"คนกรุง" กับ "แท็กซี่"

"คนกรุง" กับ "แท็กซี่"

"คนกรุง" กับ "แท็กซี่"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ปัญหาคนกรุงกับแท็กซี่กำลังไต่ระดับเป็น "คู่กัด" ของสังคมเมืองบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่ฮอตฮิตเป็นประเด็นบ่อยคือแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือเลือกผู้โดยสารในเส้นทางที่อยากจะไปเท่านั้น บ้างก็เลือกเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติ ปัญหาคนกรุงกับแท็กซี่ จากแค่สร้างความหงุดหงิดกวนใจ เริ่มกลายเป็นปัญหาบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ

ถาม ว่ากรุงเทพฯมีปัญหาแท็กซี่ขาดแคลนหรือไม่ ถ้าดูจากสถิติทั่วกรุงเทพฯมีรถแท็กซี่จดทะเบียนให้บริการถึง 108,500 คัน จำนวนแท็กซี่ระดับนี้มีไม่น้อย แต่ที่ยังมีปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร มีตั้งแต่ปัญหาคลาสสิก คนขับเลือกผู้โดยสาร ไปจนถึงอู่รถที่จอดรถค้างเติ่ง ขาดผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะถูกต้องมาเช่า

     ประเด็นการรีบ เร่งทำเวลาปั่นเงินเพื่อคืนค่าเช่าของคนขับทำให้มีอาการ "เลือก" ผู้โดยสารเพื่อประหยัด และทำเวลาให้ได้เม็ดเงินและรายได้คุ้มค่าการวิ่งรถที่สุด ผลคือมีร้องเรียนปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารไปยังกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่ปี 2555 ถึงเดือนเมษายน 2556 มีผู้ร้องเรียน 20,162 ราย ปัญหานี้ไล่เลี่ยมากับถูกร้องเรียนว่า คนขับแท็กซี่พาขับรถเส้นทางอ้อม ที่ร้องเรียนระดับหลักหมื่นเช่นกัน ทั้งหมดนี้คือแท็กติกของคนขับที่จะเพิ่มเม็ดเงินให้พอจ่ายค่าเช่าและเป็นรายได้

อันที่จริงบ้านเราใช้นโยบายการจดทะเบียนรถแท็กซี่เสรีในกรุงเทพฯแบบไม่จำกัด จำนวนรถ แทนที่จะได้รับบริการขนส่งที่คุ้มค่าทั่วถึงกับความต้องการของประชาชน เพราะทำให้เกิดการแข่งขันตั้งแต่สภาพรถใหม่ที่จะต้องนำมาวิ่ง และมองว่าผู้ขับขี่ได้เช่ารถราคาถูก เจ้าของอู่ไม่ปรับราคาตามใจชอบได้ เพราะมีการแข่งขันสูง

     แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เมื่อไปดูต่างประเทศมีแนวทางน่าสนใจ อย่างเพื่อนบ้านเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย วิธีการบริหารคือให้รัฐเข้ามาดูแลบริษัทเอกชน ที่ให้บริการ แท็กซี่ เป็นลักษณะที่รถสาธารณะมีการควบคุม ไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาจดทะเบียน ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ส่วนคนขับเป็นเหมือนพนักงานของบริษัท จึงมีสวัสดิการดูแล รายได้ก็เป็นการแบ่งกันตามจำนวนที่ทำได้จริง อีกจุดหนึ่งคือไม่ใช่จะขับไปได้ทุกที่ เมื่อจะไปขับพื้นที่ไหนต้องมีการขออนุญาตทางพื้นที่ที่จะไปขับด้วย

อีก หนึ่งมุมมองที่น่าสนใจจาก "วิฑูรย์ แนวพานิช" ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ว่า ปัญหาคุณภาพของผู้ขับขี่รถแท็กซี่เป็นจุดเริ่มต้น

"ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของรถแท็กซี่ หากยินยอมให้ผู้อื่นที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะเช่า หรือขับมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากไม่จัดทำประวัติคนขับรถแท็กซี่จะมีความผิดปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่การลงโทษส่วนมากก็จะจบเพียงแค่คนขับ ไม่สาวไปถึงอู่ที่อนุญาตให้เช่า"

     นี่ จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร หรือความผิดประเภทขับรถอ้อม ปล่อยผู้โดยสารลงกลางทาง เหล่านี้เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้ถูกที่คัน แม้จะมีการถอนใบอนุญาตขับขี่รถแท็กซี่ระดับ 2-3 พันรายต่อปี แต่ก็เป็นการลงโทษไปที่ตัวบุคคล ไม่ถึงผู้ประกอบการ นั่นจึงไม่ทำให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อผู้โดยสารร่วมกัน

เช่นนี้รูป แบบบริษัทให้บริการแท็กซี่เอกชนที่มีรัฐดูแล จึงถูกหยิบยกมานำเสนอทุกครั้งที่มีการพูดถึงปัญหาแท็กซี่ เพราะต้องเพิ่มความรับผิดชอบตั้งแต่การอบรม คัดเลือกพนักงานขับรถให้มีคุณภาพ และสามารถลงโทษผู้ขับขี่รถได้ชัดเจนกว่า นอก จากนี้ ปัญหาเชื่อมโยงถึงผู้โดยสาร ยังมาจากเรื่องค่าเช่ารถแท็กซี่ ด้วยรูปแบบการจ่ายค่าเช่ารถที่ถูกกำหนดราคาไว้แล้ว ดังนั้นจะขับได้ลูกค้ามากหรือน้อยก็ต้องจ่ายราคาเช่ารถดังกล่าว ทำให้ต้องวิ่งทำรอบเยอะ ส่งผลให้ผู้ขับขี่เลือกผู้โดยสาร และปฏิเสธการไปเส้นทางรถติดหรือเส้นทางไกล เนื่องจากไม่คุ้มวิ่งทำรอบได้น้อยกว่า

     ประธานเครือข่ายสหกรณ์ แท็กซี่ กรุงเทพฯ ยกกรณีต่างประเทศใช้วิธีแก้ปัญหาค่าเช่ารถแท็กซี่ที่มีหลายราคาลดหลั่นไป และส่งผลต่อราคาโดยสารด้วย อาทิ หากขับรถเก่าค่าเช่าก็ถูกลง และส่งผลต่อราคาให้บริการที่ถูกกว่ารถรุ่นใหม่ เหล่านี้เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการรถรุ่นเก่าด้วย แต่ รูปแบบบริษัทรถแท็กซี่ลักษณะนี้อาจไม่คุ้มในแง่ธุรกิจ เพราะยังมีเรื่องค่าบริหารจัดการที่สูงกว่ารูปแบบปัจจุบัน กระนั้นไม่นานจากนี้ เมื่อเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อู่รถแท็กซี่ในกรุงเทพฯอาจต้องตื่นตัวก่อนที่จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาแย่ง พื้นที่และให้บริการได้ดีกว่าในอนาคต...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook