ล้วงลึกภาษี CO2 ได้เสียอย่างไร ทำไมถึงต้องปรับ
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
มีแนวโน้มจะเริ่มต้นในอีก 3 ปี ต่อจากนี้กับภาษีรถยนต์รูปแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากรูปแบบเดิมที่ใช้ขนาดเครื่องยนต์และประเภทรถยนต์เป็นตัวกำหนดในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในการผลิต ไปสู่รูปแบบใหม่ ในการจัดเก็บภาษีที่จะเปลี่ยนจากเดิมมาสู่การใช้การวัดการปล่อยไอเสียมาเป็นพื้นฐานการคิดภาษีของรถยนต์แต่ละรุ่น
แม้จะยังอีกยาวไกลและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะถึงเวลาที่บังคับใช้จริงที่มีกำหนดการคร่าวๆว่าจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2559 หรืออีกประมาณ 3 ปี ต่อจากนี้ แต่ในขณะที่คนจำนวนมากม่เคยรู้จักการจัดเก็บภาษีแบบวัดค่าไอเสียมาก่อน วันนี้เราจะพาไปรู้จักแนวภาษีใหม่ที่ต้องเรียนรู้และควรกระจ่างก่อนการใช้จริง
Carbon Tax Law หรือกฏหมายว่าด้วยภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมโลก แต่อาจจะใหม่กับคนไทยที่เพิ่งจะได้ยินมาเมื่อไม่กี่ปีให้หลัง เริ่มตั้งแต่ที่รัฐบาลมีแนวโน้มในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเพื่อจะให้ทัดเทียมประชาคมอื่นๆนั้นต้องมีการปรับตัวตามมาตรฐานสากลที่ต้องผันตัวเองจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ความเป็นประเทศที่เจริญแล้วในทุกด้านรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
แนวคิดของกฏหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความตระหนักมากยิ่งขึ้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เองก็เป็นหนึ่งในก๊าซตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกและปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกมันถูกปล่อยมากขึ้นทุกวันและหนึ่งในตัวการสำคัญ ก็มาจากปลายท่อไอเสียรถยนต์ที่เราใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล ท้ายที่สุดมันก็ยังมีไอเสียอยู่ดีเพียงแต่จะมากน้อยเท่านั้นเอง
ด้วยความตั้งใจจริงในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังจะก้าวเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว มีการปรับตัวโดยนำเอาแนวคิดนี้มาใช้ภายใต้กฏง่ายๆว่า "ยิ่งสร้างมลภาวะมาก คุณก็ต้องจ่ายมาก" ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงแต่รถยนต์แต่รวมถึงภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ในต่างประเทศ
ในประเด็นของรถยนต์ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ารถยนต์นั้นมีการปล่อยไอเสียเป็นประจำและเยอะมากขึ้นตามขนาดของเครื่องยนต์ทำให้หลายประเทศมีการนำรูปแบบภาษีคาร์บอนเข้ามาใช้ หรือที่ค่ายรถยนต์ มักจะเรียกว่า Co2 ซึ่งเป็นตัวย่อของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง โดยใช้วิธีจัดเก็บตามอัตราการปล่อยไอเสียของรถยนต์รุ่นนั้นๆ ว่ามีการปล่อยไอเสียของรถรุ่นนั้น ใดหน่วยเป็น "กรัมต่อกิโลเมตร" และนำมาตรวจสอบกับอัตราภาษีสรรพสามิตที่กำหนด คิดคำนวนรวบเข้ากับราคารถยนต์ที่จ่ายครั้งแรกที่ซื้อรถ
แม้ว่าบางมุมของแนวคิดภาษีนี้ ต้องยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จำทำให้ราคารถยนต์ ตามที่มีหลายคันกังวลและกังขาว่าราคาขายในปัจจุบันจะมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ประเภทที่มีการปล่อยไอเสียมาก จากเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในกลุ่มรถอเนกประสงค์และรถหรูเป็นสำคัญ ทว่าถึงอาจจะต้องยอมรับว่าราคาอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านนอกจากสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นก็หมายถึงรถยนต์ทีมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการประหยัดน้ำมัน ที่มาพร้อมกันกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
เมื่อไม่นานมานี้ MIT ได้เปิดเผยผลการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษีคาร์บอนและประสิทธิภาพของรถยนต์ โดยจากผลการศึกษาของ วาร์เลรี่ คาร์พลัส นักวิทยาศาสตร์ในโครงการศึกษาร่วมในแง่วิทยาศาสตร์และนโยบายที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก ของสถาบัน ได้ระบุว่า ที่ผ่านมาหลังการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนนั้น ทำให้คนในประเทศอเมริกาสามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันได้ถึง 1.7ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่สามารถลดการปล่อยไอเสียในรถส่วนบุคคลได้กว่าครึ่ง จากที่มีอยู่เดิม
ตามความคาดการณ์ของนักวิจัยรายนี้ ยังระบุต่อไปว่าในปี 2017 นั้น รถยนต์นั่งจะมีการลดการปล่อยไอเสียลงอีกร้อยละ 5 และในรถบรรทุกขนาดย่อม(กระบะ) นั้น น่าจะมีอัตราลดลงอีกร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบจากปัจจุบัน
แม้จะมีข้อดีในเรื่องของการทำให้รถมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันมากยิ่งขึ้น แต่การที่ให้ประชาชนเห็นเงินในกระเป๋าเมื่อเติมน้ำมันมากขึ้น แต่แทงข้างหลังด้วยภาษีที่มีราคาแพงขึ้นเมื่อซื้อรถสักคันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าปรีดาอะไรนัก โดยนักวิจัยรายนี้เสนอต่อไปว่า แนวทางหนึ่งที่ชัดเจนกว่านั้น คงเป็นการให้เงินสนับสนุนโดยตรงต่อการให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ และอาจจะจะสนับสนุนให้พวกเขาซื้อรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ถึงบ้านเราอาจจะยังอีกยาวไกลสำหรับภาษีรถยนต์แบบใหม่ที่เน้นในสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะที่วันนี้บ้านเราอาจจะยังเป็นอนาคต แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคผ่านมา สิงคโปรบ้านใกล้เรือนเคียงเราก็มีการเริ่มบังคับใช้กฏหมายในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้ว หรือ Singapore's new Carbon Emissions-based Vehicle Scheme (CEVS) โดยมีการกำหนดให้รถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่ รถแท็กซี่ รวมถึงรถนำเข้า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ต้องชำระภาษีปลายท่อไอเสีย แต่ยังให้ระยะเวลาปรับตัวอีก 7 เดือน
การเก็บภาษีใหม่ที่บ้านเราจะเริ่มในอีก 3 ปีข้างหน้า อาจจะต้องยอมรับว่าเป็นทางออกที่ดีของเรือ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมและราคาน้ำมันที่หลายคนกำลังผจญอยู่ทุกวันนี้ แต่ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะต้องการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน ในแง่สิ่งที่เสียและสิ่งที่ได้ รวมถึงยังต้องสร้างความเป็นธรรมในการตรวจวัดค่าไอเสีย ให้แก่บรรดาผู้ประกอบการ และเมื่อนั่นภาษี Co2 จะทำให้เราประหยัดเงินในกระเป๋าและสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นต่อลูกหลาน
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง