รีวิว 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ปรับหรู เพิ่มอ็อพชั่น คุ้มราคา

รีวิว 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ปรับหรู เพิ่มอ็อพชั่น คุ้มราคา

รีวิว 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ปรับหรู เพิ่มอ็อพชั่น คุ้มราคา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลังจากที่เราปล่อยรีวิวกระบะ ‘เชฟโรเลต โคโลราโด’ โฉมไมเนอร์เชนจ์ไปก่อนหน้านี้ ทางเชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ก็ไม่รอช้ารีบส่งพีพีวี 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ตามมาให้เราทดสอบกันอย่างทันควัน

     2017 Chevrolet Trailblazer ถูกเผยโฉมจริงเป็นครั้งแรกที่งาน BIG Motor Sale 2016 เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการปรับไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ ที่ไม่เพียงแค่ปรับรูปลักษณ์ภายนอก-ภายในเท่านั้น แต่ยังมีจุดสำคัญอีกหลายอย่าง ที่ช่วงกระตุ้นความน่าสนใจของพีพีวีคันนี้ให้น่าใช้งานมากขึ้น

     คราวนี้ Sanook! Auto ได้รับเชิญเข้าร่วมทดสอบ Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ บนเส้นทาง สุวรรณภูมิ-เกาะช้าง ซึ่งระยะทางก็ถือว่าเพียงพอที่เราจะได้จับฟีลลิ่งของรถคันนี้กันอย่างเต็มที่

     เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ตัดเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตรออก และทำตลาดเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.5 ลิตร ที่ปรับปรุงให้มีแรงม้าและแรงบิดดีขึ้นกว่าเดิม มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ได้แก่

     - 2.5L VGT 4x2 AT LT
     - 2.5L VGT 4x2 AT LTZ
     - 2.5L VGT 4x4 AT LTZ

 

     รูปลักษณ์ภายนอกของเทรลเบลเซอร์ใหม่ ส่วนหน้าของตัวรถถูกยกมาจากกระบะโคโลราโด ไฟหน้าถูกออกแบบให้เป็นทรงเหลี่ยม พร้อม Daytime Running Light แบบ LED แต่น่าเสียดายที่ชุดไฟหลักยังคงเป็นแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ฮาโลเจน ตั้งแต่รุ่นล่างสุดไปจนถึงรุ่นท็อป มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติตามสภาพแสงมาให้

     ชุดไฟหน้าออกแบบรับกับกระจังหน้าโครเมี่ยม ตกแต่งด้วยแถบคาดสีเดียวกับตัวรถ พร้อมสัญลักษณ์โบว์ไทปะไว้ตรงกลาง บริเวณด้านล่างของกันชนถูกติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะไว้ทั้งหมด 4 จุด

     การออกแบบด้านหน้าของเทรลเบลเซอร์ ไมเนอร์เชนจ์ ใหม่ ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ขึ้นอีกกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของอากาศขณะรถวิ่งด้วยความเร็วสูงดีขึ้น ลมปะทะน้อยลง ส่งผลให้ช่วยประหยัดน้ำมันขึ้น

     Trailblazer ใหม่ ยังมีการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ในจุดที่มองไม่เห็น เช่น การซีลกระจกหน้าต่าง, กระจกบังลมหน้า และแนวหลังคาใหม่ เพื่อลดเสียงลมเข้ามายังห้องโดยสาร ขณะที่กระจกหน้าต่างยังออกแบบให้หนาขึ้น ซึ่งเชฟโรเลตระบุว่าการปรับปรุงทั้งหมดนี้ ช่วยให้ลดเสียงรบกวนขณะขับขี่ได้อีก 8 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

     นอกจากนั้น เมื่อเปิดประตูคู่หน้าบานใดบานหนึ่งออก ตัวกระจกหน้าต่างจะลดระดับลงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถปิดประตูได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นรายละเอียดยิบย่อยที่เชฟโรเลตตั้งใจเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ใช้งานรถคันนี้ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

     ขณะที่ตัวถังช่วงกลางไปจนถึงด้านท้ายแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไฟท้ายยังคงเป็นแบบ LED ทรงเดิม แต่เปลี่ยนล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ขนาด 18 นิ้ว ออกแบบให้ดูหรูหรายิ่งขึ้นเข้ากับด้านหน้าของตัวรถ มาพร้อมยางขนาด 265/60 R18

     เข้ามาภายในห้องโดยสาร จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดก็คือแผงคอนโซลดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งยกมาจากโคโลราโดเช่นกัน ช่องแอร์ถูกออกแบบให้เป็นทรงตั้ง พร้อมช่องเสียบที่วางแก้ว ซึ่งเมื่อวางแก้วน้ำเข้าไป ความเย็นจากช่องแอร์ก็จะช่วยรักษาความเย็นของเครื่องดื่มได้ด้วย

     คอนโซลกลางถูกติดตั้งหน้าจออินโฟเทนเม้นท์ MyLink ขนาด 8 นิ้ว พร้อมระบบนำทางในรุ่นท็อปสุด รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth ได้ รวมถึงยังสามารถรองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ได้ แต่ปัจจุบันทางกูเกิ้ลเองยังไม่เปิดให้ใช้ระบบ Android Auto อย่างเป็นทางการในประเทศไทย แต่คาดว่าเร็วๆนี้คงได้สัมผัสกัน ส่วนสาวกไอโฟนไม่ต้องรอช้า เสียบสาย USB ก็สามารถเชื่อมต่อได้เลยทันที

     เครื่องเสียงชุดนี้มาพร้อมลำโพง 7 จุดรอบคัน ให้ระบบเสียงแบบพรีเมี่ยม ขณะที่รุ่นล่างสุดจะเป็นลำโพง 4 จุด และระบบเสียงแบบธรรมดา

     พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ 3 ก้านดีไซน์เดิม ปุ่มควบคุมด้านซ้ายใช้สำหรับระบบเครื่องเสียง มีปุ่มรับสาย-วางสายโทรศัพท์ และปุ่มสั่งงานด้วยเสียง SIRI มาให้ ขณะที่ด้านขวาของพวงมาลัยเป็นปุ่มระบบ Cruise Control และปุ่มควบคุมระบบเตือนการชนด้านหน้าที่เราจะพูดถึงกันต่อไป

     ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติถูกออกแบบแผงสวิตช์ใหม่ ใช้งานง่าย สามารถเลือกความแรงพัดลมแอร์ได้หลายระดับ ขณะที่ด้านหลังมีช่องแอร์เพดานแยกแต่ละที่นั่งมาให้เสร็จสรรพ ครอบคลุมถึงเบาะนั่งแถวที่ 3 พร้อมปุ่มควบคุมพัดลมแอร์สำหรับตอนหลังโดยเฉพาะ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความเย็นจะไปถึงเบาะแถวที่ 3 หรือไม่  เพราะลมแอร์เป่าถึงกันหมดทั้งคัน เพียงแต่แอร์ติดเพดานประเภทนี้ เมื่อเปิดแอร์ใหม่ๆ อาจต้องรอให้ความร้อนถูกระบายออกไปจนหมดก่อน หลังจากที่ขึ้นรถที่จอดตากแดดเอาไว้นานๆ ถึงจะเย็นชุ่มฉ่ำไม่ต่างจากด้านหน้า

     มาตรวัดความเร็วถูกออกแบบใหม่เช่นกัน ซึ่งอ่านง่ายสบายตากว่ารุ่นเดิม พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่มาให้ แต่ติดตรงที่ตำแหน่งเกียร์ ที่ออกแบบอยู่ขอบล่างของหน้าจอ มีขนาดค่อนข้างเล็ก และอาจถูกบดบังโดยพวงมาลัยได้

     เบาะนั่งถูกหุ้มด้วยหนังแท้สลับหนังสังเคราะห์สีน้ำตาล Very Dark Atmosphere สามารถปรับไฟฟ้าได้ 6 ทิศทางเฉพาะฝั่งคนขับ ขณะที่เบาะนั่งคู่หน้าสามารถปรับสูง-ต่ำได้ทั้งคู่

     เบาะแถวที่ 2 สามารถปรับเอนได้ เหมาะสำหรับใครที่ต้องการพักผ่อนระหว่างเดินทาง ขณะที่เชฟโรเลตยังเคลมว่าห้องโดยสารของเทรลเบลเซอร์ใหม่ ถือว่ากว้างขวางที่สุดในรถระดับเดียวกันขณะนี้ รวมถึงติดตั้งเครื่องเล่น DVD บริเวณเหนือศีรษะมาให้

     แผงบังแดดเหนือศีรษะติดตั้งกระจกแต่งหน้าพร้อมไฟส่องสว่างมาให้เสร็จสรรพ ตรงกลางติดตั้งไฟอ่านแผนที่ พร้อมช่องเก็บแว่นตาได้ 1 อัน

     อีกฟีเจอร์หนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยรีโมท พร้อมเปิดระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ซึ่งเหมาะสำหรับสภาพอากาศร้อนระอุของบ้านเราเป็นอย่างดี สามารถสั่งงานได้จากระยะไกล แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าระหว่างนั้นจะมีผู้ไม่หวังดีแอบย่องขึ้นรถนะครับ เพราะก่อนจะสั่งสตาร์ทเครื่องยนต์ได้นั้น จะต้องมีการล็อครถก่อนเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่จะขึ้นมาบนรถถึงค่อยกดปลดล็อคประตูตามปกติ ไม่ต่างกับกุญแจรีโมททั่วไป

     ตัวรีโมทยังสามารถสั่งให้ลดกระจกหน้าต่างลงเพื่อไล่ความร้อน หรือยกกระจกขึ้นในกรณีที่ลืมกดสวิตช์หลังดับเครื่องยนต์ได้ด้วย

     ด้านระบบความปลอดภัยมีการติดตั้งฟีเจอร์ช่วยป้องกันอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อน ได้แก่ ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) สามารถเปิด-ปิด และปรับระยะเตือนใกล้ไกลได้จากพวงมาลัย แต่น่าเสียดายที่ระบบดังกล่าวจะทำงานเพียงส่งเสียงและสัญญาณไฟกระพริบเตือนเท่านั้น ยังไม่มีฟังก์ชั่นเบรกหรือลดความเร็วให้อัตโนมัติแต่อย่างใด

     นอกจากนั้น ยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) ที่คอยตรวจจับเส้นแบ่งเลนตลอดเวลา หากพบว่ามีการล้อข้างใดข้างหนึ่งคร่อมเส้นจราจร ระบบก็จะแจ้งสัญญาณเสียงและภาพเตือนให้ทราบ ซึ่งระบบที่ว่านี้ก็ไม่สามารถช่วยดึงพวงมาลัยกลับให้อัตโนมัติเช่นกัน... แต่เท่านี้ก็ถือว่าเหนือกว่าคู่แข่งบางค่ายที่อาจมีค่าตัวสูงกว่าด้วยซ้ำไป!

     ขณะที่ระบบความปลอดภัยอื่นๆ ยังมีให้ครบถ้วนตามสไตล์เชฟโรเลต ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้าพร้อมถุงลมป้องกันหัวเข่าฝั่งผู้ขับขี่, ระบบควบคุมการทรงตัว ESC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบป้องกันการไหลขณะขึ้นทางชัน, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขณะลงทางชัน, ระบบป้องกันรถพลิกคว่ำ Anti-Rolling Protection เป็นต้น

     นอกจากนั้น ยังมีระบบแจ้งเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง และระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) ที่สามารถบอกตัวเลขแรงดันของล้อทั้ง 4 ได้

     Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ถูกตัดเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.8 ลิตรออก แล้วทำตลาดเฉพาะเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร แต่ก็ได้รับการปรับปรุงให้มีพละกำลังมากขึ้นกว่าเดิม ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด สามารถปรับเป็นเกียร์ธรรมดาได้ มีให้เลือกทั้งระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อ

     พวงมาลัยมีการเปลี่ยนจากระบบไฮโดรลิค มาเป็นแบบไฟฟ้า EPS ซึ่งจะปรับความหนักเบาตามความเร็วของรถได้ ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนกสองชั้น พร้อมคอยล์สปริงและโช้คอัพแก๊ส ด้านหลังแบบ 5-Link Rear Suspension พร้อมคอยล์สปริงและโช้คอัพแก๊ส พร้อมดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ

     เริ่มต้นออกเดินทางจากโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยังเกาะช้าง คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้นรวม 349 กิโลเมตร เท่านี้ก็เพียงพอจะได้จับฟีลลิ่งของรถคันนี้แล้ว

     เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร ในเทรลเบลเซอร์ ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ให้อัตราเร่งในลักษณะค่อนข้างนุ่มนวล ไม่ถึงกับแรงกระโชกโฮกฮากหลังติดเบาะ แต่แรงบิดก็มีให้เค้นตลอดทุกช่วงความเร็ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบอดี้ที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็แลกมาด้วยความใหญ่โตของห้องโดยสารภายใน

     ขณะที่การเปลี่ยนเกียร์ทำได้ดี นิ่มนวลจนเกือบจะไร้รอยต่อ ไม่นานก็สามารถแตะความเร็ว 120 กม./ชม. ได้เพียงชั่วอึดใจ เสียงเครื่องยนต์ดีเซลดูราแม็กซ์ที่เคยมีเสียงบ่นจากลูกค้าว่าค่อนข้างดังโดยเฉพาะเวลาเร่งเครื่อง คราวนี้วิศวกรมีการติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงบริเวณฝาลูกสูบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเงียบขึ้น แต่ก็อยู่ในระดับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป ไม่ได้ถึงกับเงียบจนน่าประหลาดใจ

     การขับขี่ที่ความเร็วประมาณ 100-120 กม./ชม. ถือว่าทำได้อย่างผ่อนคลาย ไม่เครียด ช่วงล่างให้การซับแรงสะเทือนได้ค่อนข้างดี รู้สึกหนักแน่น มั่นคง แต่เมื่อใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม. ขึ้นไป จะเริ่มรู้สึกอาการโคลงให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของรถพีพีวีที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่ารถเก๋งทั่วไป

     ช่วงล่างของ เทรลเบลเซอร์ ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องห่วงแต่อย่างใด เพราะมันถือเป็นช่วงล่างที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งในรถแบบพีพีวีด้วยกัน ให้ทั้งความหนึบหนับ นุ่มนวล ควบคู่กันไปได้อย่างลงตัว แต่จุดที่น่าสังเกตคือพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ที่ยังคงให้ฟีลลิ่งคล้ายกับพวงมาลัยแบบไฮโดรลิคในรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ กล่าวคือ ที่ความเร็วสูง มันจะยังคงมีระยะฟรีให้เห็นอยู่บ้าง ทำให้การควบคุมพวงมาลัยไม่มั่นใจเท่าที่ควร

     ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน เนื่องจากการเซ็ตพวงมาลัยในลักษณะนี้ มีข้อดีคือจะทำให้รถไม่ไวเกินไป โดยเฉพาะกับรถที่มีความสูงค่อนข้างมากเช่นนี้ จะทำให้ควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ไม่แฉลบได้ง่าย แต่สำหรับใครที่ชอบความสนุกสนานในการเข้าโค้งและใช้ความเร็วสูงอยู่เป็นประจำ พวงมาลัยของรถคันนี้อาจยังตอบสนองได้ไม่แม่นยำเท่าที่ควร

     ด้านระบบเบรกนั้นถือว่าทำได้ไม่เลว ด้วยระบบดิสก์เบรกที่ติดตั้งไว้ทั้ง 4 ล้อ แม้ว่าบางครั้งจะให้ความรู้สึกเหมือนเหยียบเบรกไม่หนักพอ แต่ต้องเข้าใจว่ารถคันนี้มีจุดศูนย์ถ่วงค่อนข้างสูง ประกอบกับน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวรถโน้มไปด้านหน้าขณะเหยียบเบรก ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าฉันเหยียบเบรกหนักพอแล้วนะ แต่มองดูเข็มความเร็วอีกทีอ้าว! ความเร็วแทบจะไม่ลดลงเลย พอรู้สึกเช่นนี้ก็เพียงแต่เหยียบแป้นเบรกเพิ่มลงไป ตัวรถก็จะค่อยๆ ชะลอความเร็วลงในที่สุด สรุปก็คือผู้ขับขี่อาจต้องอาศัยความเคยชินกับแป้นเบรกรถคันนี้สักนิด ถึงจะสามารถควบคุมได้อย่างมั่นใจนั่นเอง

     ด้านความเงียบภายในห้องโดยสารถือว่าทำได้ดีเช่นกัน เสียงเล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารลดลงจากรุ่นที่แล้วเล็กน้อย โดยเฉพาะเสียงจากช่วงล่างที่ค่อนข้างเงียบ จะมีก็เป็นเสียงลมปะทะด้านข้างเสียมากกว่า แต่ก็ยังถือว่าเบาอยู่ดี

พื้นที่วางขาด้านหลังเหลือเฟือ

 

     การโดยสารเบาะนั่งแถวที่ 2 ค่อนข้างสะดวกสบาย พนักพิงสามารถปรับเอนได้เผื่อใครอยากงีบระหว่างทาง แต่พนักพิงศีรษะค่อนข้างแข็ง โดยเฉพาะเวลาที่วิ่งผ่านทางขรุขระ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายศีรษะอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไรนัก ขณะที่ความกว้างของเบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถบรรทุกผู้โดยสารผู้ใหญ่ 3 คนได้อย่างสบาย ไม่เบียดจนอึดอัด อีกทั้งยังมีพื้นที่วางขาเหลือเฟือ สามารถนั่งไขว้ห้างได้เลยทีเดียว ถือเป็นรถที่เหมาะสำหรับการนั่งโดยสารเป็นครอบครัวคันหนึ่งในตลาดขณะนี้

 

     สรุป 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ปรับปรุงหน้าตาให้ดูหรูหราสดใหม่กว่าเดิม เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร ให้แรงดึงใกล้เคียงกับรุ่น 2.8 ลิตรเดิม แต่ (น่าจะ) ประหยัดขึ้นอีกเล็กน้อย ช่วงล่างนุ่มนวล แต่แน่นหนึบ ฟีลลิ่งพวงมาลัยไฟฟ้ายังไม่แม่นยำอย่างที่ควรจะเป็น ห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งสบาย เหมาะสำหรับเดินทางทั้งครอบครัว

     ฟีเจอร์ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ระบบเตือนกันชนด้านหน้า และระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน จะทำงานเฉพาะส่งสัญญาณเตือนเท่านั้น ไม่มีการเบรกหรือดึงพวงมาลัยให้ แต่เมื่อพิจารณาถึงค่าตัวของรถคันนี้ ก็ถือว่าคุ้มค่าพอตัว เพราะคู่แข่งบางเจ้ามีราคาสูงกว่านี้ แต่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ติดตั้งให้เลย ถือเป็นรถที่น่าใช้งานอีกหนึ่งคันครับ

 

     ราคาจำหน่าย 2017 Chevrolet Trailblazer ใหม่ มีดังนี้

- 2.5L VGT 4x2 AT LT ราคา 1,244,000 บาท
- 2.5L VGT 4x2 AT LTZ ราคา 1,379,000 บาท
- 2.5L VGT 4x4 AT LTZ ราคา 1,479,000 บาท



ขอขอบคุณ ผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 

อัลบั้มภาพ 58 ภาพ

อัลบั้มภาพ 58 ภาพ ของ รีวิว 2017 Chevrolet Trailblazer ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ปรับหรู เพิ่มอ็อพชั่น คุ้มราคา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook