ศูนย์ทดสอบการชน "ฮอนด้า" เพราะ...ทุกคนต้องปลอดภัย
รายงาน โดย วุฒิณี ทับทอง
ไม่ใช่โอกาส...ง่าย ๆ ที่เราจะมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการณ์การทดสอบการชนของรถยนต์สักโมเดลหนึ่ง และต้องยอมรับว่า กว่าจะมาเป็นรถยนต์ให้เราใช้งานกันได้หนึ่งคัน ค่ายรถยนต์จะต้องทำการทดสอบการชนรถยนต์ในแต่ละโมเดล เพื่อตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นว่ารถยนต์ที่ตนเองผลิตนั้นจะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้จริง ๆ ก่อนที่จะส่งออกสู่ตลาด
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มาเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ (โตชิกิ) ของฮอนด้าอีกครั้ง
ศูนย์แห่งนี้ถือเป็น "หัวใจ" สำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "ฮอนด้า" อาณาจักรแห่งนี้ยังมีสนามทดสอบรถยนต์ (Tochigi Proving Ground) ที่สามารถนำผลการทดสอบรถยนต์มาใช้ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาได้ทันที ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพ และมีมาตรฐานความปลอดภัยครบครัน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ครั้งนี้เราได้มีโอกาสร่วมการทดสอบการชน โดยนำรถยนต์ 2 คันมาทำการทดสอบมาตรฐานการชน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ รถยนต์ของฮอนด้านั้นเกิดความปลอดภัยมากที่สุดสำหรับผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร ผู้ที่ใช้ถนนร่วมกัน
ฮอนด้าได้พาสื่อมวลชนจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมชมการทดสอบการชน ที่อาคารทดสอบการชนในร่ม ที่สามารถทดสอบการชนได้ในทุกสภาพอากาศ โดยฮอนด้าได้เปิดศูนย์แห่งนี้เมื่อปี 2543 ด้วยเงินลงทุนกว่า 6,800 ล้านเยน (หรือประมาณ 2,100 ล้านบาท) เพื่อสามารถรองรับการทดสอบการชนกับวัตถุกีดขวาง และการชนระหว่างรถสองคันที่จำลองจากสถานการณ์อุบัติเหตุจริงบนท้องถนนได้ด้วย
มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 41,000 ตารางเมตร และมีเลนทดสอบทั้งหมด 8 เลนที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะเป็นรัศมีของวงกลม โดยเลนทดสอบแต่ละเลนมีมุมห่างกัน 15 องศา โดยขอบเขตอาคารนั้น มีความยาวทิศเหนือจดทิศใต้ 272 เมตร ทิศตะวันออกจดทิศตะวันตก 178 เมตร ความสูงหลังคา 15 เมตร สามารถรองรับการชนได้จากทุกทิศทาง และยังสามารถทดสอบการชนระหว่างรถสองคันที่มีความเร็วต่างกัน รวมถึงรถสองคันที่มีขนาดต่างกัน เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก นอกจากนี้ ยังสามารถจำลองอุบัติเหตุการชนระหว่างรถยนต์และคนเดินเท้าได้อีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการวิเคราะห์สถานการณ์การชนในแนวกว้าง และสามารถทดสอบการชนได้ในทุกสภาพอากาศ ช่วยลดเวลาการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย
ซึ่งฮอนด้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเสมอมา ไม่เพียงแต่การคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในขั้นตอนการผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย
ฮอนด้าจึงเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นบริษัทแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ติดตั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อกและติดตั้งระบบถุงลม SRS ในรถยนต์
ในแต่ละปีจากการสอบถามทีมงานสำหรับรถยนต์ 1 โมเดลนั้น การทดสอบการชนจะต้องมีหลายระดับ หลากรูปแบบ พิสูจน์และศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนารถยนต์ เพื่อเป็นการปกป้องและป้องกันลูกค้า ผู้โดยสาร และผู้ใช้ถนน โดยศูนย์แห่งนี้ เคยทำการทดสอบการชนสูงสุดปีละ 1,000 ครั้ง หากเกิดอุบัติเหตุในกรณีต่าง ๆ ฮอนด้าหวังว่าให้ทุกคนปลอดภัยได้มากที่สุดนั่นเอง
สำหรับการวิจัยพบว่ามีลักษณะการชนที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ โดยได้นำลักษณะดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารในรถทั้งสองคัน และค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย ตั้งแต่ 1.โครงสร้างด้านหน้ารถที่มีระดับต่างกัน โครงสร้างด้านหน้ารถที่มีระดับต่างกันเมื่อเกิดการชนจะไม่มีการดูดซับแรงกระแทก 2.รถที่มีน้ำหนักต่างกัน เมื่อรถใหญ่ชนรถเล็กจะทำให้รถเล็กเกิดแรงกระแทกไปด้านหลัง 3.รถที่มีความแข็งแกร่งต่างกัน รถที่น้ำหนักมากกว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับรถที่มีน้ำหนักน้อยกว่า
และลักษณะการชนที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ ยังนำมาวิเคราะห์จากการวิจัยของฮอนด้าพบว่าโครงสร้างตัวถังแบบเดิมดูดซับแรงกระแทกได้เฉพาะบริเวณโครงสร้างหลักของรถทั้งสองคันเท่านั้น ฮอนด้าจึงได้พัฒนาโครงสร้างตัวถังที่เพิ่มบริเวณที่รองรับแรงกระแทกเมื่อเกิดการชน เพื่อช่วยให้โครงสร้างด้านหน้ารถอยู่ในระดับเดียวกัน ช่วยกระจายแรงจากการชนด้านหน้า ดูดซับแรงกระแทกได้มากขึ้น
ในการทดสอบครั้งนี้ ฮอนด้า นำรถ 2 รุ่น คือ แจ๊ซ และ ซีอาร์-วี มาทำการทดสอบการชน ในทางตรงบนความเร็วขนาด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงพริบตาที่รถทั้ง 2 คันวิ่งเข้าชนในทางตรง เกิดดังสนั่นหวั่นไหว ชิ้นส่วนเศษซากของความเสียหายกระจายไปทั่วพื้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทำควาสะอาดเรียบร้อย เราเข้าไปดูพบว่ารถทั้ง 2 คัน ด้านหน้าพังยับเยิน แรงกระแทกจากการชนทำให้ห้องเครื่องเสียหายจนยุบเข้ามาเกือบถึงเสาเอ แต่ปรากฏว่าประตูของรถทั้ง 2 คันสามารถเปิดออกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากเกิดในชีวิตจริง เจ้าหน้าที่สามารถนำคนเจ็บเข้าไปปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ตรงนี้ก็เป็นผลมาจากวิวัฒนาการและการพัฒนาส่วนหนึ่งที่เกิดจากการทดสอบการชนครั้งก่อนหน้า ๆ ทำให้ทีมวิศวกรฮอนด้าได้นำจุดบกพร่องต่าง ๆ มาพัฒนา
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังมีกล้องบันทึกภาพความเคลื่อนไหวระหว่างการทดสอบการชนในมุมต่าง ๆ แบบละเอียดยิบ เพื่อมาใช้ในส่วนของวิศกรรมการพัฒนารถยนต์ครั้งต่อ ๆ ไป
และนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มส่วนหนึ่งของโลกวิศวกรรมยานยนต์ ที่ค่ายรถแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง "ฮอนด้า" พร้อมใส่ใจในรายละเอียดของทุกขั้นตอนและกระบวนการผลิตสินค้า ก่อนที่จะส่งผ่านไปสู่มือผู้บริโภค