขย่มกดลงจนกว่าน๊อตจะคลายแล้วตามด้วยการขันด้วย ถอดให้หลวมพอประมาณแล้วเก็บวางน๊อตไว้ให้เป็นระเบียบ แต่ยังไม่ต้องถอดล้อ
d. ถอดยางอะไหล่จากจุดไว้ยางอะไหล่ สำหรับรถเก๋ง โดยมากจะอยู่ที่ท้ายฝากระโปรงหลัง ส่วนรถระบะและอเนกประสงค์โดยมาจะอยู่ใต้ท้องรถด้านหลัง ต้องอาศัยเครื่องมือในการปลดยางอะไหล่ลงมา
e. ขึ้นแม่แรงตามจุดที่กำหนด โดยให้ศึกษาจากคู่มือรถคันนั้นๆที่คุณขับ เพราะแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน แต่ไม่ต้องขึ้นแม่แรงสูงมากเนื่องจากตอนเปลี่ยนล้อคุณจะต้องออกแรงยก เอาแค่ล้อขยับออกมาได้ก็พอ
f. ถอดล้อที่ยางแบนและเปลี่ยนล้อยางอะไหล่เข้าไป จากนั้นขันน็อตล้อเข้าที่เดิม
g. นำล้อที่แบนไปเก็บที่ไว้ยางอะไหล่ หรือในที่ ซึ่งสามารถหยิบออกเมื่อต้องนำไปซ่อมแซมได้ง่าย
h. ตรวจเช็คการขันน็อตล้อ โดยขันให้พอตึงมือไม่ต้องกวดหนักเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกลียวรูดหรือน็อตขาดได้
i. ปลดแม่แรงลงแล้วเก็บเครื่องมือที่ใช้งานให้เรียบร้อย
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนยางก็ไม่ใช่เรื่องหมูอย่างที่คิดเช่นกัน แต่หากคุณเป็นคนที่ต้องเดินทางคนเดียวบ่อยๆ บางทีการหาอุปกรณ์ที่สามารถทดแทนการเปลี่ยนยางติดรถไว้อย่างเช่นน้ำยากปะยางหรือเครื่องเป่าลมยางเคลื่อนที่ติดรถไว้นั้น ก็อาจจะช่วยให้คุณไม่เหนื่อยแล้วต้องเสี่ยงก็ได้