รีวิว MG ZS 2018 ใหม่ แม้ว่ายังดีไม่สุด แต่นี่คือเอสยูวีคุ้มค่าที่สุดแห่งปี
รถยนต์อเนกประสงค์ในกลุ่ม B-SUV/Crossover กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแววว่าจะโตได้อีกไกล เนื่องจากค่ายรถต่างๆ มีแผนส่งรถยนต์กลุ่มนี้เข้ามาชิงส่วนแบ่งอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ MG ZS ที่เราจะมารีวิวในครั้งนี้นั่นเอง
MG ZS 2018 เป็นรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีพิกัด 1,500 ซีซี ซึ่งวางตำแหน่งไว้ต่ำกว่า MG GS ในปัจจุบัน ถูกพัฒนาให้พลิกโฉมแบรนด์เอ็มจีรุ่นเดิมๆ ทั้งหมด ชูจุดขายด้วยคีย์เวิร์ดว่า “สมาร์ทเอสยูวี” เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ที่ไม่เพียงต้องการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B เท่านั้น แต่ยังต้องมีฟีเจอร์เท่ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายด้วย
ปัจจุบัน MG ZS 2018 ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ประกอบด้วย รุ่น C, รุ่น D และรุ่น X เป็นรุ่นท็อปสุด แต่ละรุ่นมีราคาต่างกันอยู่ 50,000 – 60,000 บาท
เมื่อพูดถึงราคา ก็คงนับว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ MG ZS เลยก็ว่าได้ เพราะรถคันนี้ถูกวางราคายั่วยวนใจเป็นอย่างมาก โดยราคารุ่น C เริ่มต้นที่ 679,000 บาท ตามด้วยรุ่น D อยู่ที่ 729,000 บาท ขณะที่รุ่นท็อปสุดก็มีราคาเพียง 789,000 บาทเท่านั้น ทำให้ MG ZS เป็นรถกลุ่ม B-SUV ที่มีราคาจำหน่ายทั้งตัวเริ่มต้นและตัวท็อปต่ำสุดในตลาดขณะนี้ แถมยังสดใหม่ที่สุดด้วย! แต่นั่นก็แลกมาด้วยอะไรบางอย่างที่เราจะค่อยพูดถึงต่อไป
MG ZS 2018 ยังคงแนวทางการออกแบบที่เรียกว่า Brit Dynamic อันเป็นเอกลักษณ์ของเอ็มจีมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ได้มีการปรับปรุงดีไซน์ให้ดูเป็นสากลมากขึ้นเพื่อเอาใจคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีเชื้อชาติจีนมาแต่กำเนิดเพียงอย่างเดียว
ด้านหน้าถูกติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ฮาโลเจนทุกรุ่นย่อย พร้อมไฟ Daytime Running Light แบบ LED ในรุ่น D ขึ้นมา ขณะที่รุ่น X มาพร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติตามสภาพแสงให้ กระจังหน้ารูปทรง 6 เหลี่ยมดีไซน์ตะแกรงไขว้สีดำช่วยทำให้รถดูดีมีราคามากขึ้น บริเวณกันชนติดตั้งไฟตัดหมอกคู่หน้าในรุ่น D ขึ้นมา พร้อมตกแต่งกันชนด้วยชิ้นส่วนสีดำตามสไตล์รถเอสยูวี
ดีไซน์ด้านข้างถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่ก็มีเส้นสายที่ช่วยให้รถดูบึกบึนแข็งแรง โป่งซุ้มล้อถูกตกแต่งด้วยสีดำ พร้อมตกแต่งขอบหน้าต่างประตูด้วยสีเงินเพิ่มความหรูขึ้นอีกนิด ติดตั้งราวหลังคาสีเงินตัดกับตัวรถ ซึ่งลูกค้าสามารถประยุกต์ใช้เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับวางจักรยาน หรือกล่องอเนกประสงค์เพิ่มเติมได้
ด้านท้ายติดตั้งไฟท้ายแบบ LED ตามสมัยนิยม ที่เปิดประตูท้ายถูกซ่อนไว้ในโลโก้เอ็มจี โดยจะต้องใช้นิ้วกดด้านบนของตัวโลโก้แล้วจึงยกประตูขึ้น กันชนถูกตกแต่งด้วยสีดำและเงินพร้อมไฟตัดหมอกเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ทุกรุนย่อย
ในรุ่นท็อปสุด (รุ่น X) ถูกติดตั้งล้ออัลลอยแบบ Bi-colour ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/50 R17 มาให้ ขณะที่รุ่น D ลงมาเป็นล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 205/60 R16
ขณะที่ไฮไลท์สำคัญอย่างพาโนรามิคซันรูฟขนาดใหญ่ (Panoramic Sunroof) มีให้เลือกในรุ่น X เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น โดยตัวซันรูฟมีความยาวไปจนถึงประมาณเสา C-Pillar มาพร้อมม่านกรองแสงสีครีมช่วยกันความร้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าให้ดีควรติดฟิล์มกรองแสงบริเวณกระจกซันรูฟไปด้วยก็จะลดความร้อนเข้ามายังห้องโดยสารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งม่านที่ว่านี้สามารถเปิดออกได้จนสุด เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหลังสามารถรับแสงแดดหรือมองเห็นภายนอกได้อย่างเต็มที่
ห้องโดยสารของ MG ZS 2018 ถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่ ดูโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด ในรุ่น X ถูกตกแต่งด้วยสีทูโทนระหว่างสีเทาดำและน้ำตาลให้ความรู้สึกหรูหรา เบาะนั่งถูกหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ที่ให้ผิวสัมผัสค่อนข้างละเอียดนุ่มนวล และยังมีการบุวัสดุหนังบริเวณแผงประตูทำให้สามารถวางแขนได้อย่างสบาย ไม่แข็งกระด้าง เบาะนั่งคู่หน้าแบบปรับมือสามารถปรับได้ 6 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสารปรับได้ 4 ทิศทาง เบาะนั่งด้านหลังสามารถปรับพับแยก 60:40 ได้ แต่ไม่สามารถปรับเอนได้ มาพร้อมพนักพิงศีรษะ 2 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเบาะหลังออกแบบให้มีเว้ารับกับร่างกายอย่างกระชับพอดี ไม่เรียบจนเกินไป ถือว่าเป็นเบาะที่สามารถนั่งโดยสารได้ค่อนข้างสบายหายห่วง
อย่างไรก็ดี วัสดุที่เป็นพลาสติกบริเวณแผงคอนโซลและแผงประตูยังดูบางและค่อนข้างก๊องแก๊ง ไม่ได้แน่นหนาอย่างที่คิด แต่หากเทียบกับระดับราคาและอุปกรณ์มาตรฐานที่มีมาให้นั้น หากมองข้ามไปบ้างคงจะไม่เสียหายเท่าไหร่นัก
ฝั่งผู้ขับขี่ติดตั้งพวงมาลัยแบบ 3 ก้านดีไซน์อวบกระชับ ออกแบบให้มีเว้ากริปช่วยให้จับได้อย่างกระชับมือ ปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายใช้สำหรับควบคุมเครื่องเสียงและโทรศัพท์ ฝั่งขวาใช้ควบคุมหน้าจอแสดงผลและปุ่มสั่งงานด้วยเสียง
มาตรวัดความเร็วขนาดใหญ่สามารถอ่านตัวเลขได้ง่าย คั่นกลางด้วยหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ โดยมาตรวัดแสดงปริมาณน้ำมันในถังจะอยู่บนหน้าจอที่ว่านี้ด้วย ขณะที่ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ติดตั้งไว้ทางซ้ายมือหลังพวงมาลัย
บริเวณคอนโซลกลางถูกติดตั้งหน้าจอสีแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนผ่าน Bluetooth ได้ พร้อมช่อง USB จำนวน 2 ช่องที่ติดตั้งไว้ใกล้กับช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์ และยังสามารถรองรับ Apple CarPlay ได้อีกด้วย
ไล่ลงมาเป็นปุ่มช็อตคัทสำหรับควบคุมเครื่องเสียง โดยปุ่มหมุนสีเงินใช้สำหรับควบคุมระดับเสียง แต่หากกดปุ่มลงไป จะไม่ใช่การปิดเสียงเหมือนกับรถรุ่นอื่น แต่จะมีหน้าที่เป็นปุ่มโฮมสำหรับกลับไปยังหน้าแรกเหมือนกับสมาร์ทโฟนนั่นเอง โดยที่ปุ่มปิดเสียงจะถูกแยกไว้ต่างหากอีกปุ่มนึง
รองลงมาเป็นแผงควบคุมระบบปรับอากาศ ซึ่งแม้ว่าหน้าตาจะดูหรูหราเอาการ แต่ระบบปรับอากาศใน MG GS ไม่ใช่แบบอัตโนมัติเนื่องจากเอ็มจีได้ตัดระบบฮีทเตอร์ออกเพื่อให้สามารถทำความเย็นสู้อากาศร้อนระอุในบ้านเราได้อย่างเต็มที่ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลด้วยว่าทำไมระบบปรับอากาศของรถรุ่นนี้ถึงไม่แสดงอุณหภูมิเป็นตัวเลข แต่จะใช้เป็นแถบสีฟ้าในการบ่งบอกระดับความเย็นแทน
หน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้วชุดนี้ ยังมาพร้อมอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เป็นไฮไลท์ของ MG ZS นั่นคือ ระบบสั่งการอัจฉริยะ i-SMART ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงเป็นภาษาไทยได้ ซึ่งการสั่งงานด้วยเสียงสามารถทำได้โดยพูดว่า “ฮัลโหล เอ็มจี” เมื่อระบบมีการตอบสนอง จึงจะสามารถสั่งงานตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดซันรูฟ, เปิด-ปิดหน้าต่างฝั่งผู้ขับ, ปรับความแรงลมและอุณหภูมิแอร์, สั่งโทรออก-รับสาย, สั่งงานระบบเครื่องเสียง และสั่งงานระบบนำทาง
ซึ่งคำสั่งเสียงไม่จำเป็นต้องใช้เป็นคำเฉพาะเจาะจงเหมือนกับระบบสั่งงานด้วยเสียงทั่วไป แต่สามารถใช้คำพูดหรือประโยคที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เช่น "ร้อนจังเลย", “เปิดซันรูฟให้หน่อย” หรือ “อยากฟังเพลง” เป็นต้น
จากการใช้งานจริงพบว่า ตัวระบบเองยังตอบสนองต่อคำสั่งเสียงได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก และมีอาการ Lag นานพอสมควรก่อนที่ระบบจะเข้าใจคำสั่งและปฏิบัติตาม หรือแม้แต่คำสั่งเริ่มต้นอย่าง “ฮัลโหล เอ็มจี” ก็สั่งติดบ้างไม่ติดบ้าง ซึ่งจุดนี้เอ็มจีระบุว่าจำเป็นต้องให้ระบบมีการเรียนรู้น้ำเสียงของผู้ใช้งานไปสักระยะจึงจะใช้งานได้คล่องมากขึ้น
ขณะที่คำสั่งหลายอย่าง เช่น เปิด-ปิดซันรูฟ, ปรับแรงลมแอร์, เปิดวิทยุ ฯลฯ หากเอื้อมมือไปกดด้วยตัวเองดูเหมือนจะสะดวกรวดเร็วกว่าการสั่งงานด้วยเสียงมาก จนผู้เขียนเองยังคิดว่าระบบสั่งงานด้วยเสียงแทบจะไม่มีประโยชน์เลยหากว่าระบบตอบสนองได้ช้าขนาดนี้ จนกระทั่งเพื่อนร่วมทริปที่นั่งไปด้วยกันบอกว่า ระบบนี้น่าจะมีประโยชน์จริงๆ ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้ แต่หากยังสามารถใช้เสียงพูด ก็จะกลายเป็นอีกช่องทางในการขอความช่วยเหลือได้ อืม... จริงแฮะ!
ขณะที่ระบบ i-SMART on Touchscreen จะเป็นการสั่งงานผ่านหน้าจอสัมผัส โดยสามารถใช้งานระบบนำทางพร้อมข้อมูลจราจรแบบ Real-time, ระบบแนะนำร้านอาหารและที่พักบนแผนที่นำทาง, ระบบเลขาส่วนตัว i-Call และระบบโทรออก-รับสายในกรณีฉุกเฉินได้
ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถโทรออกไปยังคอลเซ็นเตอร์ของเอ็มจี เพื่อให้ค้นหาตำแหน่งร้านอาหารหรือสถานที่ที่เราต้องการไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ลงบนระบบนำทางด้วยตัวเอง จากนั้น ทางคอลเซ็นเตอร์จะส่งโลเคชั่นมาให้บนหน้าจอรถ เราก็เพียงกดเริ่มนำทางเท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกได้ดี โดยเฉพาะเวลาค้นหาสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
นอกจากนั้นยังมีระบบ i-SMART Mobile Application ที่สามารถโหลดแอพลงบนสมาร์ทโฟนทั้ง Android และ iOS เพื่อสั่งงานรถยนต์ได้จากที่ใดก็ตาม ซึ่งสามารถสั่งสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเปิดระบบแอร์เพื่อทำความเย็นก่อนขึ้นรถได้, สั่งล็อค-ปลดล็อคประตู, ระบบวางแผนการเดินทาง Travel Plan, ระบบขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ และระบบค้นหารถ Find My Car รวมถึงสามารถแสดงสถานะรถและความผิดปกติได้ ขอให้มีสัญญาณ 3G หรือ 4G บนโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งเท่าที่ทดลองใช้งานระบบล็อค-ปลดล็อค และสตาร์ทเครื่องยนต์ ก็ถือว่าไม่มีปัญหาใดๆ เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ครบถ้วน
สำหรับระบบความปลอดภัยของ MG ZS 2018 ถูกติดตั้งมาให้อย่างครบครัน โดย ZS มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Synchronized Protection System ที่ประกอบด้วยระบบความปลอดภัยถึง 9 ระบบ ได้แก่
• ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS
• ระบบกระจายแรงเบรก EBD
• ระบบเสริมแรงเบรก EBA
• ระบบควบคุมการทรงตัว SCS
• ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง CBC
• ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล TCS
• ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS
• ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS
• ระบบสัญญาณไฟแจ้งเตือนเมื่อเบรกฉุกเฉิน ESS
ขณะที่ระบบความปลอดภัยพื้นฐานก็มีให้อย่างครบครัน เช่น ถุงลมนิรภัยรอบคัน 6 ใบ (คู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านถุงลม), เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ทั้ง 5 ที่นั่ง, กล้องมองหลัง, สัญญาณกะระยะถอยหลัง และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น
ด้านขุมพลัง MG ZS ถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ VTi-TECH ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 114 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อม Manual Mode มาให้ รองรับเชื้อเพลิงได้ถึง E85
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ติดตั้งพวงมาลัยแบบไฟฟ้า EPS สามารถปรับน้ำหนักได้ 3 ระดับ จากหน้าจอสัมผัสภายในรถ ระบบเบรกด้านหน้าเป็นแบบดิสก์เบรกพร้อมช่องระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดิสก์เบรกเช่นกัน
สำหรับการทดสอบครั้งนี้เป็นเส้นทาง กทม. – ระยอง เพื่อพิสูจน์ว่ารถเกียร์ออโต้ 4 สปีด ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด!
เมื่อก้าวเข้าไปนั่งในห้องโดยสารของ MG ZS ก็รู้สึกถึงความโอ่โถง ไม่อึดอัด พื้นที่เหนือศีรษะมีอย่างเหลือเฟือ ขณะที่วัสดุและคุณภาพการประกอบก็ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับรถที่มีราคาใกล้เคียงกัน ขณะที่การตกแต่งภายในห้องโดยสารด้วยสีน้ำตาล-ดำ ช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกถึงความพรีเมียมอยู่นิดๆ
เรามุ่งหน้าออกจากโรงแรม So Sofitel บนถนนสาทร เพื่อมุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนบริเวณถนนพระราม 4 ซึ่งแน่นอนว่าการจราจรช่วงสายมีรถอย่างหนาแน่น ซึ่งตัวถังของ MG ZS ก็สามารถซอกแซกไปตามการจราจรได้อย่างราบรื่น แต่อย่างไรก็ดี อาการ Lag ของคันเร่งไฟฟ้าและจังหวะเปลี่ยนเกียร์ที่เคยพบเห็นมาในเอ็มจีแทบทุกรุ่น ก็คงยังปรากฏให้เห็นใน MG ZS แต่น้อยลงกว่าพอสมควร
อาการที่พบเจออย่างแรกก็คือ ทันทีที่กดคันเร่งลงไป จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 วินาที ก่อนที่เครื่องยนต์จะเริ่มสร้างกำลังให้รถพุ่งไปข้างหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในรถยุโรป แต่ก็มักไม่ Lag นานขนาดนี้
อย่างที่สองคือ ระยะเวลาช่วงรอยต่อระหว่างเปลี่ยนเกียร์ค่อนข้างช้าหากเทียบกับรถปี 2016-2017 รุ่นอื่นๆ แต่โดยภาพรวมรู้สึกว่าการตอบสนองของเกียร์ทำได้ดีกว่า MG ที่รุ่นผ่านมาแทบทั้งหมด
ด้านอัตราเร่งของ MG ZS นั้น แม้ว่าจะไม่ปรู๊ดปร๊าดทันใจ แต่ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดไว้แต่แรก โดยเฉพาะเมื่อคิดว่านี่คือรถเอสยูวีพิกัด 1.5 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ แถมยังใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ การเร่งความเร็วด้วยระยะคันเร่งประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ตามการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไปนั้น สามารถไต่ระดับไปแตะ 100 กม./ชม. ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่หากเป็นคนเท้าหนักจริงๆ คงต้องหนีไปเล่นเอสยูวีพิกัด 1.8 ลิตรขึ้นไป ซึ่งมีระดับราคาตัวเริ่มต้นเฉียดล้านเข้าไปแล้ว
สำหรับใครที่กังวลว่าเกียร์ 4 จังหวะ จะสามารถขับออกต่างจังหวัดไหวหรือไม่นั้น เราได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วและรอบเครื่องยนต์เอาไว้ดังนี้
- ที่ 100 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 2,500 รอบต่อนาที (เกียร์ 4)
- ที่ 120 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 3,000 รอบต่อนาที (เกียร์ 4)
ซึ่งตัวเลขที่ได้นี้ก็จัดว่าไม่แย่นัก แม้จะเทียบกับเครื่องยนต์เทอร์โบรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เพียงพอในการขับทางไกลโดยไม่ต้องหักโหมเครื่องยนต์มากจนเกินไป แต่หากเป็นการเร่งแซงนั้น อาจจะต้องกะระยะรถที่สวนมาให้ดีเสียหน่อย เพราะการไต่ความเร็วในช่วงเร่งแซงก็ต้องใช้เวลาพอสมควรอยู่เหมือนกัน
ด้านช่วงล่างยังคงเป็นจุดเด่นของ MG เพราะตัวรถสามารถซับแรงสะเทือนจากหลุมบ่อ หรือฝาท่อบนถนนได้เป็นอย่างดี แรงสะเทือนเข้ามายังห้องโดยสารค่อนข้างต่ำ ขณะที่การขับขี่ด้วยความเร็วสูงนั้น MG ZS ก็ให้ความมั่นใจได้เป็นอย่างดี แม้ว่าบางช่วงเราจะใช้ความเร็วถึงระดับ 140 กม./ชม. ช่วงล่างยังคงนิ่งและไว้ใจได้ อาการโคลงมีให้เห็นอยู่บ้างตามสไตล์รถที่มีตัวถังค่อนข้างสูง แต่ก็ยังเก็บอาการได้จนไม่รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงอะไรเลย ผมขอถือว่าช่วงล่างเป็นอีกไฮไลท์หนึ่งของ MG ZS เลยก็แล้วกัน
สรุป MG ZS 2018 ใหม่ เป็นรถกลุ่ม B-SUV ที่ไม่เพียงแต่โดดเด่นในเรื่องราคาเท่านั้น แต่มันยังมีคุณงามความดีในแบบของมัน ทั้งด้านดีไซน์ที่สวยลงตัว อ็อพชั่นที่ให้มาแน่นเต็มคัน ความอรรถประโยชน์ที่เหนือกว่ารถเก่งทั่วไป และช่วงล่างที่ไว้ใจได้ตามฉบับ MG
แต่ถึงอย่างไร ก็ยังต้องแลกมาด้วยข้อติบางอย่าง เช่น อัตราเร่งที่เชื่องช้าไปนิด หรืออาการ Lag ของคันเร่งและจังหวะเปลี่ยนเกียร์ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง หากสามารถมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้...
นี่คือรถเอสยูวีในราคาที่จับต้องง่ายและคุ้มค่าที่สุดในตลาดขณะนี้ครับ
ราคาจำหน่าย MG ZS 2018 มีดังนี้
- MG ZS 1.5C ราคา 679,000 บาท
- MG ZS 1.5D ราคา 729,000 บาท
- MG ZS 1.5X ราคา 789,000 บาท
ขอขอบคุณผู้บริหารและทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้
อัลบั้มภาพ 33 ภาพ