รีวิว Thairung Transformer II ใหม่ ฮีโร่พันธุ์ไทย ดีขึ้นกว่าที่เคย

รีวิว Thairung Transformer II ใหม่ ฮีโร่พันธุ์ไทย ดีขึ้นกว่าที่เคย

รีวิว Thairung Transformer II ใหม่ ฮีโร่พันธุ์ไทย ดีขึ้นกว่าที่เคย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ก่อนหน้านี้เราเคยนำเสนอบททดสอบรถตรวจการณ์สัญชาติไทย TR Transformer โฉมแรกกันไปแล้ว ปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด จนทำให้กลายเป็นรีวิวที่มียอดวิวสูงที่สุดของ Sanook! Auto เลยทีเดียว

     มาวันนี้เราเลยไม่พลาดที่จะร่วมทดสอบ TR Transformer II โฉมใหม่ล่าสุด ที่ไม่เพียงปรับปรุงหน้าตาให้ดูหล่อเหล่าขึ้นเท่านั้น แต่ยังขับดีขึ้น น่าใช้ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

     TR Transformer II ใหม่ ถูกเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยมากขึ้น ชูไฮไลท์ตัวถังสีเหลือง-แดงดูคล้ายกับซูเปอร์ฮีโร่ 'ไอรอนแมน' ทำให้ ทรานฟอร์เมอร์ ทู กลายเป็นที่จดจำนับตั้งแต่นั้นมา

     TR Transformer II ใหม่ ยังคงใช้โครงสร้างตัวถังเดิมแบบเดียวกับรุ่นแรก แต่มีการปรับดีไซน์ด้านหน้า-ท้ายให้ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น ขณะที่หัวใจสำคัญก็คือเครื่องยนต์และแชสซีส์ ถูกยกมาจาก โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ใหม่ จากเดิมที่ยกมาจากวีโก้ ดังนั้น บุคลิกการขับขี่ของ Transformer II จึงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยพละกำลังที่เพิ่มขึ้น และช่วงล่างที่เหมาะกับการโดยสารมากขึ้นด้วย

 

     ปัจจุบัน TR Transformer II มีวางจำหน่ายทั้งหมด 3 โมเดล 6 รุ่นย่อย โดยแบ่งออกเป็น รุ่น 5 ที่นั่ง, รุ่น Max 9 ที่นั่งหลังคาสูง และรุ่น Maxi 11 ที่นั่งหลังคาสูง ซึ่งแต่ละโมเดลจะมีเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือก 2 ขนาด ได้แก่ 2.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ พร้อมระบบขับเคลื่อนสองล้อ 2WD และ 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4WD

     หากพูดง่ายๆ คือ รุ่นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร จะมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ และระบบขับเคลื่อนสองล้อเท่านั้น ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ก็จะมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นอีกเหมือนกัน ขุมพลังทั้ง 2 แบบมีให้เลือกในทั้ง 3 โมเดล ขึ้นกับความต้องการใช้งานของแต่ละคน ว่าเน้นการโดยสารมากน้อยขนาดไหน

 

     โดยคันที่เราได้รับกุญแจในครั้งนี้ ถือเป็นไฮไลท์ของขบวนทดสอบเลยก็ว่าได้ เพราะมันคือ TR Transformer II รุ่น 5 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ที่โดดเด่นด้วยสีภายนอกแบบไอรอนแมน เล่นเอาคนเดินผ่านไปผ่านมาต้องหันมองควับกันเป็นแถว

     ก่อนจะเริ่มขับทดสอบกัน เรามาดูก่อนว่า TR Transformer II รุ่น 5 ที่นั่ง จะมีฟีเจอร์อะไรใหม่ๆ มาให้บ้าง

 

     ภายนอกติดตั้งไฟหน้าโปรเจคเตอร์ดีไซน์ใหม่แบบ Bi-Xenon ที่สามารถสลับไฟสูง-ต่ำได้ด้วยชุดโคมเดียวกัน พร้อม Daytime Running Light และไฟเลี้ยวแบบ LED ที่ติดตั้งไว้ในชุดเดียวกัน อีกทั้งยังมีเซ็นเซอร์ควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติตามสภาพแสงภายนอกด้วย

     กระจังหน้าถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่ พร้อมตะแกรงซี่แนวนอน ติดตั้งไฟตัดหมอกบริเวณกันชนหน้า ซึ่งตัวกันชนถูกออกแบบให้มีส่วนปลายเชิดขึ้น จากเดิมที่เป็นกันชนทรงยาวปกติ

 

     ตัวถังด้านข้างยังคงยกมาจากรุ่นเดิม ซึ่งมีดีไซน์ตามฉบับคลาสสิก เน้นความเหลี่ยมสัน บึกบึน โป่งล้อนูนออกมาชัดเจน ติดตั้งกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวในตัว สามารถปรับ-พับด้วยไฟฟ้า ขณะที่ด้านท้ายยังคงดีไซน์เดิมไว้เช่นกัน แต่มีจุดต่างบริเวณปลายกันชน ที่ออกแบบให้ส่วนปลายมีลักษณะเชิดขึ้นขึ้นเช่นเดียวกับด้านหน้า  ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว

     ในรุ่น 5 ที่นั่ง จะมาพร้อมประตูท้ายแบบเปิดออกข้างขนาดใหญ่ พร้อมติดตั้งล้ออะไหล่ไว้กับประตูท้าย ทำให้สามารถเปิดบานประตูได้ในจังหวะเดียว ไม่ต้องมาคอยเปิดทีละส่วนเหมือนกับรถโฟร์วีลสมัยก่อน ที่ติดตั้งล้ออะไหล่ไว้แยกกับบานประตู

 

     ซึ่งการติดตั้งล้ออะไหล่เอาไว้บนประตูท้ายนั้น ยุคนี้หลายคนคงมองว่าเชย ไม่ทันสมัย แต่สำหรับดีไซน์ของทรานฟอร์เมอร์ ทู ที่เน้นรูปทรงเหลี่ยมสันสไตล์คลาสสิก กลับดูเข้ากันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเป็นล้อสีเหลือง ตัดกับตัวถังรถสีแดง ที่เราได้ขับกันในครั้งนี้

     เหนือฝาประตูท้ายติดตั้งกล้องมองหลังสำหรับแสดงภาพด้านท้ายขณะเข้าเกียร์ถอยหลัง ซึ่งล้ออะไหล่ที่ว่าอาจบดบังทัศนวิสัยของตัวกล้องไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นปัญหาแต่อย่างใด ทุกรุ่นมาพร้อมกุญแจรีโมทแบบพับได้ พร้อมระบบ Immobilizer ป้องกันกุญแจผีมาให้

 

     ห้องโดยสารภายในยกแผงคอนโซลมาจากรีโว่ทั้งหมด ซึ่งปุ่มควบคุมต่างๆถูกจัดวางให้ใช้งานง่ายตามสไตล์โตโยต้า ติดตั้งหน้าจอเครื่องเสียงระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมระบบนำทาง รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth รวมถึงมีพอร์ต USB/AUX ให้อย่างละ 1 ช่อง รวมถึงใช้แสดงภาพจากกล้องมองหลังเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง ซึ่งหน้าตาการทำงานของระบบเครื่องเสียงเหมือนกันกับรีโว่เป๊ะไม่ผิดเพี้ยน

     ขยับลงมาเป็นสวิตช์ควบคุมเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ สามารถปรับอุณหภูมิขึ้นลงได้ทีละ 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งความเย็นเรียกว่าหายห่วง เพราะยกระบบทำความเย็นมาจากโตโยต้าทั้งหมด

 

     ระบบทำความเย็นด้านหลังของรุ่น 5 ที่นั่ง จะอยู่บริเวณห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป่าไอเย็นเข้าสู่ผู้โดยสารโดยตรง แต่ก็ช่วยให้ห้องโดยสารด้านหลังเย็นลงอย่างชัดเจน ข้างกันเป็นช่องจ่ายกระแสไฟขนาด 12 โวลต์อีก 1 ตำแหน่ง ขณะที่ระบบแอร์เพดาน จะมีเฉพาะรุ่น Max 9 ที่นั่ง และ Maxi 11 ที่นั่งเท่านั้น

     ใต้แผงคอนโซลติดตั้งช่องจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์จำนวน 2 ช่อง พอร์ต USB สำหรับระบบเครื่องเสียง 1 ช่อง และปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง มาพร้อมที่วางแก้วให้ 2 ตำแหน่ง

 

     คันเกียร์ถูกยกมาจากรีโว่เช่นกัน โดยในรุ่นเกียร์อัตโนมัติจะมีปุ่มเลือกโหมด ECO และ PWR มาให้ด้วย เช่นเดียวกับรุ่นเกียร์ธรรมดาที่มีระบบ iMT มาให้ด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยปรับรอบให้สัมพันธ์กับตำแหน่งเกียร์ขณะโยกคันเกียร์โดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดอาการกระตุกที่อาจเกิดขึ้นขณะเปลี่ยนเกียร์ธรรมดา โดยเฉพาะกับมือใหม่ที่ยังขับเกียร์ธรรมดาไม่คล่อง

     ฝั่งผู้ขับติดตั้งพวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ที่ยังคงปะโลโก้สามห่วงของโตโยต้าไว้ ติดตั้งปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และปุ่มควบคุมหน้าจอ MID ขนาด 4.2 นิ้ว ที่ติดตั้งรวมไว้กับชุดมาตรวัดความเร็วแบบเรืองแสง บริเวณเสาเอคู่หน้าติดตั้งมือจับมาให้ เช่นเดียวกับมือจับบริเวณเสากลาง สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง เพื่อให้การขึ้น-ลงสะดวกขึ้น

 

     เหนือศีรษะติดตั้งไฟส่องแผนที่ พร้อมกล่องเก็บแว่นตามาให้ ขณะที่แผงคอนโซลด้านหน้าฝั่งผู้โดยสาร ยังมีกล่องเก็บความเย็น ที่ดึงเอาไอเย็นจากระบบแอร์มาไหลเวียน เหมาะสำหรับการแช่เครื่องดื่มให้เย็นอยู่ตลอดเวลา

     เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบปรับมือ เบาะแถวที่ 2 สามารถปรับเอนได้ รวมถึงสามารถปรับพับเรียบได้ สำหรับการขนสัมภาระขนาดใหญ่

 

     ห้องโดยสารของ Transformer II รุ่น 5 ที่นั่ง ถือว่ากว้างขวางมากแม้ว่าจะไม่ใช้รุ่นหลังคาสูงแบบตัว 9 ที่นั่งหรือ 11 ที่นั่ง ด้วยการออกแบบภายนอกรูปทรงเหลี่ยม จึงทำให้พื้นที่ภายในเยอะเป็นพิเศษโดยเฉพาะพื้นที่เหนือศีรษะ ที่กว้างชนิดที่ว่าต้องยื่นมือกันเกือบสุดแขนเพื่อเปิดที่บังแดด หรือจับราวเหนือศีรษะ เป็นต้น

 

     อย่างที่กล่าวไปว่าขุมพลังของ Transformer II ยกมาจาก ไฮลักซ์ รีโว่ ทั้งหมด โดยคันที่เราขับเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.4 ลิตร DOHC VN Turbo และ Intercooler ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อนแบบ 2WD

     ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร DOHC VN Turbo และ Intercooler ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 – 2,400 รอบต่อนาที มีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา 6 สปีด พร้อมระบบ iMT พ่วงด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4WD

 

     ด้านระบบความปลอดภัยก็ถูกยกมาจากรีโว่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วยฝั่งคนขับ ฝั่งผู้โดยสาร และถุงลมช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าฝั่งคนขับ ติดตั้งระบบเบรก ABS รวมถึงไฟตัดหมอกครบทั้งด้านหน้าและหลัง

     แม้ว่าภายนอกแล้ว Transformer II จะดูเหมือนเป็นการปรับไมเนอร์เชนจ์ เพราะยังคงใช้ตัวถังร่วมกับรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ด้านโครงสร้างวิศวกรรมถือว่าปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะถูกยกเอาเครื่องยนต์และแชสซีส์มาจากรีโว่ใหม่ทั้งหมด จึงเรียกได้ว่าเป็นรถรุ่นใหม่ ที่ถูกครอบเอาไว้ด้วยตัวถังเดิม แต่มีการปรับรูปลักษณ์หน้าตาให้ดูทันสมัยขึ้นตามสมัยนิยม

 

     เส้นทางที่เราใช้ทดสอบในครั้งนี้ คือ กรุงเทพฯ – จันทบุรี – ระยอง รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 300 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นอยูที่โชว์รูมไทยรุ่ง สาขาบางนา กม.6.5 แห่งล่าสุดของไทยรุ่งนั่นเอง

     ผลจากการยกแชสซีส์และเครื่องยนต์มาจากรีโว่นั้น ทำให้ฟีลลิ่งการขับขี่ของ Transformer II เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเครื่องยนต์ที่แรงขึ้น และช่วงล่างที่นุ่มนวลขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

     อัตราเร่งของ Transformer II ใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ด้วยแรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที ทำให้ตัวรถมีบุคลิกกระฉับกระเฉงขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน คันเร่งที่ให้ความรู้สึกเบาเท้าขึ้น ไม่ต้องเค้นกันหนักหน่วงเหมือนแต่ก่อน

 

     ขณะที่พวงมาลัยให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น รอบวงพวงมาลัยจับได้กระชับมือ แต่ต้องยอมรับว่าการใช้งานในเมืองอาจไม่คล่องแคล่วอย่างที่คิด ด้วยตัวถังที่มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักที่มากกว่ารีโว่อย่างชัดเจน หากจะมุดไปตามการจราจรก็คงต้องอาศัยความแม่นยำในการกะระยะเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นปัญหาแต่อย่างใดนะครับ เพียงแต่คงต้องขับขี่จนชินไปสักระยะ ขณะที่การขับขี่ทางไกลถือว่าหายห่วง เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้ขับขี่ได้อย่างมั่นใจเพิ่มขึ้นด้วย

     ช่วงล่างถูกปรับปรุงให้นุ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่งสบายมากขึ้น แต่สำหรับการโดยสารตอนหลังยังติดอาการกระด้างอยู่บ้างนิดหน่อยเมื่อผ่านพื้นผิวขรุขระ แต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมเยอะ

     อีกจุดหนึ่งคือการดีไซน์ตัวถังภายนอกให้มีลักษณะเหลี่ยมทั้งคัน รวมถึงกระจกบังลมหน้าที่ออกแบบให้ตั้งชัน ดังนั้นเมื่อใช้ความเร็วตั้งแต่ 100 กม./ชม.เป็นต้นไป จะเริ่มรู้สึกถึงอาการต้านลมให้เห็นบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงลมจากด้านหน้า และตัวรถที่มีอาการหน่วงๆ เวลาเจอลมพัดเข้ามาแรงๆ

 

     ขณะที่การไต่ความเร็วตั้งแต่ 100 กม./ชม.ขึ้นไป ทำได้ช้ากว่าที่คาดหวังสักเล็กน้อย แต่ก็ไหลไปเรื่อยๆจนสามารถแตะความเร็ว 140 กม./ชม. ได้ไม่ยากเย็นนัก ซึ่งหากใจรักดีไซน์ภายนอกลักษณะเช่นนี้ คงต้องยอมรับข้อจำกัดด้านอากาศพลศาสตร์ของตัวรถนี้ด้วยเช่นกัน

     การโดยสารเบาะหลังของ Transformer II ค่อนข้างสะดวกสบาย ด้วยพนักพิงที่สามารถปรับเอนได้ เหมาะสำหรับการเดินทางไกลๆ ตัวเบาะมีขนาดใหญ่ รองรับผู้โดยสาร 3 คนได้อย่างสบายๆ ขณะที่ช่วงล่างจะมีอาการแข็งให้รู้สึกบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่ากังวลแต่อย่างใด ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับ SUV/PPV หลายรุ่นในตลาดขณะนี้

 

     ขณะที่ขากลับนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสลองขับรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 5 ที่นั่ง เกียร์ธรรมดา ก็พบว่าเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า ประกอบกับเกียร์แบบแมนนวล 6 สปีด ช่วยให้ตัวรถดูกระฉับกระเฉงขึ้นไปอีก อัตราเร่งจัดจ้านกว่าเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร เกียร์ออโต้อย่างชัดเจน รวมถึงอัตราทดที่มีถึง 6 จังหวะ ช่วยให้การขับขี่ด้วยความเร็วสูงนั้น ไม่ต้องเค้นรอบจัดเหมือนสมัยก่อน

     ดังนั้น ถ้าใครคาดหวังด้านสมรรถนะที่จัดจ้าน ขอแนะนำรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา เป็นตัวเลือกน่าจะเหมาะสมกว่า โดยยังคงอ็อพชั่นภายในเหมือนกับรุ่น 2.4 ลิตรแทบทุกประการ ต่างกันเพียงเครื่องยนต์, ระบบเกียร์ และระบบขับเคลื่อนแบบสี่ล้อเท่านั้น

 

     สรุป TR Transformer II ถูกปรับปรุงใหม่ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น เครื่องยนต์ที่แรงขึ้น และช่วงล่างที่นุ่มนวลกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มันกลายเป็นรถที่เหมาะกับการโดยสารมากขึ้นกว่ารุ่นแรก ขณะที่ดีไซน์ภายนอกก็ถูกปรับปรุงใหม่จนเรามองว่ามันหล่อเหลาเอาการทีเดียวล่ะ ยิ่งได้ตัวถังสีแดง-เหลืองอย่างคันที่เราขับแล้วล่ะก็ ผู้คนภายนอกต่างหันมามองเป็นสายตาเดียวกัน บางคนถึงกับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป จนกลายเป็นรถที่โดดเด่นที่สุดบนท้องถนนเลยก็ว่าได้


ราคาจำหน่าย TR Transformer II รุ่น 5 ที่นั่ง ใหม่ มีดังนี้

  • 2.4 2WD AT ราคา 1,465,000 บาท
  • 2.8 4WD MT ราคา 1,555,000 บาท

 

     ขอขอบคุณ ผู้บริหารและทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ให้ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ และคอยดูแลความสะดวกแก่ทีมงานเป็นอย่างดี

 

 

อัลบั้มภาพ 65 ภาพ

อัลบั้มภาพ 65 ภาพ ของ รีวิว Thairung Transformer II ใหม่ ฮีโร่พันธุ์ไทย ดีขึ้นกว่าที่เคย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook