รีวิว Mazda2 2017 ใหม่ เพิ่ม G-Vectoring Control รถเล็กขับสนุกยิ่งกว่าเดิม

รีวิว Mazda2 2017 ใหม่ เพิ่ม G-Vectoring Control รถเล็กขับสนุกยิ่งกว่าเดิม

รีวิว Mazda2 2017 ใหม่ เพิ่ม G-Vectoring Control รถเล็กขับสนุกยิ่งกว่าเดิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เดิมที Mazda2 โฉมปัจจุบันก็ถือเป็นรถเล็กระดับ B-Segment ที่ขับสนุกมากที่สุดคันหนึ่งในตลาดอยู่แล้ว แต่การปรับไมเนอร์เชนจ์ครั้งล่าสุดที่มาพร้อมระบบ G-Vectoring Control จากรุ่นพี่อย่าง Mazda3 ก็ทำให้กลายเป็นรถที่ขับสนุกยิ่งขึ้นไปอีก

237

     มาสด้า2 โฉมล่าสุดนี้ ถูกเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งดีไซน์ภายนอกอาจดูไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก แต่จุดสำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยี G-Vectoring Control มาติดตั้งไว้ในรถรุ่นเล็กคันนี้ ทำให้ Mazda2 กลายเป็นรถรุ่นที่ 2 ในตลาดบ้านเราที่ติดตั้งระบบที่ว่านี้มาให้

     Mazda2 2017 ใหม่ มีการปรับไลน์รุ่นย่อยบางส่วนด้วย โดยยังคงมีให้เลือกทั้งตัวถังแบบซีดาน 4 ประตู และแฮทช์แบ็ค 5 ประตู ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่นจะมีให้เลือกทั้งหมด 7 รุ่นย่อย แบ่งออกเป็นเครื่องยนต์เบนซินจำนวน 4 รุ่น และเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 3 รุ่น ซึ่งสเป็คระหว่างเวอร์ชั่นซีดานและแฮทช์แบ็คจะเหมือนกันแทบทั้งหมด โดยในรุ่นแฮทช์แบ็คจะพ่วงคำว่า Sports เข้ามาในชื่อรุ่นย่อยด้วย

185

     รุ่นย่อยของ Mazda2 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดังนี้

     รุ่นซีดาน
1.3 Standard
1.3 High
1.3 High Connect
1.3 High Plus
XD
XD High Connect
XD High Plus L

     รุ่นแฮทช์แบ็ค
1.3 Sports Standard
1.3 Sports High
1.3 Sports High Connect
1.3 Sports High Plus
XD Sports
XD Sports High Connect
XD Sports High Plus L

138
     ดีไซน์ภายนอกของ Mazda2 รุ่นปี 2017 ใหม่ ในรุ่นท็อปสุด (XD High Plus L/XD Sports High Plus L) ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ LED พร้อม Daytime Running Light แบบ LED ออกแบบรับกับกระจังหน้าสี Gun Metallic ดีไซน์เอกลักษณ์ของมาสด้า ขณะที่กันชนหน้ายังคงดีไซน์เดิม แต่เพิ่มคิ้วโครเมียมบริเวณไฟตัดหมอก ซึ่งในรุ่นที่ติดตั้งไฟหน้าแบบ LED ก็จะได้ไฟตัดหมอกแบบ LED ด้วย

193

     ด้านข้างมีการปรับดีไซน์ไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้างใหม่ให้มีลักษณะเรียวยาว จากเดิมที่จะออกแบบให้กลืนไปกับกรอบกระจกมองข้าง มาพร้อมล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วสีทูโทนในรุ่น High Connect ขึ้นไป ส่วนตัวรองลงมาเป็นล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้วสีเทาดำ ส่วนรุ่นล่างสุด (Standard/XD Standard) จะเป็นกระทะล้อขนาด 15 นิ้วพร้อมฝาครอบ ขณะที่ด้านท้ายของทั้งรุ่นซีดานและแฮทช์แบ็คไม่มีการเปลี่ยนแปลง

108

     ภายในห้องโดยสารยังคงเน้นความหรูหรา ประณีต ซึ่งโดยรวมยังคงดีไซน์เหมือนกับรุ่นก่อนหน้า แต่มีการปรับโทนสีจากดำ-แดง มาเป็นดำ-น้ำตาลเพิ่มความหรูหรายิ่งขึ้นไปอีก ตัวเบาะนั่งในรุ่นท็อปสุด (High Plus L) เป็นแบบหุ้มหนังสีดำ ขณะที่ตัวกลางเบาะเป็นหนังสักหลาดเทียม Grand Luxe ที่ช่วยประคองร่างกายได้ดียิ่งขึ้นในขณะเข้าโค้ง

     พวงมาลัยเป็นแบบหุ้มหนัง 3 ก้านดีไซน์ใหม่ที่ยกมาจากเอสยูวีรุ่นล่าสุดอย่าง CX-9 โดยยังคงเป็นพวงมาลัยที่มีขนาดเส้นรอบวงกำลังดี ตัวก้านจับให้ความโอบกระชับ ถนัดมือ ซึ่งเป็นจุดเด่นของรถมาสด้ายุคใหม่ที่เน้นการขับขี่เป็นสำคัญ

112

     ปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายสำหรับควบคุมเครื่องเสียง, โทรศัพท์ และหน้าจอ MID ขณะที่ปุ่มควบคุมฝั่งขวาสำหรับควบคุมระบบ Cruise Control (เฉพาะรุ่น High Plus L) ด้านหลังพวงมาลัยเป็นแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift เพิ่มขึ้นมา

100

     มาตรวัดความเร็วในรุ่น High Connect ขึ้นมา (ยกเว้น High Connect รุ่นดีเซล) เป็นแบบอนาล็อกกึ่งดิจิตอล โดยมาตรวัดรอบเครื่องยนต์จะเป็นแบบเข็มปกติ พร้อมจอแสดงความเร็วแบบดิจิตอล ประกบด้วยหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบดิจิตอลทั้งคู่ เหนือแผงคอนโซลเป็นหน้าจอ Active Driving Display ที่มีการปรับปรุงให้มีความสวยงามมากขึ้น แสดงผลด้วยตัวเลขสีขาว (จากเดิมที่เป็นสีเขียว) และยังสามารถแสดงข้อมูลจากระบบนำทางได้

113

     แผงคอนโซลและแผงประตูถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำ-น้ำตาล ติดตั้งหน้าจอ Center Display แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว สามารถสั่งงานระบบสัมผัสหรือผ่านปุ่ม Center Commander บริเวณใกล้กับคันเกียร์ได้ ซึ่งการใช้ระบบสัมผัสจะทำได้ต่อเมื่อรถหยุดนิ่งเท่านั้น

     เครื่องเสียงใน Mazda2 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ รองรับแผ่น CD/MP3 ได้ 1 แผ่น รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth มีพอร์ต USB ให้จำนวน 2 ช่อง และช่องใส่ SD Card จำนวน 1 ช่อง (สำหรับระบบนำทาง) และช่อง AUX อีกจำนวน 1 ช่อง ขณะที่ช่องจ่ายไฟแบบ 12 โวลต์มีเพียงช่องเดียวเท่านั้น

106

     มิติภายในห้องโดยสารยังคงเท่าเดิมเป๊ะทั้งในรุ่นซีดานและแฮทช์แบ็ค ตัวเบาะคู่หน้าออกแบบรับกับสรีระได้ดี แต่ขนาดพนักพิงเบาะยังคงมีขนาดเล็ก ซึ่งส่วนหนึ่งเข้าใจว่าวิศวกรคงต้องการเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสารให้โปร่งขึ้น ไม่อึดอัดคับแคบจนเกินไปนัก ขณะที่เบาะนั่งด้านหลังถูกออกแบบมาได้ดีเช่นกัน มีเว้ารองรับสะโพกสำหรับผู้โดยสาร 2 คนอย่างพอดีๆ ขณะที่เบาะช่วงกลางมีพนักพิงศีรษะให้ด้วย

     แต่อย่างไรก็ดี ห้องโดยสารด้านหลังของ Mazda2 ไมเนอร์เชนจ์ถือว่ามีขนาดไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ช่วงขา พื้นที่เหนือศีรษะ และความกว้างของตัวห้องโดยสาร หากเดินทางเต็มคัน 5 คนอยู่บ่อยๆ ก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก แต่ถ้าเดินทางแบบ 4 คน โดยมีผู้โดยสารด้านหลังที่รูปร่างไม่สูงใหญ่นัก ก็ถือว่ากำลังดี

105

     ด้านระบบความปลอดภัยยังคงอัดแน่นมาให้เช่นเคย โดยในโฉมไมเนอร์เชนจ์มีการเพิ่มฟีเจอร์ i-ACTIVSENSE ซึ่งประกอบด้วย 2 ระบบหลัก ได้แก่

  • ระบบเตือนมุมอับสายตา ABSM – Advanced Blind Spot Monitoring พร้อมสัญลักษณ์สีส้มบริเวณกระจกมองข้าง ซึ่งจะสว่างขึ้นเมื่อมีรถขึ้นมาเทียบด้านข้างในมุมอับสายตาที่มองไม่เห็น
  • ระบบเตือนมุมอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA – Rear Cross Traffic Alert ซึ่งจะทำงานขณะถอยออกจากที่จอดรถ ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีถอยออกจากซอง หากมีรถเคลื่อนที่ผ่านด้านหลัง จะส่งสัญญาณเตือนพร้อมไฟกระพริบให้ทราบ

     ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐานมีให้ครบครัน ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, ระบบเบรก ABS และ EBD, ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, เข็มขัดนิรภัย ELR แบบ 3 จุดทั้ง 5 ที่นั่ง รวมถึงเซ็นเซอร์กะระยะด้านท้ายแบบ 4 จุด พร้อมกล้องมองหลัง

196

     ขุมพลังถูกยกมาจากรุ่นที่แล้วทั้งหมด โดยมีให้เลือกทั้งรุ่นเบนซินและดีเซล ที่โดดเด่นในเรื่องความประหยัดทั้งคู่

     เริ่มต้นที่เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G แบบ 4 สูบ ขนาด 1.3 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 93 แรงม้า ที่ 5,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 123 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด พร้อมโหมดสปอร์ต สามารถปรับแมนนวลได้ รองรับเชื้อเพลิงทางเลือกสูงสุดคือ E20

     ขณะที่ไฮไลท์เด็ดอยู่ที่เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D แบบ 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดถึง 250 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด สามารถปรับแมนนวลได้เช่นกัน ซึ่งใน 2 รุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์ดีเซลจะได้เบรกแบบดิสก์ทั้ง 4 ล้อด้วย นอกนั้นเป็นหน้าดิสก์หลังดรัมทั้งหมด

144

     จุดเด่นสำคัญอีกอย่างของ Mazda2 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ คือการติดตั้งระบบ G-Vectoring Control ในทุกรุ่นย่อย ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดแรงบิดยังล้อข้างที่เหมาะสม เพื่อทำให้รถเข้าโค้งได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยจะทำงานทันทีที่ผู้ขับขี่เริ่มหมุนพวงมาลัย ซึ่งระบบที่ว่านี้ถูกติดตั้งใน Mazda3 ไมเนอร์เชนจ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงช่วงล่างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแดมเปอร์หน้าและหลัง บูชช่วงล่าง รวมถึงการปรับปรุงน้ำหนักและการตอบสนองของพวงมาลัยไฟฟ้า EPAS ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยรวมจะช่วยให้รถมีความนุ่มนวลมากขึ้น แต่ยังคงให้การเกาะถนนที่ยอดเยี่ยมตามฉบับมาสด้า

176

     การทดสอบ Mazda2 2017 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ เป็นเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยาซึ่งถือว่าไม่ไกลมากนัก และเป็นเส้นทางที่คุ้นเคยกันดี

     แรกเริ่มเราออกเดินทางด้วย Mazda2 เวอร์ชั่นเบนซิน รุ่น 1.3 High Plus ซีดาน สิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่แรกคืออัตราเร่งที่ยังคงเหมือนรุ่นที่แล้วไม่ผิดเพี้ยน แรงม้า 93 ตัว และแรงบิด 123 นิวตัน-เมตร ยังถือว่าสมน้ำสมเนื้อกับเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร แม้ว่าจะเทียบไม่ได้กับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่ก็ถือว่าดีกว่ารถตระกูลอีโคคาร์แท้ๆ ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร

175

     แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ Mazda2 รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน สามารถขับขี่ได้อย่างสนุกสนานกว่าคู่แข่ง ก็คือเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด ที่ช่วยให้สามารถเล่นกับแรงบิดได้อย่างสนุกสนาน ช่วงจังหวะคิกดาวน์จนกระทั่งมีการปรับลดเกียร์ลงมานั้น มีแรงกระชากให้ได้สัมผัสกันพอหอมปากหอมคอ

     ในด้านช่วงล่างนั้น ยังคงเน้นความหนึบนุ่ม นั่งสบาย ซับแรงสะเทือนได้ดี แต่เมื่อถึงช่วงเข้าโค้ง เห็นได้ชัดเจนเลยว่าตัวรถมีอาการโคลงน้อยลง และยังมีอาการจิกโค้งมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของระบบ G-Vectoring Control นั่นเอง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเข้าโค้งได้ดี แถมยังเพิ่มความสนุกสนานในการขับขี่ได้มากขึ้น

189

     ในช่วงขากลับกรุงเทพฯ เราได้สลับมาขับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล XD High Plus L โฉมแฮทช์แบ็ค ซึ่งสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนของรถคันนี้ คืออัตราเร่งที่มีมาให้มหาศาล ช่วยพารถคันเล็กๆ คันนี้พุ่งทะยานไปแตะความเร็ว 100 กม./ชม. ได้อย่างทันใจ นับได้ว่าเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูงมาก ทั้งการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง หากว่าเป็นคนที่เดินทางต่างจังหวัดบ่อย ขอแนะนำเครื่องยนต์ดีเซลไปเลย รับรองว่าเหยียบหนีรถประเภทกระบะเจ้าถิ่นบ้าพลังได้อย่างสบายๆ แถมยังได้ความประหยัดชนิดที่อีโคคาร์เครื่องพันสองยังต้องยอมให้

     ซึ่งนอกเหนือจากอัตราเร่งและความประหยัดของรุ่นดีเซลนั้น ส่วนอื่นแทบไม่มีอะไรต่างจากรุ่นเบนซินเลย ทั้งสมรรถนะการเข้าโค้ง, ช่วงล่าง, ความเงียบภายในห้องโดยสาร ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงจังหวะเร่ง พอจะมีเสียงเครื่องยนต์ดีเซลให้ได้ยินบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับรถดีเซลจากฝั่งยุโรป เอาเป็นว่าขึ้นกับงบประมาณในการซื้อรถคันใหม่ของคุณก็แล้วกัน หรือใครบางคนรับไม่ได้กับเสียงเครื่องยนต์แบบดีเซล อันนั้นก็ว่ากันไป

190

     สรุป Mazda2 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ แม้ว่าภายนอกจะดูไม่ต่างไปจากรุ่นก่อนมากนัก แต่ทีเด็ดสำคัญอยู่ที่การติดตั้ง G-Vectoring Control ใหม่ ที่ช่วยให้ขับสนุกขึ้นโดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นโค้ง ห้องโดยสารภายในปรับปรุงให้หรูหรามากขึ้น เพิ่มฟีเจอร์เยอะขึ้นพอสมควร หากงบถึงแนะนำให้เล่นเครื่องยนต์ดีเซลที่มีพละกำลังเหลือเฟือ แรงบิดมาในรอบที่ใช้งานจริง แถมยังได้ความประหยัดชนิดไม่อยากกลับไม่ขับเครื่องยนต์เบนซินเดิมๆอีกเลย แต่หากงบจำกัด ไปคบเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตรก็พอฟัดพอเหวี่ยง เหมาะสำหรับใช้งานในเมือง แต่ยังคงได้เกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีดที่ช่วยให้ขับสนุกกว่าเกียร์ CVT เยอะ

177

ราคาจำหน่าย Mazda2 2017 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ มีดังนี้

- 1.3 Standard ราคา 530,000 บาท
- 1.3 High ราคา 590,000 บาท
- 1.3 High Connect ราคา 620,000 บาท
- 1.3 High Plus ราคา 670,000 บาท
- XD ราคา 680,000 บาท
- XD High Connect ราคา 750,000 บาท
- XD High Plus L ราคา 789,000 บาท

ขอขอบคุณ ผู้บริหารและฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 

อัลบั้มภาพ 36 ภาพ

อัลบั้มภาพ 36 ภาพ ของ รีวิว Mazda2 2017 ใหม่ เพิ่ม G-Vectoring Control รถเล็กขับสนุกยิ่งกว่าเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook