รีวิว Honda Clarity Fuel Cell และ Clarity Electric 2018 ใหม่ สองขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอนาคต
เรารู้กันอยู่แล้วว่า ‘น้ำมัน’ ที่เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนยานพาหนะในทุกวันนี้ กำลังลดน้อยลงไปทุกที ผู้ผลิตรถยนต์จึงเริ่มหันไปพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เพื่อให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
Honda Clarity 2018 ใหม่ เป็นหนึ่งในไลน์อัพของฮอนด้าที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนารถยนต์เพื่อรองรับพลังงานทางเลือก ซึ่งเรามีโอกาสเข้าร่วมทดสอบบนสนามแข่งทวิน ริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) ซึ่งเป็นสนามทดสอบของฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
Honda Clarity 2018 ถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 รุ่น แบ่งตามขุมพลังขับเคลื่อน ประกอบด้วย Clarity Plug-in Hybrid, Clarity Electric และ Clarity Fuel Cell
ปัจจุบัน Honda Clarity Fuel Cell ถูกวางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นในรูปแบบเช่าระยะยาว (Lease) ขณะที่ Clarity Plug-in Hybrid ก็เพิ่งเปิดตัวที่งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2017 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยทั้ง 2 รุ่น ถือเป็นก้าวสำคัญของฮอนด้าในการพัฒนารถพลังงานทางเลือกให้เกิดความแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต
การทดสอบในครั้งนี้ เรามีโอกาสทดสอบ คลาริตี้ ซีรี่ย์ จำนวนทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ Clarity Plug-in Hybrid และ Clarity Fuel Cell ซึ่งแม้ว่าหน้าตาของทั้งคู่จะดูใกล้เคียงกัน แต่หัวใจในการขับเคลื่อนต่างกันไปอย่างลิบลับ
เริ่มต้นกันที่ Honda Clarity Plug-in Hybrid ซึ่งดูภายนอกแล้วมีขนาดใกล้เคียงกับ Honda Accord แต่มีดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยว สะดุดตาด้วยการออกแบบซุ้มล้อคู่หลังแบบปาดเรียบ อันเป็นเอกลักษณ์ของ Clarity ทุกรุ่น
Clarity Plug-in Hybrid ถูกติดตั้งขุมพลังสปอร์ตไฮบริด i-MMD ทำงานคู่กันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson-Cycle และมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุดอยู่ที่ 181 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 315 นิวตัน-เมตร มีอัตราสิ้นเปลืองหลังจากใช้พลังงานไฟจนหมดอยู่ที่ 46.76 กม./ลิตร
จุดเด่นสำคัญของ Clarity Plug-in Hybrid ก็คือแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนที่มีขนาดความจุถึง 17 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ติดตั้งไว้บริเวณพื้นห้องโดยสารใต้ที่นั่งผู้โดยสาร ทำให้ไม่รบกวนพื้นที่ภายในห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายเหมือนกับรถไฮบริดบางรุ่น
ทั้งนี้ Clarity Plug-in Hybrid สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น และมีอัตราสิ้นเปลืองหลังจากพลังงานที่ชาร์จหมดลงอยู่ที่ประมาณ 46.76 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ แม้ว่าการใช้งานจริงโดยทั่วไปอาจไม่สามารถขับให้ได้ตัวเลขดังกล่าวก็ตามที ขณะที่การชาร์จไฟจนเต็มใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยแรงดันไฟ 240 โวลต์
ถัดมาที่ Clarity Fuel Cell ซึ่งเป็นรถพลังงานทางเลือกที่ฮอนด้าทุ่มเทพัฒนามาอย่างยาวนาน จะมีรูปลักษณ์ต่างไปจากเวอร์ชั่น Plug-in Hybrid เล็กน้อยก็เพียงกระจังหน้าที่ออกแบบให้ดูต่างกัน นอกนั้นแทบแยกความแตกต่างของทั้งสองรุ่นไม่ออก
เมื่อเปิดฝากระโปรงหน้าของ Clarity Fuel Cell ขึ้นมา เครื่องยนต์สันดาปภายในกลับถูกแทนที่ด้วยแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) ที่มีขนาดใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ วี6 ทั่วไป ขณะที่ถังไฮโดรเจนแรงดัน 70 เมกะปาสคาล ถูกติดตั้งไว้บริเวณท้ายรถ พร้อมแบตเตอรี่ติดตั้งบริเวณใต้เบาะนั่งคู่หน้า
Clarity Fuel Cell สามารถเติมไฮโดรเจนจนเต็มถังได้ในเวลาราว 3 นาที ซึ่งจะทำให้รถสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางประมาณ 589 กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง ตามมาตรฐาน 2017 EPA Ratings ขณะที่มาตรฐาน JC08 ระบุว่าสามารถวิ่งได้ไกลถึง 750 กิโลเมตรเลยทีเดียว
ภายในห้องโดยสารของรุ่น Clarity Plug-in Hybrid
ภายในห้องโดยสารถูกตกแต่งไม่ต่างไปจากรถระดับ D-Segment ของค่าย แผงคอนโซลติดตั้งหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ยกขึ้นมาจากแผงคอนโซล ขณะที่คันเกียร์ถูกแทนที่ด้วยเกียร์ไฟฟ้าแบบปุ่มแบบที่พบใน Honda CR-V 2018 ซึ่งอาจดูแปลกตาในระยะแรก แต่ก็ให้ความสะดวกไปอีกแบบเหมือนกัน
ภายในห้องโดยสารของรุ่น Clarity Plug-in Hybrid
สำหรับการทดสอบรถทั้ง 2 รุ่นนั้น เราได้ขับในระยะทางสั้นๆ บนสนามปิดเป็นจำนวน 2 รอบ เริ่มต้นที่ Clarity Fuel Cell เป็นคันแรก
ขุมพลังไฮโดรเจนของ Clarity Fuel Cell ให้ความรู้สึกต่างไปจากรถไฟฟ้าและรถไฮบริดอยู่เล็กน้อย เพราะทันทีที่เริ่มออกตัวอย่างช้าๆ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขับรถไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากความเงียบสนิทไร้เสียงคำรามของเครื่องยนต์
แต่ทันทีที่กดคันเร่งไปประมาณ 3 ใน 4 ของระยะทั้งหมด จะเริ่มได้ยินเสียงการทำงานของระบบฟิวเซลด้านหน้ารถเข้ามาบ้าง พร้อมกับความเร็วที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ทีมฮอนด้าประเทศญี่ปุ่นขอให้จำกัดความเร็วเอาไว้ที่ 60 กม./ชม. เท่านั้น แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังเผลอทำความเร็วขึ้นไปราว 80 กม./ชม. ด้วยความนิ่งและเงียบที่ของห้องโดยสาร ที่แทบจะไม่รู้สึกถึงความเร็วในขณะนั้นเลย
จากนั้น เราได้สลับไปขับรถปลั๊กอินไฮบริด Clarity Plug-in Hybrid กันต่อ ซึ่งแม้ว่าภายในรถจะดูเหมือนกับรุ่นฟิวเซล แต่ขุมพลังที่ใช้ในการขับเคลื่อนกลับต่างกันอย่างลิบลับ
สำหรับรุ่นปลั๊กอินไฮบริดนั้น มีการทำงานเหมือนกับรถยนต์ไฮบริดทั่วไป นั่นคือสามารถเร่งออกตัวด้วยไฟฟ้า จากนั้นเมื่อมีการเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน ระบบก็จะสั่งงานให้เครื่องยนต์เข้ามาเสริมกำลัง แต่จุดสำคัญคือแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถไฮบริดปกติ ทำให้สามารถขับเคลื่อนในโหมดไฟฟ้า (EV) ได้ระยะทางมากกว่า ซึ่งน่าเสียดายที่เรามีโอกาสทดสอบในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือขุมพลังปลั๊กอินไฮบริดที่ทำงานผสานกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตรและมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถขับเคลื่อนรถที่มีตัวถังขนาดใหญ่เช่นนี้ได้อย่างสบาย ด้วยแรงบิดกว่า 315 นิวตัน-เมตร จนแทบไม่รู้สึกเลยว่านี่คือเครื่องยนต์ที่มีขนาดเท่ากับซิตี้คาร์เท่านั้น
กล่าวโดยสรุปนั้น Honda Clarity Plug-in Hybrid มีการทำงานคล้ายกับรถไฮบริดโดยทั่วไป แต่มีข้อดีอยู่ที่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า ทำให้สามารถขับขี่ด้วยไฟฟ้าได้เป็นระยะทางมากกว่า พร้อมทั้งมีโหมด EV ที่ช่วยให้ขับขี่ได้ด้วยไฟฟ้าล้วน ขณะที่ Clarity Fuell Cell ให้ความรู้สึกเหมือนรถไฟฟ้า แต่ทันทีที่กดคันเร่งจมมิด จะมีเสียงการทำงานของระบบฟิวเซลดังกระหึ่มคล้ายกับเครื่องยนต์สันดาปอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองรุ่นก็ถือว่ามีสมรรถนะที่ดีใกล้เคียงกัน
แม้ว่าการทดสอบครั้งนี้ เราจะไม่ได้คลุกคลีกับรถทดสอบมากมายนัก แต่ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของฮอนด้าที่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า พวกเขาสามารถสร้างรถยนต์พลังงานฟิวเซลและปลั๊กอินไฮบริดได้สำเร็จ และพร้อมอย่างยิ่งที่จะส่งมอบถึงมือลูกค้าได้อย่างมั่นใจแล้ว
ซึ่งนั่นเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของฮอนด้า ว่าภายในปี 2030 หรืออีกราว 13 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ ยอดขายของฮอนด้ารวมทั่วโลกจำนวน 2 ใน 3 จะต้องเป็นรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งนั่นหมายรวมทั้งรถไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด, รถไฟฟ้า และรถฟิวเซลที่เราได้มีโอกาสทดสอบในครั้งนี้ โดยมีรถพลังงานไฮบริดและไฮบริดเสียบปลั๊กเป็นตัวหลักในการทำตลาด
การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ไม่เพียงแต่ตัวรถเท่านั้นที่ต้องพร้อม แต่ยังมีเรื่องโครงข่ายสถานีชาร์จไฟที่สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งฮอนด้ามีแผนติดตั้งและขยายสถานีชาร์จไฟในกลุ่มประเทศหลักๆ เช่น ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ส่วนบ้านเราก็ถือว่าไม่ห่างไกลจากวิสัยทัศน์นี้เท่าไหร่นัก อันจะเห็นได้จากการเปิดตัวรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ๆ ลงสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮอนด้าเองก็เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตที่พร้อมจะป้อนผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ลงสู่ตลาดเช่นกัน
แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็น Honda Clarity ถูกวางจำหน่ายและวิ่งอยู่บนถนนประเทศไทย แต่มีความเป็นไปได้ว่าขุมพลังแบบเดียวกันนี้ อาจถูกนำไปวางกับรถขายจริงในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้
อัลบั้มภาพ 26 ภาพ