รีวิว Volvo XC90 T8 Twin Engine AWD Momemtum เอสยูวีหรูขุมพลังไฮบริดเสียบปลั๊ก
ก่อนหน้านี้เราได้ปล่อยรีวิว Volvo XC90 D5 AWD Momentum เครื่องยนต์ดีเซลกันไปแล้ว ซึ่งก็ถือว่าทำได้น่าประทับใจสมการรอคอย
มาคราวนี้ก็ได้เวลาสำหรับขุมพลังระดับซิกเนเจอร์ของวอลโว่ยุคใหม่ เพราะมันคือเครื่องยนต์ปลั๊กอินไฮบริด T8 Twin Engine ที่ผสานเอาความแรงของเครื่องยนต์เบนซินพร้อมซุปเปอร์ชาร์จและเทอร์โบชาร์จ กับมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งทำให้เรายิ่งประทับใจกับรถคันนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
Volvo XC90 ใหม่ ยังคงมีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อยในตลาดบ้านเรา เริ่มต้นที่รุ่น D5 AWD Momentum ตามด้วย T8 Twin Engine Momentem และรุ่นท็อปสุดนั่นคือ T8 Twin Engine Inscription
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ XC90 ใหม่ ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย คือการนำเอารุ่น T8 Twin Engine Momentum ที่ประกอบในประเทศมาเลเซียเข้ามาจำหน่าย ทำให้สามารถปรับลดราคาจำหน่ายลงมาได้ถึง 900,000 บาท เมื่อเทียบกับตัวที่นำเข้ามาจากสวีเดน ฟังดูน่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี สำหรับรุ่น T8 Inscription ยังคงมีเฉพาะตัวนำเข้าจากสวีเดนเท่านั้น เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นยังคงต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์จากที่นู่น รวมถึงยังเป็นการคงเอกลักษณ์และคุณภาพการประกอบตามฉบับสวีเดนแท้ๆ สำหรับรุ่นท็อปสุดโดยเฉพาะ
ดีไซน์หลักๆของ XC90 T8 Momentum เหมือนกับรุ่น D5 Momentum ที่เราเคยทดสอบไปแทบทุกประการ จะต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่รุ่น T8 ไม่มีไฟตัดหมอกหน้ามาให้ แต่จะเป็นช่องเว้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไว้ใต้ท้องรถแทน และล้ออัลลอยสีเงินขนาด 19 นิ้ว ที่เลือกดีไซน์เป็นแบบ 6 ก้าน รวมถึงมีช่องฝาปิดสำหรับเสียบปลั๊กชาร์จไฟบริเวณเหนือซุ้มล้อซ้ายด้านหน้า ซึ่งเป็นจุดที่วอลโว่ระบุว่าปลอดภัยจากการชนมากที่สุด
ขุมพลังของรุ่น T8 Momentum ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังที่สุดของวอลโว่ขณะนี้ (ถ้าไม่นับรวม Polestar) โดยเป็นเครื่องยนต์เบนซินความจุ 2.0 ลิตร แถวเรียง 4 สูบ Drive-E มาพร้อมระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์และซุปเปอร์ชาร์จเจอร์ ให้กำลังสูงสุดเฉพาะเครื่องยนต์อยู่ที่ 320 แรงม้า ที่ 5,700 รอบต่อนาที ซึ่งจะใช้สำหรับขับเคลื่อนล้อคู่หน้า
ขณะที่พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 87 แรงม้า จะถูกใช้สำหรับขับเคลื่อนล้อคู่หลัง ดังนั้น Volvo XC90 T8 จะเป็นรถยนต์ที่ไม่มีเพลาขับกลางลำตัวเหมือนกับรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อทั่วไป เนื่องจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะแยกกันทำงานอย่างอิสระ ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้จะช่วยลดการสูญเสียกำลังลงได้ รวมถึงช่วยตัดทอนน้ำหนักลงได้ไม่น้อยทีเดียว
เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าเมื่อทำงานประสานกัน จะให้กำลังสูงสุด 407 แรงม้า แรงบิดสูงสุดถึง 640 นิวตัน-เมตร ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.0 ลิตร จะสามารถรีดกำลังออกมาได้มากมายมหาศาลถึงเพียงนี้ จากการที่มีระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วย
กำลังเครื่องยนต์จะถูกถ่ายทอดไปยังล้อผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ 8 สปีด ที่เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล ฉับไว โดยวอลโว่เคลมว่ารถคันนี้สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลาเพียง 5.6 วินาที ก่อนแตะความเร็วสูงสุดที่ 230 กม./ชม. ถือเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจมากสำหรับเอสยูวีล้อโตที่มีน้ำหนักเกือบ 2 ตันครึ่ง!
อย่างที่บอกไปว่าขุมพลัง T8 บล็อกนี้เป็นแบบ Plug-in Hybrid ดังนั้นแบตเตอรี่จึงมีขนาดใหญ่กว่ารถไฮบริดทั่วไป ทำให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนได้เป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตรโดยไม่ปล่อยมลพิษแม้แต่นิดเดียว ซึ่งแม้ว่าการใช้งานจริงอาจไม่ได้อย่างที่เคลมไว้ แต่ก็ช่วยให้ประหยัดน้ำมันไปได้ในระดับหนึ่งหากชาร์จไฟจนเต็มก่อนออกจากบ้าน
ทั้งนี้ XC90 T8 ยังเคลมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไว้ที่ 43.5 กม./ลิตร เทียบกับรุ่นดีเซล D5 ที่เคลมไว้ 15.4 กม./ลิตร
การตกแต่งและอ็อพชั่นของรุ่น T8 Momentum จะใกล้เคียงกับรุ่น D5 Momentun เช่นกัน โดยภายนอกมาพร้อมไฟหน้าแบบ Full-LED พร้อมระบบปรับสูง-ต่ำอัตโนมัติ สามารถหักเหตามการเข้าโค้ง รวมถึงมีระบบเปิด-ปิดสูง พร้อมปรับมุมส่องสว่างเพื่อไม่ให้แยงสายตารถคันอื่น (Active High Beam Control)
ด้านหน้าของ XC90 T8 Momentum โดดเด่นด้วยไฟ Daytime Running Light แบบ LED ที่มีดีไซน์แบบ ‘ค้อนเทพเจ้าธอร์’ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไฟเลี้ยวสีล้มได้ในตัว ขณะที่ด้านท้ายติดตั้งไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน ให้ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของวอลโว่เมื่อขับขี่ยามค่ำคืน
ห้องโดยสารภายในตกแต่งด้วยสีเบจ Amber เบาะนั่งและแผงประตูหุ้มด้วยหนัง Nappa เช่นเดียวกับรุ่น D5 Momemtum ที่เราทดสอบไปก่อนหน้านี้ โดยมีจุดเด่นเฉพาะรุ่น T8 นั่นคือหัวเกียร์ที่ทำมาจากคริสตัล Orrefors ซึ่งเป็นแบรนด์สัญชาติสวีเดน ซึ่งเกียร์ที่ว่านี้มีลักษณะคล้ายจอยสติ๊ก คือจะเด้งกลับมาอยู่ตำแหน่งเดิมทุกครั้งที่เปลี่ยนเกียร์
บริเวณคอนโซลกลางติดตั้งหน้าจอระบบ Sensus แบบสัมผัสขนาด 9 นิ้ว ซึ่งรวบรวมเอาฟังก์ชั่นการทำงานระบบต่างๆเอาไว้ทั้งหมด แบ่งการทำงานของตัวรถแบ่งเป็นหมวดหมู่ สามารถใช้นิ้วเลื่อนสลับหน้าจอไปมาได้ง่ายแบบเดียวกับแท็บเล็ต โดยส่วนล่างของหน้าจอติดตั้งปุ่มโฮมไว้สำหรับกลับมายังเมนูหน้าแรก ไม่ว่าขณะนั้นจะอยู่บนหน้าจอใดก็ตาม
XC90 T8 Momentum มาพร้อมระบบนำทางในตัว ซึ่งการใช้งานคล้ายกับที่พบในกูเกิ้ลแม็พ คือสามารถใช้นิ้ว 2 นิ้ว ในการซูมเข้า-ออกเพื่อดูสถานที่ในแผนที่ได้เลย ซึ่งการใช้งานระบบนำทางอาจต้องอาศัยความเคยชินนิดหน่อย เพื่อให้สามารถค้นหาจุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ฝั่งผู้ขับติดตั้งมาตรวัดความเร็วแบบจอสีขนาด 12.3 นิ้ว ซึ่งหน้าจอนี้ไม่สามารถใช้ระบบสัมผัสได้ แต่จะใช้วิธีเรียกดูข้อมูลการขับขี่ต่างๆ ผ่านปุ่มบริเวณพวงมาลัย โดยยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลได้ ซึ่งที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแบบ Sport ที่ตกแต่งด้วยโทนสีแดง
เหนือเพดานจะพบกับหลังคาแบบพาโนรามิคซันรูฟระบบไฟฟ้า ซึ่งสามารถเปิดได้กว้าง ช่วยให้ห้องโดยสารภายในดูปลอดโปร่งขึ้น ส่วนใครกังวลว่าจะทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้ามาหรือไม่นั้น จากที่เราทดสอบพบว่ามีไอร้อนเข้ามามากกว่าหลังคาแบบปกติอยู่เล็กน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับจะทำให้รู้สึกร้อนแต่อย่างใด หากกังวลจริงๆ ก็สามารถติดฟิล์มกรองแสงได้ ไม่น่ากังวลตรงจุดนี้
ติดตั้งระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ 4-zone แยกการทำงานทั้งซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง เบาะนั่งคู่หน้าสามารถปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมเมมโมรี่จำนวน 3 จุด รวมถึงมีระบบ Lumbar Support ปรับด้วยไฟฟ้าทั้งฝั่งซ้ายและขวามาให้ ตัวเบาะรองก้นยังสามารถยื่นออกไปข้างหน้าเพื่อให้รองรับกับต้นขาของแต่ละคนได้
ในรุ่น XC90 T8 Momentum ติดตั้งเครื่องเสียงแบบ High Performance Sound ให้กำลังขับสูงสุด 330 วัตต์พร้อมแอมปลิไฟเออร์ และลำโพงทั้งหมด 10 จุดรอบคัน สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth ได้ รวมถึงมีพอร์ด USB และ AUX มาให้ อีกทั้งยังรองรับระบบ Apple CarPlay ได้ด้วย
แต่หากเป็นรุ่น T8 Inscription ก็จะได้เครื่องเสียงจาก Bowers & Wilkins ที่ให้กำลังขับสูงถึง 1,400 วัตต์ ผ่านลำโพงและซับวูฟเฟอร์ทั้งหมด 19 ตัว รวมถึงมีระบบ Dirac Dimensions สำหรับจำลองเสียงแบบ 3 มิติ และ Dirac Live ที่ช่วยจำลองเสียงแบบคอนเสิร์ตได้
บริเวณใกล้กับหัวเกียร์ยังมีปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ออกแบบให้มีผิวสัมผัสลายเจียระไนของเพชร สามารถสั่งสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยการหมุนไปทางขวาค้างไว้ (กุญแจจำเป็นต้องอยู่ภายในรถ) ใกล้กันเป็นปุ่ม Drive Mode ที่สามารถปรับการทำงานของระบบขับเคลื่อนได้ 6 รูปแบบ ได้แก่
HYBRID – โหมดนี้เป็นโหมดเริ่มต้น ซึ่งรถจะทำงานด้วยระบบไฮบริดนี้ทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องยนต์ โดยจะเครื่องยนต์จะทำงานคู่กันกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้ประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุด
PURE – เน้นการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยการขับขี่ในโหมดนี้จะถือว่าเงียบสนิท เนื่องจากไม่มีการทำงานของเครื่องยนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง (แต่หากเติมคันเร่งลงไปในลักษณะคิกดาวน์ ระบบจะสั่งให้เครื่องยนต์ติดเพื่อเสริมกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ในกรณีที่ต้องการเร่งแซงหรืออยู่ในภาวะคับขัน)
ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าในโหมด Pure จะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กม./ชม. สามารถเร่งความเร็วจาก 0-120 กม./ชม. ได้โดยไม่ต้องพึ่งพากำลังจากเครื่องยนต์เลยแม้แต่น้อย ซึ่งความเร็วจริงที่ทดสอบพบว่า ระบบจะทำงานได้ถึง 125 กม./ชม. ตามการแสดงผลบนมาตรวัดความเร็ว
POWER – โหมดนี้ถูกออกแบบมาสำหรับการขับขี่แบบสปอร์ตมากขึ้น โดยเครื่องยนต์จะทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อรีดกำลังให้ได้มากที่สุด โดยจะปรับการทำงานของพวงมาลัยและเบรกเป็นแบบไดนามิค เพื่อให้ตอบสนองการขับขี่ได้ดีขึ้น รวมถึงยังมีระบบ Active Sound Control ที่สร้างเสียงสังเคราะห์เพื่อให้เสียงเครื่องยนต์เร้าใจยิ่งขึ้นด้วย
AWD – โหมดนี้ใช้สำหรับการขับขี่บนถนนเปียกโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการกระจายแรงบิดไปยังล้อทั้งสี่อย่างเหมาะสม เพื่อให้รถเกาะถนนได้ดีที่สุด
OFF-ROAD – ใช้สำหรับการขับขี่บนทางออฟโรด โดยการเลือกโหมดนี้ ความเร็วตัวรถจะต้องไม่เกิน 20 กม./ชม. ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้ใช้ในกรณีที่ต้องปีนป่าย หรือขับบนทางโคลนเหลว เป็นต้น รวมถึงยังมีการกระจายแรงบิดระหว่างล้อหน้า-หลังแบบ 50:50 เพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคได้
ขณะที่ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน (Hill-Descent Control) จะทำงานตลอดเวลา เพื่อไม่ให้รถไหลด้วยความเร็วสูงจนเกินไป ดังนั้น เมื่อขับขี่ในโหมดนี้จะมีความรู้สึกสั่นที่แป้นเบรกเป็นระยะ เนื่องจากผ้าเบรกมีการจับตัวกันนั่นเอง
Individual – ผู้ขับขี่สามารถตั้งค่าการตอบสนองของพวงมาลัย, ระบบเบรก, ระบบบังคับเลี้ยวได้ด้วยตัวเอง
ด้านระบบความปลอดภัยเรียกว่าจัดมาเต็มสูบตามฉบับวอลโว่ ทั้งระบบป้องกันการชน City Safety ที่นอกจากจะตรวจจับรถยนต์ได้แล้ว ยังสามารถตรวจจับคนเดินถนน จักรยาน รวมถึงสัตว์ขนาดใหญ่ที่เดินข้ามถนน หากพบว่ามีโอกาสชน ระบบจะสั่งงานให้เบรกจนหยุดนิ่งโดยอัตโนมัติ
นอกจากนั้น ยังมีระบบ Collision Warning with Auto Brake ทั้งด้านหน้าและหลัง ซึ่งจะต่างจากระบบ City Safety ด้วยการทำงานที่ความเร็วสูงกว่านั่นเอง โดยระบบนี้จะช่วยลดความเร็วลงให้ได้มากที่สุดในกรณีที่มีความเสี่ยงการชนคันหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วที่ตัวรถพุ่งเข้าหาด้วย
ระบบควบคุมตัวรถให้อยู่ในเลน (Lane Keeping Aid) ที่จะช่วยประคองพวงมาลัยในกรณีที่รถกำลังจะออกนอกเลน ซึ่งพวงมาลัยจะมีแรงฝืนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้รถออกนอกเลน โดยจะทำงานควบคู่กับระบบ Lane Departure Warning เพื่อเตือนผู้ขับขี่ว่ากำลังจะออกจากเลนแล้วนะ
ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐาน (พื้นฐานของวอลโว่เค้าล่ะ) ก็มีให้เพียบพร้อม ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพแบบไดนามิคและอิเล็กทรอนิกส์ DSTC/ECS, ระบบป้องกันการโคลงของรถ RSC, ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้งด้วยแรงบิด, ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา BLIS, ระบบเตือนเมื่อรถวิ่งมาทางด้านข้างขณะถอยรถ CTA และอื่นๆอีกมากมาย
โดย XC90 T8 Momentum คันนี้ ติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้รอบคัน ทั้งคู่หน้า, ถุงลมหัวเข่าผู้ขับขี่, ถุงลมด้านข้าง, ม่านถุงลม แกนพวงมาลัยและแป้นเบรกสามารถยุบตัวได้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีจุดเด่นอยู่ที่ระบบ Run-Off Road Protection ที่ช่วยประสานการทำงานของระบบความปลอดภัยต่างๆ ในกรณีที่รถเกิดตกถนนจนอาจทำไปสู่อุบัติเหตุได้ เช่น เข็มขัดนิรภัยจะรัดผู้โดยสารเพื่อให้ร่างกายแนบอยู่กับตัวเบาะ พนักพิงเบาะจะยุบตัวลงเพื่อลดแรงกระแทกที่ส่งไปยังกระดูกสันหลัง เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นว่า Volvo ยังคงเน้นหนักในการพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของวอลโว่ที่ตั้งไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป จะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตในรถวอลโว่แม้แต่รายเดียว
การทดสอบครั้งนี้เรามุ่งหน้าออกจากสำนักงานใหญ่ของวอลโว่บริเวณคลองตัน เพื่อมุ่งหน้าไปยัง อ.บางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งถือว่าไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และยังเป็นเส้นทางที่เราคุ้นชินกันดี
หลังจากที่เราขึ้นมาบนรถ Volvo XC90 T8 Momentum คันนี้ เราสัมผัสได้ถึงห้องโดยสารที่ดูหรูหราแต่ยังคงไว้ซึ่งความเงียบง่ายตามสไตล์สแกนดิเนเวียน การตกแต่งภายในด้วยโทนสีเบจสลับลายไม้ ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สมกับที่เป็นรถใช้งานในครอบครัว
ปุ่มควบคุมต่างๆ ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ทุกปุ่มให้สัมผัสที่ดี ชักชวนให้กดใช้งาน แต่ด้วยฟังก์ชั่นที่มากมายของรถคันนี้ ทำให้เราต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ลูกค้าที่ซื้อไปใช้งานจนชินก็คงไม่เป็นปัญหา
เมื่อบิดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบไฮบริดจะสั่งให้มอเตอร์ไฟฟ้าเริ่มทำงานก่อน ดังนั้น หลังจากบิดปุ่มสตาร์ทปุ๊ป ทุกอย่างจะยังคงเงียบสนิท นอกจากเสียงลมที่ออกมาจากช่องแอร์เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการทำงานของรถแบบฟูลไฮบริดโดยทั่วไป
หลังจากที่ออกตัวมาแล้ว ระบบไฮบริดจะยังคงเน้นการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลักเช่นเดิม ถ้าเป็นการขับรถในเมือง เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องพึ่งพาระบบเครื่องยนต์เลย เนื่องจากระบบจะเลือกดึงเอาพลังงานจากแบตเตอรี่ออกมาใช้เสียก่อน
เมื่อเดินทางมาถึงทางด่วนช่วงที่พอจะทำความเร็วได้นั้น เราลองเติมคันเร่งลงไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ไปกระตุ้นให้เครื่องยนต์เริ่มทำงาน เพื่อเสริมแรงให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า สิ่งที่สัมผัสได้คือแรงดึงชนิดหลังติดเบาะ ด้วยแรงบิดสูงสุดของรถคันนี้ถึง 640 นิวตัน-เมตร จึงแปลว่ารถคันนี้จะมีเรี่ยวแรงให้เค้นอย่างเหลือเฟือทั้งการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง
เพียงอึดใจเดียวเราสามารถแตะความเร็วระดับ 120 กม./ชม.ได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย ซึ่งแม้ว่าคันของเราจะมีผู้โดยสารชายไทยจำนวน 3 คน พร้อมสัมภาระอีกเล็กน้อย แต่ก็ไม่ทำให้รถคันนี้เฉื่อยชาลงเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น หากใครกังวลว่ารถคันใหญ่อย่าง XC90 T8 คันนี้ จะมีอาการอุ้ยอ้ายให้เห็นบ้างหรือไม่นั้น เราบอกได้เลยว่ารถคันนี้มันแรงกว่ารถซีดานจากฝั่งยุโรปหลายรุ่นที่เราเคยสัมผัสกันมาเสียด้วยซ้ำไป
ในจังหวะที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานนั้น แน่นอนว่าเสียงจากเครื่องยนต์จะยังคงเงียบสนิท แต่ทันทีที่เครื่องยนต์ติดขึ้นจากการเหยียบคันเร่งลงไปอย่างหนัก ก็จะได้ยินเสียงคำรามของเครื่องยนต์เข้ามาให้ได้ยินอยู่เล็กน้อย
การขับขี่ที่ความเร็ว 120 กม./ชม.นั้น ตัวรถให้ความรู้สึกนิ่งและเสถียร จนนักข่าวอีกท่านที่นั่งมานั้น ยังแปลกใจกับความนิ่งของตัวรถ แม้จะใช้ความเร็วกันค่อนข้างสูงก็ตาม
ช่วงล่างของ XC90 ใหม่ ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่แข็งกระด้าง แต่ก็ไม่ถึงกับนิ่มนวล ในจุดที่สภาพถนนค่อนข้างขรุขระ จะรู้สึกถึงแรงสะเทือนเข้ามายังห้องโดยสารอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่า XC90 จะต้องมีช่วงล่างที่นุ่มนวลดุจปุยเมฆ เพราะมันยังไม่ใช่
ในทางกลับกัน ช่วงล่างของ XC90 ก็ให้ความมั่นใจที่ความเร็วสูง ซึ่งปกติรถเอสยูวีที่มีจุดศูนย์ถ่วงค่อนข่างสูงเช่นนี้ จะมีอาการโคลงให้เห็นได้ง่ายกว่ารถซีดานทั่วไป แต่สำหรับ XC90 ถือว่าสามารถเก็บอาการตัวรถขณะเข้าโค้งได้ดี อาการโคลงมีให้เห็นบ้าง แต่ก็น้อยกว่าเอสยูวีโดยทั่วไป ถือเป็นรถที่ให้ความสนุกสนานในการเล่นโค้งได้อยู่เหมือนกัน
บางจังหวะเราได้ลองใช้งานระบบ Adaptive Cruise Control ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นอ็อพชั่นที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราเสียเท่าไหร่ แต่ XC90 คันนี้ยังมีระบบ Pilot Assist ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในกรณีที่จราจรติดขัด ซึ่งระบบนี้จะทำการขับขี่ตามรถคันหน้าให้อัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกและคันเร่ง แถมยังไม่ต้องจับพวงมาลัยเลยก็ได้! ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำงานที่ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. และยังต้องอาศัยเส้นแบ่งจราจรบนถนน ดังนั้น ในช่วงที่เส้นถนนขาดหายไป ระบบนี้ Pilot Assist ก็จะตัดการทำงานโดยอัตโนมัติทันที พร้อมกับขึ้นสัญลักษณ์ที่หน้าจอเพื่อให้ผู้ขับขี่รีบจับพวงมาลัยเพื่อควบคุมรถแทน
เท่าที่เราทดสอบระบบดังกล่าว ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้มาก เพราะระบบนี้พอจะเรียกได้ว่าเป็น Autopilot เสียด้วยซ้ำไป หากเป็นการจราจรหนาแน่นบนทางด่วนในกรุงเทพตอนเช้าๆแล้วล่ะก็ ถือว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
แป้นเบรกของ XC90 T8 ที่แม้ว่าจะทำงานควบคู่ไปกับเจเนอเรเตอร์สำหรับปั่นกระแสไฟฟ้า แต่ก็ให้สัมผัสเท้าเช่นเดียวกับระบบเบรกปกติ ไม่มีจังหวะตัดต่อที่ให้ความรู้สึกเหมือนกดสวิตช์แบบรถไฮบริดจากฝั่งญี่ปุ่นหลายๆรุ่น ซึ่งระบบเบรกของวอลโว่ให้การ Linear ที่ดีมาก เบาเป็นเบา หนักเป็นหนัก ถือว่าไว้ใจได้ตามสไตล์วอลโว่
สรุป Volvo XC90 T8 Momentum ถือเป็นรถครอบครัวที่น่าใช้งานอีกรุ่น มาพร้อมขุมพลังปลั๊กอินไฮบริดที่ทำงานได้อย่างชาญฉลาด กำลังเครื่องยนต์แรงเหลือเฟือ ห้องโดยสารที่ตกแต่งได้อย่างหรูหรา ประณีต แต่ยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายตามฉบับสวีเดน รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูโดดเด่น น่าจะดูดีไปได้นานอีกหลายปี ถือเป็นรถที่เหมาะสำหรับซื้อไว้ประจำบ้าน เน้นขับไปทำงาน หรือรับ-ส่งลูกๆที่โรงเรียน วันหยุดก็ขับไปท่องเที่ยวพักผ่อนได้อย่างสบาย รวมถึงยังมีจุดเด่นที่ห้องโดยสารแบบ 7 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน
ราคาจำหน่าย Volvo XC90 Momentum ใหม่ อยู่ที่ 4,490,000 บาท
ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 31 ภาพ