สินเชื่อข้อแนะนำสำหรับผู้ซื้อ

สินเชื่อข้อแนะนำสำหรับผู้ซื้อ

สินเชื่อข้อแนะนำสำหรับผู้ซื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ก่อนตกลงซื้อขาย 
หากเป็นไปได้ เมื่อคุณตั้งใจที่จะซื้อรถโดยใช้สินเชื่อ คุณควรติดต่อบ.ไฟแนนซ์ ไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ทราบวงเงินที่สามารถกู้ได้ และพร้อมซื้อขายทันทีที่พบรถ

>  เลือกไฟแนนซ์ไหนดี ?
บ.ไฟแนนซ์แต่ละแห่งมีการให้บริการที่แตกต่างกันไปตามสภาวะการแข่งขัน ซึ่งข้อเสนอในด้าน อัตราดอกเบี้ย ยอดจัด การประเมินเครดิตผู้ขอกู้ เงื่อนไขผู้ค้ำ ค่าบริการ และรถที่รับจัด ก็จะไม่เหมือนกัน การเลือกบ.ไฟแนนซ์ นอกจากพิจารณาข้อเสนอทางการเงินแล้ว คุณควรคำนึงถึง ความน่าเชื่อถือความมั่นคงและวิธีการให้บริการด้วย เพราะในช่วงเวลาที่คุณยัง ต้องติดต่อผ่อนชำระค่างวด กรรมสิทธิ์รถของคุณยังเป็นชื่อของไฟแนนซ์

>  ไฟแนนซ์รับจัดรถทุกคันหรือไม่ ?
ไม่ทุกคันค่ะ เนื่องจากรถเป็นหลักประกันส่วนหนึ่งของการกู้ ไฟแนนซ์มักเลือก จัดรถที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด ยกเว้นรถที่มีสภาพไม่ดี ถูกเปลี่ยนเครื่อง
หรือถูกชนหนัก รถรุ่นที่มีปัญหาด้านอะไหล่หรือศูนย์บริการ เช่น รถนำเข้า รถสปอร์ต หรือรถที่มีอายุการใช้งานมากๆ ทั้งนี้หากคุณมีเครดิตดีเขาอาจผ่อนผันให้ หรือต่อรองยอดจัดอัตราดอกเบี้ย
 
ติดต่อขอกู้ 
เอกสารประกอบการขอสินเชื่อที่คุณและผู้ค้ำต้องใช้
1. สำเนาบัตรประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. สำเนาเอกสารรับรองรายได้
4. สำเนาสมุดบัญชีย้อนหลัง
เอกสารควรจะครบถ้วนและชัดเจน เพื่อความรวดเร็วในการตรวจสอบอนุมัติ เจ้าของกิจการอาจใช้สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหรือใบเสียภาษีมายืนยัน รายได้ ทั้งนี้ไฟแนนซ์อาจประเมินและไปสำรวจกิจการร้านค้าเพิ่มเติม

>  เครดิตดี ดูได้จากอะไร ?
ไฟแนนซ์ดูเครดิตของผู้กู้จากประวัติทางการเงิน และประเมินความสามารถ ในการผ่อนชำระโดยดูจาก การมีอาชีพการงานที่มั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีรายได้หลังหักภาระค่าใช้จ่ายแล้วมากพอที่จะจ่ายค่างวด และหากมีหนี้สินก็มีประวัติการผ่อนชำระอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ

>  ทำไมต้องมีผู้ค้ำประกัน ?

เพื่อลดความเสี่ยงหากผู้กู้ไม่ผ่อนชำระค่างวด ไฟแนนซ์จึงกำหนดให้มี ผู้ค้ำประกันที่มีคุณสมบัติไม่น้อยกว่าผู้ขอกู้ แต่หากคุณจ่ายเงินดาวน์มากพอ ไฟแนนท์อาจยกเว้นการใช้ผู้ค้ำประกันก็ได้

>  กู้ 100% ได้หรือเปล่า ?
ไม่ได้ค่ะ ไฟแนนซ์จะกำหนดให้ผู้ขอกู้มีส่วนร่วมในการชำระค่ารถในรูปของเงินดาวน์ ทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20–30 % ของราคารถ

>  อัตราดอกเบี้ยรถแต่ละคัน ทำไมไม่เท่ากัน ?
เพราะมูลค่าของรถที่ลดลงจากอายุและการใช้งานไม่เท่ากัน ไฟแนนซ์ จึงพิจารณายี่ห้อ รุ่น และปีที่จดทะเบียนประกอบด้วย โดยอัตราดอกเบี้ย ของรถที่ปีเก่าก็จะแพงกว่ารถที่ใหม่กว่า รถกระบะแพงกว่ารถเก๋ง ดอกเบี้ยขึ้นกับต้นทุนของไฟแนนท์ด้วย ผู้ขอกู้ที่อยู่ต่างจังหวัดจะแพงกว่า กรุงเทพ และหากต้องการดาวน์น้อยลง-ผ่อนนานขึ้น ดอกเบี้ยก็จะแพงขึ้น ทำสัญญาเช่าซื้อ 

เมื่อผู้กู้และไฟแนนซ์ตกลงเงื่อนไขการกู้ได้แล้ว ก็จะทำ "สัญญาเช่าซื้อรถ" จากนั้นไฟแนนท์จะติดต่อผู้ขายเพื่อทำ"สัญญาโอนลอยรถ" ให้กับไฟแนนซ์ เพื่อนำไปใช้ประกอบ "สัญญาเช่าซื้อรถ" และเตรียมเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขาย แล้วไฟแนนซ์จะใช้เวลาอีก 1-4 วัน เพื่อเตรียมโอนรถ

>  โอนรถอย่างไร และทำที่ไหน ?
การโอนรถจะทำที่กรมการขนส่ง โดยเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จาก ผู้ขายมาเป็นชื่อไฟแนนซ์ และเมื่อโอนรถกันเสร็จสิ้นผู้ซื้อจะสามารถ นำรถกลับได้ทันทีส่วนผู้ขายก็จะได้รับเงินสองส่วนคือเงินดาวน์จากผู้ซื้อ และเงินยอดจัดจากไฟแนนซ์

>  มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ผู้ซื้อต้องจ่าย ?

ผู้ซื้อต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ไฟแนนท์ เพื่อใช้ในการดำเนินการดังนี้
1. ค่าโอนทะเบียนรถ* (ตจว. กับ กทม. จะไม่เท่ากัน)
2. ค่าอากรแสตมป์ 0.5 %ของยอดจัดหรือราคาประเมิน
3. ค่าทำประกันภัย , ค่าภาษีรถยนต์
4.ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่น ๆ เช่น ค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ เป็นต้น
*ผู้ซื้อ-ผู้ขายตกลงกันเอง ว่าใครจะเป็นผู้จ่าย
   
หากรถราคาไม่เกิน 3 แสน คุณต้องจ่ายประมาณหมื่นห้า
หากรถราคาไม่เกิน 7 แสน ก็ควรเตรียมไว้สองหมื่นค่ะ

>  รถมีประกันอยู่แล้ว ต้องทำใหม่หรือไม่ ?
ไฟแนนซ์มักให้ผู้ซื้อทำประกันภัยใหม่หากประกันเดิมใกล้หมด และมักจะกำหนดให้เป็นประกันชั้น 1 ที่มีวงเงินครอบคลุมยอดจัด

หลังการขอกู้ 
หากโอนรถกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อต้องจ่ายค่างวดให้กับไฟแนนซ์ ตามที่ตกลงกันไว้

>  ค่างวดเค้าจ่ายกันยังไง ?
มีหลายวิธีค่ะ ซึ่งแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป เช่น โอนเงินผ่านธนาคาร ,เคาน์เตอร์เซอร์วิส ,จ่ายเช็คล่วงหน้า ,จ่ายที่ไฟแนนซ์โดยตรง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้กู้สามารถเลือกได้แล้วแต่ความสะดวกค่ะ

>  มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนอกจากค่างวด ?
นอกจากค่างวดรายเดือนแล้วจะมีค่าใช้จ่ายหลัก ประกอบด้วย ค่าทำประกันภัย และค่าภาษีรถยนต์รายปี ค่าปรับในกรณีที่ผู้กู้ไม่ผ่อนชำระตรงตามสัญญา

>  ผ่อนครบแล้ว ถือว่าเป็นเจ้าของรถแล้วหรือไม่ ?
ไม่ค่ะ เพราะ ต้องมีการโอนเปลี่ยนชื่อจากไฟแนนซ์มาเป็นของผู้ซื้อ จึงจะถือว่าเป็นเจ้าของรถโดยสมบูรณ์ค่ะ

ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก http://www.taladrod.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook