กว่าจะเป็น 'โตโยต้า พรีอุส' ยนตรกรรมไฟฟ้าลูกผสมเปลี่ยนโลก
หากถามถึงรถยนต์ไฮบริดซักคัน เชื่อว่าใครหลายคนต้องนึกภาพ ‘Toyota Prius’ ขึ้นมาในหัว เพราะนี่คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าลูกผสมรุ่นแรกของโลก ที่ถูกวางจำหน่ายแบบ Mass Production ซึ่งใครก็สามารถซื้อหามาใช้งานได้ และยังได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว
ในครั้งนี้ Sanook! Auto ได้รับเกียรติเข้าร่วมงาน ‘2016 Toyota Technology Media Trip’ ไกลถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อสัมผัสเทคโนโลยีไฮบริดของโตโยต้า ที่ถือเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาต่อเนื่องมาจนกระทั่งได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งบอกได้เลยว่า ‘พรีอุส’ ไม่ได้มีดีแค่ประหยัดน้ำมันเท่านั้น แต่มันยังเป็นรถที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
โตโยต้า พรีอุส ถูกเปิดตัวและวางจำหน่ายในระดับแมสโปรดัคชั่นเมื่อปี 1997 ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก และยังถือเป็นช่วงลองผิดลองถูกเสียด้วยซ้ำไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีไฮบริดของโตโยต้าถูกเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1968 หรือเกือบ 50 ปีที่แล้ว ก่อนจะถูกพับโปรเจคไปในช่วงกลางยุค 80 ด้วยสารพัดเหตุผลที่ทำให้รถพลังงานไฟฟ้าลูกผสมยังไม่ได้เกิดในช่วงนั้น
ภายหลังจากนั้น โตโยต้าได้กลับมาวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังในปี 1992 ซึ่งไม่เพียงเฉพาะรถไฮบริดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) และรถพลังงานฟิวเซล (FCV) อีกต่างหาก ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าเต็มสูบของโตโยต้า เพื่อให้สามารถเริ่มวางจำหน่ายรถไฮบริดได้ และต้องอยู่ในระดับที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายด้วย
Toyota Prius เจเนอเรชั่นที่ 1
โตโยต้า พรีอุส รุ่นแรกมีรหัสในการพัฒนาว่า G21 โดยผู้บริหารของโตโยต้าในขณะนั้น ตั้งเป้าหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.จะต้องสร้างรถสำหรับศตวรรษที่ 21 และ 2.จะต้องเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้ต่างออกไปจากเดิม
เมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวได้รับโจทย์นั้นมา เขาได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ทั้งภาวะขาดแคลนทรัพยากร ปัญหามลพิษ รวมถึงรถที่สิ้นเปลืองที่น้ำมันโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เขาจึงมองว่ารถยนต์ที่จะตอบโจทย์การใช้งานในศตวรรษที่ 21 ได้ จะต้องเป็นรถที่มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่าปกติอย่างน้อย 1.5 เท่าของรถที่วิ่งอยู่บนท้องถนนขณะนั้น และจะให้ดีต้องประหยัดได้มากกว่า 2 เท่า ของรถยนต์ในยุคนั้นเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเป็นยุคที่เครื่องยนต์ไฮบริดยังไม่ถูกนำมาวางจำหน่ายจริงแต่อย่างใด
ซึ่งผู้พัฒนา Toyota Prius ก็ประสบความสำเร็จในโจทย์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากสามารถรีดอัตราสิ้นเปลืองต่ำเพียง 28 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่ารถเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ในสมัยนั้น ที่ทำตัวเลขไว้ที่ 14 กม./ลิตร นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของโตโยต้า ในการพัฒนารถยนต์ที่กินน้ำมันน้อยลงอย่างมีประสิทธิภาพ
นั่นจึงทำให้ Toyota Prius เจเนอเรชั่นที่ 1 ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1997 ที่ประเทศญี่ปุ่น และค่อยๆมียอดขายเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการรับรู้ของคนทั่วไป ว่ารถไฮบริดมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร จนกระทั่งเจเนอเรชั่นที่ 2 ถูกเปิดตัวตามมาในปี 2003 ซึ่งรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย สะดุดตา และออกแบบมาเป็นรถไฮบริดตั้งแต่ต้น ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแตะระดับ 1 ล้านคันในปี 2007 จนกลายเป็นรถพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล ก่อนจะมียอดขายทะลุ 1 ล้านคันในช่วงเวลาเพียงปีเดียว เมื่อปี 2012 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างล้นหลามของโตโยต้า ในโปรเจครถพลังงานไฮบริดรุ่นนี้
ปัจจุบัน Toyota Prius มียอดจำหน่ายรวมกว่า 9 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 97 ล้านตันแล้ว แถมยังช่วยลดการใช้น้ำมันทั่วโลกได้ถึง 2.5 หมื่นล้านลิตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ขนาด 1.8 ลิตรด้วยกัน
ปัจจุบันเครื่องยนต์ไฮบริด ถูกติดตั้งกับรถยนต์ของโตโยต้าจำนวนหลายรุ่น หากนับจนถึงเดือนมิถุนายน 2559 นั้น โตโยต้ามีรถไฮบริดจำหน่ายถึง 34 รุ่นด้วยกัน เริ่มตั้งแต่รถระดับซับคอมแพ็ค ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดเล็กที่ใช้อยู่ในญี่ปุ่นด้วย
ซึ่งความนิยมรถยนต์ไฮบริดที่เพิ่มขึ้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้น รวมถึงการได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกเงินสนับสนุนกว่า 2.5 แสนเยน หรือราว 85,000 บาท ให้กับผู้ที่เปลี่ยนรถเก่าอายุเกิน 13 ปี มาเป็นรถพลังงานไฮบริด (สิ้นสุดเมื่อปี 2012)
หรือในสหรัฐอเมริกา จะได้รับการลดภาษีเป็นจำนวนเงินกว่า 3,600 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.25 แสนบาท สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์พลังงานไฮบริด (สิ้นสุดเมื่อปี 2009)
ส่วนบ้านเรานั้น แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา แต่ก็แทบไม่มีผลสำหรับรถยนต์ไฮบริดทั่วไป แต่จะไปมีผลกับรถไฮบริดรุ่นใหญ่ หรือรถเอสยูวีที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดเสียมากกว่า ซึ่งจะได้รับการเสียภาษีต่ำลงในฐานะรถพลังงานไฮบริดแทนการคิดตามปริมาตรกระบอกสูบเช่นที่ผ่านมา
ภายในแบตเตอรี่ไฮบริดมีหน้าตาแบบนี้
ทำไมไม่หันไปพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนเสียเลย?
มาถึงจุดนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมโตโยต้าถึงยังไม่ก้าวไปสู่ฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบเต็มตัวเสียที ในเมื่อใช้การใช้พลังงานไฟฟ้ามันประหยัดกว่ากันเห็นๆ ไม่ต้องมาคอยกังวลว่าราคาน้ำมันจะกระโดดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไหร่
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า เริ่มกลายมาเป็นกระแสในตลาดโลกแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่อย่าลืมว่าเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้สามารถร่วมมือกับภาครัฐ ในการวางโครงสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ครอบคลุมทั่วรัฐสำคัญๆของประเทศ ช่วยลดปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางทางได้ เพราะอย่าลืมว่า หากแบตหมดขึ้นมาจริงๆ รถพวกนี้จำเป็นต้องถูกยกกลับไปชาร์จเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งนั่นยังไม่รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องระยะทางที่วิ่งได้ของรถไฟฟ้า รวมถึงระยะเวลาการชาร์จในแต่ละครั้ง ที่กินเวลาราว 30 นาที ต่างจากการเติมน้ำมันที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที นั่นหมายความว่าสถานีบริการแต่ละแห่ง จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม แถมยังต้องสามารถจอดรถทิ้งไว้ได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
Toyota i-ROAD หนึ่งในรถไฟฟ้าของโตโยต้า
เหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าอย่างแข็งขัน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับพลังงานทางเลือกได้หลากหลายกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเสียที
แต่สำหรับรถยนต์ไฮบริดนั้น ถือว่าเป็นรถที่มีความพร้อมในการใช้งานอยู่แล้ว สามารถใช้พลังงานน้ำมันได้ตามปกติ แต่ให้อัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่าเครื่องยนต์เบนซินมาก แถมไม่ต้องรอจุดชาร์จไฟให้วุ่นวาย ส่วนสเต็ปต่อไปก็คงเป็นพลังงานไฮบริดแบบเสียบปลั๊กที่กำลังจะมาในอนาคต ซึ่งแม้ว่าจะมีแบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่ารถไฟฟ้าทั่วไป แต่หากใช้พลังงานไฟฟ้าจนหมด ก็ยังคงสามารถใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนแบบไฮบริดต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ารถพลังงานไฟฟ้าล้วน
ทั้งนี้ ใช้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะไม่มีข้อดีหรอกนะครับ เพียงแต่วันนี้อาจจะยังไม่พร้อมในหลายๆด้านแค่นั้นเอง ทางโตโยต้าก็คอมเฟิร์มแล้วว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จะต้องมาแน่ในอนาคตอันใกล้ แค่ต้องรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
แบตเตอรี่ไฮบริดที่เสื่อมแล้ว จะจัดการอย่างไร?
อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ คือ การจัดการแบตเตอรี่ไฮบริดที่เสื่อมสภาพแล้ว เนื่องจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น ก็จะนำไปสู่ตัวเลขขยะแบตเตอรี่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเช่นกัน หลายคนมีความสงสัยว่า ปกติแล้วโตโยต้ามีวิธีการกำจัดแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วอย่างไรบ้าง
แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพจากรถยนต์ไฮบริดนั้น โตโยต้าเองจะมีการคัดเลือกเพื่อ 1.นำกลับไปใช้ซ้ำ (Reuse) และ 2.นำไปรีไซเคิล (Recycle) ซึ่งหากพบว่าแบตเตอรี่ยังคงมีสภาพดี เนื่องจากถอดจากรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็จะถูกนำกลับไปเป็นแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่หากแบตเตอรี่มีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ก็จะถูกนำไปรีไซเคิล โดยการนำเอาธาตุหายากหรือที่โตโยต้าใช้คำว่า ‘Rare Earths’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ไฮบริดทุกลูก นำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง เพื่อลดปริมาณการการใช้จากธรรมชาติให้น้อยลงนั่นเอง
ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในแนวคิดทั้งหลายของโตโยต้า เพื่อรักษาและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืนมากที่สุดนั่นเอง
แบตเตอรี่ยังคงสภาพดีแม้ผ่านการชนมาแล้ว
นอกจากนั้น โตโยต้ายังมีแผนระยะยาวเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า ‘Toyota Environment Challenge 2050’ ซึ่งประกอบด้วย 6 เป้าหมายสำคัญ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของแผนที่ว่านี้ คือ การผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษเลย หรือ Zero CO2 Vehicle ซึ่งจะสามารถทำได้อย่างที่วางเป้าหมายหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต
แต่ไม่ว่าโตโยต้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวที่วางไว้ได้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือการไม่หยุดพัฒนา อย่างน้อยก็จะทำให้เทคโนโลยีของวันพรุ่งนี้ ดียิ่งขึ้นยิ่งกว่าที่ผ่านมา ดังเช่นกับ Toyota Prius ที่กลายเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์พลังงานไฮบริด ที่ครองใจคนทั่วโลกได้จนถึงทุกวันนี้
อัลบั้มภาพ 38 ภาพ