แห่คืน-เลื่อนรับรถคันแรก ค่ายรถอ่วม!

แห่คืน-เลื่อนรับรถคันแรก ค่ายรถอ่วม!

แห่คืน-เลื่อนรับรถคันแรก ค่ายรถอ่วม!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ค่ายรถยนต์เผย ลูกค้าแห่เลื่อนรับ "รถคันแรก" กระทบสต็อก-ต้นทุน แจง "จองซ้อนคัน" เหตุทิ้งใบจอง ทั้งหวั่นกำลังซื้อหดฉุดยอดจองใหม่ชะลอตัว

โครงการส่งเสริมการมี "รถคันแรก" ซึ่งเกิดขึ้นตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แม้โครงการจบลงไปแล้วตั้งแต่สิ้นปี 2555 ด้วยยอดจองสูง 1.2 ล้านคัน แต่ยังมีกระบวนการเกี่ยวเนื่องหลายด้านตามมา ทั้งการส่งมอบ การยกเลิกการจอง รวมไปถึงการทำให้หนี้สินภาคครัวเรือนขยายตัวอย่างมาก ฉุดรายจ่ายสินค้าทั่วไปซบเซา จนต้องมีการจับตามองในเรื่องนี้

มาสด้า ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่ "ไม่รับรถ" คิดเป็นสัดส่วนสูง 70% ทำให้บริษัททำการตลาดได้ยาก เพราะไม่ทราบความต้องการที่แท้จริง ช่วงนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางหันเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่แทน ผ่านการนำเสนอสินค้าที่มีความสดใหม่ เช่น รุ่นพิเศษ​หรือรุ่นปรับปรุงโฉม การจัดแคมเปญส่งเสริมการขายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกเลิกการจองโดยรวมของโครงการรถคันแรก เชื่อว่าไม่ถึง 70% เนื่องจากมีการส่งมอบรถที่จองไปแล้วมากกว่า 50% ส่วนใหญ่จะส่งมอบได้ครบถ้วนภายในครึ่งปีแรกนี้ หากจะมีการยกเลิกการจอง น่าจะต้องต่ำกว่า 50%

เชื่อยกเลิกจองสูงเหตุ'จองซ้ำซ้อน'

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซูซูกิ มีรถที่เข้าในโครงการรถคันแรก คือ อีโค คาร์ ซูซูกิ สวิฟท์ มียอดจองรวม 3 หมื่นคันในปีที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใช้สิทธิ์รถคันแรกเท่าไร เพราะข้อมูลการใช้สิทธิ์ทั้งหมดอยู่ที่กรมสรรพสามิต

"ซูซูกิ เก็บข้อมูลจากการสอบถามลูกค้าที่เข้ามาจองว่าใช้สิทธิ์หรือไม่ ทำให้คาดการณ์ว่าน่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70% หรือ 2.1 หมื่นคัน ส่วนยอดการยกเลิกการจองของซูซูกิ มี 10% เท่านั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีกระแสข่าวการคืนใบจองก็ทำการตรวจสอบอีกครั้ง แต่ไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นอย่างใด"

กระแสข่าวคืนใบจองจำนวนมากนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าที่จองรถไว้หลายยี่ห้อ หรือหลายโชว์รูม เป็นการจองเผื่อ หากว่าแห่งใดได้เร็วกว่า ก็จะยกเลิกการจองแห่งอื่นไป ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึง และวิตกกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และการที่ค่ายรถไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่ายอดจองจากผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการรถคันแรกมีจำนวนเท่าใด จึงไม่รู้ว่าลูกค้าที่จองรถของตนไปจองยี่ห้ออื่น หรือโชว์รูมอื่นไว้ด้วยหรือไม่

"ผู้ที่ถอนจองเพราะไม่พร้อมทางการเงินอาจจะมีบ้าง แต่น้อย ยอดที่หายไปมาจากการจองซ้ำซ้อน ซึ่งมีอยู่มาก ส่วนผู้ที่จองคันเดียวแล้วยกเลิก มีไม่มาก ยิ่งรัฐไม่ได้กำหนดระยะเวลาการรับรถ ใครไม่พร้อมทางการเงินจะถือสิทธิ์ค้างไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะเงินจมแค่เงินวางจอง แต่ถ้าคืนการจอง หากวันหน้ามีความพร้อมหรือต้องการใช้รถขึ้นมา ก็ไม่ได้สิทธิ์ลดภาษีแล้ว"

สำหรับยอดจองจากโครงการ 1.25 ล้านคัน กรมสรรพสามิต ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกว่าเป็นยี่ห้อใด รุ่นใด ปริมาณเท่าไร โดยให้เหตุผลว่าจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้

'ค่าจองต่ำ' ดันยอดเกิน 1.2 ล้านคัน

แหล่งข่าวในวงการกล่าวว่า การจองรถซ้ำซ้อนเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงปลายโครงการ เนื่องจากพนักงานขาย หรือค่ายรถต่างๆ พยายามเก็บยอดจองให้ได้มากที่สุด และมีเงื่อนไขการจองที่จูงใจ เช่น เงินจองที่หลายแห่งลดเหลือ 1,000 บาท จากปกติอยู่ในระดับ 5,000-10,000 บาท

"ลูกค้าอาจจะไม่ได้สนใจจะจองหลายคัน แต่เมื่อได้เงื่อนไขจองต่ำก็คิดว่าถ้าจอง 3 คัน เสียแค่ 3,000 บาท ถ้าได้รถแล้วทิ้งอีก 2 แห่งไป เสียแค่ 2,000 บาท ก็ยังคุ้ม และยังมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้มีความต้องการใช้รถจริงจัง แต่เมื่อเจอแรงจูงใจเช่นนี้ก็รักษาสิทธิเอาไว้ก่อน พร้อมแล้วค่อยซื้อเพราะรัฐไม่กำหนดเวลารับรถ ถ้าซื้อไม่ไหวจริงๆ ก็เสียเงินจองแค่ 1,000 บาท ลูกค้าเหล่านี้ทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนและมีผลต่อการบริหารสต็อก"

จองต่ำ-เสี่ยงสูง นิสสันเผยคืนหลักพัน

นายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การกำหนดเงินจองต่ำระดับ 1,000 บาท ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน เพราะลูกค้าพร้อมทิ้งการจอง บางรายขอเลื่อนการรับรถออกไปเรื่อยๆ

การยกเลิกการจองยังเกิดจากลูกค้าบางคนไม่สามารถรอรถได้ กรณีที่รุ่นนั้นมีผู้จองจำนวนมาก แต่มีความจำเป็นต้องใช้งาน จึงเปลี่ยนไปซื้อรถคันอื่นแทน ประกอบกับมีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดเป็นทางเลือก ทำให้หลายคนเปลี่ยนใจ แม้จะไม่ได้สิทธิ์คืนภาษีแต่มีส่วนชดเชยจากแคมเปญที่แข่งขันกันรุนแรง บางรุ่นอาจมีมูลค่าใกล้เคียงกับสิทธิในโครงการรถคันแรก

ในส่วนของนิสสัน ไม่พบว่ามีการคืนการจองที่ผิดปกติ เนื่องจากยอดค้างจองในปี 2555 บริษัทเร่งการส่งมอบได้เกือบครบแล้วจากการเร่งการผลิต โดยเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ส่งมอบได้ 2 หมื่นคัน สูงกว่าปกติส่งมอบเฉลี่ย 1 หมื่นคัน ส่วนการคืนการจองไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติ มีการคืนต่ำเพียง 1,000 คัน จากยอดรวมกว่า 1 แสนคัน

"ยอดจองทั้งหมดอยู่ในโครงการรถคันแรกเท่าไรไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่คิดว่าน่าจะ 50-60% ในส่วนของรถยนต์นั่ง ส่วนปิกอัพก็น้อยกว่านั้น เพราะได้คืนภาษีต่ำกว่า"

ทั้งนี้ นิสสันไม่ห่วงปัญหาจากยอดจองรถคันแรก แต่กังวลกับยอดจองในปัจจุบันที่หายไปพอสมควร เนื่องจากกำลังซื้อส่วนหนึ่งถูกดึงไปใช้ในโครงการรถคันแรก สิ่งที่เห็นได้ในช่วงนี้คือการช่วงชิงยอดจองใหม่ผ่านแคมเปญส่งเสริมการขาย ซึ่งนิสสัน จะไม่ลงไปแข่งแคมเปญ แต่จะใช้วิธีการปรับการผลิตให้สมดุล คาดวางแผนได้ชัดเจนใน 2 เดือนข้างหน้า

ไม่กำหนดรับรถ ดันต้นทุนพุ่ง

นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่รัฐไม่กำหนดเวลารับรถ ทำให้เกิดปัญหาต่อทั้งตัวแทนจำหน่ายและบริษัท เพราะไม่รู้ถึงความต้องการที่แท้จริง ลูกค้าหลายคนไม่แจ้งยกเลิกการจอง แต่ขอเลื่อนออกไปก่อน เพราะความไม่พร้อมหลายด้าน ทำให้การสต็อกรถของตัวแทนจำหน่ายมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนดอกเบี้ย เนื่องจากสั่งรถจากโรงงานมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการดูแลรักษา ค่าจอด ที่ผ่านมาต้องพยายามจัดคิวใหม่ นัดหมายลูกค้ารายอื่นรับรถแทน แต่ก็ไม่สะดวกนัก เพราะแต่ละคนจองรุ่น และสีที่แตกต่างกัน

"การเลื่อนการรับรถมีผลกระทบมากกว่า การยกเลิกการจอง แต่ มิตซูบิชิ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าคืนการจอง หรือว่าเลื่อนรับรถมีปริมาณเท่าใด เพราะสถานการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ล่าสุดตัวแทนพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ระบุว่ามีลูกค้ารับรถไปแล้ว 80% และขอเลื่อน 20%

บริษัท เตรียมรับมือกับปัญหานี้โดยพยายามรักษาระดับการผลิตให้สมดุลกับตลาด ลดอัตราเร่งที่เคยเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการส่งมอบ คาดว่าภายใน 2 เดือน สต็อกจะสมดุล

โตโยต้า ยัน ยอดคืนไม่มีนัยสำคัญ

นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้าไม่ทราบว่ายอดจองจากโครงการรถคันแรกมี ปริมาณเท่าใด เพราะข้อมูลอยู่ที่กรมสรรพสามิต แต่ในส่วนของ วีออสใหม่ ที่เข้าโครงการช่วงปลายปี มียอดจอง 1 หมื่นคัน คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นยอดจองจากโครงการรถคันแรก ซึ่งได้ทยอยส่งมอบไปจำนวนมากแล้ว คาดว่าจะส่งได้หมดภายในเดือนนี้

ทั้งนี้ การคืนการจองรถของโตโยต้าในช่วงนี้ ไม่มีภาวะผิดปกติแต่อย่างใด ทำให้ภาคการผลิตของโตโยต้ายังคงเป็นไปตามปกติ เพื่อเร่งการส่งมอบให้ได้เร็วที่สุด คาดจัดการได้ภายในเดือนมิ.ย. นี้
ฮอนด้าชี้ยกเลิกจอง 5-10%

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันไม่มีปัญหาที่เด่นชัดเกี่ยวกับการยกเลิกการจอง ซึ่งพบว่ามีสัดส่วน 5-10% จากยอดจองกว่า 1 แสนคัน เนื่องจากความไม่พร้อมทางการเงิน ถือว่าอยู่ในภาวะปกติ และไม่ส่งผลต่อการดำเนินงาน

ที่ผ่านมา ฮอนด้าได้เร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้ได้เร็วที่สุด คาดปิดตัวเลขค้างได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เชื่อว่าฮอนด้าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากโครงการนี้ ส่วนลูกค้าที่ไม่เลิกการจอง แต่เลื่อนการรับมอบมีสัดส่วนต่ำกว่า 10% ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนตัว เช่น เปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ทำให้ไม่สะดวกที่จะรับรถ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook