รีวิว MG GS 1.5 เทอร์โบใหม่ คล่องตัวขึ้น อ็อพชั่นเพียบ ในงบไม่ถึงล้าน
MG เป็นแบรนด์น้องใหม่ในบ้านเรา ที่มีการทุ่มเททำตลาดเอาใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับการเปิดตัว MG GS รุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5 ลิตร เสริมทัพไลน์เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรที่วางจำหน่ายมาก่อนหน้านี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าเอ็มจีเดินหน้าเอาจริงเอาจังกับตลาดเมืองไทยขนาดไหน
บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเปิดโอกาสชักชวนทีมงาน Sanook! Auto เข้าร่วมทดสอบ MG GS 1.5 เทอร์โบใหม่ล่าสุด บนเส้นทางกรุงเทพฯ – ชัยภูมิ – อุดรธานี เพื่อสัมผัสสมรรถนะของเครื่องยนต์บล็อกใหม่นี้ ว่าจะมีดีอย่างไรบ้าง
เดิมที MG GS จะมีจำหน่ายเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรเทอร์โบเท่านั้น ซึ่งราคาก็ขึ้นไปอยู่ระดับล้านต้นๆ ทำให้ใครหลายคนหันไปมองแบรนด์อื่นที่อยู่ในตลาดมานานกว่าแทน จึงเป็นสาเหตุให้เอ็มจีเสริมความแข็งแกร่งด้วยรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เพื่อให้สามารถทำตลาดด้วยราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท โดยยังคงไว้ซึ่งอ็อพชั่นแน่นเอี๊ยดจากรุ่น 2.0 ลิตร แถมสมรรถนะจากเครื่องยนต์ก็เหนือกว่าที่เราคาดหวังไว้อีกด้วย
แม้ว่าดูเผินๆ MG GS เหมือนจะเป็นรถในกลุ่มครอสโอเวอร์ขนาดเล็กประเภทเดียวกับ Honda HR-V หรือ Toyota C-HR ที่เริ่มวางขายในตลาดโลกแล้ว แต่หากวัดกันที่มิติตัวถังจะพบว่า MG GS เป็นรถเอสยูวีขนาดคอมแพ็คเทียบเท่ากับคู่แข่งอย่าง Honda CR-V และ Chevrolet Captiva ในขณะนี้ ดังนั้นการตั้งราคาจำหน่ายไว้ไม่ถึง 1 ล้านบาท จึงทำให้ GS มีจุดเด่นที่น่าสนใจในด้านราคาขายเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน
MG GS รุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร มีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ได้แก่ 1.5T D และ 1.5T X ทำให้ขณะนี้ MG GS ในตลาดบ้านเรามีรุ่นย่อยเพิ่มเป็นทั้งหมด 4 รุ่น โดยมีรุ่น 2.0T D และ 2.0T X AWD วางไว้ในระดับราคาที่สูงกว่า
ดีไซน์ภายนอกของ MG GS 1.5 เทอร์โบ ถูกยกมาจากรุ่น 2.0 ลิตรแทบทั้งหมด ด้วยตัวถังที่ออกแบบภายใต้แนวคิด Brit Dynamic และ Diamond Flow Design ของเอ็มจี ดังนั้น หากจะสังเกตจุดต่างสำคัญระหว่างทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็คงต้องดูจากล้ออัลลอยที่มีขนาดอยู่ที่ 17 นิ้ว ในรุ่น 1.5 ลิตร ทั้งสองรุ่นย่อย เนื่องจากรุ่น 2.0 ลิตร จะเป็นล้อสีทูโทนขนาด 18 นิ้ว ทั้งสองรุ่นย่อยเช่นกัน
ด้านหน้าของรุ่น 1.5T X ซึ่งเป็นรุ่นท็อปของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ถูกติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ฮาโลเจน พร้อมระบบปรับ-สูงต่ำตามน้ำหนักการบรรทุก พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ขณะที่ Daytime Running Light แบบ LED ถูกแยกไปติดตั้งไว้บริเวณกันชนหน้าใกล้กับโคมไฟตัดหมอก
ดีไซน์ด้านข้างไม่ต่างจากรุ่น 2.0 ลิตร จะต่างก็เพียงล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ดีไซน์เป็นรูปตัว V แบบ 5 ก้าน พร้อมยาง Maxxis Bravo HP ขนาด 215/60 R17
ด้านท้ายของรุ่น X จะถูกติดตั้งไฟท้ายแบบ LED แต่หากเป็นรุ่น D จะเป็นแบบธรรมดา ติดตั้งสปอยเลอร์สีดำเหนือประตูท้าย พร้อมเสาอากาศแบบครีบฉลาม กันชนตกแต่งด้วยสีดำพร้อมไฟตัดหมอกคู่หลัง สวิตช์เปิดประตูท้ายถูกซ่อนไว้ขอบล่างของประตูเหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน พร้อมเซ็นเซอร์กะยะระด้านท้ายแบบ 4 จุด
ในรุ่น 1.5T X ยังมาพร้อมราวหลังคาและซันรูฟเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า โดยแผ่นบังแสงใต้กระจกซันรูฟจะเป็นแบบทึบ ขณะที่รุ่น D ทั้งเครื่องยนต์ 1.5 และ 2.0 ลิตร จะไม่มีซันรูฟมาให้
ภายในห้องโดยสารยังคงให้ความโปร่งโล่งตามสไตล์รถเอสยูวี ในรุ่น 1.5T D ถูกติดตั้งเบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีดำ สามารถปรับไฟฟ้าได้ 6 ทิศทางฝั่งผู้ขับ ขณะที่ฝั่งผู้โดยสารเป็นแบบปรับมือ
เบาะนั่งด้านหลังยังสามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 ได้ มีพนักพิงศีรษะแบบปรับระดับได้จำนวน 3 จุด ตัวพนักพิงสามารถปรับเอนได้ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายขณะเดินทาง พนักพิงตรงกลางสามารถดึงออกเป็นที่วางแขนพร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง รวมถึงมีช่องแอร์ด้านหลังติดตั้งมาให้ด้วย
แผงคอนโซลถูกตกแต่งด้วยวัสดุสีดำ Piano Black ให้ความเงางาม ติดตั้งหน้าจอเครื่องเสียงแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว (รุ่น 1.5T D มีขนาด 6.1 นิ้ว) รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth พร้อมช่อง AUX/USB มีระบบนำทางมาให้ในตัว รวมถึงระบบ InkaNet สำหรับเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับตัวรถ เพื่อการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆได้มากขึ้น
ระบบ InkaNet จะอาศัยการทำงานของอินเตอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง MG GS ที่มีระบบดังกล่าวจะมาพร้อมแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์จากทรูมูฟ เอชทุกคัน ทำให้สามารถตรวจสอบสถานะต่างๆ ของตัวรถได้ เช่น ปิดประตูสนิทหรือไม่, ระดับแบตเตอรี่รถ, ระดับน้ำมัน, แสดงพฤติกรรมการขับขี่ พร้อมอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน, สั่งล็อค-ปลดล็อคประตูผ่านแอพพลิเคชั่น, แจ้งเตือนรถเคลื่อนที่หรือสตาร์ทเครื่องยนต์ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถกำหนดขอบเขตแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแจ้งเตือนหากรถมีการวิ่งเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ ซึ่งฟังก์ชั่น InkaNet ของ MG GS มีด้วยกันทั้งหมดถึง 12 ฟังก์ชั่นเลยทีเดียว
ในฝั่งผู้ขับขี่ถูกติดตั้งพวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 4 ก้าน สามารถปรับระดับได้ 4 ทิศทาง พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift (เฉพาะรุ่น 1.5T X) ขณะที่ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control มีลักษณะเป็นก้านติดตั้งไว้หลังพวงมาลัย มาตรวัดความเร็วเป็นแบบเรืองแสงสีขาว แต่หากปรับคันเกียร์มาที่โหมดสปอร์ต (S) หน้าปัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
ใกล้กับคันเกียร์เป็นสวิตช์ควบคุมเบรกมือไฟฟ้า พร้อมปุ่มระบบช่วยเหยียบเบรกค้างขณะรถติด (Auto Vehicle Hold) และปุ่มปิดการทำงานระบบควบคุมการทรงตัวมาให้
ใต้หน้าจอเครื่องเสียงเป็นแผงควบคุมระบบปรับอากาศอัตโนมัติ รวมถึงปุ่มช็อตคัตสำหรับระบบเครื่องเสียง ใกล้กันเป็นสวิตช์ไฟฉุกเฉิน พร้อมปุ่มควบคุมระบบเซ็นทรัลล็อค
ก้านควบคุมไฟเลี้ยวของ MG GS จะอยู่ฝั่งซ้ายเช่นเดียวกับรถยุโรป ฝั่งขวาเป็นก้านควบคุมที่ปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ (รุ่น 1.5T X) ติดตั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติ และกุญแจอัจฉริยะ Keyless Entry พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์มาให้ (รุ่น 1.5T X)
หากกล่าวโดยสรุปในด้านอ็อพชั่นของตัวรถ ถ้าเป็นรุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร (1.5T X) พบว่าไม่ด้อยไปกว่ารุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเลย จะต่างกันก็เพียงเบาะไฟฟ้าฝั่งผู้โดยสารแบบ 6 ทิศทาง (ซึ่งรุ่น 2.0T D ก็ไม่มีให้เช่นกัน) และระบบตรวจสอบความดันลมยาง TPMS เท่านั้นเอง
ด้านระบบความปลอดภัยอัดแน่นตามาตรฐานรถยุโรป ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้าง, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System), ระบบควบคุมการเบรกในโค้ง CBC (Curve Brake Control), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (Traction Control System), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System), เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด พร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติทั้ง 5 ที่นั่ง เป็นต้น
MG GS 1.5 ลิตร ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินรหัส 15E4E แบบ DOHC 4 สูบ Turbo TGI-TECH ความจุ 1,490 ซีซี พร้อมระบบจ่ายน้ำมันแบบฉีดตรง Gasoline Direct Injection ให้กำลังสูงสุด 167 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร ที่ 1,700-4,400 รอบต่อนาที
ในรุ่น 1.5 ลิตร ถูกติดตั้งระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 สปีด Twin Clutch Sportronic Transmission (TST) ขณะที่รุ่น 2.0 ลิตรเป็นแบบ 6 สปีด
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบอัสระมัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบเบรกเป็นแบบติดตั้งดิสก์เบรกมาให้ทั้ง 4 ล้อ พร้อมผ้าเบรกแบบ Ceramic Compound ด้านหน้าเป็นแบบมีช่องระบายความร้อน พร้อมพวงมาลัยแบบไฟฟ้า EPS
ในด้านการขับขี่นั้น เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่ารุ่น 2.0 ลิตร แต่กลับให้ความรู้สึกคล่องตัวกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรถรุ่นนี้ติดตั้งระบบขับเคลื่อนแบบสองล้อหน้า จึงไม่ต้องมีการส่งกำลังไปยังล้อหลังให้สูญเสียกำลัง
ระบบเทอร์โบในรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ถูกเซ็ทให้ทำงานที่รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่าในรุ่น 2.0 ลิตร ทำให้ช่วงตีนต้นของรถคันนี้มีอัตราเร่งที่ค่อนข้างดี ตอบสนองต่อเท้าได้อย่างทันใจ ซึ่งเป็นความตั้งใจของวิศวกรที่ต้องการให้รุ่น 1.5 ลิตร เป็นรถที่กระฉับกระเฉงยามขับในเมือง
ขณะที่ช่วงความเร็วประมาณ 60-80 กม./ชม. ขึ้นไป จะเริ่มมีอาการแผ่วให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งจุดนี้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรจะได้เปรียบมากกว่า แต่อย่างไรก็ดี เรี่ยวแรงของรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบก็ยังมีให้ใช้พอประมาณยามขับขี่ทางไกล เหมาะสำหรับใครที่ไม่เน้นรีบร้อน ไปกันแบบเรื่อยๆ แต่หากเท้าหนักจริงๆ ก็คงต้องเน้นไปที่เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเทอร์โบแทน
อย่างไรก็ดี MG GS ยังมีอาการประจำที่พบในเอ็มจีหลายรุ่น นั่นคือ การตอบสนองของคันเร่งและเกียร์ที่ค่อนข้างช้าสักเล็กน้อย ในช่วงที่ต้องการเร่งแซงนั้น เมื่อกดคันเร่งไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของระยะแป้นคันเร่งทั้งหมด คันเร่งไฟฟ้าจะใช้เวลาประมาณ 1 วินาทีเศษ ก่อนที่จะสั่งให้เกียร์ดาวน์ชิฟท์ลง จากนั้นต้องรออีกประมาณ 1 วินาทีเพื่อให้สมองกลลดอัตราทดเกียร์ลงมา ตัวรถจึงจะมีแรงดึงพุ่งไปข้างหน้า ดังนั้น การคิกดาวน์ในแต่ละครั้ง อาจต้องรอเวลาประมาณ 2 วินาทีหลังจากที่เหยียบแป้นคันเร่ง เพื่อสร้างแรงบิดให้รถพุ่งทะยานไปข้างหน้า
ขณะที่พวงมาลัยจะมีอาการฟรีอยู่บ้างเล็กน้อย ต้องเพิ่มสมาธิในการควบคุมพวงมาลัยที่ความเร็วสูงมากขึ้น ขณะที่น้ำหนักพวงมาลัยถูกเซ็ทมากำลังดี ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป
ด้านช่วงล่างถือว่าทำได้ดีทีเดียว สามารถซับแรงสะเทือนขณะวิ่งผ่านคอสะพาน หรือช่วงที่พื้นผิวขรุขระได้ดี แต่ยังคงไว้ซึ่งความเสถียรขณะใช้ความเร็วสูง ทำให้ MG GS ถือเป็นคอมแพ็คเอสยูวีที่มีช่วงล่างดีที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดขณะนี้เลยก็ว่าได้
ด้านการเก็บเสียงนั้น หากเป็นเสียงจากช่วงล่างหรือพื้นถนนอยู่ในระดับค่อนข้างดี ทั้งเสียงยางและเสียงช่วงล่างขณะตกหลุมหรือวิ่งผ่านพื้นผิวขรุขระ แต่เสียงลมกลับมีเล็ดลอดให้ได้ยินบริเวณกระจกมองข้างด้านหน้าอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่ารับได้ ไม่ได้ดังจนน่ารำคาญแต่อย่างใด
หากต้องการใช้งานแป้นเปลี่ยนเกียร์บนพวงมาลัย หรือ Paddle Shift นั้น จำเป็นต้องผลักคันเกียร์มายังตำแหน่ง S เสียก่อน จึงจะสามารถปรับเป็นแบบแมนนวลได้ หากยังอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D แล้วล่ะก็ แป้นเปลี่ยนเกียร์จะไม่สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งจุดนี้เองถือว่าควรปรับปรุงด้วย เพราะ Paddle Shift จะมีประโยชน์โดยเฉพาะขณะคับขันที่ต้องการแรงเบรกจากเครื่องยนต์ช่วย หรือยามที่ต้องการเร่งแซงแบบฉับพลัน ซึ่งก็คงไม่สะดวกนักหากต้องปรับเป็นเกียร์ S บ่อยครั้งที่มีการเร่งแซง
ด้านความอเนกประสงค์ของพื้นที่ภายในห้องโดยสารไม่แพ้รุ่น 2.0 ลิตร นั่งโดยสารได้อย่างโปร่งสบาย เบาะนั่งแถวหลังสามารถปรับเอนได้ เหมาะสำหรับใครที่ต้องการหลับพักผ่อน ก็สามารถโดยสารได้อย่างสบาย มีช่องแอร์ด้านหลังให้เสร็จสรรพ ถือเป็นรถครอบครัวที่น่าใช้งานคันหนึ่ง
สรุป MG GS 1.5 เทอร์โบใหม่ ด้านสมรรถนะเน้นการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก ตีนต้นดี ส่วนช่วงกลางถึงปลายเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเทอร์โบทำได้ดีกว่า ด้านความเร็วการตอบสนองของคันเร่งและเกียร์ยังไม่รวดเร็วอย่างใจคิด แต่ถือว่ารับได้ถ้าไม่ได้รีบร้อน ช่วงล่างถูกเซ็ทมาพอดีๆ ไม่แข็งไม่นิ่มเกินไป ให้ความมั่นใจที่ความเร็วสูงพอควร ชูจุดเด่นที่อ็อพชั่นแน่นเต็มคันชนิดที่คู่แข่งได้แต่มองตาปริบๆ กับราคาจำหน่ายไม่ถึง 1 ล้านบาท ใช้งานคนเดียวก็ได้ ใช้งานทั้งครอบครัวก็ดี ถือเป็นอีกหนึ่งเอสยูวีที่น่าสนใจในตลาดขณะนี้ครับ
ราคาจำหน่าย MG GS 1.5 ลิตรเทอร์โบ มีดังนี้
MG GS 1.5T D ราคา 890,000 บาท
MG GS 1.5T X ราคา 990,000 บาท *รุ่นที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้
ขอขอบคุณผู้บริหาร บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ทุกท่าน ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 53 ภาพ