เจาะลึกข้อมูลทางสถิติ เหตุใด “กทม.” ครองแชมป์รถติด (ชั่วโมงเร่งด่วนเย็น) ที่สุดในโลก
หลังจาก “ทอมทอม” บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์จีพีเอสชื่อดัง เผยอันดับเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเย็น ประจำปี 2017 จาก 390 เมือง ใน 48 ประเทศ โดยอาศัยฐานข้อมูลจากปีที่แล้ว ปรากฏว่า “กรุงเทพฯ” ครองแชมป์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และรั้งอันดับ 2 เมืองที่มีรถติดมากที่สุดตลอดทั้งวัน เป็นรองแค่ “เม็กซิโก ซิตี้” เมืองหลวงของเม็กซิโกเท่านั้น
แต่หลายคนยังสงสัยว่า เหตุใด กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรถึงได้ขึ้นแท่นรถติดมากกว่าหลายเมืองในโลกใบนี้ วันนี้ เราจึงมีข้อมูลแบบเจาะลึกในเรื่องนี้มาฝากกัน จากสถิติที่ “ทอมทอม” ได้รวบรวมไว้ ซึ่งพบว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนในกทม. ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นถึง 61 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากปีที่แล้ว 4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีรถติด เฉลี่ยต่อวันแล้วเราต้องอยู่ใช้ชีวิตอยู่บนรถมากขึ้นถึง 64 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน หรือ 244 ชั่วโมงต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีรถติด
โดยช่วงเวลาที่การจราจรติดขัดที่สุด คือ เย็นวันศุกร์ ระหว่าง 18.000-19.00 น. ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น 129 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ เย็นวันพุธ (120 เปอร์เซ็นต์) , เย็นวันพฤหัสบดี (118 เปอร์เซ็นต์), เย็นวันอังคาร (117 เปอร์เซ็นต์) , เย็นวันจันทร์ (106 เปอร์เซ็นต์)
ขณะที่ช่วงพีคสุดในตอนเช้า สำหรับชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 07.00-08.00 น. หนีไม่พ้นวันแรกของการทำงานอย่างเช้าวันจันทร์ โดยต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้น 98 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ วันอังคาร (97 เปอร์เซ็นต์), วันพฤหัสบดี (91 เปอร์เซ็นต์), วันพุธ (90 เปอร์เซ็นต์) และวันศุกร์ (82 เปอร์เซ็นต์)
ทั้งนี้ กทม.มีพื้นที่ 1,568.7 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่ถนนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นจากพื้นที่เมืองทั้งหมด โดยมีความยาวของถนนอยู่ที่ 5,400-5,500 กิโลเมตร ซึ่งสามารถรองรับรถได้แค่ 1.2 ล้านคันเท่านั้น ขณะที่จำนวนรถจดทะเบียน (สะสม) จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก เมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีมากถึง 9,096,936 คันเลยทีเดียว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่ในตอนนี้ยังไม่สามารถตอบโจทย์คนกรุงได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์