5 เทคนิคขับ 'เกียร์ออโต้' ให้ทนทานขึ้นอีกหลายปี
ชิ้นส่วนของรถยนต์แต่ละชิ้นต่างก็มีอายุการใช้งานด้วยกันทั้งนั้น แต่ชิ้นส่วนหลักอย่างระบบเกียร์ ถือเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก จนเคยมีคำกล่าวว่า "หากต้องยกเกียร์ใหม่ เปลี่ยนรถไปเลยดีกว่า"
รถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนบ้านเราเกือบทั้งหมดมักเป็นเกียร์อัตโนมัติ ส่วนเกียร์ธรรมดาจะพบในรถกระบะหรือรถแท็กซี่เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้ว่าเกียร์ออโต้จะถูกพัฒนาให้ทนทานมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยังสู้ความถึกทนของเกียร์ธรรมดาไม่ได้อยู่ดี แถมค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา จนกระทั่งยกเกียร์ใหม่ทั้งลูกนั้น ยังแพงกว่าอยู่ถึง 2-5 เท่าตัว
Sanook! Auto จึงขอแนะนำ 5 เทคนิคง่ายๆ ช่วยยืดอายุการใช้งานเกียร์ออโต้ให้ทนทานนานขึ้นอีกหลายปี คุณเองก็ทำได้!
1.ไม่คิกดาวน์บ่อย
การคิกดาวน์ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกียร์อัตโนมัติไปไวกว่าปกติ เนื่องจากระบบเกียร์จะต้องรับแรงบิดที่เกิดขึ้นกะทันหันอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังทำให้อุณหภูมิภายในห้องเกียร์สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้น้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพเร็ว ดังนั้น หากไม่มีความรีบร้อนจริงๆ ไม่ควรจะคิกดาวน์บ่อยนัก จะช่วยลดการสึกหรอของเกียร์ลงได้
นอกจากนั้น การใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift) อยู่บ่อยๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสึกหรอได้เช่นกัน เพราะหากเป็นการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ (จาก 5 ลงไป 4-3-2-1) จะมีลักษณะการทำงานคล้ายกับการคิกดาวน์นั่นเอง
2.เปลี่ยนเกียร์เมื่อจอดสนิท
การเปลี่ยนเกียร์ไปมาระหว่างตำแหน่ง P-R-N และ D ควรทำเมื่อรถหยุดสนิทเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกระชากที่เกิดขึ้นจากเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุด รวมถึงไม่ควรปล่อยรถให้ไหลตามแรงเฉื่อยด้วยเกียร์ N แบบเกียร์ธรรมดา เพราะจะทำให้ชุดเกียร์เกิดความเสียหาย
3.ปลดเกียร์ N หากติดไฟแดงนาน
แม้ว่าการสลับเกียร์ไปมาระหว่าง N และ D บ่อยๆ มีผลทำให้ชุดเกียร์เกิดการสึกหรอ แต่หากติดไฟแดงเป็นเวลานาน ควรปลดเป็นเกียร์ N เลยจะดีกว่า เพราะขณะที่ใช้ตำแหน่งเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกนั้น ชุดทอร์คคอนเวอร์เทอร์ยังคงรับแรงบิดที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ไปยังเกียร์อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดแรงสะสม และจะทำให้เกิดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วย ดังนั้น หากรถจอดนิ่งเป็นเวลา 2-3 นาทีขึ้นไป ควรปลดเป็นเกียร์ N จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้
4.ลากรถต้องระวัง
การลากรถเกียร์อัตโนมัติต่างจากรถเกียร์ธรรมดาโดยสิ้นเชิง เพราะขณะที่รถถูกลากนั้น ชุดเฟืองเกียร์อัตโนมัติจะยังคงหมุนตามล้อรถอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีแรงดันน้ำมันเกียร์ช่วยหล่อลื่น ส่งผลให้เกิดการสึกหรอของชุดเกียร์อย่างรุนแรง ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องลากรถด้วยเชือก ต้องใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 30 กม./ชม. และทุกๆ 30 กิโลเมตร จะต้องหยุดพักรถไม่ต่ำกว่า 15 นาทีเพื่อระบายความร้อน
และอย่าลืมว่าในขณะที่เครื่องยนต์ดับ ปั๊มลมเบรกจะไม่ทำงาน ส่งผลให้เบรกแข็ง เหยียบไม่ลง อาจทำให้รถพุ่งไปชนคันหน้าได้โดยง่าย
5.เปลี่ยนน้ำมันเกียร์สม่ำเสมอ
น้ำมันเกียร์ในชุดเกียร์ มีความจำเป็นไม่ต่างกับน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ ดังนั้นจึงควรเป็นถ่ายน้ำมันเกียร์ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ แต่หากใครจะเปลี่ยนก่อนกำหนดก็ไม่ว่ากัน
เทคนิคง่ายๆเหล่านี้ หากปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดการสึกหรอของระบบเกียร์ลงได้อย่างแน่นอนไม่มากก็น้อยครับ