เทคนิคนอนงีบในรถไม่ให้ขาดอากาศหายใจ

เทคนิคนอนงีบในรถไม่ให้ขาดอากาศหายใจ

เทคนิคนอนงีบในรถไม่ให้ขาดอากาศหายใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว หลายคนมีแผนเดินทางกลับภูมิลำเนายังต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางพร้อมๆกันของคนส่วนใหญ่ มักจะทำให้การจราจรหนาแน่นเสมอ โอกาสที่ผู้ขับขี่จะเหนื่อยล้าย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

     เทคนิคที่ดีที่สุดในการรับมืออาการง่วงซึมจากการขับขี่ ก็คือ การแวะงีบหลับนั่นเอง หากใช้เวลาเพียง 15-20 นาที ก็จะช่วยให้กลับมากระปรี้กระเปร่า พร้อมเดินทางต่อไปได้อย่างสดชื่นและปลอดภัย แต่ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจภายในรถเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสตาร์ทเครื่องยนต์เปิดแอร์ทิ้งไว้เพื่องีบหลับ จนกลายเป็นเหตุสลดอย่างคาดไม่ถึง

     Sanook! Auto จึงขอแนะนำเทคนิคการนอนพักในรถไม่ให้ขาดอากาศหายใจมาฝากกันครับ

1.เลือกจุดจอดรถให้เหมาะสม

     ควรจอดรถในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านสักเล็กน้อย เช่น ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ หากจอดรถในเวลากลางคืน ควรเลือกจุดที่มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อป้องกันเหตุมิดีมิร้าย ไม่ควรจอดรถในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งอาจทำให้ควันพิษจากรถคันอื่นเล็ดลอดเข้ามาในรถได้

2.ล็อครถให้เรียบร้อย

     เพื่อความปลอดภัยควรล็อครถให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ใครขึ้นรถขณะที่เราหลับได้

3.ดับเครื่องยนต์แล้วแง้มกระจก

     ปิดแอร์ดับเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้มีไอเสียเล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสาร จากนั้นจึงแง้มกระจกสักเล็กน้อยทั้งด้านซ้ายและขวา เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ เพื่อความปลอดภัยสามารถดึงกุญแจรถออกเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือจุดที่มั่นใจว่าจะไม่มีใครสามารถล้วงเข้ามาหยิบไปได้ โดยอุณหภูมิภายในรถที่ค่อยๆอุ่นขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตื่นในเวลาที่เหมาะสมได้ด้วย

4.ตั้งนาฬิกาปลุกทิ้งไว้

     เพื่อป้องกันการงีบหลับนานเกินไป ควรตั้งนาฬิกาปลุกบนโทรศัพท์มือถือไว้ประมาณ 15-20 นาที ซึ่งเพียงพอในการขจัดความง่วงซึมออกไปได้

5.เพิ่มความสดชื่นก่อนออกเดินทาง

     หลังจากตื่นแล้ว อย่าลืมล้างหน้าล้างตา ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ กระตุ้นความกระปรี้กระเปร่า แค่นี้ก็พร้อมสำหรับเดินทางต่อไปแล้ว

     อย่าลืมนะครับ หากใครต้องการแวะงีบเพื่อพักผ่อนระหว่างเดินทาง อย่าสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วเปิดแอร์ทิ้งไว้ เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลมที่เป่าออกมาจากช่องแอร์นั้น มีมลพิษที่เป็นอันตรายจนทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่นั่นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook