ว่าง แต่ปฏิเสธผู้โดยสาร ฟังเสียงครวญ"แท็กซี่ไทย" เผยเหตุทำไมไม่ไปส่ง?

ว่าง แต่ปฏิเสธผู้โดยสาร ฟังเสียงครวญ"แท็กซี่ไทย" เผยเหตุทำไมไม่ไปส่ง?

ว่าง แต่ปฏิเสธผู้โดยสาร ฟังเสียงครวญ"แท็กซี่ไทย" เผยเหตุทำไมไม่ไปส่ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แท็กซี่คันหนึ่งขับปาดหน้ารถยนต์ส่วนบุคคล และมาหยุดตรงหน้าผู้โดยสารที่กำลังกวักมือเรียก กระจกรถถูกลดลง

"ไปสีลมค่ะ" หญิงสาวที่กวักมือเรียกบอก

คนขับแท็กซี่ส่ายหน้าเลื่อนกระจกขึ้นดังเดิม จากนั้นก็ขับรถจากไป ขณะที่อีกคันซึ่งเปิดไฟแสดงสถานะตรงหน้ารถว่า "ว่าง" ขยับเข้ามาแทนที่ เขาทำอย่างเช่นที่แท็กซี่คันก่อนทำทุกประการ

"ไปสีลมค่ะ" หญิงสาวเอ่ยคำเดิม

คำตอบที่ได้รับคือ...

"โอ๊ย...ไปคันอื่นเถอะ รถติดจะตาย"

หรือบางคันก็ให้คำตอบว่า "ไม่ไป...กลับไม่ทันส่งรถ" เป็นต้น


พูดถึงจำนวนรถที่โลดแล่นอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครคงจะเป็นเรื่องที่พูดยากเหมือนกับการทายว่า "มดหนึ่งรังมีกี่ตัว?" นั่น เพราะมีปริมาณรถมากเสียจนไม่รู้จะบรรยายอย่างไร


     ในยุคที่ระบบการบริการขนส่งมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่แบบบ้านเรามากขึ้น เนื่องจากสภาพการจราจรที่ไม่คล่องตัว ภูมิอากาศไม่เป็นใจ อีกทั้งความเสี่ยงที่จะจ๊ะเอ๋กับสารถีรถเมล์บาทาผี ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะโบกรถรับจ้างประเภทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างประเทศ นั่นคือ "รถแท็กซี่"

สายตาทั้งสองจับจ้องไปที่ท้องถนน มุ่งตรงไปยังรถที่มีความแตกต่างจากพวก ทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกและความพิเศษของสีสันที่หลากหลาย เป้าหมายคือคันใดก็ได้ที่ติดป้ายบริเวณกระจกหน้าว่า "ว่าง" เมื่อเห็นเช่นนั้นก็พร้อมใจกวักมือเรียกกันให้ว่อน แต่หลายครั้งก็ต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง เมื่อรถหลากสีที่ติดป้ายเฉิดฉายไปทั่วกรุงว่า แท็กซี่มิเตอร์ และ "ว่าง" นั้น เมินเฉยต่อการเรียกใช้บริการของลูกค้าอย่างไร้ความเห็นใจ แม้จะมี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 93 ระบุว่า...

ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร เว้นแต่การบรรทุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนหรือแก่คนโดยสาร ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีความประสงค์จะไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้แสดงป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารวิธีการแสดงป้ายและลักษณะของป้ายงดรับจ้างบรรทุกคนโดยสารให้ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

     แต่กระนั้น ก็ยังมีการฝ่าฝืนกระทั่ง 1 กันยายน 2555 กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพิ่มข้อหาหลักอีก 1 ข้อหา นั่นคือแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ซึ่งหากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมและปรับ 1,000 บาท โดยไม่มีการตักเตือน แต่อย่างไรก็ตาม แท็กซี่ว่างที่ปฏิเสธรับผู้โดยสารก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ มีโอกาสได้ไปร่วมอบรมกับ "โครงการแท็กซี่ไทยหัวใจอินเตอร์" จึงไม่พลาดที่จะสอบถามถึงสาเหตุของการปฏิเสธรับผู้โดยสารจากบรรดาผู้ขับแท็กซี่ทั้งหลาย

     สิทธิชัย เสริฐสถิตย์ ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ อายุ 45 ปี ที่เพิ่งจะหันมาขับแท็กซี่ได้ไม่นาน เล่าให้ฟังในแง่ของคนขับแท็กซี่ที่ต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวว่า ตามหน้าที่ของคนขับรถแท็กซี่ ลูกค้าเรียกไปไหนก็ต้องไป และเหตุผลของแท็กซี่บางคันที่ไม่รับลูกค้าคือ ต้องไปเติมก๊าซ เนื่องจากการเติมก๊าซแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการเติมครั้งละประมาณ 30 นาที จึงไม่สามารถรับผู้โดยสารในขณะนั้นได้

"อีกเหตุผลที่คุ้นหูสำหรับผู้โดยสารและรถแท็กซี่เช่า นั่นคือคำว่า "ส่งรถ" กรณีที่แท็กซี่บางคันบอกว่าจะส่งรถ แต่ก็ยังเห็นรับผู้โดยสารคนอื่นอยู่เลย อาจเป็นเพราะว่า สถานที่ที่ผู้โดยสารท่านนั้นจะไปมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับอู่เช่ารถ เมื่อคำนวณเวลาดูแล้วน่าจะทันเวลาส่งรถ และช่วงเวลาอันน้อยนิดนั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่งที่จะสมทบกับเงินที่หาได้ทั้งวัน" สิทธิชัยอธิบาย และบอกอีกว่า หนึ่งรอบของการขับรถจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาท ขับรถ 10 ชั่วโมง ได้ 1,000 บาท หมายความว่าต้องเดินกลับบ้าน เพราะค่ารถเมล์ก็ไม่มี ลูกเมียก็ไม่ได้กินอะไร และที่สำคัญสังคมของคนขับรถแท็กซี่เดี๋ยวนี้แข่งขันกันสูง มีการพูดเปรียบเปรยเรื่องรายได้กันอยู่เป็นประจำ

"เรื่องกฎหมายที่ออกมาเชื่อว่า ถ้าไม่รับผู้โดยสารมีความผิด จะบังคับก็บังคับได้ แต่แท็กซี่บางคันก็คงยอมเสี่ยง ถ้าจะทำจริงๆ ควรจะให้คนขับประจำอยู่กับรถคันนั้นไปเลย เหมือนต่างประเทศ"

"รถคันนี้มีขอบเขตในการเดินรถเพียงฝั่งธนบุรี" ป้ายที่ระบุข้อความนี้ติดอยู่ด้านรถฝั่งคนขับ เคียงคู่กับป้ายไฟแท็กซี่ที่ส่องสว่างว่า "ว่าง"

"การเขียนป้ายทำให้เราสามารถเลือกผู้โดยสารได้ ต้องการไปกับเราไหม เหมือนกับว่าไปทางเดียวกัน กรณีนี้ไม่มีความผิด ส่วนเหตุผลที่จะไม่รับผู้โดยสารคือส่งรถ ส่วนก๊าซหมดเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหากก๊าซหมด คุณไม่สามารถที่จะเปิดไฟว่างได้ คุณต้องปิดไฟว่าง"

สุริยา จารุจินดา อายุ 40 ปี อีกหนึ่งคนขับแท็กซี่จาก จ.อุทัยธานี พูดถึงเรื่องการ "แสดงสถานะ" แท็กซี่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเขาเคยเห็นว่ามีผู้ทำอย่างนี้ และเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้ใช้บริการ

"กฎว่าอย่างไรก็ว่าไปตามกฎ" นายสุริยากล่าวอย่างมั่นใจ

"ส่วนใหญ่ผมจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสารถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เช่น ไม่ทันเวลาส่งรถ จะเลือกใช้วิธีเขียนป้าย และพูดกับผู้โดยสารดีๆ เขาก็จะเข้าใจ"

ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่อีกรายอย่าง วินัย ชลพงษ์ กล่าวถึงสาเหตุแท็กซี่ไม่จอดรับผู้โดยสารว่า ส่วนมากจะมีเพียง 2 กรณี คือส่งรถ กับเป็นบริเวณที่แท็กซี่ไม่จอดอยู่แล้ว โดยกรณีแรกจะเกิดช่วงเวลาประมาณบ่ายสามลงไป เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 80 เปอร์เซ็นต์ที่แท็กซี่ทำคือ ส่งรถก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้เพราะจะโดนปรับเงิน ต้องพยายามเห็นใจ ถ้ามีคนไปทางเดียวกันก็ถือว่าโชคดีสามารถไปส่งได้

     ส่วนกรณีที่สองคือ แท็กซี่ที่จอดอยู่ตามสุขุมวิท โรงแรม แบบนี้คือเขาตั้งใจจะไม่รับอยู่แล้ว คือ "แท็กซี่ผี" เมื่อรับผู้โดยสารจะไม่กดมิเตอร์มักคิดเป็นราคาเหมา คนขับแท็กซี่ทุกคนทราบเรื่องกฎหมายที่มีผลกับตนเอง แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงควรมีการผ่อนปรนการจับในช่วงบ่ายสามถึงห้าโมงเย็น เพราะว่าบางคนอาจจะส่งรถ "อีกอย่างการที่ไม่รับผู้โดยสารมีหลายเหตุผล อาจจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงในการทำงาน เช่น ทางเปลี่ยว ดึกดื่น เมื่อประสบปัญหาแล้วไม่มีใครช่วยเหลือ ความปลอดภัยของลูกค้ามาที่หนึ่งก็จริง แต่ชีวิตเรามันก็มีค่ากว่าเงินไม่กี่บาทจึงทำให้เกิดการปฏิเสธลูกค้าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิเสธก็ต้องมีข้อชี้แจงกับทางขนส่งด้วย" วินัยกล่าว

     นอกจากนี้ จากการสอบถามทำให้ทราบว่า ผู้โดยสารที่สร้างความหนักใจให้กับชาวแท็กซี่มากที่สุดคือ ผู้โดยสารกลางคืน   หากเป็นผู้หญิงมักจะเมา ส่วนผู้ชายจะเป็นลูกนักเลง บางคนขึ้นมาบนรถแล้วหลับเลย เมื่อไปปลุกก็โวยวาย อย่างนี้ก็มีอยู่มาก "การขับแท็กซี่มันเป็นเหมือนห้องเรียนห้องหนึ่ง ได้เจอหลายอาชีพ แต่ละคนขึ้นมาจะมีเรื่องเล่าเช้านี้ให้ฟังตลอด เราก็เป็นเหมือนพลขับ การบริการของเราคือเป็นผู้ฟังที่ดี เรียกว่าได้ประสบการณ์หลายด้านได้เจอคนหลายแง่มุมมาก" เป็นความเห็นของ พล.ต.ท.ไตรรัตน์ อมาตยกุล ประธานกรรมการบริหารสถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดอบรม "โครงการแท็กซี่ไทยหัวใจอินเตอร์"

"เราเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่จะสร้างสังคมที่ดี ฉะนั้นแท็กซี่ที่ผ่านการอบรมกับโครงการแท็กซี่ไทยหัวใจอินเตอร์ ผมมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และจะบริการผู้โดยสารด้วยใจ

"เคยมีเหตุการณ์ที่คนขับแท็กซี่อาสาเข้าไปช่วยเหลือผู้โดยสารเนื่องจากไม่พอใจการบริการของแท็กซี่บางราย ตรงนี้เราถือว่าได้สร้างคนดีศรีแผ่นดินแก่สังคม อีกส่วนหนึ่งเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นภาพการอบรมเกิดขึ้นอีก"

หากแท็กซี่ทั่วทั้งเมืองไทยมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพตนเองอย่างนี้ได้ เราคงมองเห็นอนาคตอันสดใสของประเทศในด้านบริการและการขนส่งได้ไม่ยาก แต่จะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะชีวิตจริงต่างจากนวนิยายมากเหลือเกิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook