เจาะปัญหา คนกรุง กับ แท็กซี่ คู่กัดใหม่บนท้องถนน
ปัญหาคนกรุงกับแท็กซี่แทบจะกลายเป็น "คู่กัด" ของสังคมเมืองบนท้องถนนยามนี้ ที่ฮอตฮิตเป็นประเด็นบ่อยๆคือ แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือเลือกผู้โดยสารในเส้นทางที่อยากจะไป รวมทั้งจงใจเลือกเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติ ปัญหาคนกรุงกับแท็กซี่จากแค่สร้างความหงุดหงิดกวนใจเริ่มกลายเป็นปัญหาบานปลายหนักข้อ และน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งที่น่าห่วงไม่แพ้กันคืออาชญากรรมบนรถแท็กซี่
เรื่องราวปัญหาผู้ใช้กับผู้ขับขี่แท็กซี่ถูกนำเสนอตามโลกออนไลน์บ่อยครั้ง ทั้งการบ่นระบาย การถ่ายคลิป การโพสขึ้นโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งเหล่าคนดังบางคนถึงขนาดถ่ายคลิปตัวเองกำลังนั่งสามล้อและต่อว่าแท็กซี่ที่ไม่รับผู้โดยสารอย่างดุเด็ดเผ็ดมันจนมียอดการคลิกชมกดไลค์กดแชร์ถูกอกถูกใจคนกรุงผู้รันทดกับบริการของแท็กซี่
ปัญหาของคนกรุงกับแท็กซี่ มีสาเหตุจากอะไร "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" เข้าไปสำรวจ พบว่าปัจจุบัน ทั่วกรุงเทพมหานคร มีแท็กซี่ในกรุงเทพฯให้บริการถึง 108,500 คัน ด้วยจำนวนแท็กซี่ขนาดนี้ถือว่ามีมาก แต่กลับเกิดปัญหาไม่พอให้บริการ กลายเป็นปัญหาที่ถูกผู้โดยสารร้องเรียนไปยังกรมการขนส่งทางบกมากที่สุดปัญหาหนึ่ง สถิติในช่วงเดือน ต.ค. 54–ก.ย. 55 และ ช่วงเดือน ต.ค. 55 – เม.ย. 56 มีการร้องเรียนเข้ามา 20,162 ราย
ปัญหานี้ควบคู่ไล่เลี่ยมากับการถูกร้องเรียนว่า คนขับแท็กซี่พาขับรถเส้นทางอ้อม ถูกร้องเรียนเข้ามา 20,621 ราย สำหรับปัญหาอื่นๆ อาทิ การแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพถูกร้องเรียน 4,623 ราย กรณีส่งไม่ถึงจุดหมายปลายทาง 5,767 ปัญหาขับรถประมาทและหวาดเสียว 1,421 ราย นอกจากนี้ยังถูกร้องเรียนตั้งแต่มิเตอร์เดินเร็ว บ้างก็ติดฟิล์มทึบเกินกำหนด
จากการสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า แม้จะมีการร้องเรียนปัญหาจากแท็กซี่ดังกล่าวเข้ามา แต่มาตรการทางกฎหมายยังไม่มีการเปรียบเทียบปรับในอัตราขั้นสูงสุด แต่ใช้รูปแบบการลงโทษลักษณะเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใช้ใบอนุญาตหากมีการกระทำผิดซ้ำ ขณะที่หากเกิดปัญหาด้านอาชญากรรม เช่น การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กระนั้นสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาแท็กซี่และคนขับไม่ได้มาตรฐานจากการถูกร้องเรียนดังกล่าวนั่นคือ ขั้นตอนการขอใบอนุญาตขับแท็กซี่ว่ารัดกุม และมีมาตรฐานเพียงใด?
กรมการขนส่งทางบกระบุกับประชาชาติออนไลน์ว่า มีการกำหนดคุณสมบัติการอนุมัติใบอนุญาตผู้มาขับขี่รถยนต์สาธารณะไว้อย่างรัดกุม หนึ่งในนั้นคือผู้ขอใบอนุญาตต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปสำหรับความผิดเกี่ยวกับการขับรถ เว้นแต่ จะพ้นโทษครั้งสุดท้ายไม่ต่ำกว่าหกเดือนแล้ว
นอกจากนี้ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ หรือความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิด ภยันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานรับของโจร และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
ที่ว่ามาคือมาตรฐานบางส่วนจากมาตรฐานที่ถูกเขียนเป็นกฎหมายไว้รัดกุม อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงข้อกำหนดของกรมขนส่งทางบกข้างต้น หากทำตามระเบียบทั้งหมดก็น่าจะเป็นการควบคุมมาตรฐานการให้บริการได้ แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาจากแท็กซี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นคำถามว่าด้วยจำนวนแท็กซี่ที่มีปริมาณมากขึ้นในกรุงเทพฯแต่ละปี เพราะนโยบายการจดทะเบียนรถแท็กซี่เสรีในกรุงเทพฯโดยไม่จำกัดจำนวนส่งผลให้เป็นจุดอ่อนในการควบคุมคุณภาพของผู้ขับขี่หรือไม่?
กรมขนส่งทางบกให้ความเห็นถึงนโยบายการจดทะเบียนรถแท็กซี่เสรีในเขตกรุงเทพฯโดยไม่จำกัดจำนวน เพราะเห็นว่าเพื่อเป็นความสามารถในการบริการการขนส่งที่คุ่มค้าและทั่วถึงกับความต้องการของประชาชน เพราะเมื่อมีการแข่งขันด้านสภาพรถใหม่นำมาให้บริการ จะเกิดแข่งขันให้นำรถรุ่นใหม่ออกมาบริการ รถที่มีสภาพเก่าก็จะไม่มีผู้ใช้บริการและต้องเลิกให้บริการไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
"ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกไม่ต้องรอรถนาน สามารถเลือกใช้บริการรถที่มีสภาพดี ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหันมาใช้บริการรถแท็กซี่แทนรถส่วนตัวเป็นการช่วยรถปัญหาการจาร ด้านผู้ขับรถก็สามารถเช่ารถในราคาถูก เจ้าของอู่ไม่ปรับราคาตามใจชอบได้เพราะมีการแข่งขันสูง"กรมการขนส่งทางบกชี้แจงกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ส่วนปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร การจะทำเช่นนี้ ผู้ขับขี่ต้องแสดงเครื่องหมาย “งดรับจ้าง” ไว้ที่หน้ารถก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ระบุว่าในปี 2555 มีการยึดใบอนุญาตผู้ขับขี่แท็กซี่ที่ทำผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 7,066 ฉบับ ส่วนปี 2556 มีการยึดใบอนุญาตไปแล้วจนถึงเดือนมีนาคม จำนวน 3,116 ฉบับ
ทั้งนี้ คำอธิบายดังกล่าวในแง่หลักการไม่มีปัญหาแต่ในภาคปฏิบัติกลับยังพบปัญหาแท็กซี่มากมาย และยังมีการร้องเรียนมายังกรมการขนส่งทางบกเป็นระยะ ซึ่ง "วิฑูรย์ แนวพานิช" ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ว่า ทั่วไปหลักของการให้ผู้ขับขี่เช่าแท็กซี่ คือ 1.ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ 2.ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่ปัจจุบันด้วยคนขับแท็กซี่ขาดแคลน แม้มีคุณสมบัติไม่ครบก็ให้ขับ ทั้งที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหากถูกจับได้ก็จะถูกลงโทษ
"ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของรถแท็กซี่ หากยินยอมให้ผู้อื่นที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะเช่า หรือขับมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากไม่จัดทำประวัติคนขับรถแท็กซี่จะมีความผิดปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่การลงโทษส่วนมากก็จะจบเพียงแค่คนขับไม่สาวไปไม่ถึงอู่ที่อนุญาตให้เช่า"ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ระบุ
นายวิฑูรย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การสอบใบอนุญาตขับขี่ผู้ขับรถยนต์สาธารณะง่ายขึ้นเป็นอีกหนึ่งจุด เพราะสมัยก่อนการต่ออายุใบขับขี่ต้องทำทุกปี ซึ่งการต่ออายุใหม่ก็มีการสอบและอบรมใหม่ทุกครั้ง ทำให้เป็นการเช็คสมรรถภาพแต่ปัจจุบันต่ออายุ 3 ปีครั้ง
"หรือในช่วงที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายแจกบัตรเติมก๊าซตามใบขับขี่สาธารณะ แต่พบว่าคนขับแท็กซี่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ ทางรัฐจึงอนุโลมให้สอบใบขับขี่สาธารณะก่อนแล้วค่อยไปขอประวัติอาชญากรรมจากสถานีตำรวจ ทั้งที่ในระเบียบข้อบังคับต้องขอประวัติอาชญากรรมแล้วจึงให้สอบใบขับขี่ นี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่มีความขัดแยงกันเอง"
ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ ให้ความเห็นต่อว่า กรณีของประเทศไทยที่เปิดเสรีรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งจุดอ่อน ที่ทำให้เกิดปัญหาการให้บริการไม่ดี ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่รัฐเข้ามาดูแลบริษัทที่ให้บริการแท็กซี่ โดยการมีใบขับขี่สาธารณะไม่ใช่จะสามารถมาขับแท็กซี่ได้เลย แต่ต้องมาขอใบอนุญาตและเข้าอบรมความรู้สำหรับคนขับแท็กซี่ก่อน และไม่ใช่จะขับได้ทุกที่เมื่อจะไปขับพื้นที่ไหนก็ต้องมีการขออนุญาตทางพื้นที่จะไปขับด้วย
"ในต่างประเทศแท็กซี่เป็นรถสาธารณะที่มีการควบคุม ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาจดทะเบียน ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ส่วนคนขับก็เหมือนพนักงานของบริษัท ทำให้มีสวัสดิการดูแล รายได้ก็เป็นการแบ่งกันตามจำนวนที่ทำได้จริง"
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกหนึ่งข้อสังเกตของผู้ขับขี่แท็กซี่ในกรุงเทพฯคือ สวัสดิการและคุณภาพชีวิตคนทำงานที่ไม่มีมาตรฐานเพียงพอหากเทียบกับผู้ขับขี่รถสาธารณะประเภทอื่น เช่น ผู้ขับขี่รถทัวร์ ที่จะมีการดูแลเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ การทำงานระบุชัดว่าต้องไม่เกินกี่ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ขับขี่แท็กซี่ไม่มีข้อกำหนด จะขับกี่ชั่วโมงก็ได้
เขากล่าวด้วยว่า ปัญหาอีกอย่างคือ การต่อรองค่าเช่าแท็กซี่ระหว่างคนขับกับเจ้าของอู่ให้เช่า ซึ่งไม่มีรถแท็กซี่ใหม่ให้บริการเช่าเพียงพอ เพราะการขับรถแท็กซี่เก่ามีข้อบังคับเกี่ยวกับตัวถังแท็กซี่ต้องมีอายุไม่มากกว่า 2 ปี บางอู่ไม่มีรถใหม่มาให้เช่า ทำให้มีการต่อรองเสนอราคาเช่าที่เพิ่มขึ้นหากอู่หารถใหม่มาให้ขับได้ และด้วยรูปแบบการจ่ายค่าเช่ารถที่ถูกกำหนดราคาไว้แล้ว ดังนั้นจะขับได้ลูกค้ามากหรือน้อยก็ต้องจ่าย ราคาเช่ารถดังกล่าว ทำให้ต้องวิ่งทำรอบเยอะ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ปฏิเสธผู้โดยสารที่เป็นเส้นทางรถติด หรือเส้นทางไกล เนื่องจากไม่คุ้มวิ่งทำรอบได้น้อยกว่า
"ในต่างประเทศได้แก้ปัญหาค่าเช่าแท็กซี่ โดยแบ่งค่าโดยสารเป็นระดับ รถรุ่นเก่ามีราคาให้บริการที่ถูกกว่ารถรุ่นใหม่ ซึ่งก็เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการรถรุ่นเก่าด้วย"
ในมุมมองที่จะควบคุมคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ได้นั้น "วิฑูรย์" เห็นว่า ควรเปิดให้บริการแท็กซี่ในรูปแบบบริษัทเช่นในต่างประเทศ ซึ่งจะไม่เปิดเสรีทั้งหมด เพราะเมื่อเปิดเป็นบริษัทที่รัฐกำกับจะมีการจำกัดจำนวนบริษัท คนขับแท็กซี่จะมีสวัสดิการจากบริษัท เมื่อผู้ขับขี่ได้รับสวัสดิการที่ดีคุณภาพการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นต่อผู้ใช้ โดยเมื่อเป็นรูปแบบบริษัท ผู้โดยสารที่ไม่พึงพอใจหรือได้รับปัญหาจากการให้บริการสามารถร้องเรียนโดยตรงไปยังบริษัท หรือหน่วยงานรัฐที่ดูแลที่จะลงโทษบริษัทได้
รูปแบบบริษัทลักษณะนี้จะเพิ่มความรับผิดชอบตั้งแต่การอบรม คัดเลือกพนักงานขับรถให้มีคุณภาพและสามารถลงโทษผู้ขับขี่รถได้ แต่รูปแบบบริษัทรถแท็กซี่ลักษณะนี้ยังไม่มีใครดำเนินการ เพราะยังไม่คุ้มในแง่ธุรกิจ และมองว่ามีค่าใช้จ่ายการจัดการสูง อาทิ หากทำเช่นในต่างประเทศเลยบางแห่งในรถจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร เช่น ติดกล้องวงจรปิดในรถ ติดเครื่องจีพีเอส
ขณะที่ปัญหาแท็กซี่ไม่ได้มาตรฐานเป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนกรุงเทพฯ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามจะสร้างมาตรฐานที่ดีผ่านการอบรม โดย พล.ต.ท.ไตรรัตน์ อมาตยกุล ประธานกรรมการบริหารสถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่า ที่ผ่านมามีโครงการอบรมแท็กซี่ไทยหัวใจอินเตอร์ เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการให้แท็กซี่ไทยในการให้บริการชาวต่างชาติ ทั้งนี้มีแท็กซี่ผ่านการอบรมในโครงการนี้ ไปแล้ว 1,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากจากแท็กซี่ทั้งหมด
ทั้งนี้ พล.ต.ท.ไตรรัตน์ ระบุว่า สำหรับผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการพัฒนาด้านภาษาให้ผู้ขับขี่ จะยิ่งทำให้แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารชาวไทยและเลือกให้บริการผู้โดยสารต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะรายได้ดีกว่านั้น เราก็พยายามจะอบรมเรื่องทักษะการให้บริการควบคู่ด้วย
นายปรีชา วิบูลย์เวชวาณิชย์ ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับการควบคุมแท็กซี่ เพื่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น จะได้มีแท็กซี่ที่ต้องการขับเป็นอาชีพจริงจัง ไม่ใช่ขับเพราะไม่มีอาชีพและคิดว่าขับอย่างไรก็ได้ ไม่รักในอาชีพ
ส่วนแนวคิดเปิดบริษัทที่ให้บริการแท็กซี่เป็นเรื่องดี ถ้าให้มีการดูแลสวัสดิการทั้งด้านรายได้และความปลอดภัยของผู้ขับ ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบบริษัทก็จะมีเงินทุนในทำระบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพแท็กซี่ต่อไป