6 ปุ่มในรถห้ามกดซี๊ซั๊วเด็ดขาด จะหาว่าไม่เตือน!
รถยนต์รุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน มักมาพร้อมฟังก์ชั่นที่มากขึ้น ยิ่งรถหรูมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะมี 'ปุ่มกด' มากขึ้นเท่านั้น แต่มีบางปุ่มที่ไม่ควรกดสุ่มสี่สุ่มห้า มิเช่นนั้นก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกเวลา ดังนั้นเราจะพาไปรู้จัก 6 ปุ่มในรถที่ไม่ควรกดเล่นถ้าไม่จำเป็น มีอะไรบ้าง?
1.ปุ่มเปิดฝากระโปรงท้าย
รถยนต์หลายรุ่นสามารถสั่งเปิดฝากระโปรงท้ายได้จากภายในห้องโดยสาร ซึ่งบางครั้งอาจเผลอไปโดนโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ฝากระโปรงปิดไม่สนิทขณะขับรถ แต่หากเป็นกรณีที่จอดทิ้งเอาไว้นานๆ ก็อาจทำให้แบตเตอรี่หมดได้ เพราะไฟในห้องเก็บสัมภาระถูกเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา
2.ปุ่มเปิดฝาถังน้ำมัน
รถยนต์บางคันติดตั้งปุ่มเปิดฝาถังน้ำมันเอาไว้ใกล้กับปุ่มเปิดฝากระโปรงท้าย อาจทำให้บางคนเปิดผิดเปิดถูกได้ ซึ่งแม้ว่าการเปิดฝาถังน้ำมันทิ้งไว้ จะไม่เป็นอันตรายต่อการขับขี่ เพราะยังมีฝาซีลอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนขโมยน้ำมันได้อยู่เหมือนกัน
3.ปุ่มเบรกมือไฟฟ้า
รถยนต์ที่มีระบบเบรกมือไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักติดตั้งปุ่มเอาไว้บนคอนโซลกลางใกล้กับคันเกียร์ (แถวๆเบรกมือแบบปกตินั่นแหละ) ทีนี้หากเผลอไปดึงมันเข้าขณะขับขี่ ระบบเบรกมือก็จะทำงานทันที แม้ว่าปกติจะมีวงจรปลดล็อกให้อัตโนมัติขณะที่ล้อหมุนอยู่แล้ว แต่ก็อาจให้ทำผู้ขับขี่ตกใจจนทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน
4.ปุ่มปิดการทำงานถุงลมนิรภัย
รถยนต์บางรุ่นจะมีระบบปิดการทำงานถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมทำงานขณะติดตั้งเบาะนั่งเด็กไว้บนเบาะหน้า ซึ่งรูปแบบการเปิด-ปิดมีหลากหลายตามแต่รุ่นรถ ทั้งแบบกด 1 ครั้ง, กด 2 ครั้ง, กดค้างไว้ หรือใช้กุญแจเสียบแล้วบิด บางครั้งหากเผลอไปกดเล่น อาจทำให้ถุงลมนิรภัยไม่พองตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ
5.ปุ่มไฟสูง
รถแต่ละรุ่นมีวิธีการเปิดไฟสูงแบบค้างทิ้งไว้ต่างกันไป เช่น ผลักก้านไฟเลี้ยวออกจากตัว หรือดึงเข้าหาตัวจนสุด ซึ่งบางครั้งหากไม่ศึกษาการใช้งานให้ถูกวิธี ก็อาจทำให้เผลอใช้ไฟสูงค้างไว้โดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ร่วมทางได้
6.ปุ่มระบบควบคุมการทรงตัว
รถยนต์ที่มีระบบช่วยควบคุมการทรงตัว (เช่น ESP, VSC, VSA และอื่นๆตามแต่ผู้ผลิตจะเรียก) บางรุ่นจะมีปุ่มปิดการทำงานมาให้ด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว หากกดสวิตช์ 1 ครั้ง จะเป็นการปิดระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control) แต่หากกดทิ้งไว้สักซัก จะเป็นการปิดระบบช่วยการทรงตัวทั้งหมด ทำให้ระบบดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ในยามฉุกเฉิน