5 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับไฟ Daytime Running Light ของคนไทย
ปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เริ่มติดตั้งไฟส่องสว่างสำหรับขับขี่เวลากลางวัน หรือ Daytime Running Light ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ แถมยังเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถใส่ลูกเล่นเพิ่มความสวยงามให้กับตัวรถได้มากขึ้น นับเป็นจุดขายอย่างหนึ่งด้วย
ซึ่ง Daytime Running Light หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า 'เดย์ไลท์' นั้น ถูกนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายในยุโรปมาตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งรถยนต์นั่งทุกคันที่ผลิตขึ้นสำหรับวางจำหน่ายในยุโรปหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2011 เป็นต้นไป จะต้องติดตั้งระบบไฟดังกล่าวมาจากโรงงาน ส่วนรถที่ผลิตไปแล้วก่อนหน้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ว่านี้แต่อย่างใด
คุณลักษณะของไฟ DRL ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย UNECE Reg 87 และ 48 กล่าวโดยสรุป คือ จะต้องมีความสว่างจนสามารถเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางวัน และจะต้องหรี่หรือดับลงอัตโนมัติเมื่อเปิดไฟหรี่หรือไฟหน้ารถ หาก DRL ถูกติดตั้งไว้ใกล้กับสัญญาณไฟเลี้ยว จะต้องมีการหรี่หรือดับ DRL ข้างที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติเมื่อยกก้านไฟเลี้ยว เพื่อป้องกันการรบกวนทำให้ผู้ใช้ถนนไม่สามารถเห็นไฟเลี้ยวได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ใช้ถนนคันอื่นสามารถเห็นรถที่ติดตั้ง DRL ได้อย่างชัดเจนขึ้นแม้ในเวลากลางวัน ช่วยให้สามารถกะระยะห่างและความเร็วที่แล่นมาของรถได้ดียิ่งขึ้น คล้ายกับกฎหมายที่มีการบังคับรถมอเตอร์ไซค์ให้เปิดไฟหน้ารถไว้ตลอดเวลาขณะขับขี่นั่นเอง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเราหันมาให้ความสนใจกับฟังก์ชั่นที่ว่านี้กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Daytime Running Light ของผู้ใช้รถในบ้านเราอยู่ไม่น้อย ซึ่ง Sanook! Auto รวบรวมมาไว้ดังนี้ครับ
1.ต้องเป็นไฟสีขาวเสมอ
ไฟ DRL ที่พบเห็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเป็นแบบ LED ที่ให้แสงสีขาว สวยงาม สะดุดตา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไฟ DRL จะต้องเป็นแบบแอลอีดีเสมอไป รถบางรุ่นยังคงใช้หลอดแบบฮาโลเจนที่ให้แสงสีขาวนวลอมเหลือง ซึ่งก็สามารถใช้ได้เช่นกันหากให้ความสว่างเพียงพอ
2.กินแบตโดยใช่เหตุ
จริงอยู่ที่ถ้ารถมีอุปกรณ์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะส่งผลให้กินแบตมากขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับไฟ DRL นั้นถือว่ากินแบตน้อยมาก โดยเฉพาะรุ่นที่เป็นแบบ LED แต่ถ้าเป็นหลอดแบบฮาโลเจนก็ใช้พลังงานไม่ต่างไปจากหลอดไฟเบรก (แบบไส้) เลย ดังนั้น จึงตัดกังวลไปได้เลยว่าเปิดไฟเดย์ไลท์แล้วจะทำให้เปลืองแบตรถเปล่าๆ
ทางที่ดีถ้ารถคันไหนมีมาให้ ก็ใช้ไปเถอะครับ เพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปปิดหรือเปิดไฟหรี่แทน ซึ่งวิธีนั้นเผลอๆจะกินแบตมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไฟรถจะสว่างทั้งคัน ไม่เว้นแม้แต่ภายในห้องโดยสาร
3.ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร
อย่างที่บอกไปว่า DRL ถูกกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้น การที่เปิดไฟ DRL ทิ้งไว้ จะทำให้รถคันอื่นสามารถสังเกตเห็นรถของคุณได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ในกรณีที่คุณขับรถเร็วอยู่ในช่องทางขวา หากมีรถกำลังจะแซงมาจากเลนซ้าย เขาก็จะสามารถคาดคะเนความเร็วของรถคุณได้ดีขึ้นด้วย เป็นต้น
4.สว่างไม่ต้องมากก็ได้
ถ้าเป็นไฟ DRL ที่ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต พวกนี้จะมีความสว่างในระดับมาตรฐานอยู่แล้ว แต่รถบางรุ่นที่ไม่ได้ติดตั้งมาให้ เจ้าของอาจนำไปติดตั้งเองจากร้านอุปกรณ์ประดับยนต์ ซึ่งถ้าเลือกซื้อแบบราคาถูกจากจีนหรือไต้หวัน ไฟ DRL พวกนี้ก็มักไม่สว่างเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์จริง เน้นติดเอาแฟชั่นเสียมากกว่า ยิ่งถ้าใช้สีอื่นนอกเหนือไปจากสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองแล้วละก็ ยังถือว่าผิดกฎหมายอีกด้วย
5.ใช้แทนไฟหน้ายามค่ำคืนได้
รถยนต์บางรุ่นถูกออกแบบไฟ DRL มาอย่างสวยงาม จนทำให้เจ้าของรถบางคนใช้วิ่งยามค่ำคืนโดยไม่เปิดไฟหน้า เพราะต้องการความโดดเด่น แต่รู้ไหมว่านี่ถือเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อผู้ร่วมทางมาก เพราะไฟเดย์ไลท์จะมีความสว่างมากในเวลากลางคืน เนื่องจากลำแสงจะถูกตั้งให้ส่องไปด้านหน้าเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขณะวิ่งกลางวัน ทำให้แยงสายตาผู้ขับขี่คนอื่นๆในเวลากลางคืน รวมถึงไฟตำแหน่งต่างๆ เช่น ไฟท้าย ไฟส่องทะเบียน ฯลฯ ก็จะไม่สว่างขึ้นมา เสี่ยงต่อการโดนชนท้ายอีกต่างหาก
ดังนั้น เราควรใช้ Daytime Running Light ไม่เพียงเพราะเหตุผลด้านความสวยงามเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอันเป็นจุดประสงค์หลักของมันควบคู่กันไปด้วยครับ