6 กฎหมายจราจรที่คุณเผลอทำผิดโดยไม่รู้ตัว
จากกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามโดยสารกระบะหลังและแค็บอย่างเข้มงวดนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถกระบะในวงกว้าง ซึ่งแม้ว่าจะมีการระบุอยู่ในกฎหมายอย่างชัดเจนมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีการอนุโลมผ่อนผันจากผู้บังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด
ในความเป็นจริง ยังมีกฎหมายว่าด้วยการใช้รถใช้ถนนอีกมากมาย ที่ถูกฝ่าฝืนจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่ง Sanook! Auto ขอยกตัวอย่างมาให้ 6 ข้อดังนี้
ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
ตามกฎหมายแล้วบ้านเรามีการจำกัดความเร็วในเมืองไม่เกิน 80 กม./ชม. นอกเมืองไม่เกิน 90 กม./ชม. ทางด่วนไม่เกิน 110 กม./ชม. มอเตอร์เวย์ไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่ทุกวันนี้เราพบเห็นรถบางคันวิ่งด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนดเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขับรถเร็วเกินกำหนดมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 มาตรา 67 วรรค 1 และ 152 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
หยุดรถกีดขวางการจราจร
การหยุดรถในเขตห้ามหยุด จนเป็นสาเหตุให้กีดขวางการจราจร รถคันอื่นไม่สามารถเข้า-ออกได้นั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 มาตรา 54 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
ไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนไปก่อน
เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนกำลังจะข้ามถนน ตามกฎหมายแล้วผู้ขับขี่รถมีหน้าที่หยุดให้คนข้ามไปก่อน ซึ่งการฝ่าฝืนไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 มาตรา 21 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ขับช้าแช่ขวา
แม้ว่าจะขับรถด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ผู้ขับขี่ยังคงต้องหลบซ้ายให้รถที่เร็วกว่าแซงขึ้นไปได้ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 มาตรา 34 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และอาจมีความผิดในข้อหาขับรถกีดขวางทางจราจรด้วย มีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาทเช่นกัน
เปิดไฟตัดหมอกโดยไม่มีเหตุจำเป็น
หลายคนมีความเชื่อว่าการเปิดไฟตัดหมอกจะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยยามค่ำคืนให้ดียิ่งขึ้น แต่ความจริงแล้วไฟตัดหมอกถูกปรับตั้งให้มุมแสงส่องลงด้านล่าง จึงไม่ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไกลขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 14 วรรค 1 และ 60 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
จอดรถในที่ห้ามจอด
การจอดรถในเขตพื้นที่ที่มีเส้นขาว-แดง หรือป้ายห้ามจอด สามารถพบเห็นได้เป็นประจำ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 มาตรา 57 และ 148 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ถือเป็นค่าจอดรถที่แพงทีเดียว
อันที่จริงแล้วยังมีกฎหมายเกี่ยวกับจราจรและรถยนต์อีกมาก ที่ถูกฝ่าฝืนมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทุกคนพร้อมใจหันมาเคารพกฎจราจรทีละน้อย ก็น่าจะเป็นแนวทางการลดอุบัติเหตุในบ้านเราได้เป็นอย่างดีแล้วล่ะครับ