ซุกโกดังร้าง ยึดรถหรู"มายบัค"200ล. ดีเอสไออายัดอีก5 บ.ธรรมะฯอ้าง"เป๋"จ้างจด "ลัมโบร์กีนี"คันถูกไฟเผา
ธาริต"ตั้งรองอธิบดี 5หน่วยงาน ร่วมลุยคดีรถหรูเลี่ยงภาษี ตรวจย้อนหลัง 3 ปี กว่าหมื่นคัน ดีเอสไอค้น 4 จุด ยึดเบนซ์ 3 คัน-"มายบัค"อีก2 ผงะโครงรถ-อะไหล่เพียบ ผู้ประกอบการปูด"เป๋"ขอให้จดทะเบียนลัมโบร์กีนี
ดีเอสไอสอบย้อนหลัง3ปี
นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ประชุมร่วมกับรองอธิบดี 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม (สมอ.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ดีเอสไอ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน เพื่อหารือถึงแนวทางการสอบสวนดำเนินคดีรถหรูที่เลี่ยงภาษีศุลกากรและสรรพ สามิต จากนั้นนายธาริตแถลงว่า ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับรถหรูที่ถูกไฟไหม้ทั้ง 6 คัน ที่ จ.นครราชสีมา และกรณีรถที่ยื่นจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมีจำนวนทั้งสิ้น 6,862 คัน และอยู่ระหว่างรอจดทะเบียนอีกกว่า 3,000 คัน รวมเป็นยอดรถที่หลบเลี่ยงภาษีกว่า 10,000 คัน
นายธาริตกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติดำเนินคดีกับรถจดประกอบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553-31 พฤษภาคม 2556 ส่วนเหตุที่เริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เนื่องจากก่อนหน้านี้่ไม่มีตัวรถจดประกอบที่ชัดเจน เพิ่งตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา และดีเอสไอจะใช้กฎหมายคดีพิเศษในการเอาผิดรถจดประกอบที่จดทะเบียนโดยเลี่ยง ภาษี โดยจะตั้งรองอธิบดีจาก 5 หน่วยงานและทีมงาน เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ
ลุยตรวจสภาพการใช้งาน
"จาก นี้ ดีเอสไอจะสนธิกำลังร่วม 5 หน่วยงานดังกล่าวเข้าตรวจสอบ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะตรวจสอบรถจดประกอบที่มีมูลค่าท้องตลาดตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป โดยกรมการขนส่งทางบกจะจำแนกว่า จดทะเบียนที่ไหน ใครเป็นผู้ครอบครองคนปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนี้คือ กลุ่ม 6,862 คัน ระยะที่ 2 ตรวจสอบรถจดประกอบกว่า 3,000 คัน ที่อยู่ระหว่างรอยื่นการขอเสียภาษีกับสรรพสามิต จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นดีเอสไอจะออกหมายเรียกผู้ครอบครองคนสุดท้ายให้นำรถมาตรวจสอบ เอกสารและสภาพควบคู่กันไป" นายธาริตกล่าว
นายธาริตกล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และ สมอ.จะร่วมกันตรวจสอบสภาพการใช้งาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งพยานเอกสารและพยานทางกายภาพว่า มีการถอดชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบเป็นรถจดประกอบจริงหรือไม่ หากพบการกระทำความผิดผู้ครอบครองจะต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะดำเนินคดีในฐานความผิดใดบ้างเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งจะได้ข้อสรุปในการประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 มิถุนายนนี้
ผู้ประกอบการทำหลักฐานเท็จ
"การ หลีกเลี่ยงภาษีเพิ่งเกิดไม่กี่ปี ที่ผ่านมาดีเอสไอไม่มีข้อมูล ขณะนี้ไม่ถือว่า ช้าเกินไปในการเข้าไปตรวจสอบ และจากการตรวจสอบของดีเอสไอพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดของผู้ประกอบการที่มีการทำหลักฐานเท็จ ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรผิดหลง หรือหากจะเกี่ยวข้องก็มีเพียงเล็กน้อย หากตรวจสอบพบจะถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา" อธิบดีดีเอสไอกล่าว
"ผมขอชี้แจงการทำงานของระบบศุลกากรว่า ต้องเน้นความรวดเร็ว คล่องตัวตามหลักมาตรฐานสากล เมื่อมีการนำเข้าสินค้า เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในการสำแดงสินค้าให้ตรงกับความเป็นจริง แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ตรง มีการสำแดงเท็จ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายภาษีคืน หากประเทศไทยไม่ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว อาจถูกมองว่ากีดกันทางการค้าไม่เป็นสากล" นายธาริตกล่าว
ค้น4จุดพิสูจน์ที่มารถหรู
ก่อนหน้านี้่ เวลา 06.00 น. พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาค ดีเอสไอ เรียกประชุมชุดปฏิบัติการ ก่อนแบ่งกำลังเป็น 4 ชุดนำหมายศาลอาญาเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์หรูยี่ห้อลัมโบร์กีนี สีขาว ที่เกิดเหตุไฟไหม้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จุดที่ 1 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ดีเอสไอ นำกำลังตรวจค้นบ้านเลขที่ 58/249 หมู่ 3 แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กทม. ของนางพรพิมล เคหะฐาน กรรมการผู้จัดการบริษัท ธรรมะ มอเตอร์ ริช จำกัด ย่านหนองจอก กทม. ตรวจยึดเอกสารและป้ายทะเบียนรถจำนวนหนึ่งมาตรวจสอบ ทั้งนี้ระหว่างตรวจค้น นางพรพิมลได้ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า แอคคอร์ด ทะเบียน จพ 15 มาจอดหน้าบ้านพัก และนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานาน ก่อนตัดสินใจลงจากรถและนำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้น พบรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนช์ สีขาว 1 คัน โดยนางพรพิมลระบุว่า เป็นรถของลูกชาย แต่เป็นรถจดประกอบ เจ้าหน้าที่จึงอายัดและนำไปตรวจสอบ
"เป๋"ขอจดทะเบียนลัมโบร์กีนี
ต่อมานางพรพิมลนำเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเดินทางไปยังบริษัท ธรรมะ มอเตอร์ ริช จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง สภาพของโรงงานที่พบเป็นลักษณะโกดังเก็บของ ไม่ใช่รูปแบบของโรงงานประกอบรถยนต์ โดยนางพรพิมลยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรถยนต์หรูยี่ห้อลัมโบร์กีนี ที่เกิดเหตุไฟไหม้ แต่ยอมรับว่ามีคนชื่อ "เป๋" นำเอกสารมาติดต่อขอให้มีการจดทะเบียนให้ แต่ได้ปฏิเสธพร้อมส่งเอกสารคืนกลับไป เนื่องจากบริษัทไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ เพราะที่ผ่านมาทางบริษัทรับจดทะเบียนให้กับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กเท่านั้น และยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับดีเอสไอในการตรวจสอบ
ค้นนิคมฯเจอหลักฐานอื้อ
จุดที่ 2 ตรวจค้นบริษัท เจเอ็มดับบลิว มอเตอร์ส จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีคนงานพม่า 1 คนเป็นผู้ดูแล พบรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ รุ่นอี 250 สีบรอนซ์เงิน ประกอบตัวรถเสร็จเรียบร้อย 2 คัน และอะไหล่อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบโครงรถยนต์ยี่ห้อเฟอร์รารี บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 และรถหรูอีกจำนวนมาก รวมทั้งพบเครื่องยนต์ อุปกรณ์ และอะไหล่อีกหลายรายการ แต่ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ ดีเอสไอจึงประสานกับ สน.ฉลองกรุง เข้าอายัดรถยนต์ดังกล่าวไปตรวจสอบ
จุดที่ 3 ตรวจค้นบริษัท ทีเอเอ็น เอ็กซ์เพรส จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โกดังแรกพบซากรถหรู ทะเบียน น 8640 กรุงเทพมหานคร ที่ถูกไฟไหม้ใช้ผ้าคลุมอย่างมิดชิด รวมทั้งชิ้นส่วนและอะไหล่รถจำนวนมาก นอกจากนี้ในโกดังที่ 2 พบรถหรูยี่ห้อมายบัค ที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยอีก 2 คัน โดยเจ้าหน้าที่ได้พบกับผู้ดูแลระบุว่าเป็นรถนำเข้าถูกต้องและนำเอกสารหลักฐานมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอได้ขออายัดรถดังกล่าวไว้ตรวจสอบ และจุดที่ 4 ตรวจค้นบริษัท พอใจ ออโตพาร์ท จำกัด ย่านโชคชัย 4 กทม. พบชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์จำนวนหนึ่ง
ยึดเบนซ์3คัน-มายบัคอีก2
ต่อมาเวลา 12.00 น. นายธาริตเปิดเผยผลการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุดว่า พนักงานสอบสวนได้กระจายกำลังตรวจค้นเพื่อหาความเชื่อมโยงของรถลัมโบร์กีนีที่ถูกไฟไหม้ว่าเป็นรถจดประกอบจริงหรือไม่ ซึ่งได้ข้อเท็จจริงชัดเจนว่า เป็นรถที่นำเข้ามาทั้งคัน เพราะหากนำอะไหล่เข้ามาประกอบใหม่ สถานที่ประกอบรถคงไม่มีสภาพเป็นเพียงโกดังเล็กๆ ไม่สามารถประกอบรถยนต์ที่มีความเร็วสูงอย่างลัมโบร์กีนีได้ พร้อมกันนี้พนักงานสอบสวนได้เชิญนางพรพิมลและนายกนกวิน แก้วทิ้ง เจ้าของบริษัทพอใจฯที่เป็นผู้จำหน่ายเครื่องยนต์รถจดประกอบมาสอบปากคำในฐานะพยาน ก่อนพิจารณาแจ้งข้อหากับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
"การตรวจค้นทำให้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า รถจดประกอบนั้นทุกอย่างถูกประกอบด้วยกระดาษ นอกจากนี้ยังพบเอกสารเป็นรายการสั่งซื้อรถหรูอีกหลายรายการ อาทิ ลัมโบร์กีนี โรลส์-รอยซ์ เฟอร์รารี บีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งดีเอสไอจะขยายผลต่อไป" นายธาริตกล่าว และว่า ในการตรวจค้นได้ยึดรถต้องสงสัยได้อีก 5 คัน เป็นรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ 3 คัน และยี่ห้อมายบัค 2 คัน รวมถึงสุราต่างประเทศกว่า 2,000 ลัง หรือกว่า 24,000 ขวด พร้อมไวน์อีกจำนวนหนึ่ง โดยสอบถามคนเฝ้าสินค้าอ้างว่าเป็นสินค้าถูกต้องเตรียมนำส่งออกต่างประเทศ แต่พบว่าอากรแสตมป์เป็นของประเทศมาเลเซีย จึงต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นสินค้าเลี่ยงภาษี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถยนต์ยี่ห้อมายบัค ราคาคันละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
เล็งค้นโรงประกอบอีก15จุด
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลการตรวจสอบของดีเอสไอ พบบริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประกอบชิ้นส่วนจากอุปกรณ์นำเข้า ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตทั้งหมด 89 ราย แต่มีเป้าหมายที่ดีเอสไอจะเข้าตรวจค้นบริษัทเหล่านี้อีก 15 ราย เพื่อตรวจสอบการนำเข้า การรับจ้าง การเสียภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าตรวจค้นบริษัทที่ขายตัวถัง ขายเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ เพื่อตรวจสอบการนำเข้า การซื้อขาย การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการตรวจสอบเส้นทางเงิน จากผู้ซื้่้อ ผู้ขาย และผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน
กมธ.เชิญผู้เกี่ยวข้องสอบ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุม กมธ.ให้ตรวจสอบกรณีรถหรูเลี่ยงภาษีที่เกิดเหตุไฟไหม้ ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า กมธ.เคยตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์หรูหนีภาษีอยู่ก่อนแล้วตามที่ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นคนเปิดเผยข้อมูล ดังนั้น จึงให้นำกรณีรถหรูเลี่ยงภาษีที่เกิดขึ้นล่าสุดไปรวมกับเรื่องเดิมที่ กมธ.ตรวจสอบอยู่
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า วันที่ 20 มิถุนายน กมธ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง อาทิ ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา อธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร และตัวแทนขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ มาชี้แจง
"ชัชชาติ"ลงนามประกาศ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันที่ 7 มิถุนายน จะลงนามในร่างประกาศกฎกระทรวง งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วนำเข้ามาจากต่างประเทศ ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างดังกล่าวกลับมายังกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า เมื่อประกาศกฎกระทรวง มีผลบังคับใช้ผู้นำเข้าชิ้นส่วนเพื่อขอยื่นเป็นรถจดประกอบ จะต้องเร่งดำเนินการให้ถูกต้องภายใน 1 ปี หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดจะไม่รับจดทะเบียนรถจดประกอบอีกต่อไป และยืนยันว่า ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการรับจดทะเบียนรถทุกประเภท
ต้องยื่นจดทะเบียนใน1ปี
นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดี ขบ.กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับรถ 4 ประเภท คือ 1.รถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รถยนต์) 2.รถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง (รถตู้ ) 3.รถบรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ) และ 4.รถจักรยานยนต์ โดยรถทั้ง 4 ประเภท หากจะนำมาจดทะเบียนเป็นรถจดประกอบ (กรณีเป็นรถที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือผ่านการตรวจสอบจาก สอม.แล้ว) จะต้องนำมายื่นขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกาศกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้ว
"กรณีที่เป็นรถประกอบจากชิ้นส่วนใช้แล้ว มีการเสียภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิตแล้ว อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบจาก สมอ. ให้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ประกาศกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้" นายอัฌษไธค์กล่าว