ตลาดรถติดลบครั้งแรกรอบ17เดือน

ตลาดรถติดลบครั้งแรกรอบ17เดือน

ตลาดรถติดลบครั้งแรกรอบ17เดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค. หดตัวครั้งแรกรอบ 17 เดือน 3.5% หลังจากผู้บริโภคส่วนใหญ่รับรถโครงการรถคันแรกเรียบร้อยแล้ว ตลาดรถยนต์ไทยปี 2555 เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากปัจจัยบวกที่ช่วยส่งเสริมหลายด้าน รวมถึงโครงการส่งเสริมการมีรถคันแรกของรัฐบาล ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวมเมื่อสิ้นสุดโครงการ ซึ่งล่าสุดเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายอดขายหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 1.11 แสนคัน ลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากยอดค้างจองในโครงการรถคันแรก ลูกค้าทยอยรับรถไปใกล้จะหมดแล้ว ยอดขายเดือนพ.ค. มีหลายค่ายที่ยอดลดลง รวมถึงโตโยต้าที่หดตัว 13% มิตซูบิชิ 12% มาสด้า 15% นิสสัน 55% เชฟโรเลต 20% ฟอร์ด 7% เมอร์เซเดส-เบนซ์ 10% เป็นต้น ส่วนค่ายใหญ่ที่มียอดขายรายเดือนเพิ่มขึ้น เช่น ฮอนด้า เติบโต 39% อีซูซุ 10% ซูซูกิ 129% บีเอ็มดับเบิลยู 25% วอลโว่ 28% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม 5 เดือน คือ เดือนม.ค.-พ.ค. ตลาดยังคงเติบโตในระดับ 31% ด้วยยอดจำหน่าย 6.34 แสนคัน จาก 4.83 แสนคัน ในปี 2555 โดยค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่มียอดรวมเติบโต ยกเว้น ทาทา ฮุนได และ โปรตอน

    5 อันดับ ยอดขายรวม 5 เดือน ประกอบไปด้วย โตโยต้า มียอดขายสูงสุด 1.99 แสนคัน เพิ่มขึ้น 1.7% ฮอนด้า 1.14 แสนคัน เพิ่มขึ้น 271% อีซูซุ 1.02 แสนคัน เพิ่มขึ้น 28% มิตซูบิชิ 5.09 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 28% และ นิสสัน 5.05 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 16% ส่วนตลาดรถหรู บีเอ็มดับเบิลยู มียอดสูงสุด 3,283 คัน เพิ่มขึ้น 41% เมอร์เซเดส-เบนซ์ 3,105 คัน เพิ่มขึ้น 28% วอลโว่ 1,159 คัน เพิ่มขึ้น 21% สำหรับยอดขายรวมจะเห็นได้ว่าโตโยต้ามีทิศทางชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งรายเดือนและสะสม 5 เดือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากโตโยต้ามีฐานที่ใหญ่ และช่วงนี้มีรถหลายรุ่นที่อยู่ในช่วงปลายโมเดล ไม่ว่าจะเป็น อัลติส หรือ ปิกอัพ วีโก้ ทำให้ลูกค้าบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อลง
โตโยต้า คาดปีนี้ยอดขายติดลบ

     นอกจากนี้ ก็เป็นไปตามทิศทางของตลาด หลังจากหมดแรงส่งเสริมจากโครงการรถคันแรกตั้งแต่ปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมของตลาดชะลอตัวลง ซึ่งเป็นภาพที่โตโยต้าคาดการณ์ว่าจะได้เห็นตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดย นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศเป้าหมายยอดขายปีนี้ 5 แสนคัน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 5.16 แสนคัน เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดรวมจะลดลงจาก 1.4 ล้านคัน เหลือ 1.2 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี โตโยต้ามีแผนที่จะเปิดตัวรถ อีโค คาร์ อย่างเป็นทางการเป็นค่ายสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้มาก

นายวุฒิกร กล่าวว่า สำหรับตลาดเดือนมิ.ย. คาดว่าจะยังคงชะลอตัว เช่นเดียวกับ พ.ค. จากผลกระทบของรถคันแรก ซึ่งตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าข้อมูลล่าสุด พบว่าการส่งมอบรถที่ใช้สิทธิในโครงการรถคันแรกทำได้แล้วกว่า 80% ทำให้ตัวเลขยอดขายในช่วงนี้สะดุด และตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประมาณเดือนก.ค. เมื่อการส่งมอบที่เหลือแล้วเสร็จ ยกเว้นบางรุ่นบางยี่ห้อที่อาจจะต้องใช้เวลาถึงเดือนส.ค.-ก.ย. ฮอนด้า ระบุรถใหม่กระตุ้นกำลังซื้อ

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้ายังมีทิศทางการเติบโตที่น่าพอใจ โดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำได้ 2.17 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 39% นอกจากนี้ยังรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ได้อีกด้วย และยอดขายสะสมรวม 5 เดือนแรก 1.14 แสนคัน โดยจำนวนนี้เป็นยอดขายรถยนต์นั่ง 1.01 แสนคัน เป็นอันดับ 1 ในตลาด เติบโตเพิ่มขึ้น 238% "ฮอนด้า ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์นั่งตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2555 และยังคงครองแชมป์ยอดขายต่อเนื่อง ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการทำตลาดเชิงรุก เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการและทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า" การตลาดเชิงรุกของฮอนด้า รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ฮอนด้าเปิดตัวรถทั้งรถใหม่และไมเนอร์เชนจ์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไฮบริด 12 รุ่น มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ช่วงช่วยกระตุ้นตลาด ทำให้มียอดขายที่เติบโตมาโดยตลอด รวมถึงล่าสุดคือการเปิดตัว แอคคอร์ดใหม่ ซึ่งขณะนี้มียอดจองมากกว่า 1 หมื่นคัน ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน และฮอนด้าก็ยังมั่นใจว่าตลาดรถยนต์ไทยปี 2556 จะยังคงมีแนวโน้มที่ดี รถคันแรก-ค่าบาท-ส่งออก ฉุดกำลังซื้อ

นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ตลาดรถยนต์ปีนี้ ได้รับผลกระทบจากการหมดโครงการคันแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น เงินบาทที่แข็งค่า ภาวะการส่งออกของประเทศลดลง รวมถึงสินค้าหลักอย่างข้าว ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมิตซูบิชิ ยอดขายช่วง 5 เดือนแรก อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยทำได้ 5.09 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 29% โดยปัจจัยสำคัญ คือกระแสความนิยมในตลาดรถเล็กยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้อีโค คาร์ มิราจ ทำยอดขายได้มาก 2.04 หมื่นคัน ส่วนรถหลักๆ ในตลาด เช่น ปิกอัพ ไทรทัน มียอดขาย 2.13 หมื่นคัน ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 16% แต่หากเทียบกับปี 2554 ซึ่งตลาดไม่ถูกบิดเบือนด้วยรถคันแรก พบว่าปีนี้มียอดสูงกว่า ปี 2554 สัดส่วน 25% เช่นเดียวกับรถพีพีวี ปาเจโร สปอร์ต 8,495 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 19% แต่เทียบกับปี 2554 เติบโต 14%

นายมูราฮาชิ กล่าวว่าในช่วงนี้ บริษัทมีแผนกระตุ้นตลาดหลายๆ อย่าง รวมถึงการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายอีกหลายรายการ นอกจากนี้ การเตรียมเปิดตัวรถ อีโค คาร์ ใหม่ แบบ 4 ประตู รุ่นแอททราจ ก็เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายของมิตซูบิชิดีขึ้น ซูซูกิ ระบุตลาดช็อกหลังหมดรถคันแรก

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์อยู่ในภาวะช็อกหลังจากหมดโครงการรถคันแรก เนื่องจากกำลังซื้อปีนี้ถูกดึงไปใช้ในปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ที่ต้องการซื้อรถใหม่ ยังทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มรถที่เคยได้สิทธิคืนภาษี โดยคาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ซูซูกิ โดยภาพรวม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรายเดือนพ.ค. ที่ทำได้ 3,821 คัน เพิ่มขึ้น 129% และ ยอดสะสม 5 เดือน 1.72 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 249% ส่วนหนึ่งเนื่องจากซูซูกิยังมียอดค้างจองที่จะต้องทยอยส่งมอบในช่วงนี้ อีกทั้งลูกค้าที่จองรถตั้งแต่ปีที่แล้วในโครงการรถคันแรก ยังคงยืนยันใช้สิทธิเช่นเดิม แทบจะไม่มีผู้ทิ้งการจอง "เราให้พนักงาน ติดตามลูกค้าโดยตลอด ตั้งแต่จบโครงการ รวมถึงช่วงเร็วๆ นี้ที่มีข่าวว่ามีการทิ้งการจอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าจะรับรถ ทำให้ยอดขายของเรายังคงเติบโตต่อไป" นายวัลลภ กล่าว


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook