รีวิว 2016 Mazda CX-5 ใหม่ ข้างนอกไม่เท่าไหร่ แต่ข้างใน ‘บิ๊กไมเนอร์เชนจ์’..!
Mazda CX-5 เอสยูวีขนาดคอมแพ็คจากค่ายมาสด้า ที่บุกเบิกเทคโนโลยีสกายแอคทีฟให้กลายเป็นที่รู้จักในประเทศไทย หลังจากทำตลาดมาได้พักใหญ่ ก็ถึงเวลาต้องปรับไมเนอร์เชนจ์เสียที ซึ่งหากดูเผินๆภายนอกแล้ว หลายคนอาจมองว่าไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ แต่หากมองกันลึกๆอีกนิดก็จะรู้ทันทีเลยว่า นี่คือรถมาสด้าที่รวมเอาเทคโนโลยีระดับสูงมาไว้มากที่สุดในขณะนี้
คราวนี้ Sanook! Auto ได้รับเกียรติเข้าร่วมทดสอบ Mazda CX-5 บนเส้นทางกรุงเทพฯ - จันทบุรี รวมระยะทางเกือบ 600 กิโลเมตร เพื่อพิสูจน์ความเปลี่ยนแปลงในโฉมไมเนอร์เชนจ์ใหม่นี้
Mazda CX-5 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีการปรับไลน์อัพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยยังคงมีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อยเหมือนเดิม แต่ตัดรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตรออกไป แล้วเพิ่มเครื่องยนต์ดีเซลเข้าไปอีก 1 รุ่น ทำให้ปัจจุบันมีรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร จำนวน 2 รุ่น และดีเซล SKYACTIV-D 2.2 ลิตร อีก 2 รุ่น
สำหรับคันที่เราได้ทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่นท็อป คือ 2.2 XDL เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีฟังก์ชั่นและระบบความปลอดภัยมาให้มากที่สุดนั่นเอง
รูปลักษณ์ภายนอกของ CX-5 2.2 XDL ติดตั้งไฟหน้าใหม่แบบ LED ปรับระดับความสูงได้อัตโนมัติ พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติตามสภาพแสงภายนอก มาพร้อม Daytime Running Light แบบ LED ดีไซน์เอกลักษณ์มาสด้ารวมไว้ในชุดเดียวกัน ออกแบบรับกับกระจังหน้าดีไซน์ใหม่สีเทาเมทัลลิก เช่นเดียวกับกันชนใหม่ที่ติดตั้งไฟตัดหมอกแบบ LED มาให้ด้วย
ไล่มาทางด้านข้างจะพบกับกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวดีไซน์ใหม่ดูโฉบเฉี่ยวขึ้น จากเดิมที่ออกแบบให้กลืนไปกับชุดฝาครอบกระจก ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/55 R19 ขณะที่ไฟท้ายถูกเปลี่ยนเป็นแบบ LED ดูทันสมัยขึ้นกว่าเดิมเยอะ
ซึ่งหากมองเผินๆแล้ว ภายนอกอาจดูไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงกับหวือหวามากนัก แต่ภายในห้องโดยสารถือว่าคนละเรื่อง!
ห้องโดยสารภายในตกแต่งด้วยโทนสีดำ ตัดด้วยสีเงินซาตินโครมช่วยให้ดูพรีเมี่ยมยิ่งขึ้น แผงคอนโซลกลางดีไซน์ใหม่ ติดตั้งหน้าจออินโฟเทนเม้นท์ Center Display แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมปุ่มควบคุม Center Commander บริเวณใกล้กับคันเกียร์ ใช้อินเตอร์เฟสใกล้เคียงกับรุ่น Mazda3 และ CX-3 ที่เราสัมผัสไปก่อนหน้านี้
เครื่องเสียงชุดนี้มาพร้อมระบบเสียงรอบทิศทางจาก Bose ซึ่งมีเฉพาะรุ่น 2.2 XDL เท่านั้น ติดตั้งลำโพงทั้งหมด 9 ตำแหน่งรอบคัน รองรับการเล่นแผ่น CD/MP3 และ DVD ได้ สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth เพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นอย่าง Facebook, Twitter หรือแอพฟังเพลงอย่าง AHA และ Stitcher ได้ แต่บ้านเราอาจยังไม่ค่อยนิยมกันเท่าไหร่นัก รวมถึงระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Recognition และช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB
รุ่น 2.2 XDL ยังเป็นรุ่นเดียวที่ติดตั้งระบบนำทาง Navigator มาให้ในตัวอีกด้วย โดยอาศัยชุดแผนที่ที่บันทึกไว้บน SD Card
เลื่อนลงมาจะเป็นแผงควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone พร้อมที่กรองอากาศ ปรับอุณหภูมิแยกซ้าย-ขวาได้อย่างอิสระ สามารถปรับความละเอียดอุณหภูมิได้ครั้งละ 0.5 องศาเซลเซียส ให้ความเย็นรวดเร็วทันใจดี
จุดเด่นที่เพิ่มขึ้นมาจากรุ่นก่อนนอกเหนือจากปุ่ม Center Commander บริเวณคันเกียร์ ก็คือ สวิตช์เบรกมือแบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้น สามารถปลดเบรกได้อัตโนมัติในกรณีที่เหยียบคันเร่งเพื่อต้องการไปต่อ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีฟังก์ชั่นเหยียบเบรกค้างอัตโนมัติขณะติดไฟแดงมาให้
นอกจากนั้น หากเป็นรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร จะมีสวิตช์ปรับโหมดการขับขี่ Drive Selection สำหรับเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ตมาให้ด้วย
เบาะนั่งของรุ่น 2.2 XDL หุ้มด้วยวัสดุหนัง สามารถปรับไฟฟ้าฝั่งคนขับได้ 8 ทิศทาง พร้อมระบบดันหลังไฟฟ้า มีเมมโมรี่ให้ 2 ตำแหน่ง ขณะที่เบาะฝั่งผู้โดยสารสามารถปรับไฟฟ้าได้ 4 ทิศทาง ตัวเบาะคู่หน้าออกแบบให้กระชับกับสรีระ สมกับคาแรคเตอร์สปอร์ตซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของค่ายมาสด้า แต่ก็ไม่ถึงกับอึดอัดแต่อย่างใด
เบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับพับแยกได้ 3 ส่วนแบบ 40:20:20 ติดตั้งพนักพิงศีรษะสามารถปรับระดับความสูงได้ทั้ง 3 ตำแหน่ง พื้นที่ห้องโดยสารตอนหลังกว้างขวางเหลือเฟือ ไม่อึดอัด ทั้งพื้นที่วางขาและเหนือศีรษะ
ฝั่งคนขับติดตั้งพวงมาลัยหุ้มหนังดีไซน์สปอร์ต ตกแต่งด้วยสีเงินซาตินโครม วางปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและรับสายโทรศัพท์ไว้ด้านซ้าย พร้อมปุ่มควบคุมหน้าจอ MID ส่วนปุ่มควบคุมระบบ Cruise Control ถูกวางไว้ด้านขวามือ
มาตรวัดความเร็วเป็นแบบ 3 ช่อง ถูกออกแบบให้มีพื้นหลังสีดำ ตัวหนังสือสีขาว จัดวางได้เรียบร้อยสวยงาม อ่านง่าย ติดตั้งหน้าจอ MID ไว้ด้านขวามือสำหรับแสดงข้อมูลการขับขี่
ส่วนระบบอำนวยความสะดวกสบายอื่นๆ ก็มีมาให้พร้อมสรรพ ได้แก่ ไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ, ที่ปัดน้ำมันกระจกหน้าอัตโนมัติ, กุญแจรีโมทอัจฉริยะ ทำงานคู่กับปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ สามารถเข้า-ออกตัวรถได้โดยไม่ต้องนำกุญแจออกจากกระเป๋า
ติดตั้งกระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ กระจกส่องหน้าคู่หน้าแบบมีฝาปิด พร้อมไฟส่องสว่าง ติดตั้งไฟอ่านแผนที่บริเวณเหนือศีรษะ พร้อมช่องเก็บแว่นตา บริเวณด้านข้างตัวเบาะติดตั้งกล่องเก็บของที่สามารถใช้เป็นที่วางแขนได้อย่างเหมาะเจาะ ด้านในติดตั้งถาดวางของขนาดเล็ก เหมาะสำหรับวางสิ่งของอย่างกุญแจบ้าน, ลิปสติก ฯลฯ มีช่องวางขวดน้ำบริเวณข้างประตูให้ทั้งด้านหน้าและหลัง รวมถึงบริเวณคอนโซลกลางและพนักวางแขนสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง
Mazda CX-5 2.2 XDL ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ความจุ 2.2 ลิตร DOHC แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมวาล์วไอเสียแปรผันอัจฉริยะ VVL และเทอร์โบชาร์จเจอร์แบบ 2 ขั้น ให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SKYACTIV-DRIVE สามารถปรับเป็นโหมดเกียร์ธรรมดาได้ และเป็นรุ่นเดียวที่ให้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ AWD นอกนั้นจะเป็นแบบขับเคลื่อน 2 ล้อทั้งหมด
ทั้งนี้ มาสด้าได้เคลมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ไว้ที่ 17.5 กม./ลิตร ซึ่งดีที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน รวมถึงปล่อยค่าไอเสีย CO2 อยู่ที่ 150 กรัมต่อกิโลเมตร
ทุกรุ่นมาพร้อมระบบช่วยประหยัดน้ำมัน i-stop ที่ช่วยสั่งดับเครื่องยนต์ชั่วคราวขณะจอดติดไฟแดง ซึ่งระหว่างนี้ระบบปรับอากาศจะยังคงทำงานอยู่ แต่ตัวคอมเพรสเซอร์จะหยุดทำงานตามเครื่องยนต์ อาจทำให้ความเย็นลดลงไป แต่หากความเย็นลดลงไปเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ตัวรถตั้งไว้ เครื่องยนต์จะติดขึ้นเองเพื่อช่วยให้ห้องโดยสารกลับมาเย็นเหมือนเดิม
ส่วนระบบความปลอดภัยถือว่าเป็นไฮไลท์ของ CX-5 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะถือเป็นรถที่มีระบบความปลอดภัยระดับสูง i-ACTIVSENSE มากที่สุดของมาสด้าที่มีจำหน่ายทั้งหมดในขณะนี้
CX-5 ทุกรุ่นย่อยติดตั้งถุงลมนิรภัยรอบคัน 6 ใบ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ได้แก่ คู่หน้า, ด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย ติดตั้งระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบเตือนแรงดันลมยาง TPMS, กล้องมองภาพด้านหลัง ฯลฯ
ขณะที่ตัวท็อป 2.2 XDL ที่เราทดสอบขับถือเป็นรุ่นที่มีระบบความปลอดภัย i-ACTIVSENSE มาให้มากที่สุด ประกอบด้วย
- ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ (Adaptive LED Headlamps)
- ระบบเตือนเมื่อเบี่ยงออกนอกเลน (Lane Departure Warning System)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (Lane-keep Assist System)
- ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ (Smart City Brake Support)
- ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (Smart City Brake Support – Reverse)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Alert)
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Advanced Blind Spot Monitoring)
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert)
ซึ่งระบบความปลอดภัยที่ให้มาทั้งหมดนี้ แม้แต่รถยุโรปบางรุ่นก็ยังไม่มีมาให้ด้วยซ้ำ จึงถือเป็นจุดขายสำคัญของ CX-5 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย
เรามาเริ่มทดสอบกันเลยดีกว่า
การทดสอบครั้งนี้ คันเรามีผู้โดยสารรวมผู้เขียนทั้งหมด 4 คน พร้อมแบกสัมภาระไว้เต็มท้ายรถ แต่อัตราเร่งของ CX-5 เครื่องยนต์ดีเซลก็ยังตอบสนองได้ดีเกินคาด แรงบิดกว่า 420 นิวตัน-เมตร สามารถพาตัวรถพุ่งทะยานออกจากสัญญาณไฟจราจรได้อย่างรวดเร็วทันใจ พละกำลังมีให้อย่างเหลือเฟือ ดังนั้น หากใครชอบท่องเที่ยวพักผ่อนขึ้นเขาลงห้วยต่างจังหวัดกับครอบครัว รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลน่าจะเหมาะกว่า
ในจังหวะที่วิ่งบนถนนหลวงด้วยความเร็ว สิ่งที่สัมผัสได้อีกอย่างก็คือการทำงานของระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS – Lane-keep Assist System เนื่องจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบริเวณกระจกหน้ารถ จะคอยตรวจจับเส้นถนน เพื่อช่วยประคองพวงมาลัยให้ผู้ขับขี่วิ่งอยู่ในเลนของตัวเองไปได้เรื่อยๆ หากมีการเบี่ยงออกจนเกือบจะเหยียบเส้นจราจรฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ตัวพวงมาลัยก็จะมีการฝืนเบาๆในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อช่วยให้รถกลับมาอยู่ในเลนได้
แต่หากผู้ขับขี่ยังคงมีการฝืนพวงมาลัยต่อไปจนล้อไปเหยียบเส้นแบ่งจราจร ตัวระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน LDWS – Lane Departure Warning System ก็จะมีการสั่นที่พวงมาลัยเพื่อเป็นการเตือนว่ากำลังออกนอกเลนแล้ว
หากมีการเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว ระบบต่างๆดังกล่าวจะไม่ทำงาน เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนเลนโดยตั้งใจนั่นเอง ซึ่งระบบเหล่านี้ช่วยในเรื่องการขับรถทางไกลได้เป็นอย่างดี บางคนการมีอาการเหนื่อยล้า ง่วงซึม ตัวระบบก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่อย่างไรก็ดี ระบบยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เส้นจราจรจำเป็นต้องเห็นได้อย่างชัดเจน ถนนบางช่วงที่เส้นแบ่งเลนเลือนลางมาก ตัวรถก็จะไม่สามารถตรวจจับได้
ขณะที่ช่วงล่างถูกปรับปรุงให้ดูดซับแรงสะเทือนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวทางการพัฒนาช่วงล่างของมาสด้ารุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยให้สามารถโดยสารได้สบายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงความหนึบ เกาะถนน ตามสไตล์มาสด้าได้เป็นอย่างดี ถือเป็นเอสยูวีที่มีช่วงล่างดีที่สุดในตลาดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ช่วงค่ำๆของการทดสอบ เรายังได้มีโอกาสทดลองระบบไฟหน้า ALH – Adaptive LED Headlamps กันเล็กน้อย ซึ่งระบบที่ว่านี้จะช่วยปรับการทำงานของไฟหน้าแบบแอลอีดีตามสภาพการจราจร ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับไฟสูง-ต่ำให้อัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังมีระบบไฟสูงที่สามารถหลีกป้องกันไม่ให้แยงตาคนคันข้างหน้า หรือคันที่สวนมาได้ เท่ากับว่าผู้ขับขี่สามารถเปิดไฟสูงค้างไว้ตลอดเวลาได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะแยงตารถคันอื่นแต่อย่างใด
สรุป Mazda CX-5 2.2 XDL ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ยังคงคุณงามความดีไว้ตามสไตล์มาสด้าทุกประการ ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลที่แรงบิดดี อัตราเร่งเยี่ยม ขับขี่ทางไกลสบาย ช่วงล่างปรับปรุงให้ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น แต่ยังคงเกาะถนน เพิ่มฟังก์ชั่นความปลอดภัยเทียบชั้นรถยุโรป แม้ว่าจะต้องยอมแลกกับค่าตัวเฉียด 1.7 ล้านบาท แต่หากพิจารณาดีๆ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับอ็อพชั่นที่มาเต็มขนาดนี้ เหมาะสำหรับการใช้งานแบบครอบครัว หรือจะใช้คนเดียวก็ไม่เทอะทะ ถ้างบถึงก็จัดไปได้เลยครับ
ราคาจำหน่าย Mazda CX-5 2.2 XDL อยู่ที่ 1,690,000 บาท
ขอขอบคุณผู้บริหารและทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ