พรีวิว Mazda CX-5 2018 ใหม่ ลองของจริงก่อนเข้าไทยปลายปีนี้
Mazda CX-5 2018 ใหม่ ถูกเปิดตัวในตลาดโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบ้านเราก็มีแผนเปิดตัวภายในสิ้นปี 2560 นี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ Sanook! Auto ได้ไปสัมผัสรถเอสยูวีระดับแฟลกชิพรุ่นนี้ก่อนใครที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย
Mazda CX-5 2018 ใหม่ นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว ถูกเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ตามด้วยการเปิดตัวในทวีปยุโรปและเอเชียบางประเทศ
มาสด้า CX-5 โฉมแรกถูกเปิดตัวเมื่อปี 2555 เป็นรถยนต์รุ่นแรกของค่ายมาสด้าที่บุกเบิกเทคโนโลยี SKYACTIV แบบทั้งคัน พร้อมกับแนวทางการออกแบบที่เรียกว่า KODO Design จากนั้นจึงค่อยพัฒนาต่อมายังรถรุ่นอื่นอย่าง Mazda3, Mazda2 และ CX-3 เป็นต้น ทำให้แบรนด์มาสด้ากลายเป็นที่จดจำในตลาดจนกระทั่งสามารถสร้างยอดขายได้อย่างล้นหลาม
สำหรับ CX-5 เจเนอเรชั่นที่ 1 สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 1.4 ล้านคัน จาก 120 ประเทศทั่วโลก เคยมียอดขายประจำปีสูงสุดถึงประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ จากรถมาสด้าทั้งหมด จนนับได้ว่าเป็นโมเดลหลักที่สำคัญของมาสด้าเลยก็ว่าได้
Mazda CX-5 2018 เจเนอเรชั่นที่ 2 ใหม่ล่าสุดนี้ ยังคงยึดแนวทางการออกแบบ KODO Design เอาไว้อย่างครบถ้วน แม้ว่าเส้นสายภายนอกอาจจะดูคล้ายคลึงโฉมแรกอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่านี่คือโมเดลใหม่ถอดด้ามกันเลย
ซึ่งสาเหตุที่โฉมใหม่ยังคงมีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายคลึงกับโฉมแรกนั้น มร.มาซายะ โคดามะ ผู้จัดการโครงการ Mazda CX-5 ได้ให้คำตอบว่า เนื่องจากโฉมแรกถูกพัฒนามาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เจเนอเรชั่นที่ 2 จึงเปรียบเสมือนการปรับปรุงต่อยอดจากโฉมแรกให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพิ่มเติมด้วยความพรีเมียมเหนือกว่ารถระดับเดียวกัน พร้อมทั้งพัฒนาให้ผู้โดยสารเป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่ใช้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว
Mazda CX-5 2018 ที่ปรากฏในบทความนี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเวอร์ชั่นมาเลเซียทั้งสิ้น ส่วนเวอร์ชั่นที่จะเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอาจมีความแตกต่างออกไปจากนี้เล็กน้อย แต่ทางมาสด้า เซลส์ ประเทศไทยก็ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสเป็คไทยสามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร
- เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D 2.2 ลิตร
- ระบบเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด
- G-Vectoring Control
- i-ACTIVSENSE
- Active Driving Display สามารถแสดงข้อมูลนำทางได้
- หน้าจอ MID ความละเอียดสูงขนาด 4.6 นิ้ว
- หน้าจอแสดงข้อมูลขนาด 7 นิ้ว + MZD Connect
- เครื่องเสียงพรีเมียม Bose พร้อมลำโพง 10 ตัว
- ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ i-ACTIV AWD
- Mazda Radar Cruise Control (MRCC)
- ล้ออัลลอยขนาด 17 และ 19 นิ้ว
ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะถูกติดตั้งในเวอร์ชั่นไทยทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะมีอะไรอีกบ้างนั้น คงต้องรอวันเปิดตัวช่วงปลายปีที่จะถึงนี้
ดีไซน์ภายนอกของ Mazda CX-5 เวอร์ชั่นไทย ก็น่าจะไม่แตกต่างไปจากเวอร์ชั่นมาเลเซียที่ปรากฏอยู่นี้ โดยติดตั้งไฟหน้าแบบ LED ดีไซน์เฉียบคมขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว พร้อม Daytime Running Light ดีไซน์ใหม่ ไฟหน้าออกแบบให้เชื่อมต่อกับกระจังหน้าขนาดใหญ่ดีไซน์ตะแกรงไขว้ที่เสริมด้วยโครเมียมเพิ่มความหรูหรา ขณะที่ส่วนล่างของกันชนตกแต่งด้วยสีดำพร้อมไฟตัดหมอกแบบ LED
ขณะที่ด้านข้างออกแบบให้มีความลึกของเส้นสายมากขึ้น ตกแต่งซุ้มล้อสีดำ เสริมด้วยโครเมียมบริเวณขอบหน้าต่างประตู ติดตั้งล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 17 และ 19 นิ้วตามแต่รุ่นย่อย
ด้านท้ายเน้นความสปอร์ตด้วยแนวประตูท้ายที่ลาดเท ติดตั้งประตูท้ายไฟฟ้าที่สามารถสั่งงานจากรีโมทและปุ่มเปิดประตูท้ายในรถได้ ไฟท้ายถูกออกแบบใหม่ให้มีดีไซน์เรียวเล็กและเส้นสายที่เฉียบคม พร้อมไฟหรี่และไฟเบรกแบบ LED ติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะรอบคันเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ตัวถังจะมาพร้อมกับ 2 สีใหม่ ได้แก่ สีแดง Soul Red Crystal และสีเทา Machine Grey
ภายในห้องโดยสารของ CX-5 ใหม่ ถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำ มีการเพิ่มวัสดุหนังเข้าไปตามชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งสัมผัสได้ว่าเป็นหนังที่มีคุณภาพดีเช่นเดียวกับรถยุโรป ให้ความนุ่มและเรียบเนียนเมื่อสัมผัส โดยวัสดุหนังจะถูกหุ้มกับชิ้นส่วนที่มีการสัมผัสร่างกายอยู่บ่อยๆ เช่น แผงประตู, แผงคอนโซล, ที่วางแขน เป็นต้น
ช่องแอร์แบบโครเมียมถูกออกแบบให้ยื่นมาจากแผงคอนโซลด้านหน้า ติดตั้งหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว ลอยตัวขึ้นจากแผงคอนโซลด้านบน พร้อมช่องใส่แผ่นซีดีติดตั้งเหนือช่องแอร์ โดยยังคงมี Interface ระบบการทำงานคล้ายกับมาสด้ารุ่นอื่นในปัจจุบัน สามารถสั่งงานด้วยปุ่ม Center Commander ติดตั้งไว้บริเวณใกล้กับคันเกียร์ ติดตั้งปุ่มเบรกมือแบบไฟฟ้าพร้อมระบบช่วยเหยียบเบรกขณะติดไฟแดง Auto Hold มาให้
ระบบเสียงแบบพรีเมียมถูกพัฒนาโดย Bose ด้วยลำโพงทั้งหมด 10 ตัว มาพร้อมระบบเสียงแบบเซอร์ราวด์ Centerpoint2 และระบบชดเชียเสียงรอบทิศทาง AudioPilot2 จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องคุณภาพเสียงเลย
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติสามารถปรับแยกอุณหภูมิซ้าย-ขวาได้ ใกล้กันถูกติดตั้งปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ทำงานคู่กับกุญแจ Keyless Entry
มาตรวัดความเร็วถูกติดตั้งหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 4.6 นิ้ว สามารถแสดงผลด้วยความละเอียดสูง สามารถเลือกเปลี่ยนการแสดงผลเช่น ข้อมูลระยะทางที่ขับขี่, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, การทำงานของระบบ MRCC เป็นต้น
ตัวเบาะนั่งเองถูกออกแบบให้มีความกระชับมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยปีกเบาะที่มีขนาดใหญ่ หุ้มด้วยวัสดุหนังคุณภาพสูง เบาะนั่งแถวหลังมาพร้อมพนักพิงศีรษะ 3 ตำแหน่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเบาะมีความลึกและถูกเดินตะเข็บอย่างประณีตสวยงามราวกับรถยุโรปเลยทีเดียว
นอกจากนั้น เบาะนั่งแถวหลังยังสามารถปรับเอนได้ 2 ระดับอย่างที่ปรากฏในภาพ แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เยอะนัก แต่ก็ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายในการโดยสารได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายมีขนาดความจุ 505 ลิตร ตามมาตรฐาน DIN เพิ่มขึ้นจากรุ่นปัจจุบันอยู่ 5 ลิตร
สำหรับตัวถังของ Mazda CX-5 2018 มีความยาวตลอดคันอยู่ที่ 4,550 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,840 มิลลิเมตร ความสูง 1,680 มิลลิเมตร สำหรับล้อขนาด 19 นิ้ว และ 1,675 มิลลิเมตร สำหรับล้อขนาด 17 นิ้ว ความยาวฐานล้ออยู่ที่ 2,700 มิลลิเมตร
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบอิสระมัลติลิงค์ พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมดิสก์เบรกด้านหน้าแบบมีครีบระบายความร้อน และดิสก์เบรกด้านหลัง โดยในรุ่นล้อขนาด 17 นิ้ว จะถูกติดตั้งยางขนาด 225/65 R17 และล้อขนาด 19 นิ้ว จะมีแก้มยางเตี้ยกว่าด้วยยางขนาด 225/55 R19
เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตรที่ติดตั้งในเวอร์ชั่นมาเลเซีย ให้กำลังสูงสุด 162 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 แรงม้า ติดตั้งระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ขนาด 2.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 420 นิวตัน-เมตร มีให้เลือกทั้งระบบขับเคลื่อน 2 ล้อและ AWD
ขณะที่เกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE แบบ 6 สปีด แม้ว่าจะยังคงใช้เกียร์ลูกเดิม แต่ก็มีการปรับปรุงให้สามารถตอบสนองฝีเท้าได้รวดเร็วมากขึ้นยามที่กดคันเร่ง ส่งผลให้ใช้เวลาเร่งแซงน้อยลงกว่ารุ่นที่แล้ว แต่ถึงอย่างไรเกียร์อัตโนมัติของมาสด้า ก็นับว่าเป็นสุดยอดของเกียร์แบบ AT ทั้งในเรื่องความรวดเร็วและความนุ่มนวลในการขับขี่ ให้ความสนุกในการขับขี่มากกว่าเกียร์ CVT อย่างเห็นได้ชัด
สำหรับการทดสอบครั้งนี้ ทางมาสด้าได้จัดสนามทดสอบขนาดเล็กให้ โดยให้ขับขี่เป็นทางซิกแซกไปมาเพื่อให้เห็นถึงการทำงานของระบบ G-Vectoring Control ที่ถูกติดตั้งเป็นครั้งแรกใน CX-5 ประกอบกับมีการทดสอบอัตราเร่งและเบรกนิดหน่อยพองาม โดยเราได้ทดสอบทั้งรุ่นเบนซิน 2.0 ลิตร และดีเซล 2.2 ลิตรทั้งคู่
การทดสอบครั้งนี้ค่อนข้างสั้น ซึ่งทำให้เราจับฟีลลิ่งการขับขี่ไม่ได้อย่างเต็มที่นัก แต่ก็พอบอกได้ว่าช่วงล่างของ CX-5 ถูกปรับปรุงเน้นความนุ่มนวลมากขึ้นกว่ารุ่นปัจจุบัน จุดสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องการเก็บเสียงจากพื้นถนนที่ทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นหนึ่งในการปรับปรุง NVH หรือ Noise Vibration Harshness ไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว
ขณะที่การขับขี่แบบซิกแซกไปมาตามกรวยนั้น ระบบ G-Vectoring Control ก็สามารถเก็บอาการโยนของตัวรถได้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถหักเลี้ยวไปตามเส้นทางได้ตามใจสั่ง แต่หากเทียบกับ Mazda3 ที่มีระบบ GVC ก็คงต้องบอกว่า CX-5 เป็นรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่า อาจเก็บอาการโยนไม่ได้อย่างรถเก๋งซีดาน แต่สำหรับเอสยูวีด้วยกัน (รวมไปถึง PPV) ก็ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว
สำหรับอัตราเร่งของเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร และดีเซล 2.2 ลิตร แทบไม่ต่างไปจากรุ่นเดิม นอกจากการเซ็ทสมองกลเกียร์ใหม่เพื่อให้ตอบสนองกับคันเร่งได้ทันใจมากขึ้น แต่ด้วยแรงดึงที่ได้ก็ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับรุ่นเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องยนต์ดีเซลที่มีแรงบิดถึง 420 นิวตัน-เมตร ให้อัตราเร่งที่ ‘ดึง’ กว่ารุ่นเบนซินอย่างชัดเจน
ส่วนแป้นเบรกของ CX-5 ใหม่ มีบุคลิกความเป็นรถยุโรปมากขึ้น ด้วยการเซ็ทแป้นเบรกให้ลึก จึงทำให้การเบรกแต่ละครั้งทำได้อย่างนุ่มนวล แต่ยังคงไว้ซึ่งความมั่นใจในการหยุดรถ ต่างจากแนวทางการเซ็ทเบรกของรถญี่ปุ่นยี่ห้ออื่นที่เน้นความฉับไวมากกว่า ด้วยการเซ็ทระยะเบรกให้ตื้น แต่ก็อาจทำให้หัวทิ่มได้หากเผลอเหยียบเบรกแรงเกินไป
แม้ว่าภายนอกของ Mazda CX-5 อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปขนาดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เมื่อลองเข้าไปนั่งภายในรถ ก็สัมผัสได้ถึงความหรูหราและประณีตที่เหล่าวิศวกรของมาสด้าบรรจงใส่เข้ามาในรถคันนี้ และเมื่อได้ทดลองขับเป็นระยะทางสั้นๆ ก็พอจะบอกได้อย่างเต็มปากว่า ‘นี่คือมาสด้าที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา’
ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้แค่เพียงรอเวลาที่ Mazda CX-5 2018 ใหม่ จะถูกเปิดตัวในบ้านเราเท่านั้น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คาดว่าจะได้เห็นตัวจริงในบ้านเราภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
และเมื่อนั้นเราจะได้รู้กันว่าของจริงเป็นอย่างไร...
อัลบั้มภาพ 65 ภาพ