5 สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ 'จีพีเอส'
ระบบนำทางในรถยนต์สำหรับบางคนถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องเดินทางออกต่างจังหวัดไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยอยู่บ่อยๆ การใช้ระบบนำทางจะช่วยให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกลัวหลง แถมช่วยประหยัดน้ำมันไปในตัวด้วย
แต่ระบบนำทางใช้ว่าจะช่วยให้การเดินทางราบรื่นเสมอไป เพราะหากใช้งานหรือตั้งค่าผิดวิธีแล้วล่ะก็ มันอาจพาคุณไปยังเส้นทางรกร้างและถนนที่รถไม่สามารถผ่านได้ แล้วแบบนี้จะมีวิธีจัดการอย่างไร Sanook! Auto ขอแนะนำ 5 สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ระบบจีพีเอสนำทาง
1.เช็คเส้นทางก่อนเริ่มขับรถ
แนะนำว่าหลังจากป้อนข้อมูลสถานที่ปลายทางเรียบร้อยแล้ว ควรเช็คเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ว่าเป็นถนนเส้นหลักที่ผู้คนใช้ตามปกติ ไม่ใช่เส้นทางเล็กๆ คดเคี้ยว ซอกแซกไปมา สามารถตรวจสอบได้จากชื่อถนนที่ต้องขับผ่าน หากคุ้นหูคุ้นตาอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้
2.หลีกเลี่ยง 'เส้นทางที่สั้นที่สุด'
สิ่งสำคัญที่สุดคือการตั้งค่าระบบนำทางเพื่อป้องกันไม่ให้พาไปยังเส้นทางแปลกๆ ควรหลีกเลี่ยงการตั้งค่า 'เส้นทางที่สั้นที่สุด' หรือ 'Shortest Route' เพราะแม้ระบบจะเลือกเส้นทางที่มีระยะทางน้อยที่สุด แต่อาจเป็นเส้นทางที่รถไม่สามารถขับผ่านได้ หรือเป็นถนนที่ไม่มีผู้คนใช้แล้ว สภาพทางขรุขระเกินกว่าที่จะขับผ่านก็เป็นได้ จำไว้ว่าเส้นทางที่สั้นที่สุด ไม่ได้แปลว่าถึงจุดหมายเร็วที่สุดเสมอไป
3.ทางด่วนจำเป็นหรือไม่
หากใครต้องการหลีกเลี่ยงทางด่วนเพราะไม่ต้องการเสียเงินเพิ่ม ก็ควรตั้งระบบนำทางให้หลีกเลี่ยงเส้นทางด่วนเสียก่อน (Avoid Tolls) เพราะอาจต้องเสียเงินโดยไม่ทันตั้งตัวได้ แต่หากใครไม่ีซีเรียสหรือต้องการความรวดเร็วก็ไม่เป็นไร
4.ตึกสูง-สะพาน อาจกั้นสัญญาณจีพีเอส
ระบบนำทางในรถยนต์หรือประเภท Handheld Device จะต่างจากระบบนำทางในโทรศัพท์มือถือตรงที่ไม่สามารถคำนวณตำแหน่งจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ได้ (A-GPS) ซึ่งสัญญาณจีพีเอสที่มาจากดาวเทียมนั้นมีความอ่อนไหวสูง สามารถถูกบดบังด้วยอาคารสูงหรือสะพานได้ง่าย หากขับรถใต้ทางด่วนหรือผ่านพื้นที่ที่มีตึกสูง อาจทำให้สูญเสียสัญญาณจีพีเอสได้ ทำให้การนำทางผิดเพี้ยนไปได้ด้วยเช่นกัน
5.เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ
การขับรถโดยอาศัยการแนะนำเส้นทางนั้น อาจทำให้เสียสมาธิในการขับขี่มากกว่าปกติ ดังนั้น จึงควรฝึกใช้งานระบบนำทางจนชิน ทำความเข้าใจเสียงพูดจากระบบให้แม่น ละสายตาจากถนนให้น้อยที่สุด หากเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับกระจกหน้ารถ ควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มองเห็นได้ง่าย สายชาร์จไม่เกะกะจนทำให้ขับรถได้ไม่สะดวก เป็นต้น
อย่าลืมว่าระบบนำทางแต่ละยี่ห้อนั้น มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงควรฝึกใช้ให้เป็นเสียก่อนใช้นำทางจริง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ลดความสับสนลงได้ครับ