ลองของจริง! ระบบขับขี่อัตโนมัติ Honda Accord และ Legend ส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น
รีวิวทดสอบระบบขับขี่อัตโนมัติใน Honda Accord และ Legend จากสนามทดสอบของฮอนด้าประเทศญี่ปุ่น ก่อนติดตั้งในรถวางจำหน่ายจริงเร็วๆนี้
ปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ติดตั้งในรถยนต์ปัจจุบันก้าวล้ำไปกว่าแต่ก่อนมาก หากมองย้อนไปในอดีตเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าระบบขับขี่อัตโนมัติที่เห็นอยู่แต่ในภาพยนตร์ไซไฟ จะกลายเป็นจริงขึ้นมาในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งปัจจุบันฮอนด้าก็เป็นอีกหนึ่งค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่กำลังวิจัยเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุดเมื่อออกสู่ถนนจริง
ปัจจุบันเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติของฮอนด้า (Honda Automated Drive) อยู่ระหว่างการวัจัยและพัฒนา โดยฮอนด้าประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มวางจำหน่ายรถยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับลูกค้าภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้ หรืออีกเพียง 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น โดยมีจุดประสงค์หลักคือให้ผู้คนรู้สึกอิสระและสนุกสนานกับการเดินทางที่ไร้อุบัติเหตุนั่นเอง
การจะไปถึงจุดนั้นได้ ฮอนด้าได้ตั้งคอนเซ็พท์สำหรับรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Automated Drive) เอาไว้ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. จะต้องเป็นรถที่ผู้โดยสารรู้สึกมั่นใจขณะโดยสาร สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันตรายได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันผู้ร่วมทางคนอื่นจะต้องรู้สึกปลอดภัยเช่นกัน
2. จะต้องเป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นธรรมชาติแบบเดียวกับการขับขี่โดยมนุษย์ เพื่อให้เจ้าของรถสนุกสนานกับการขับขี่จนรู้สึกว่าอยากจะเดินทางบ่อยๆ
ซึ่งฮอนด้าระบุว่าหากสามารถบรรลุแนวทางทั้ง 2 ประการเบื่องต้นนี้ได้ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติก็จะกลายเป็นที่นิยมในคนทั่วไป และปรารถนาที่จะซื้อรถยนต์ที่ติดตั้งระบบดังกล่าวมาเพื่อใช้งานโดยปราศจากข้อกังขา
ทั้งนี้ ฮอนด้าตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องวางจำหน่ายรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติสำหรับถนนไฮเวย์ให้ได้ภายในปี 2020 จากนั้นจึงค่อยขยายไปยังระบบที่รองรับถนนเขตเมือง ที่มีความซับซ้อนยุ่งยากในการพัฒนาระบบมากกว่า
สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติบนถนนไฮเวย์ของฮอนด้า จะไม่เป็นเพียงการขับขี่ตามรถยนต์คันหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตัวรถยังสามารถตัดสินใจเปลี่ยนเลนได้เองตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้ขับขี่ ซึ่งแปลว่าผู้ขับขี่ไม่ต้องคอยพะวงกับการขับขี่ใดๆทั้งสิ้น แม้ว่ากำลังเคลื่อนที่ผ่านจุดที่มีการจราจรหนาแน่นก็ตาม
ปัจจุบันระบบขับขี่อัตโนมัติถูกแบ่งออกเป็นระดับ 0-5 ซึ่งผู้ที่กำหนดมาตรฐานของแต่ละระดับก็คือ สำนักงานดูแลความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US Department of Transportation's National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) โดยแต่ละระดับจะมีคุณลักษณะของรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติแตกต่างกันไป ดังนี้
ระดับ 0 คือ ผู้ขับขี่เป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนที่ของรถทั้งหมด ทั้งคันเร่ง, เบรก และพวงมาลัย
ระดับ 1 คือ ตัวรถจะคอยควบคุมอุปกรณ์ในการขับขี่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พวงมาลัยหรือคันเร่ง โดยที่ผู้ขับขี่ยังคงเป็นผู้ควบคุมหลัก
ระดับ 2 คือ ทั้งระบบพวงมาลัยและคันเร่งจะถูกควบคุมอัตโนมัติ โดยอาศัยสภาพแวดล้อมและการจราจรในขณะนั้น (ยกตัวอย่าง เช่น ระบบ Adaptive Cruise Control ที่สามารถทำงานคู่กับระบบช่วยประคองรถให้อยู่ในเลน) ซึ่งผู้ขับขี่สามารถปล่อยพวงมาลัยและแป้นคันเร่งพร้อมกันได้เป็นบางจังหวะ และต้องพร้อมควบคุมรถทันทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
ระดับ 3 คือ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องอยู่ในรถเพื่อเข้าควบคุมในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องติดตามสภาพจราจรภายนอกตลอดเวลา
ระดับ 4 เป็นระดับที่เรียกว่า ‘Fully Autonomous’ หรือขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ มีระบบตรวจจับสภาพการจราจรตลอดการเดินทาง ซึ่งตัวรถสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้เองโดยอัตโนมัติ สามารถเลียนแบบการขับขี่ของมนุษย์ได้เกือบทั้งหมด
ระดับ 5 คือ ระดับที่รถสามารถขับเคลื่อนได้แบบเดียวกับที่มนุษย์เป็นผู้ขับขี่ในทุกสถานการณ์ (เช่น การขับขี่บนถนนลูกรัง, ออฟโรด ฯลฯ ซึ่งยังไม่มีรถขับเคลื่อนอัตโนมัติค่ายไหนสามารถทำได้ในเร็ววันนี้)
เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นว่า ฮอนด้าตั้งเป้าจะไปถึงเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 ได้ภายในปี 2025 หรือในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้เท่านั้น
สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติฮอนด้าที่นำมาสาธิต ณ สนามทดสอบของฮอนด้าสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ทีมวิศวกรได้ค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นรถต้นแบบที่ให้เราได้ร่วมทดสอบในครั้งนี้ โดยถูกติดตั้งไว้ในรถ 2 รุ่น ได้แก่ Honda Accord Hybrid โฉมญี่ปุ่นและ Honda Legend โฉมปัจจุบันที่ไม่มีวางจำหน่ายในบ้านเรา ซึ่งขอย้ำว่าทั้งสองคันเป็นเพียงต้นแบบในการพัฒนาเท่านั้น ไม่ได้ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า Accord และ Legend โฉมต่อไป จะถูกติดตั้งระบบดังกล่าวนี้มาให้แต่อย่างใด
ระบบขับขี่อัตโนมัติใน Honda Accord Hybrid จะเป็นการจำลองการขับขี่บนถนนในเมือง ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าการขับขี่บนถนนไฮเวย์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยวโค้งไปตามถนน, การหยุดหลังเส้นทึบก่อนสี่แยก, การขับผ่านแยกอย่างปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเกิดขึ้นเยอะกว่านี้มาก
ซึ่งการทดสอบเผยให้เห็นว่าตัวรถสามารถแล่นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ได้อย่างปลอดภัย โดยอาศัยกล้องจำนวน 3 ตัว ที่ติดตั้งไว้บริเวณกระจกบังลมด้านหน้า โดยกล้องตัวแรกจะจับภาพด้านหน้าทั้งหมด กล้องตัวที่สองจะจับภาพด้านขวาสำหรับการเลี้ยวขวา และกล้องตัวที่สามจะจับภาพด้านซ้ายสำหรับการเลี้ยวซ้าย
คอนโซลกลางจะถูกติดตั้งหน้าจอแสดงผลสำหรับการขับขี่อัตโนมัติโดยเฉพาะ (อย่างที่บอกว่ารถคันนี้เป็นรถต้นแบบ ดังนั้นการเก็บงานทั้งกล้อง, หน้าจอ และเสาอากาศจึงยังไม่เรียบร้อยแบบรถผลิตจริง) ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่ได้จากกล้องที่ผ่านการประมวลผลเรียบร้อยแล้วให้เราได้ชมกัน โดยตัวรถสามารถจับข้อมูลที่จำเป็น เช่น เส้นทางเดินรถ, ป้ายจราจร, เส้นจราจร ฯลฯ เพื่อให้รถสามารถขับขี่ตามทิศทางที่กำหนดได้อย่างปลอดภัย ตามที่ท่านได้เห็นในคลิปวีดีโอสาธิตต่อไปนี้
ต่อมาเป็นเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติบนไฮเวย์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในรถ Honda Legend โฉมปัจจุบัน ซึ่งคราวนี้เรามีโอกาสได้นั่งบนตำแหน่งผู้ขับขี่ด้วย ซึ่งรถคันนี้ประกอบด้วยกล้อง, เรดาร์เซ็นเซอร์ รวมถึง LiDAR เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้รอบคันเช่นกัน
แม้ว่าการขับขี่อัตโนมัติบนไฮเวย์จะมีความซับซ้อนน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง แต่ฮอนด้าก็เพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถเปลี่ยนเลนได้อัตโนมัติตามความเหมาะสมโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องสั่งงานใดๆทั้งสิ้น
นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งหลังของคลิปยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นในขณะที่การจราจรหนาแน่นได้ ซึ่งจุดนี้เองจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ ไม่ต้องเสียเวลามาควบคุมรถอยู่ตลอดเวลา สามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ระหว่างที่รถถูกควบคุมการขับขี่อย่างปลอดภัย เช่น คุยโทรศัพท์, ตอบอีเมล์, พูดคุยกับคนอื่นบนรถ เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การเดินทางปลอดอุบัติเหตุ’ ตามเป้าหมายของฮอนด้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติยังคงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่บริษัทรถเองไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เส้นถนนที่ต้องชัดเจน, ป้ายจราจรที่สามารถอ่านง่ายและเห็นได้ชัด รวมถึงระเบียบวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยเราเองยังคงต้องพัฒนากันอีกมาก จนกว่าจะได้สัมผัสเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบและมีความปลอดภัยมากที่สุด
ในอีกมุมหนึ่งก็หวังว่าฮอนด้าจะเป็นผู้นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ มาปรับใช้ให้คนไทยได้สัมผัสอย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้ด้วยเช่นกัน
อัลบั้มภาพ 25 ภาพ