คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับรถติดจริง หรือรู้สึกไปเอง

คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับรถติดจริง หรือรู้สึกไปเอง

คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับรถติดจริง หรือรู้สึกไปเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ปัญหารถติดเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯมานาน และเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากยิ่ง ยิ่งวันไหนต้องเจอกับพายุฝน หรือตรงกับวันศุกร์สิ้นเดือน หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือตรงกับศุกร์สิ้นเดือนด้วยเจอพายุฝนด้วย หลาย ๆ คนก็คงจะรู้ซึ้งว่ารถติดมันเป็นปัญหาจริง ๆ ทั้งเสียเวลาและเปลืองน้ำมัน

     คำถามถัดมาที่หลาย ๆ คนอยากรู้คำตอบว่าปัญหารถติดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต หรือปัญหารถติดในปัจจุบันมันไม่ได้รุนแรงแตกต่างจากอดีตเพียงแค่เราคิดไปเอง แล้วโครงการรถยนต์คันแรกซึ่งเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยมีผลมากน้อยเพียงใดกับปัญหารถติด สุดท้ายพอจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยแก้ปัญหารถติดหรือให้ติดน้อยลง มาหาคำตอบกัน...

     ก่อนอื่นเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาเรามาดูผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ซึ่งจัดทำโดยกรุงเทพโพลล์ที่ทำการสำรวจความเสี่ยงด้านการจราจรและการเดินทางเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 พบว่า มีค่าคะแนนความเสี่ยงเท่ากับ 7.15 คะแนน (จากเสี่ยงมากสุด 10 คะแนน) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ที่มีคะแนน 6.16 คะแนน หรือเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 10% ถัดมาถามคนกรุงเทพฯว่านโยบายประชานิยมกระทบอย่างไรบ้างกับตัวท่านเอง คนกรุงเทพฯ 64% บอกว่า ทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น ซึ่งเป็นลำดับ 2 รองจากข้าวของแพง เช่นเดียวกับผลสำรวจในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในประเด็นสิ่งที่อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่มาแก้ปัญหามากที่สุดซึ่งคำตอบก็คืออยากให้แก้ปัญหารถติด 28% เป็นลำดับ 2 รองจากเรื่องของปากท้องเช่นเดียวกัน ข้อมูลที่กล่าวมาพอจะเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นความรู้สึกของคนกรุงเทพฯที่มีต่อปัญหาจราจรได้ในระดับที่ถือว่าชัดเจน

     ทีนี้มาดูข้อเท็จจริงในเชิงสถิติกันบ้างว่าปัญหารถติดมันติดจริงหรือไม่ แล้วโครงการรถยนต์คันแรกมีส่วนทำให้รถติดมากน้อยขนาดไหน โดยจะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลปี 2555 กับปี 2550

     ในปี 2555 จำนวนรถจดทะเบียนสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ (ไม่รวมรถจักรยานยนต์) มีสูงถึง 4.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 คิดเป็น 35.4% ซึ่งเมื่อดูข้อมูลรถใหม่ป้ายแดงที่จดทะเบียนย้อนหลังจากปี 2554 ถึงปี 50 จะพบว่า มีรถใหม่ป้ายแดงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.2% เท่านั้น ขณะที่ปี 2555 เพียงปีเดียวและเป็นปีที่มีการเปิดโครงการรถยนต์คันแรกทำให้ปีนั้นมีรถใหม่ป้ายแดงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 46.2% หรือถ้าหากดูจากสัดส่วนรถใหม่ป้ายแดงที่จดทะเบียนในปี 2555 กับจำนวนรถทั้งหมดที่จดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯจะพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 13.2% และหากมาดูความยาวของถนนกับการรองรับปริมาณรถยนต์พบว่า จำนวนรถมากกว่าพื้นที่ถนนถึง 2.9 เท่า เพิ่มขึ้นจากปี 2550 คิดเป็น 0.8 เท่า ดังนั้นเมื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นแต่ถนนยังเท่าเดิมสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การเคลื่อนที่ของรถก็จะช้าลง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งจากข้อมูลความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนสายหลักในกรุงเทพฯในชั่วโมงเร่งด่วนขาเข้าในตอนเช้ารถวิ่งได้เพียงความเร็ว 17.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งช้ากว่าปี 2550 เท่ากับ 4.8% ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนขาออกในตอนเย็นรถวิ่งได้เร็วเพียง 21.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งช้ากว่าปี 2550 ถึง 16.9%

     ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ปัญหารถติดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไม่ได้บรรเทาลง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ใช่สิ่งที่คนกรุงเทพฯรู้สึกไปเอง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเรามีการเปิดใช้รถไฟฟ้าบนดิน รถไฟฟ้าใต้ดิน มีการสร้างส่วนต่อขยายไปถึงสมุทรปราการและฝั่งธนบุรี มีการสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาลดลง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลต้องยอมรับและหนีไม่พ้นคือ ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากโครงการรถยนต์คันแรก เมื่อรวมกับการขับรถที่ไม่มีระเบียบวินัยและไม่เคารพกฎจราจรที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงสภาพดิน ฟ้า อากาศจึงทำให้รถติดไปกันใหญ่

     สำหรับสิ่งที่พอจะบรรเทาปัญหาจราจรได้ในเบื้องต้นคงหนีไม่พ้นการเริ่มต้นที่ตัวเราเป็นสิ่งแรกคือ การเคารพกฎจราจร เพราะการเคารพกฎจราจรจะช่วยให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดการเกิดอุบัติเหตุ ถัดมาคือการส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯหันมาใช้บริการสาธารณะให้เพิ่มขึ้น รวมถึงควรมีการออกกฎระเบียบใหม่ ๆ มาบังคับใช้เพื่อช่วยลดปัญหารถติด เช่น ห้ามรถที่มีแต่คนขับไม่มีผู้โดยสาร เส้นทางปลอดรถจักรยานยนต์ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สรุปคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้ที่ควรจะช่วยกันแก้ไขโดยเริ่มที่ตัวเองก่อน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook