รีวิว Honda City 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ พรีเมี่ยมขึ้นในราคาเท่าเดิม
รถยนต์กลุ่มบี-เซ็กเม้นต์พิกัด 1.5 ลิตร ในปัจจุบันกำลังทำตลาดอย่างขับเคี่ยว ซึ่งหนึ่งในเรือธงของกลุ่มนี้ ก็คือ Honda City 2017 ใหม่ ที่เพิ่งปรับโฉมย่อยกระตุ้นตลาดไปเมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา
ดังนั้น เมื่อทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้เกียรติชักชวน Sanook! Auto เข้าร่วมทดสอบหนึ่งในรถซีดานขายดีที่สุดในตลาดขณะนี้ เราจึงไม่พลาดมาบอกเล่าประสบการณ์ขับขี่ให้คุณผู้อ่านได้ทราบกัน
ฮอนด้า ซิตี้ 2017 โฉมไมเนอร์เชนจ์ ใหม่ ถูกเปิดตัวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่ได้รับการเปิดตัวโฉมไมเนอร์เชนจ์นี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของ City 2017 ใหม่ เห็นจะเป็นการปรับปรุงดีไซน์ภายนอกให้ดูหรูหรากว่าโฉมที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มชิ้นส่วนโครเมียมตามจุดต่างๆ การเปลี่ยนไฟหน้าในรุ่นท็อปเป็นแบบ LED เช่นเดียวกับรถรุ่นใหญ่ รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้ล้ออัลลอยดีไซน์หรู จากเดิมที่ให้ความรู้สึกสปอร์ตมากกว่า
ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ ทำตลาดทั้งหมด 6 รุ่นย่อยเช่นเคย ได้แก่ S MT, S CVT, V CVT, V+ CVT, SV CVT และ SV+ CVT ซึ่งคันที่เราได้รับทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่นท็อปสุด ก็คือ SV+ CVT นั่นเอง
ดีไซน์ภายนอก
Honda City รุ่น 1.5 SV+ ยังคงใช้ตัวถังเดิมตามฉบับการปรับโฉมย่อย ไฟหน้าจากเดิมที่เป็นแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ฮาโลเจน ถูกเปลี่ยนเป็นแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED ในตัว ซึ่งไฟหน้าของซิตี้ใหม่ จะเป็นแบบ LED ทั้งไฟสูงและไฟต่ำ
กระจังหน้าถูกออกแบบให้ด้วยดีไซน์แบบตะแกรง คาดด้วยแถบโครเมียมขนาดใหญ่ ติดตั้งไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ซึ่งมีให้ตั้งแต่รุ่น SV ขึ้นมา
ไล่มาทางด้านข้างไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ในทุกรุ่นย่อย ซึ่งในรุ่น SV ขึ้นมาจะเป็นล้อขนาด 16 นิ้วสีทูโทน พร้อมยาง Turanza ER370 ขนาด 185/55 R16 ขณะที่ด้านท้ายมีการเปลี่ยนกันชนท้ายดีไซน์ใหม่ ส่วนไฟท้ายยังคงดีไซน์เช่นเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆยังคงเดิม เช่น กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวในตัว, มือจับประตูโครเมียม, เสาอากาศแบบครีบฉลาม, คิ้วฝากระโปรงท้ายโครเมียม เป็นต้น
ดีไซน์ภายใน
ก้าวเข้ามานั่งภายในห้องโดยสารของ ซิตี้ ไมเนอร์เชนจ์ ที่ยังคงตกแต่งด้วยโทนสีดำเป็นหลัก แผงคอนโซลยังคงดีไซน์เดิมเอาไว้ แต่เปลี่ยนเครื่องเสียงจากเดิมที่มีขนาด 7 นิ้ว เป็นฟร้อนท์แบบมาตรฐานขนาด 2DIN พร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 6.8 นิ้ว มีปุ่มควบคุมที่สามารถกดได้จริงๆ จากเดิมที่เป็นแบบสัมผัสทั้งหมด ซึ่งมีข้อดีคือสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้นในขณะขับขี่ เพราะไม่ต้องเสียสมาธิในการใช้นิ้วจิ้มให้ตรงตำแหน่ง ขณะที่พอร์ต HDMI และ USB ถูกย้ายไปติดตั้งไว้บนฟร้อนท์ทั้งหมด
เครื่องเสียงชุดนี้สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่านบลูทูธได้ทั้งระบบ Android และ iOS มาพร้อมปุ่มรับสาย-วางสายที่พวงมาลัย ขับกำลังเสียงผ่านลำโพงทั้งหมด 8 จุดรอบคัน อีกทั้งยังสามารถแสดงภาพจากกล้องมองหลัง ปรับองศาได้ 3 ระดับ เสียดายไม่มีเซ็นเซอร์กะระยะท้ายมาให้
ไล่ลงมายังคงติดตั้งสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบสัมผัส สามารถปรับอุณหภูมิขึ้น-ลงได้ครั้งละ 1 องศา หากใช้นิ้วลากลงจนสุดบริเวณปุ่มปรับอุณหภูมิ หน้าจอจะแสดงคำว่า LO ซึ่งเป็นการปรับให้อุณหภูมิเย็นจัด เหมาะสำหรับเวลาขึ้นรถหลังจากที่จอดตากแดดร้อนๆ ขณะที่เหนือเพดานติดตั้งไฟห้องโดยสารและไฟอ่านแผนที่แบบ LED เช่นเดียวกับรถระดับหรู
ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ยังคงมีมาให้อย่างครบถ้วน ซึ่งสมัยที่ซิตี้เปิดตัวใหม่ๆ ก็นับได้ว่าเป็นรถบี-เซ็กเมนต์พิกัด 1,500 ซีซี ที่ติดตั้งอ็อพชั่นมาให้เยอะที่สุดคันหนึ่งในตลาด ซึ่งในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ก็ยังคงแน่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control, ระบบกุญแจอัจฉริยะ Honda Smart Key System พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์, มาตรวัดเรืองแสงพร้อมจอ MID ที่แสดงข้อมูลได้หลากหลาย รวมถึงแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยที่ปรับอัตราทดได้ 7 สปีด ฯลฯ
ตัวเบาะนั่งในรุ่น 1.5 SV+ ถูกหุ้มด้วยวัสดุผ้าสีดำ ตกแต่งรายละเอียดให้ดูสปอร์ตมากขึ้น เบาะนั่งฝั่งผู้ขับขี่สามารถปรับสูง-ต่ำได้ พร้อมพวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้งขึ้น-ลง, เข้า-ออก ช่วยให้ปรับตามสรีระของแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น
พื้นที่โดยสารด้านหลังยังคงกว้างขวางตามสไตล์ฮอนด้า ที่เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นพิเศษ พื้นที่วางขามีให้แบบเหลือๆ กว้างกว่ารถ C-Segment บางรุ่นด้วยซ้ำไป ขณะที่องศาเอนของพนักพิงเบาะถูกเซ็ทมาให้กำลังดี เรียกว่าเหมาะสำหรับการใช้งานทั้งครอบครัว ที่มีผู้โดยสารเบาะหลังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้สูงวัยทั้งหลาย ไม่น่าจะมีใครบ่นในเรื่องนี้ เรียกว่าเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ารถระดับเดียวกันอย่างแน่นอน มาพร้อมช่องจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลังอีก 2 ตำแหน่ง
แต่จุดที่น่าสังเกต คือ ความนุ่มของฟองน้ำในตัวเบาะที่ค่อนข้างยวบไปนิด จริงอยู่ที่เบาะนิ่มๆ จะช่วยลดแรงสะเทือนจากช่วงล่างได้ แต่หากต้องโดยสารเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้รู้สึกเมื่อยได้ในบางคน
ด้านระบบความปลอดภัยก็มีมาให้เพียบเช่นกัน ด้วยถุงลมนิรภัยทั้งหมด 6 จุดรอบคัน ทั้งคู่หน้า, ด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย (ตั้งแต่รุ่น SV ลงไปมีเฉพาะคู่หน้า) ขณะที่ทุกรุ่นย่อยจะถูกติดตั้งระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSA, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ระบบไฟสัญญาณฉุกเฉินกะทันหัน ESS, ระบบล็อคประตูอัตโนมัติตามความเร็วรถ, เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าพร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ, เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด จำนวน 4 ที่นั่ง และแบบ 2 จุด อีก 1 ที่นั่ง รวมถึงจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX
ขุมพลังใน City 2017 ไมเนอร์เชนจ์ ยังคงใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร SOHC 4 สูบ 16 วาลว์ พร้อมระบบ i-VTEC ให้กำลังสูงสุด 117 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 146 นิวตัน-เมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่สามารถล็อคอัตราทดได้ 7 สปีด (เมื่อใช้โหมด Manual หรือเกียร์ Paddle Shift)
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม H-shape ติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ระบบเบรกด้านหน้าแบบดิสก์เบรกพร้อมช่องระบายความร้อน ด้านหลังแบบดรัมเบรกในทุกรุ่นย่อย
เส้นทางการทดสอบในครั้งนี้เริ่มต้นจากโชว์รูม บริษัท เอที ฮอนด้า ออโตโมบิล (เอกชัย-บางบอน) จำกัด ไปถึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมระยะทางไปกลับประมาณ 350 กิโลเมตร ให้เราได้คลุกคลีใช้ชีวิตในรถคันนี้กันพอประมาณ
เริ่มออกเดินทางกับ City 2017 ใหม่ ฟีลลิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่ก้าวเข้ามานั่งในรถ แทบไม่ต่างจากรุ่นเดิมเลย ไม่ว่าจะเป็นห้องโดยสารที่กว้างขวางในทุกที่นั่ง ซึ่งในขาแรกผู้เขียนมีโอกาสนั่งเบาะหลังก่อน ก็บอกได้เลยว่าเป็นรถที่พื้นที่โดยสารอย่างเหลือเฟือ ผู้เขียนเองที่มีความสูง 173 เซนติเมตร ยังพอมีพื้นที่เหนือศีรษะอยู่เล็กน้อย ส่วนพื้นที่วางขาสามารถนั่งไขว้ห้างได้สบายๆ
ความเงียบภายในห้องโดยสารด้านหลังถือว่าทำได้ดี มีเสียงจากพื้นถนนเล็ดลอดเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ยังคงสนทนากับผู้ขับขี่ได้สบาย ขณะที่ความนุ่มนวลก็ตามสไตล์ฮอนด้า สามารถซับแรงสะเทือนเวลาที่ขับผ่านหลุมหรือฝาท่อได้พอสมควร มีกระด้างให้เห็นอยู่นิดๆ ตอบโจทย์ผู้ที่เดินทางในแบบครอบครัวเป็นประจำได้ดี
หลังจากที่จอดแวะดื่มกาแฟเป็นที่เรียบร้อย คราวนี้ผู้เขียนลองสลับมาเป็นผู้ขับดูบ้าง โดยภาพรวมการขับขี่ของซิตี้ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ยังคงไม่ต่างไปจากเดิมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่งที่นุ่มนวลตามสไตล์เกียร์ CVT ซึ่งเซ็ตอัตราทดให้สามารถขับทางไกลได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องเค้นรอบสูงให้เปลืองน้ำมัน
ช่วงล่างที่นุ่มนวลในมุมมองของผู้โดยสาร เมื่อมาเป็นผู้ขับขี่รู้สึกได้ว่าถูกเซ็ทมาแบบกลางๆ ไม่แข็งไปหรือนิ่มไป ช่วงล่างในย่านความเร็วต่ำจะมีอาการสะเทือนนิดๆ เมื่อขับผ่านหลุมหรือรอยต่อของถนน แต่เมื่อใช้ความเร็วสูง จะให้ความรู้สึกยวบยาบอยู่บ้าง ซึ่งเป็นสไตล์การเซ็ทช่วงล่างของฮอนด้าแทบทุกรุ่น
ในช่วงที่เป็นทางโค้ง ช่วงล่างของซิตี้ยังไม่ถือว่าเป็นรถที่ขับสนุกนัก เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าช่วงล่างของรถคันนี้ถูกเซ็ทมาให้นั่งสบายทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารเป็นหลัก จึงได้เปรียบเรื่องความนุ่มนวลนั่งสบาย แต่กลับกันพวงมาลัยยังให้ความรู้สึกแบบหุ่นยนต์ ไม่เป็นธรรมชาติมากนัก ซึ่งก็แล้วแต่จุดประสงค์การใช้งานของแต่ละคนด้วย
ขณะที่การตอบสนองของแป้นเบรก เมื่อกดไปครั้งแรกอาจรู้สึกว่าความเร็วยังไม่ลดเท่าที่ควรนัก ต้องกดน้ำหนักเพิ่มลงไปอีกหน่อย ผ้าเบรกจึงจะเริ่มจับกับจานเบรกเต็มที่ ความเร็วจะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ดี เจ้าของรถเองสามารถปรับตัวให้ชินกับเบรกรถแต่ละคันได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถคันเดียวเป็นประจำ ไม่เปลี่ยนไปขับคันนู้นคันนี้อยู่บ่อยครั้งเหมือนผู้เขียน จุดนี้จึงถือว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
สรุป Honda City 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ยังคงเป็นรถที่เอาใจการขับขี่แบบครอบครัวเช่นเคย แม้ว่าการปรับโฉมย่อยครั้งนี้ จะดูไม่หวือหวามากมายนัก แต่อย่าลืมว่า City โฉมนี้ก็ถือเป็นรถที่มีอุปกรณ์มาตรฐานมากที่สุดคันหนึ่งในรถระดับเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับย่อยครั้งนี้ถือเป็นการปรับรูปลักษณ์ให้ดูสดใหม่น่าใช้ขึ้น ใส่ไฟหน้าแบบเดียวกับรถระดับราคาเกินล้านมาให้ใช้ บวกกับอ็อพชั่นที่ยังคงมีมาให้แน่นเอี๊ยด เทียบกับราคาจำหน่ายเท่าเดิมแล้ว จึงถือเป็นรถที่น่าใช้อีกรุ่นหนึ่งครับ
ราคาจำหน่าย Honda City 2017 ใหม่ มีดังนี้
รุ่น SV+ CVT ราคา 751,000 บาท (รุ่นที่ใช้ทดสอบ)
รุ่น SV CVT ราคา 736,000 บาท
รุ่น V+ CVT ราคา 689,000 บาท
รุ่น V CVT ราคา 649,000 บาท
รุ่น S CVT ราคา 589,000 บาท
รุ่น S MT ราคา 550,000 บาท
อัลบั้มภาพ 50 ภาพ