เปิดโผ 7 ถนนวิกฤตเมืองกรุง พลาดเลี้ยว..ทำใจสถานเดียว
ปัญหาจราจรในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ยังคงวิกฤตสะสมอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางโครงการระบบคมนาคมต่างๆ ที่หวังจะพัฒนาและยกระดับรูปแบบเมืองให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ประกอบกับปริมาณรถบนท้องถนนที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในยุคนี้อยู่ในช่วงขาลง ยิ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรสะสมเรื้อรัง
จากผลการสำรวจอัตราความเร็วของรถยนต์ในเขตเมืองชั้นใน เมื่อปี 2558 จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สถานการณ์การจราจรบนถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงวิกฤตอยู่หลายจุด เช่น ถนนเจริญกรุง (ช่วงถนนตก-สุรวงศ์) ช่วงเช้า ทำความเร็วได้เฉลี่ย 10.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงเย็น ทำความเร็วได้เฉลี่ย 8.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถนนสุขุมวิทชั้นใน (ช่วงอโศก-นานา) ช่วงเช้า ทำความเร็วได้เฉลี่ย 10.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงเย็น ทำความเร็วได้เฉลี่ย 10.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เช่นเดียวกับ ถนนราชวิถี (ช่วงบางพลัด-แยกอุภัย) ช่วงเช้า ทำความเร็วได้เฉลี่ย 10.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงเย็น ทำความเร็วได้เฉลี่ย 8.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถนนกรุงธนบุรี (ช่วงกรุงธนบุรี-สุรศักดิ์) ช่วงเช้า ทำความเร็วได้เฉลี่ย 5.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถนนพระราม 9 (ช่วงรามคำแหง-พระราม 9) ช่วงเช้า ทำความเร็วได้เฉลี่ย 9.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขณะที่ ถนนประชาชื่น (ช่วงเฉลิมพันธ์-พงษ์เพชร) ช่วงเย็น ทำความเร็วได้เฉลี่ย 12.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถนนพระราม 4 ชั้นใน (ช่วงหัวลำโพง-เกษมราษฎร์) ช่วงเย็น ทำความเร็วได้เฉลี่ย 12.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผลกระทบโครงการสร้างเครือข่ายรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และ สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ, หัวลำโพง-บางแค) อีกทั้งยังมีโครงการสร้างทางลอดที่แยกสำคัญๆ เช่น แยกไฟฉาย หรือ แยกมไหสวรรค์ เป็นต้น
ส่วนสถิติรถยนต์ในพื้นที่เมือง จากการสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อ 30 กันยายน 2558 พบว่ามีการสะสมเพิ่มมากขึ้นอีกเกือบ 300,000 คัน ทำให้จำนวนรถยนต์สะสมตอนนี้ใกล้จะแตะหลัก 9 ล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากสำรวจดูยอดการจดทะเบียนรถใหม่ที่ยังสูงขึ้น
จากปัญหาการจราจรในพื้นที่เมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนต้องยอมรับและทนต่อสภาพดังกล่าว อีกอย่างน้อย 5-7 ปีต่อจากนี้ แม้ว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอื่นๆ จะทยอยเสร็จสิ้น แต่ก็ยังคงมีโครงการใหม่ๆ จ่อเริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
หากถึงเวลานั้น ปริมาณรถยนต์สะสมในพื้นที่เมือง ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านคัน จึงกลายเป็นข้อกังวลที่เป็นความท้าทายหลักของผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ