รู้ไว้ใช่ว่า “7 กฎหมายจราจร” ที่ “ฝ่าฝืน” กันจนชิน!

รู้ไว้ใช่ว่า “7 กฎหมายจราจร” ที่ “ฝ่าฝืน” กันจนชิน!

รู้ไว้ใช่ว่า “7 กฎหมายจราจร” ที่ “ฝ่าฝืน” กันจนชิน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลังมีคำสั่งมาตรา 44 เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ออกมาบังคับใช้ได้เพียงวันเดียว ก็กลายเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทยทันที โดยเฉพาะคำสั่งห้ามรถกระบะบรรทุกคนนั่งท้ายรถ หรือแคปหลังคนขับ

     ร้อนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวยอมผ่อนผันมาตรการกวดขันวินัยจราจรดังกล่าวเป็นการชั่วคราวในช่วงสงกรานต์นี้ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก จากการโดยสารรถกระบะเพื่อกลับภูมิลำเนา ก่อนจะกลับมาจับปรับอย่างจริงจังหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว

     อันที่จริง กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายมานานแล้วในหมวดของการบรรทุก นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ออกมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2522 รวมถึงมีกฎหมายอีกหลายข้อที่ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่มองข้าม จนกลายเป็นความเคยชินและเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย

     และนี่คือ 7 ข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 อยู่แล้ว แต่มีการฝ่าฝืนกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติ

 

1.บรรทุกคนท้ายกระบะหรือแคปกระบะ

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 20 ระบุว่า ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถบรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้ คน สัตว์ หรือสิ่งของที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถ อันอาจก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญ ทำให้ทางสกปรกเปรอะเปื้อน ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน

     ขณะที่แคปหลังคนขับนั้น ถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เพราะส่วนแคปนั้นออกแบบเพื่อตั้งวางสิ่งของ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งแต่อย่างใด

2.คาดเข็มนิรภัยทุกที่นั่ง (ตอนหน้า)

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 วรรคสอง ระบุว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับ ที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยในขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย

3.ขับรถช้าแต่อยู่เลนขวา

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 35 ระบุว่า รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทําได้

4.ไม่หยุดทางม้าลาย

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ระบุว่า ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงให้ทราบ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร

5.ขับรถคร่อมเลน

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (6) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถคร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ

6.เปิดไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่อ

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2536) ระบุว่า ไฟตัดหมอกที่ติดตั้งในรถยนต์นั้น สามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ในสภาวะที่มีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรค อันอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถและต้องไม่มีรถอยู่ด้านหน้า หรือสวนมาในระยะของแสงไฟ หรือในระยะ 150 เมตร โดยสามารถใช้หลอดไฟแสงขาวหรือแสงเหลือง ที่มีกำลังไฟไม่เกินดวงละ 55 วัตต์ เท่านั้น

7.ใช้โทรศัพท์มือถือ

     พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (9) 9 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook